Skip to main content
sharethis

25 ก.ค.52 - เวลา 11.00 น. น.ส.อรุณวดี จันทสีร์ อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 731 หมู่บ้านพลายรัตนะ แขวงสายไหม เขตสายไหม กทม.พร้อมเพื่อนพนักงานสายการบินเจ็ทแอร์เวย์ (อินเดีย) จำกัด เลขที่ 8/15-16 อาคารคาเธ่ย์เฮ้าส์ ชั้น 4 ถนนสาธรเหนือ แขวงสีลม เขตสาธร กทม.รวม 44 คน และนายสุรสิทธิ์ จันทิรกานนท์ ทนายความ เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า พวกตนถูกสายการบินดังกล่าวเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม

น.ส.อรุณวดี กล่าวว่า สำหรับบริษัทสายการบินดังกล่าวเป็นนิติบุคคล จดทะเบียน ณ ประเทศอินเดีย ประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศ แต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนสาขาในประเทศไทย โดยมี นายนาเรส กอยอล เป็นเจ้าของสายการบิน จากนั้นสายการบินดังกล่าวก็รับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และเสนอรายได้ เป็นเงินเดือนๆ ละ 19,000 บาท ค่าซักรีด 1,000 บาท/เดือน ค่าเดินทาง 5,000 บาท/เดือน ค่าชั่วโมงบิน ชั่วโมงละ 330 บาท รวมเดือนละประมาณ 80 ชั่วโมง เป็นเงิน 26,400 บาท/เดือน เซ็นสัญญาทำงานระยะเวลา 3 ปี และจะทำการเซ็นสัญญาต่ออีก 3 ปี หากสัญญาเก่าครบ และยังเสนอสิทธิ์ประโยชน์อีกมากมาย จึงเป็นที่น่าสนใจ ตนและพวกมีคุณสมบัติครบถ้วน จึงลาออกจากที่ทำงานเก่าแล้วมาสมัครเข้าทำงานที่สายการบินดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ก.พ.50 ซึ่งก็ได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 26 ก.พ.50
น.ส.อรุณวดี กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร และเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 51 ทางสายการบินเสนอขึ้นเงินเดือนให้จาก 19,000 บาท เป็น 19,750 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.52 ทางสายการบินมีหนังสือเลิกจ้างส่งมายังพนักงานทั้ง 44 คน ให้มีผลวันที่ 31 พ.ค.52 ทั้งที่พวกตนไม่ได้ทำผิดสัญญาหรือกระทำผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยอ้างว่าจะปิดบริษัทที่ตั้งอยู่ใน กทม.และจะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานคนละ 100,000 บาท
หลังจากนั้นทางบริษัทกลับจ่ายเงินค่าชดเชยให้พนักงานไม่ครบตามสัญญา ซึ่งการเลิกจ้างครั้งนี้ถือว่าไม่มีความเป็นธรรม และผิดสัญญาที่ตกลงไว้ ทำให้พวกฉันได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งภาระค่าใช้จ่ายรายเดือน และไม่สามารถสมัครเข้าทำงานที่ใหม่ได้เนื่องจากติดเรื่องอายุมาก หลังเกิดเรื่องได้ร้องที่กรมแรงงาน และกลัวว่าเรื่องจะไม่มีความคืบหน้าจึงได้เข้าร้องเรียนสื่อมวลชนดังกล่าว
ด้ายนายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สายการบินจ่ายเงินค่าชดเชยกับพนักงานที่ถูกเลิกจ่างทั้ง 44 คน รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท และให้ศาลใช้อำนาจบังคับให้สายการบินดังกล่าวรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานทุกคน
ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ชาวเซฟทีคัทได้เฮ
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอภิชาติ ตั้งประเสริฐ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยนาท เปิดเผยถึงกรณีพนักงานโรงงานเซฟทีคัทของบริษัท ซี.เอส.เอฟ ทีคัท จำกัด กว่า 200 คน รวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้างหลังมีคำสั่งให้พนักงานพ้นสภาพการจ้าง และมีการฟ้องร้องกันถึงชั้นศาลยืดเยื้อมานานนับเดือนนั้นว่า ล่าสุด ศาลแพ่งจังหวัดสมุทรปราการได้ไต่สวนฉุกเฉิน เห็นว่าการเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ส่งผลกระทบต่อพนักงาน
"เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยแก่ธุรกิจ ศาลจึงมีคำสั่งชั่วคราวแต่งตั้งผู้มีอำนาจบริหารจัดการ ให้รับพนักงานทั้งหมดทั้งในส่วนที่โรงงานผลิตที่ ต.โพงาม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท และฝ่ายซ่อมบำรุงที่ จ.สมุทรปราการกลับเข้าทำงานตามปกติ ส่วนข้อพิพาทระหว่างผู้บริหารกับผู้บริหาร และระหว่างผู้บริหารกับสหภาพแรงงานฯ ก็ให้มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อยุติต่อไป"นายอภิชาติกล่าว (อ่านข่าวเก่ากรณี เซฟทีคัท: แรงงานยังโดนเลิกจ้างระนาว ภาคอิเล็กทรอนิกส์หนักสุด 5 เดือน 2 หมื่นกว่าคน / คนงาน “เซฟ-ที-คัท” โดนเหมือนกัน นายจ้างปลดสายฟ้าแลบ ไม่ยอมจ่าค่าชดเชยตามกฎหมาย )
 
 

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์คมชัดลึก, เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net