Skip to main content
sharethis

เจรจาไร้ผล การประท้วงที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายหนุนรัฐประหารและฝ่ายหนุนเซลายาเกิดปะทะกันเล็กน้อยจนมีคนเจ็บ กลุ่มสหภาพแรงงานหนุนเซลายารวมถึงตำรวจบางส่วนที่ได้ค่าจ้างช้าพากันประท้วงหยุดงาน โทรทัศน์ช่อง 36 ที่หนุนเซลายาถูกกลั่นแกล้ง ขณะที่ปธน.พลัดถิ่นบึ่งจี๊บไปจอดในเมืองติดพรมแดนฮอนดูรัส หาทางกลับประเทศต่อ

 

 

ผู้สนับสนุนเซลายาแต่งชุดคอสตูมแสดงการประท้วงเมื่อวันที่ 22 ก.ค. หน้าสถานฑูตสหรัฐฯ
ในกรุงเตกูซิกาลปา
(AP Photo/Rodrigo Abd)
 
 

ผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งชูฉบับสำเนาของรัฐธรรมนูญฮอนดูรัสในการประท้วงเมื่อวันที่ 21 ก.ค.
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
 

ผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งชูสองนิ้ว "V" จากในบ้าน ขณะที่มีการเดินขบวนเรียกร้องให้คืนตำแหน่งในเซลายาในย่านเคนเนดี้ กรุงเตกูซิกาลปา
(AFP/Yuri Cortez)
 
 

 

ผู้สนับสนุนเซลายาฉีกป้ายโฆษณาที่มีรูปของตัวแทนจากพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นศัตรูกับเซลายา ขณะมีการประท้วงในย่านเคนเนดี้
(รูปบน : AFP/Jose Cabezas)
(รูปล่าง : AP Photo/Arnulfo Franco)
 
 
ผู้สนับสนุนเซลายาเผาป้ายโฆษณาที่มีรูปหน้าของ เมาริซิโอ วิลเลดา สมาชิกรัฐสภาจากพรรคเสรีนิยม ซึ่งเป็นศัตรูของเซลายา
(AP Photo/Arnulfo Franco)
 
 
นักศึกษาจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ของฮอนดูรัส เอาหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 28 มิ.ย. เรียงไปบนถนน หน้าจุดกั้นของทหาร ขณะที่มีการประท้วงปิดถนนโดยกลุ่มที่สนับสนุนเซลายาในเขตรอบนอกกรุงเตกูซิกาลปา 23 ก.ค. ที่ผ่านมา
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
 
ทหารและผู้สนับสนุนเซลายากำลังอ่านหนังสือพิมพ์ที่นักศึกษาจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ฯ นำมาวางไว้
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
 
กลุ่มทหารปิดทางผู้สนับสนุนเซลายาที่มาชุมนุมกันที่เมือง เอล ปาไรโซ ซึ่งมีพรมแดนติดกับนิคารากัว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
 
ผู้สนับสนุนเซลายาเข้าไปหลบฝนขณะชุมนุมอยู่ที่เอล ปาไรโซ ที่ห่างจากพรมแดนนิคารากัว 12 ก.ม.
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาปิดถนนที่เชื่อมระหว่างหลายประเทศในทวีปเมืองเอล ดูราซโน ซึ่งห่างออกไปทางตอนเหนือของกรุงเตกูซิกาลปา 10 ก.ม.
(AFP/Orlando Sierra)
 
 
สภาพการจราจรที่แน่นิ่ง หลังมีผู้ปิดถนนในเมือง เอล ดูราซโน
(AFP/Orlando Sierra)
 
 
คนขับรถบรรทุกนำเปลยวนมาผูกติดกับใต้รถ เพื่อนอนพักขณะที่กลุ่มสนับสนุนเซลายาทำการปิดถนนประท้วง
(AP Photo/Rodrigo Abd)
 
 

 

 
มานูเอล เซลายา (ขวามือสุด) กำลังหากุญแจรถในกระเป๋า คนที่นั่งบนรถอีกคนคือ นิโคลาส มาดูโร รัฐมนตรีต่างประเทศของเวเนซุเอลลา ผู้หญิงที่ยืนส่งอยู่ข้างรถคือแพทริเซีย โรดาส รัฐมนตรีต่างประเทศพลัดถิ่นของรัฐบาลเซลายา ภาพนี้เป็นตอนที่กำลังจะออกจากสถานฑูตฮอนดูรัสในกรุงมานากัว
(AP Photo/Esteban Felix)
 
 
โรซาลินดา ฮูเอโซ เอกอัครราชฑูตของฮอนดูรัสในเม็กซิโก ซึ่งมาจากรัฐบาลของเซลายา บอกว่าเธอยกเลิกติดต่อกับสถานฑูตในประเทศมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. แล้ว
(AP Photo/Gregory Bull)
 
 
มีสิ่งกีดขวางวางอยู่บทลานจอดเครื่องบินใกล้ ๆ กับ ฟาร์มปศุสัตว์ของมานูเอล เซลายา ใน เอล อะกัวเคท รูปนี้ถ่ายเมื่อ 21 ก.ค. 2009
(REUTERS/Daniel LeClair)
 
 
ผู้สนับสนุนเซลายารวมตัวกันที่ฟาร์มปศุสัตว์ของเซลายาในคาตาคามาส วันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา
(REUTERS/Daniel LeClair)
 
 
-เหตุปะทะ-
 
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตี ออกมาประท้วงต่อต้านเซลายาในกรุงเตกูซิกาลปาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.
(AFP/Jose Cabezas)
 
 
การชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี
(AFP/Yuri Cortez)
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี เตรียมขว้างหินในขณะที่เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้สนับสนุนเซลายากับผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี ในวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
(REUTERS/Daniel LeClair)
 
 
ผู้สนับสนุนมิเชลเลตตีเตะผู้สนับสนุนเซลายา ในการเดินขบวนเมื่อวันที่ 22 ก.ค.
(REUTERS/Daniel LeClair)
 
 
ผู้สนับสนุนเซลายากำลังแบกเพื่อนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันกับผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี
ในวันที่
22 ก.ค.
(REUTERS/Daniel LeClair)
 
 
ผู้สนับสนุนเซลายาขว้างก้อนหินไปยังฝั่งผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี ในเหตุปะทะวันที่ 22 ก.ค.
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
 
 
กลุ่มหนุนสันติในฮอนดูรัส ต้านเซลายา ต้านชาเวซ
สำนักข่าว La Prensa ของฮอนดูรัส รายงานว่า มีชาวฮอนดูรัสหลายพันคนออกมาเดินขบวน "ด้วยความมีอารยะและเป็นระเบียบ" กรุงเตกูซิกาลปา เมืองหลวงของฮอนกูรัสวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว La Prensa ยังได้นำเสนอข่าวนี้ในน้ำเสียงเช่น "(พวกเขา) ตะโกนคำขวัญเพื่อสันติภาพ ความกล้าหาญ และประชาธิปไตย" หรือ "(ผู้ประท้วงจากหลายภาคส่วนของสังคม) ต่างตะโกนร่วมกันเป็นเสียงเดียวว่าพวกเราต้องการสันติภาพและประชาธิปไตย"
 
สำนักข่าวเดียวกันรายงานด้วยว่า ผู้ชุมนุมสวมชุดสีฟ้าและสีขาว มารวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮอนดูรัส (UNAH) ก่อนจะเดินขบวนไปที่แคมป์ เล็มปิรา ควีน ทางใต้ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ โดยจากการรายงานของ La Prensa ระบุว่า มีผู้ร่วมชุมนุมมาจากหลายภาคส่วนของสังคม คือ ศาสนิกชนชาวคาโธลิคและนิกายอิวานเจลิค (สายหนึ่งของคริสต์โปรแตสแตนท์ - ผู้แปล) มีนักธุรกิจ นักการเมือง เยาวชนและผู้ใหญ่
 
การชุมนุมในครั้งนี้จัดตั้งโดยกลุ่มสหพันธ์พลเมืองเพื่อประชาธิปไตย (Civic Democratic Union หรือ UCD) ซึ่งได้เรียกร้องความกล้าหาญและความรักชาติ และต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่มีการนองเลือดและอยากจะอยู่อย่างสันติ และยึดอยู่กับระบอบประชาธิปไตย
 
La Prensa ยังได้รายงานด้วยว่า ผู้ประท้วงถือป้ายเช่น "จงเคารพในรัฐธรรมนูญ ชาเวซและแก๊งค์ของเขาก็กลัวถูกพบขณะสวมชุดนอนในคอสตาริกาเช่นกัน" [1] อย่าง "เมล (ชื่อเล่นของมานูเอล เซลายา - ผู้แปล) คุณจะต้องไม่กลับมาที่ฮอนดูรัสอีก จะต้องไม่มีอะไรแบบชาเวซ (Chavismo) ในฮอนดูรัส พวกเราไม่ต้องการแทรกแซง" เป็นต้น
 
ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการกลับมาของเซลายา นอกจากนี้ยังแสดงการปฏิเสธ "การแทรกแซงกิจการภายในของฮอนดูรัส" จากประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลลา อย่างชัดเจนด้วย
 
ผู้ประท้วงยังได้ตั้งคำถามกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาในเรื่องที่พวกเขามีการคอร์รัปชั่น และเรียกร้องให้มีการตัดสินลงโทษสูงสุดตามกฏหมายกับพวกเขา ซึ่งจอห์น เฟอร์เรร่า สมาชิกของ UCD บอกว่าการเดินขบวนครั้งนี้เป็นการเดินขบวนที "สำคัญที่สุด" เท่าที่เคยมีมา เขายังได้บอกอีกว่าฮอนดูรัสยังมีความหวัง แต่จะต้องมีการเคารพกฏเกณฑ์และรัฐธรรมนูญด้วย
 
ริคาร์โด อัลวาเรซ นายกเทศมนตรีของกรุงเตกูซิกาลปา บอกว่าแม้ทั้งโลกจะละทิ้งฮอนดูรัส แต่ประชาชนชาวฮอนดูรัสก็จะรวมตัวต่อสู้เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ภายในประเทศ
 
โดย La Prensa ยังได้รายงานถึงเหตุที่มีวัยรุ่นหกคนพยายามต่อต้านการชุมนุมในครั้งนี้ ด้วยการขว้างหินและไม้ แต่ก็ถูกตำรวจจับกุมตัวไปในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุว่าเขาจับนักเรียนได้หลายคนและมีครูร่วมด้วยอีกสองคน
 
นอกจากนี้ La Prensa ยังได้รายงานเรื่องกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาในวันที่ 23 ก.ค. โดยบอกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาทำให้การจราจรและโรงพยาบาลในฮอนดูรัส "เป็นอัมพาต" ในหน่วยงานความมั่นคงทางสังคม , โครงการผู้ช่วยเหลือผู้ทุพลภาพถึงบ้าน (IHSS) และตามสถานฝึกพยาบาลในที่ต่าง ๆ
 
ขณะที่สถานศึกษาของรัฐก็ถูกกลุ่มสหภาพแรงงานยึดครองในเช้าในที่ 23 ก.ค. โดย La Prensa รายงานด้วยว่ามีการปิดถนนหลายสายในฮอนดูรัส และหนึ่งในนั้นคือทางตอนเหนือของกรุงเตกูซิกาลปา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงาน สมาพันธ์แรงงานทั่วไป และกลุ่มแรงงานในฮอนดูรัส ออกมาปิดถนนทำให้ "การจราจรเป็นอัมพาต"
 
La Prensa ระบุว่ามีผู้ประท้วงอย่างน้อย 150 คน ในเขตการปกครองวัลล์ (Valle) โดยกลุ่มสหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้มีการคืนตำแหน่งให้กับประธานาธิบดีเซลายา ซึ่ง La Prensa รายงานว่าก่อนหน้านี้เซลายาได้เรียกร้องให้มีการหยุดงานของพนักงานรัฐ และหน่วยงานราชการบางส่วน รวมถึงให้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในประเทศ
 
 
นัดหยุดงานประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่สอง (ศุกร์ที่ 24 ก.ค.)
ทางด้านสื่อของประเทศสังคมนิยมในละตินอเมริกาอย่าง Granma ของรัฐบาลคิวบาฉบับวันที่ 24 ก.ค. รายงานข่าวเรื่องการประท้วงนัดหยุดงานติดต่อกันเป็นวันที่สองในฮอนดูรัส โดยระบุว่าสหภาพแรงงานหลัก ๆ สามสหภาพในฮอนดูรัสได้ประท้วงโดยการหยุงานในภาคส่วนของรัฐเป็นวันที่สองในวันศุกร์นี้ (24 ก.ค.) และได้รับการสนับสนุนจากการปิดถนนประท้วงของกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
 
ฮวน บาราโฮนา ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงาน บอกว่าการนัดหยุดงานวันแรกประสบความสำเร็จ โดยส่วนหนึ่งมาจากการปิดถนนและการยึดสถานที่ราชการหลายแห่งโดยคนงานด้วย
 
Granma ได้รายงานอีกว่าขณะเดียวกันประชาชนอีกหลายพันคนก็พากันเดินทางไปยังเขตแดนของนิคารากัว ซึ่งเซลายาบอกเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ว่าเขาจะกลับประเทศผ่านทางนิคารากัว (อ่านรายละเอียดได้ที่ หัวข้อ "เซลายาตั้งหลักในนิคารากัว-เฉียดพรมแดนฮอนดูรัส วางแผนกลับประเทศ" ในเนื้อข่าวเดียวกันนี้)
 
โดยขณะที่ผู้ประท้วงปิดถนนในทางตอนเหนือของทางหลวงปานาเมอริกาน่า วานนี้ (23 ก.ค.) ก็มีคนพูดผ่านเครื่องขยายเสียงบอกให้ผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกที่เดินทางไปยังชายแดนนิคารากัว เพื่อรอเซลายากลับมา
 
ประชาชนหลายคนเรียกร้องให้สถานีวิทยุเรดิโอ โกลโบ คอยรายงานข่าวว่าพวกเขาถูกกดขี่จากกองกำลังทหารที่พยายามยุติการชุมนุมของพวกเขา ซึ่งในเนื้อข่าวของ Granma อ้างว่า เรดิโอ โกลโบ เป็นสถานีวิทยุที่ยังคงเป็นปากเสียงให้ประชาชน
 
Granma รายงานอีกว่า มีปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตีอีกอย่างหนึ่ง คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเงินจ้างช้ากว่ากำหนดจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ และมีตำรวจบางส่วนจากสถานีตำรวจในเมืองหลวงประท้วงหยุดงานด้วยแล้ว ซึ่งดานิเอล โมลินา โฆษกตำรวจพูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่ให้ความสำคัญ โดยบอกกับสำนักข่าวว่ามันเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ
 
อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่บางคนให้สัมภาาณ์กับโทรทัศน์ช่อง 36 ของฮอนดูรัสว่า พวกเขาจะไม่เข้าทำงานตามหน้าที่จนกว่าความเดือดร้อนของพวกเขาจะได้รับการแก้ไข ซึ่ง Granma ระบุไว้ด้วยว่าช่อง 36 ของฮอนดูรัสเป็นโทรทัศน์ช่องเดียวที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร 28 มิ.ย.
 
 
ช่องทีวีหนุนเซลายา ถูกกลั่นแกล้ง
สำนักข่าวของโบลิเวีย Agencia Bolivariana de Noticias (ABN) รายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารของฮอนดูรัสกลั่นแกล้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 36 (Canal 36) ของฮอนดูรัสหนักข้อขึ้น ซึ่ง ABN ระบุว่าช่อง 36 ยังคงเป็นหนึ่งในน้อยสื่อที่ปกป้องจุดยืนเสรีภาพในการแสดงออกของตน และคอยนำเสนอเรื่องราวของรัฐบาลมานูเอล เซลายา
 
เอสดรา อมาโด โลเปซ ผู้อำนวยการช่อง 36 พูดถึงเรื่องการถูกกลั่นแกล้งดังกล่าวในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับสถานีโทรทัศน์ VTV ของรัฐบาลเวเนซุเอลลา เมื่อวันอังคาร (21 ก.ค.) ที่ผ่านมา
 
ผอ. ช่อง 36 ยกตัวอย่างถึงวิธีการที่เขาและพนักงานของเขาโดนกลั่นแกล้ง เช่น ถูกทำให้ไม่สามารถเบิกเงินจากบัญชีธนาคารได้ (accounts frozen) มีโทรศัพท์ข่มขู่ (Threatening calls) รวมถึงวิธีการอื่น ๆ
 
นอกจากนี้ช่อง 36 ยังมีนักโฆษณาที่สนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งได้ทำการระงับสปอตโฆษณาของพวกเขาโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลใด ๆ มีกองทหารคอยเฝ้าดูอยู่ในสถานีโทรทัศน์มามากกว่า 100 ชั่วโมงแล้ว ไฟฟ้าถูกตัด สถานีถูกระงับการออกอากาศและเจ้าของสถานีก็ถูกข่มขู่และเฝ้าดูใกล้ชิด
 
"พวกเราก็ยังคงเสนอข่าวในแบบเดียวกับที่พวกเรานำเสนอมาตลอด 10 ปีที่แล้ว คือให้โอกาสกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการแสดงออกถึงความรู้สึกของพวกเขา อย่างไรก็ตาม สถานีของเราเป็นเพียงสถานีเดียวที่ตกเป็นเหยื่อของการก่อกวนนี้" ผอ. สถานีกล่าว โดยเขยังได้บอกอีกว่า พวกคณะรัฐประหารพยายามจะบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจ และใช้ทหารมากลั่นแกล้งพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
 
เซลายาตั้งหลักในนิคารากัว-เฉียดพรมแดนฮอนดูรัส วางแผนกลับประเทศ
มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีผู้ถูกยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารปละถูกขับออกจากประเทศ ไปตั้งหลักที่ประเทศใกล้เคียงกันอย่างนิคารากัวเพื่อเตรียมกลับประเทศ เขาเรียกร้องให้ทหารเมินเฉยต่อคำสั่งที่ทางรัฐบาลชั่วคราวออกมาบอกว่าให้จับตัวเขา และไม่สนใจคำเตือนที่ว่าการกลับประเทศของเขาอาจกลายเป็นฉนวนความรุนแรง
 
มานูเอล เซลายา ขับรถจี๊บไปยังเมืองเอสเทลีที่ห่างจากพรมแดนทางตอนใต้ของฮอนดูรัสเพียง 25 ไมล์ (40 กิโลเมตร) เท่านั้น ก่อนที่เขาจะปิดตัวเองอยู่ในโรงแรมในคืนวันพฤหัสฯ (23 ก.ค.) เพื่อเตรียมแผนการกลับประเทศและทวงคืนตำแหน่งประธานาธิบดี
 
จากเมื่อสัปดาห์ก่อนจนถึงต้นสัปดาห์นี้การเจรจาที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง ระหว่างฝ่ายมานูเอล เซลายา กับฝ่ายรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตี ไม่ประสบผล ซึ่งทางรัฐบาลชั่วคราวไม่ยอมให้เซลายากลับเข้าดำรงตำแหน่งจนกระทั่งครบวาระ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่สามารถกลับคำสั่งศาลสูงที่สั่งห้ามเซลายากลับเข้าดำรงตำแหน่งได้
 
ทางรัฐบาลชั่วคราวประกาศว่าจะจับตัวประธานาธิบดีหากเขาเพียงก้าวเข้ามาในเขตประเทศฮอนดูรัส และมีการวางเคอร์ฟิวตามเขตชายแดนฮอนดูรัสตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า
 
เซลายากล่าวว่าเขาจะใช้เวลาในวันศุกร์ (24 ก.ค.) เพื่อหาวิธีกลับประเทศไม่ว่าจะโดยทางบก , น้ำ หรือ อากาศ เขาเรียกร้องให้ชาวฮอนดูรัสรวมตัวกันในยังที่ ๆ เขาจะผ่านและเรียกร้องให้ทหารอย่าทำอะไรเวลาพบเจอเขา เซลายายังได้บอกอีกว่าเขาคิดว่าตนเองแข็งแกร่งพอ เขาไม่มีความกลัว แต่ก็รู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในอันตราย
 
เขาเตือนทหารของฮอนดูรัสว่า "อย่าได้เล็งปืนไปที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชน"
 
ขณะที่ประธานเลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) เห็นว่าเซลายาไม่ควรกระทำการที่เป็นการเผชิญหน้า และโฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกาเห็นว่า การกลับฮอนดูรัสของเซลายาอาจเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง
 
ทางด้าน ลอเรนา คาลิซ โฆษกตำรวจแห่งชาติของฮอนดูรัส บอกว่าเจ้าหน้าที่พร้อมจับกุมตัวเซลายาหากเขาพยายามจะกลับฮอนดูรัส
 
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฮอนดูรัส นายพล โรมิโอ วาสคูเอ็ซ เปิดเผยว่าเซลายาอาจสร้างสถานการณ์ให้มีคนลอบสังหารตนเองระหว่างทางกลับฮอนดูรัส โดยก่อนหน้านี้เซลายาเคยบอกว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาระหว่างการกลับฮอนดูรัสจะถอว่าเป็นความผิดของกองทัพ ซึ่งทางกองทัพก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีรับผิดชอบใด ๆ กับความปลอดภัยของเซลายาหากเขาจะกลับมาฮอนดูรัส
 
 
Footnote
[1] ผู้แปลตีความว่า ป้ายนี้คงต้องการสื่อความหมายถึงตอนที่มานูเอล เซลายา ถูกทำรัฐประหารโดยที่ทหารบุกเข้าไปถึงบ้านในช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งในเนื้อข่าวบางสำนักรายงานด้วยว่า เซลายาตอนนั้น "ยังอยู่ในชุดนอน"
 
 
ที่มา – แปลและเรียบเรียงจาก
 
Honduras channel 36 journalists and owners harassed , ABN , 22/07/2009
http://www.abn.info.ve/noticia.php?articulo=191795&lee=17
 
No to the return of Mel, ask in manifestation , La Prensa , 22/07/2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net