“หนุ่ม ไหมแสง” ร้องศาลแรงงานเชียงใหม่ ถอนคำสั่งประกันสังคมอ้างเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่จ่ายเงินทดแทน

หนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนอัมพาต ร้องศาลแรงงานภาค 5 ให้ถอนหนังสือเวียน สนง.ประกันสังคมโดยเห็นว่ากีดกันสิทธิการรักษาของแรงงานข้ามชาติ ด้านศาลยืนกรานนางหนุ่มไม่มีคุณสมบัติ เพราะสิทธิคุ้มครองแรงงานไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เป็นสิทธิพิเศษให้คนไทยและแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย

  

แฟ้มภาพนางหนุ่ม ไหมแสง (นั่งรถเข็น) แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ เมื่อครั้งเดินทางไปศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 เม.ย. 51 เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ให้มีการเพิกถอนหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544
 
หนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม เลขที่ รส.0711/ว751 หนังสือเวียนดังกล่าวทางฝ่ายนางหนุ่มและทนาย เห็นว่าเป็นการกีดกันสิทธิในการรักษาของแรงงานข้ามชาติ
 
 
กรณีนางหนุ่ม ไหมแสง วัย 37 ปี แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งทำงานในประเทศไทยโดยถือใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ประสบอุบัติเหตุถูกแบบเทปูนหนัก 300 กิโลกรัม เมื่อ 4 ธ.ค. 49 ระหว่างการทำงานในสถานที่ก่อสร้างโรงแรมแชงกรี-ลา จ.เชียงใหม่ จนเป็นอัมพาตครึ่งล่างนั้น
 
ด้วยความช่วยเหลือทางคดีจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อการพัฒนา (มสพ.) นางหนุ่มจึงฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เนื่องจากประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน อย่างไรก็ตามเมื่อ 11 ม.ค. 51 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแจ้งกับนางหนุ่มโดยปฏิเสธให้ความคุ้มครองและจ่ายเงินชดเชย โดยอ้างแนวนโยบายจากหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/ว751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544
 
ซึ่งคำสั่งจากหนังสือเวียนดังกล่าว ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักฐานสำหรับการที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถรับ เงินทดแทนอันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุในการทำงานโดยตรงจากกองทุนเงินทด แทนไว้คือ 1) มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 2) นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และ 3) แรงงานต่างด้าวต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย กรณีแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานไม่สามารถแสดงหลักฐานข้างต้นได้นายจ้างต้องเป็นผู้รับชอบจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างเอง
 
ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อการพัฒนา (มสพ.) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานจากประเทศพม่านั้นไม่มีทางที่จะเข้าประเทศไทยได้โดยถูกกฎหมาย เนื่องจากกลไกไม่เปิดช่องทางให้ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของแรงงานที่ได้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมายด้วย ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยและได้เสียภาษีให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,800 บาท ทุกปี
 
ดังนั้น นางหนุ่มและทนาย จึงได้มีการยื่นพิจารณาให้ยกเลิกหนังสือเวียนดังกล่าว ทั้งผ่านช่องทางของศาลปกครอง เมื่อเดือนเมษายน ปี 2551 แต่ศาลปกครองไม่รับพิจารณาโดยระบุว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจ ล่าสุดจึงมีการร้องเรียนไปยังศาลแรงงาน โดยได้มีการพิจารณาคดีขึ้นที่ศาลแรงงานภาค 5 ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
 
โดยการพิจารณาคดีวันดังกล่าวนั้น ทนายฝ่ายโจทก์ของนางหนุ่มได้ยื่นหลักฐานการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยซึ่งเป็นประกาศที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย และเรียกร้องสิทธิการคุ้มครองที่ควรจะได้รับจากการเป็นแรงงานในประเทศไทย
 
ขณะที่ศาลได้อธิบายว่าการจะได้รับสิทธินั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามสิทธินั้น โดยยกตัวอย่างกรณีคนสัญชาติไทยที่ส่งเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมไม่ครบตามเงื่อนไขก็จะไม่ได้สิทธิคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากขาดคุณสมบัติ
 
ศาลยังอธิบายว่าสิทธิการคุ้มครองแรงงานนั้นไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ให้กับคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือได้รับอนุญาตทำงานถูกกฎหมายเท่านั้น
 
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นถึงแม้ได้มีการลงทะเบียนให้ทำงานแต่เป็นไปเพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานที่ทะลักเข้ามาเท่านั้นและเป็นเพียงนโยบายผ่อนผัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้สิทธิเท่ากับแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย
 
ทนายฝ่ายโจทก์ได้แสดงความประสงค์จะสืบพยานในคดีนี้ โดยจะนำผู้เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวมาสืบ แต่ศาลเห็นว่าประเด็นเรื่องหนังสือเวียนฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยเองได้ ซึ่งเดิมศาลได้เสนอให้จำหน่ายคดีและรอผลการวินิจฉัยของศาลฎีกา ในคดีที่นางหนุ่มฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และถือเอาคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม เป็นข้อวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้ แต่ทางทนายฝ่ายโจทย์เสนอให้ศาลมีคำพิพากษาไม่ต้องรอผลตัดสินจากศาลฎีกาเพื่อจะได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ และขออนุญาตแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท