Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพูดถึงโรงพยาบาลแต่ละคนจะพูดเหมือนกันว่าเป็นสถานที่ ที่รักษาผู้ป่วยที่มีเครื่องมือทันสมัยมีนายแพทย์และพยาบาลแต่ละแผนก แต่สำหรับโรงพยาบาลในบทความนี้ ผู้เป็นหมอไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่มีเตียงสำหรับคนไข้ แต่อยู่ทุกพื้นที่ตั้งแต่ในบ้านจนถึงในป่าในเขา มีเพียงผู้ช่วยหมอ 1-2 คนตามที่หมอต้องการ

 
 
 
ภาพโรงพยาบาลที่พูดถึงกับหมอและผู้ช่วยในการรักษาอาการบาดเจ็บ
 
ปัจจุบันแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย เทคโนโลยีจะก้าวล้ำหน้าจนเราตามไม่ทันเพียงใดก็ตาม แต่การดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก และประโยคที่ได้ยินกันอยู่บ่อยมากไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งหนใด ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงในปัจจุบันคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ยังคงเป็นเรื่องปกติสามัญทั่วไปที่เกิดขึ้นกับเราในฐานะมนุษย์อยู่ทุกวี่ทุกวัน
 
แต่มนุษย์เราก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ อันเกิดจากความสูญเสียได้ในขณะเดียวกันต่างพยามยามทุกวิถีทางที่จะรักษาชีวิตของตัวเองเพื่อที่จะอยู่ได้นานที่สุด หลายคนฝากความหวังไว้กับการแพทย์สมัยใหม่ที่ให้การรักษา และคิดว่านี่เป็นหนทางสุดท้ายของชีวิตเสมอมา แต่หากมองย้อนกลับสังคมชนบทเมื่อครั้งยังไม่มีสถานีอนามัย ไม่มีโรงพยาบาล การแพทย์สมัยใหม่ยังห่างไกลกับชุมชนสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการพึ่งพาการรักษาพยาบาลโดยการนำเอาความเชื่อ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ด้วยการใช้สมุนไพร หรือการพึ่งพาด้านสิ่งเหนือธรรมชาติในการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ตามสังคมชนบททั่วไป
 
หากพูดถึงโรงพยาบาลแต่ละคนจะพูดเหมือนกันว่าเป็นสถานที่ ที่รักษาผู้ป่วยที่มีเครื่องมือทันสมัยมีนายแพทย์และพยาบาลแต่ละแผนกในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ และก็จะรู้ได้เลยว่าเป็นที่ซึ่งทุกคนไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปยกเว้นผู้ที่มีหน้าที่การงานหรือมีเหตุจำเป็นเท่านั้น แต่สำหรับโรงพยาบาลแห่งแรก ที่กำลังพูดถึงจะแตกต่างไปจากโรงพยาบาลที่รู้จักกันในปัจจุบันเพราะเป็นโรงพยาบาลที่ผู้เป็นหมอไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่มีเตียงสำหรับคนไข้ แต่อยู่ทุกพื้นที่ตั้งแต่ในบ้านจนถึงในป่าในเขา มีเพียงผู้ช่วยหมอ 1-2 คนตามที่หมอต้องการ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสถานพยาบาลที่ไม่มีใครให้ความสำคัญและไม่ค่อยมีใครรู้จักด้วยซ้ำแม้จะเห็นแต่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาล
 
ทุกวันนี้แม้จะมีโรงพยาบาลทั้งใกล้และไกลกับชุมชน มีเครื่องมือการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยแต่ใช่ว่าการรักษาอาการของคนไข้จะได้ผลไปซะทุกอย่างทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และวิญญาณหรือขวัญของคนเรา ดังนั้นจึงอยากบอกกล่าวกับผู้ที่ยังไม่รู้หรืออาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในการรักษาพยาบาลแบบตามความเชื่อโดยเฉพาะพื้นที่ ปกาเก่อญอ ที่มีให้เห็นและได้ผลจริงในการรักษาเนื่องจากผมเจอมากับตัว 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนสมัยยังเด็กยังไม่ได้คิดอะไร ส่วนครั้ง 2 ที่เจอผมยังคิดว่าเป็นเพราะความบังเอิญอาการเจ็บของผมถึงหาย แต่ผ่านไปหลายปีอาการใหม่เกิดขึ้นอีก (รู้สึกปวดและชาที่ขาข้างขวาโดยไม่รู้สาเหตุ) แม้ผมจะพยายามไปหาหมอหลายครั้งก็ตามแต่หมอกลับบอกว่าไม่เห็นมีอาการในขณะที่อาการนั้นผมรู้สึกได้ว่ามันยังอยู่ในร่างกายผมสุดท้ายก็ต้องอาศัยสิ่งเหนือธรรมชาติผ่านหมอพิธีกรรมในชุมชน อาการถึงหายทีนี้ทำให้ผมเชื่อโดยไม่มีการปฏิเสธใดๆ
 
ความจริงแล้วเรื่องนี้มีการดำรงอยู่และสืบทอดกันมานานหลายร้อยปี หมอพิธีกรรมก็คือชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีอาชีพเหมือนกับเราทุกคน หรืออาจเป็นหมอยาพื้นบ้านที่อยู่ในชุมชน ด้วยความที่ไม่ค่อยสนใจในรายละเอียดของความเชื่อที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกกล่าว และด้วยความที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเลยก็ได้กระทำการลงไปโดยที่ไม่ได้คิดอะไรแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคืออาการที่รู้สึกได้ว่านี่เป็นอาการผิดปกติในร่างกาย จึงไปหาหมอตามที่กล่าวมา 3-4 ครั้ง ก็ไม่เจอการใด เอ็กซเรย์ ก็ไม่เจอ เลยกลับมาปรึกษากับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
 
หลังจากเล่าอาการผู้เฒ่าฟังผู้เฒ่าก็จะเริ่มซักถามเรื่อยๆ ว่า เคยไปที่ไหนบ้างหรือเปล่า? ไปทำอะไรมาบ้าง? พูดอะไรไปบ้าง? จากการที่เล่าเหตุการณ์ให้ตามที่จำได้ (ตัดลูกไม้ด้วยความยาวประมาณ 2 เมตร ตีเล่นแล้วใช้เท้าเตะตะกร้าที่เขาใส่ไก่ไปเลี้ยงผีที่วางไว้ตรงที่เขาทำพิธีข้างทาง) สุดท้ายผู้เฒ่าได้สรูปแบบง่ายๆ ว่าผมได้ไปละเมิดเจ้าที่เจ้าทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เฒ่าเลยแนะนำว่าให้ไปหาหมอเสี่ยงทายดู ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ผู้เฒ่าแนะนำ สุดท้ายลงเอยที่หมอพิธีกรรมอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไปบ่อยและเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนทุกอย่าง ตั้งแต่ ถางไร่ ไถนา งานพิธีต่างๆที่บุคคลภายนอกเข้าร่วมได้ก็จะเข้าไปร่วมทุกอย่าง รวมถึงการไปหากินในสัตว์น้ำด้วย
 
หมอที่เสี่ยงทายไม่ได้บอกว่าเป็นการละเมิดเจ้าที่เจ้าทาง เพียงแต่ทายว่า เราในฐานะบุคคลภายนอกแต่ต้องมาทำพิธีในหมู่บ้านที่เราละเมิดเจ้าที่เจ้าทาง เหมาะกับหมอพิธีกรรมคนไหน อยู่บ้านใด ดังนั้นการที่เราในฐานะเป็นผู้ผิดหมอพิธีกรรมคนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่จะไปขอขมาบอกกล่าวกับเจ้าที่เจ้าทางเป็นการเยียวยาอาการบาดเจ็บของทั้ง คน(ผม) กับเจ้าที่เจ้าทางที่ได้ไปละเมิด ที่สำคัญ หมอพิธีกรรมคนนั้นต้องเป็นผู้ที่ถูกโฉลกกับเราด้วย ดังนั้นหลังจากการทำพิธีกรรมขอขมาเสร็จ 3 วันอาการนั้นที่อยู่ในตัวนั้นหายไปอย่างไม่น่าจะเป็นได้ ความจริงเรื่องนี้หากมองในด้านของความงมงายก็เป็นไปได้ในเมื่อทุกอย่างเราไม่สามารถที่จะมองเห็นได้แต่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ ในขณะเดียวกันเมื่อมองในยุคปัจจุบันก็จะมีคนถามขึ้นมาว่า ยังมีความเชื่อเหล่านี้อยู่เหรอในเมื่อโลกปัจจุบันมันก้าวไปใกลกว่าที่เราคิดซะอีก สามารถที่จะคิดกันได้ แต่สำหรับผมนี่เป็นอำนาจที่ลึกลับที่ไม่สารถจะอธิบายรายละเอียดได้
 
ทั้งหมอพิธีกรรม หมอสมุนไพร ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ให้ข้อมูลที่เหมือนกันว่า อาการของคนเรานั้นเกิดขึ้นหลายด้านบางอาการหมอที่โรงพยาบาลรักษาได้ หมอสมุนไพรรักษาได้ แต่บางอย่างก็รักษาไม่ได้ ส่วนสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้นมีทั้งเรื่องอายุขัย ความประมาทซึ่งความประมาทนั้นมีทั้งการกระทำที่เห็นได้อย่างมีอุบัติเหตุทั่วไป อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นเรื่องของอุบัติเหตุทางความเชื่อ และไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำแล้วไปกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งเหนือธรรมชาติหรืออาจจะเรียกว่าเจ้าที่เจ้าทางก็ได้ อย่างเช่น เราไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วได้โดนเข้าที่ ตา ของเจ้าที่เจ้าทางก็จะทำให้ตาเราเจ็บ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าที่เจ้าทาง ส่วนนั้นของเราก็จะได้รับบาดเจ็บส่วนนั้นไปด้วย ส่วนการรักษานั้นปัจจุบันเมื่อรู้สึกว่ามีอาการเจ็บก็จะไปหาหมอที่โรงบาลพึ่งพาหมอ หรือรักษากับหมอสมุนไพรในชุมชนโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ตนได้กระทำที่ผ่านมาว่าทำไปแล้วไปกระทบต่อเจ้าที่เจ้าทางหรือเปล่ามนุษย์เลยห่างจากคำว่าสำนึกที่มีต่อธรรมชาติเรื่อยๆ
 
ดังนั้นทุกวันนี้ยังมีชุมชน ปกาเก่อญอ หลายชุมชนที่ยังมีความเชื่อและยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ ก็จะเห็นว่าตามที่ต่าง ทั้งใต้ต้นไม้ ข้างทางหรือตามทางแยก และ ริมน้ำ เราก็จะเห็น ซุ้มหรือหิ้งพิธีกรรมที่เรียกว่า “ต่าหลื่อหรือหลื่อต่า” (พิธีเลี้ยงผี) ซึ่งต่าหลื่อ นี้การทำพิธีกรรมแต่ละครั้งก็จะมีวาระ และความหมายที่แตกต่างกันไป เช่นงานบวชป่า พิธีเลี้ยงผีไฟ ผีน้ำ ผีไร่ ผีนา ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ของการฝาก การมอบ คืนทรัพยากรให้กับเจ้าของ(ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้) แต่พิธีที่พูดถึงนี้เป็นการขอขมา เป็นการรักษาอาการบาดเจ็บ เป็นการขอชีวิตให้กับผู้ที่ได้ล่วงละเมิดต่อเจ้าที่เจ้าทางโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ พิธีกรรมแต่ละครั้งก็หนีไม่พ้นการเอ่ย ถึงเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าดิน เจ้าน้ำ ฯลฯ ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อของชนเผ่า ปกาเก่อญอ ที่ว่า ทรัพยากรทุกอย่าง ทุกพื้นที่บนโลกมีเจ้าของคอยดูแลอยู่ มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร ดังนั้นการใช้หรือการกระทำการใดๆ ต่อทรัพยากรทุกอย่างควรอยู่ในขอบเขต หรือทำด้วยสำนึกและทำอย่างระมัดระวังเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านทรัพยากรและตัวมนุษย์เอง
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net