Skip to main content
sharethis

วานนี้ (27ก.ค.52) นางสาวญาดา หัตถธรรมนูญ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ให้ข้อมูลว่า ทางมูลนิธิฯ ได้รับแจ้งเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันเดียวกันว่า มีเด็กเชื้อสายพม่า อายุ 3 ปี ถูกจับกุมข้อหาต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซอยสวนพลู โดยแม่และเด็กถูกคุมขังอยู่ ที่ ตม.และกำลังจะถูกผลักดันกลับประเทศพม่า ผ่านทางชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก

นางสาวญาดากล่าวให้ข้อมูลต่อว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา แม่และเด็กคู่ดังกล่าวถูกจับจากตลาดนัดแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ โดยเด็กถูกตั้งข้อหาต่างด้าวหลบหนีเขาเมืองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าวและไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม ส่วนผู้เป็นแม่เป็นแรงงานข้ามชาติ ได้ไปต่อทะเบียนรับบัตรแรงงานต่างด้าวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศได้จนถึงปี 2553 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แม่ต้องติดตามเด็กไปอยู่ที่ ตม.สวนพลู ถูกคุมขังและอาจต้องออกนอกประเทศไปด้วยหากเด็กถูกส่งกลับ

นางสาวญาดากล่าวด้วยว่า ได้ดำเนินการโทรศัพท์ประสานงานพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ตม.สวนพลูแล้ว เพื่อให้ชะลอการส่งเด็กกลับประเทศพม่า เนื่องจากเด็กคนดังกล่าวมีใบสูติบัตร และเกิดในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อปี 2549 ในขณะที่พ่อและแม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว นอกจากนี้การส่งเด็กกลับโดยแยกลูกแยกแม่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตามทาง ตม.ยืนยันว่าจะต้องมีการส่งกลับ โดยให้เหตุผลว่าการมีสูติบัตรของเด็กไม่ได้แสดงว่ามีสิทธิอาศัย เมื่อไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

“เด็กในวันนี้ควรต้องอยู่กับพ่อแม่ อีกอย่างหนึ่ง เรื่องหนึ่งเลย เด็กคนนี้เกิดที่เมืองไทย ตั้งแต่ลมหายใจแรกเขาก็อยู่เมืองไทยแล้ว แต่กลับถูกตราหน้าว่าหลบหนีเข้าเมือง มันเหมือนกับเอาความผิดทางอาญาไปยัดให้เขา เพียงเพราะเขาไม่ได้มีสัญชาติไทย เป็นลูกของพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว” นางสาวญาดาแสดงความเห็น

ด้านนางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กคนดังกล่าวเกิดในประเทศไทยไม่ควรถูกแยกส่งตัวกลับออกไป หากจะพิจารณาตามข้อกฎหมายโดยอย่างหลักความมั่นคง ก็ต้องพิจารณาถึงหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าวเกี่ยวของกับสิทธิครอบครัวที่เด็กควรได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่ อีกทั้งตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศจะส่งกลับไม่ได้ การที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

นางสาวปิ่นแก้ว กล่าวต่อมาว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องอันหนึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่ล่าช้า เนื่องจาก พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2551 ได้มีการแก้ไขในมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 เพื่อเปิดช่องให้เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นคนคนต่างด้าวได้รับสถานะอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามสถานะของพ่อหรือแม่ ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างกรมการปกครองยกร่าง ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านไปปีกว่าแต่ออกกฎหมายก็ยังไม่แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม นางสาวปิ่นแก้วกล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาทนายความกำลังทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำร่างหนังสือแสดงความคิดเห็น อีกทั้งจะมีการผสานไปยังกรมการปกครองต่อกรณีการจับกุ่มและผลักดันเด็กกลับประเทศดังกล่าว
 

 

หมายเหตุ: แก้ไขข้อมูลเรื่องอายุของเด็ก จาก 2 ปี เป็น 3 ปี เมื่อเวลา 13.36 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net