เครือข่ายแรงงานทั่วโลกจี้ “มาร์ค” ถอนข้อหาพันธมิตรฯ

เครือข่ายสหภาพแรงงานทั่วโลก ส่งหนังสือถึงนายกฯไทย จี้สั่งการถอนทุกข้อหา รวมทั้ง “ก่อการร้าย” ที่ตำรวจไทยตั้งให้กับ 35 แกนนำพันธมิตรฯ กรณีชุมนุมในสนามบินสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ระบุ เป็นการกล่าวหาเท็จ สวนทางกับข้อเท็จจริง ที่เป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่สร้างความเสียหาย ตรงกันข้ามมีแต่ฝ่ายพันธมิตรฯ ที่โดนระเบิดจากฝ่ายผู้สนับสนุน “ทักษิณ” จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 15-20 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานจากประเทศต่างๆ ในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers Federation-ITF) และ ศูนย์สมานฉันท์แรงงานสากล (International Center for Labor Solidarity - ICLS) ได้ส่งหนังสือนำส่งถึงสถานทูตไทยในแต่ละประเทศ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการออกหมายเรียกผู้นำแรงงานในไทยและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะข้อหาการก่อการร้ายสากล
ทั้งนี้ นายเดวิด ค็อกรอฟต์ เลขาธิการสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ระบุในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทย ว่า มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการตั้งข้อหากับผู้นำแรงงานและพันธมิตรฯ ที่เข้าไปชุมนุมในสนามบินโดยปราศจากความรุนแรงใดๆ และเชื่อว่า การตั้งข้อหา เช่น บุกรุก ทำลายทรัพย์สิน ก่อความวุ่นวาย และข้อหาก่อการร้ายที่มีโทษถึงประหารชีวิตนั้น ล้วนเป็นข้อหาที่เกินความจริง เพราะตามรายงานที่เชื่อถือได้นั้นไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับสนามบินระหว่างการชุมนุมเลย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นมีแต่การขว้างระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่โดยพันธมิตรฯ
นายเดวิด ระบุว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำพันธมิตรฯ 30 กว่าคน ในจำนวนนั้นเป็นผู้นำแรงงานในเครือข่ายของ ITF จำนวน 4 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย นางแจ่มศรี สุขโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย และ นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่ง ITF ยืนยันที่จะสนับสนุนการต่อสู้ที่ชอบธรรมและเป็นไปอย่างสันติของพวกเขาเหล่านี้อย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไทยเข้ามาแทรกแซงเพื่อยับยั้งการกล่าวหาที่เลื่อนลอยอย่างน่าตกใจดังกล่าว และเพิกถอนข้อหาทั้งหมดเสีย
นอกจากนี้ นายเดวิด ยังได้โพสต์จดหมายเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของ ITF ด้วย (http://www.itfglobal.org/solidarity/thaiprotest.cfm)
ด้าน นายมาซาฮารุ ทาเคอิ ประธานสมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (JRU) ได้แสดงความประหลาดใจกับการตั้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป รวมทั้งข้อหาก่อการร้ายกับผู้ชุมนุมที่สนามบิน เมื่อปี 2551 จำนวน 35 คน ซึ่งมีผู้นำสหภาพแรงงาน 4 คน รวมอยู่ด้วย ทั้งที่การชุมนุมและการเดินขบวนด้วยความสงบปราศจากความรุนแรงของประชาชนนั้น ถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลทุกแห่งควรเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯที่สนามบินนั้น ได้มีผู้ปาระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายราย การก่ออาชญากรรมเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุม ติดตามอย่างเข้มงวด
นายมาซาฮารุ ได้เรียกร้องในนามของสมาชิกสมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น จำนวน 70,000 คน ให้นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยดำเนินการ 1.ถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อผู้ที่ถูกออกหมายเรียกทุกคน รวมถึงผู้นำสหภาพแรงงานทั้ง 4 ด้วย 2.โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้ถอนข้อกล่าวหา “ก่อการร้าย” ซึ่งเป็นข้อหาที่ต่างไปจากความเป็นจริงเป็นอย่างมาก
สำหรับหนังสือขององค์กรแรงงานอื่นๆ ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ คัดค้านการตั้งข้อหากับพันธมิตรฯ อย่างไม่เป็นธรรม และเกินเลยจากความเป็นจริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดเสีย
โดยมี องค์กรแรงงานที่คัดค้านมาแล้วประกอบด้วย 1.สมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น - JRU (ICLS) 2.ศูนย์สมานฉันท์แรงงานสากล- ICLS (ICLS) 3.สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ - ITF LONDON ส่งมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552
       
4.สหภาพแรงงานรถไฟตะวันออกแห่งประเทศญี่ปุ่น - JREU (ICLS/ITF) 5.สหภาพแรงงานรถไฟและการขนส่งทางทะเลประเทศนิวซีแลนด์ - RMTU (ICLS/ITF) 6.สหภาพแรงงานรถไฟ รถราง และรถประจำทางประเทศออสเตรเลีย - RTBU (ICLS/ITF) 7.เครือข่ายเตรียมการรักษานานาชาติในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ประเทศรัสเซีย (ITF) 8.สหภาพแรงงานฯ ประเทศลัตเวีย (ITF) 9.สหภาพแรงงานสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ (ITF) 10.สหภาพแรงงานช่างบำรุงเครื่องบินประเทศปากีสถาน (ITF) 11.สหภาพแรงงานท่าเรือและแรงงานทั่วไปเมืองตูติโคริน ประเทศอินเดีย (ITF) 12.นายรากูบิร์ ซิงห์ สมาชิก ITF ประเทศอินเดีย ส่งมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552
       
13.สหภาพแรงงานการขนส่งประเทศภูฏาน - BTWU (ITF) 14.สหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (BKM-PNR) 15.สหภาพแรงงานเจ้าหน้าที่และลูกเรือเดินทะเลฟิลิปปินส์ - AMOSUP (ITF) 16.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศอินโดนีเซีย - KPI (ITF) 17.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศญี่ปุ่น - JSU (ITF) 18.สหภาพแรงงานรถไฟประเทศเกาหลีใต้ - KRWU (ITF) 19.สหภาพแรงงานการขนส่งประเทศเกาหลีใต้ - KTWU (ITF) 20.คณะกรรมการสมานฉันท์สหภาพแรงงานรถไฟและรถไฟใต้ดินเกาหลีใต้ -KSCRU (ITF) 21.สหพันธ์แรงงานลูกเรือเดินทะเลเกาหลี - FKSU (ITF) 22.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศออสเตรเลีย - MUA (ITF) 23.สหพันธ์แรงงานขนส่งทางทะเลประเทศกรีซ - PNO (ITF) 24.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศพม่า- SUB (ITF/ICLS) ส่งมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552
       
25.สหภาพแรงงานขนส่งทางบกและลอจิสติกส์ประเทศเบลเยียม - BTB (ITF) 26.สหภาพแรงงานแรงงานการขนส่ง ประเทศเนเธอร์แลนด์ - FNV (ITF) 27.เครือข่ายพี่น้องแรงงานระหว่างประเทศทีมสเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา/แคนาดา - TEAMSTER (ITF) ส่งมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552
ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท