ตัวจริง ตัวปลอม และหุ่นยนต์ กับความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตัวปลอม ชื่อปลอม ในโลกออนไลน์

ในอินเทอร์เนตเราอยากเป็นใครก็ได้ คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะความยากในการตรวจสอบ ทำให้หลายครั้งมีการปลอมตัว หรือใช้ชื่อปลอมในการแสดงตัวว่าเป็นใครสักคน เพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อประกอบอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

อย่างในกรณีของประเทศกายอานา ประเทศที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เคยมีบุคคลแอบอ้างว่าเป็นประธานาธิบดี บาร์รัต จั๊กเดโอ ในเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง facebook.com ภายในหน้าประวัติผู้ใช้ได้มีการเผยแพร่รูปถ่ายของประธานาธิบดี ตลอดจนประวัติของเขาอย่างละเอียด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลต้องทำหนังสือแจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ประธานาธิบดี บาร์รัต จั๊กเดโอ ไม่ได้เป็นสมาชิกของเว็บไซต์ facebook.com แต่อย่างใด

 

กรณีล่าสุดในประเทศไทย หลังจากเหตุการณ์ข้อความโต้ตอบกันระหว่างชื่อผู้ใช้ @PM_Abhisit และ @Thaksinlive เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฏาคม 2552 ที่ผ่านมา ทำให้ร้อนถึงนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรีบดำเนินการตรวจสอบ และแถลงข่าวในเวลาต่อมาว่าชื่อผู้ใช้งาน @PM_Abhisit ภายในเว็บไซต์ twitter.com นั้น ไม่ได้อยู่ในการดำเนินการจากฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นคณะทำงานของนายอภิสิทธิ์ที่เป็นลักษณะอาสาสมัครที่ไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งดำเนินการพิมพ์ข้อความตามที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ที่ให้สัมภาษณ์์ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์

 

หุ่นยนต์ทำงานแทน

นอกจากกรณีตัวปลอมแล้ว ยังมีกรณีของหุ่นยนต์ทำงานแทน หรือที่เรียกว่า Robot ในที่นี้หมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนขึ้นเพื่อดำเนินการแทนผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น Robot หลายตัวซึ่งคอยทำการปัดกวาดความเรียบร้อยในเว็บไซต์ th.wikipedia.org ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อตรวจเช็คความครบถ้วนของข้อมูล เช่น การตรวจสอบข้อมูลซ้ำ ตรวจสอบลิงก์เชื่อมโยงว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ รวมทั้งการเพิ่มหมวดหมู่ให้กับบทความ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องใช้คนในการดำเนินการ ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารข้อมูลจำนวนมากได้ง่ายขึ้น (อ่านเพิ่มที่ http://th.wikipedia.org/wiki/วิกิพีเดียว:บอต)

บางครั้งโปรแกรม Robot ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อพิมพ์ข้อความเข้าสู่เว็บไซต์แทนผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ เช่น Robot ที่ทำงานร่วมกับเว็บไซต์ twitter.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Social Network โดยผู้ใช้งานสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ twitterfeed.com และกำหนดให้โปรแกรมทำการพิมพ์ข้อความจากเว็บฟีด (RSS Feed) ที่ต้องการในหน้าเวลาของผู้ใช้ (User Timeline)

รวมทั้งเว็บไซต์ที่ให้บริการส่งข้อความข้ามระหว่างเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่นการเชื่อมต่อระบบพิมพ์ข้อความระหว่างเว็บไซต์ facebook.com และเว็บไซต์ twitter.com อีกด้วย

 

ตัวจริงในอินเทอร์เนต

ที่ผ่านมาการแสดงความเป็นเจ้าของชื่อในอินเทอร์เนตนั้น มีปรากฎการณ์ให้เห็นกันหลายครั้ง เมื่อราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 มีการฟ้องร้องทวงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของชื่อโดเมนเว็บไซต์ madonna.com ระหว่างนักแสดง Madonna Ciccone หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Madonna" และนาย Dan Parisi ซึ่งได้ทำการจดชื่อโดเมนดังกล่าวไปตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เพื่อเปิดให้บริการเว็บไซต์ลามก โดยผลการตัดสินขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก WIPO (World Intellectual Property Organization) ได้ประกาศให้ Madonna ได้สิทธิในการถือครองโดเมนเว็บไซต์ madonna.com

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนักแสดง Julia Roberts ก็ได้ทำการฟ้องร้องสิทธิการถือครองโดเมนเว็บไซต์ juliaroberts.com และจากผลการตัดสิน Julia Roberts ก็ได้สิทธิความเป็นเจ้าของชื่อโดเมนดังกล่าวเช่นกัน

นอกจากการจดจองชื่อโดเมนเว็บไซต์ การสมัครใช้บริการตามเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งชื่ออีเมล ก็เป็นการช่วงชิงจดจองชื่อใช้บริการด้วยเช่นกัน

เดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา เว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ facebook.com ก็เพิ่งเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถจดจองชื่อที่ใช้บริการ หลังจากใช้เลขรหัสสมาชิกเพื่ออ้างอิงมานาน ในครั้งนั้นก็มีผู้ที่ดำเนินการจดจองชื่อดังๆ เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการชื่อเฉพาะเป็นจำนวนมาก

แต่ในบางครั้งการจดจองชื่อสำหรับใช้บริการเว็บไซต์ Social Network ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิในชื่อนั้นๆ จริงหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้เว็บไซต์ twitter.com จึงได้ออกมาตรการยืนยันการเป็นตัวจริง หรือ Verified Account สำหรับติดในหน้าเวลาของผู้ใช้ (User Timeline) ซึ่งการดำเนินการลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้ใช้งานอื่น มั่นใจในการเชื่อมต่อเครือข่ายกับผู้ใช้นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หน้าเวลาของนักร้องสาว Britney Spears http://twitter.com/britneyspears

 
 
หรือแบบที่ง่ายที่สุดคือการทำการเชื่อมโยงระหว่างเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ กับเว็บไซต์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ใช้งานชื่อนั้นๆ อยู่
 

ความน่าเชื่อถือ

ในการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือความน่าเชื่อถือ น่าติดตาม การที่คนในเครือข่ายรู้ว่ากำลังสนทนาอยู่กับใคร แม้ว่าในบางครั้งจะรับทราบว่าอยู่แล้วว่าชื่อผู้ใช้งานนั้นๆ ไม่ได้ดำเนินการโดยเจ้าของชื่อเพียงผู้เดียว แต่มีทีมงานคอยช่วยดำเนินการ แต่เจ้าของชื่อผู้ใช้ที่แท้จริงต้องมีส่วนร่วมรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
ซึ่งลักษณะดังกล่าวพอจะช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานในระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับผู้ใช้งานเว็บไซต์์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ในกรณีพบเห็นชื่อของคนดังหรือบุคคลสำคัญ แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตน หรือทำการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ขอให้ตั้งคำถามไว้ก่อนเลยว่า ตัวจริงอ๊ะป่าว?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบประธานาธิบดีปลอมในเว็บไซต์ Facebook.com
http://www.siamdara.com/column/00006646.html

 
Madonna ชนะคดี?? (หน้าเว็บเพจที่ถูกบันทึกโดยเว็บไซต์ google.com)
http://74.125.153.132/search?q=cache:Al7UVRvr0X0J:www.domainatcost.com/%40.php3%3Ff%3Dart0013.html&cd=1&hl=en&ct=clnk&client=firefox-a

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท