Skip to main content
sharethis

3 ส.ค.52 - แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาระบบยา ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค.เพื่อเป็นเวทีนำเสนอสถานการณ์ปัญหาของระบบยา และประมวลองค์ความรู้ที่เป็นผลจากการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน ทั้งจากภาคีเครือข่ายโครงการของ กพย. คณาจารย์ ข้าราชการและผู้สนใจทั่วไป

 
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. ภายใต้การสนับสนุนของสสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดระบบเฝ้าระวังระบบยาที่ทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายแห่งชาติด้านยาที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2536 แต่ขาดกระบวนการติดตาม ประเมินผลยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ กพย.จึงเริ่มศึกษาและร่วมกับเครือข่ายในการสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา ตั้งแต่ปี 2551 มีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลระบบยาที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความตระหนักในปัญหายาไม่เหมาะสมในพื้นที่และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเครือข่ายวิชาการวิชาชีพ สร้างเครื่องมือเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาในหน่วยบริการสุขภาพ รวมถึงการจัดทำร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา และแผนยุทธศาสตร์พัฒนายาระดับประเทศ
 
ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง แผนงานฯ กล่าวถึงประเทศไทยยังขาดทิศทางการพัฒนาระบบยา ดังจะดูได้จากนโยบายยาแห่งชาติฉบับล่าสุดของไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปรับปรุง ขณะที่พ.ร.บ.ยา เริ่มต้นแก้ไขตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ ความล่าช้าเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยการเมืองที่มีผลต่อการกำกับดูแลทำให้การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบยาเป็นไปได้ยาก และไม่มีทิศทางชัดเจน
 
ในส่วนการนำเสนอผลงานเด่นในปีแรกของการดำเนินการของแผนงาน เริ่มด้วยโครงการนำร่อง เฝ้าระวังยาไม่เหมาะสมในพื้นที่ โดย ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ จากโรงพยาบาลสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเสนอผลการสำรวจเบื้องต้นในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลชุมชน ร้านยา และร้านขายของชำ ใน 40 อำเภอ 20 จังหวัดของ 4 ภูมิภาค พบว่า ยาบางตัวที่ถอนทะเบียนในประเทศไทยแล้วก็ยังพบในบางพื้นที่ เช่น พบ Metamizole (Pyrana) โดยเฉพาะร้านขายของชำทั้ง 116 แห่งที่มีการสำรวจนั้นพบการขายยาไม่เหมาะสมทุกแห่ง เช่น Chloramphenicol syrup ยาฆ่าเชื้อใช้ในเด็กและการเลี้ยงไก่, Oxytetracycline HCl (Noxy) ขึ้นทะเบียนยาสำหรับสัตว์ และมียาชื่อใกล้เคียงกัน แต่นำไปใช้ในคน Piroxicam (Pox-99) ยาแก้ปวดเมื่อย มีผลข้างเคียงสูง, Tetracyclin 500 ยาแก้อักเสบเกือทุกอาการที่คิดว่าติดเชื้อ เป็นต้น
 
ประเด็นถัดมาคือการประเมินความเหมาะสมในการใช้ยา โดย ภก.พิศาล ภักดิ์คีรี โรงพยาบาลระยองได้นำเสนอผลการทบทวนการใช้ยา Atorvastatin ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือดที่ได้รับความนิยมสูงและรพ.ระยองมียอดการสั่งซื้อสูงสุดในปี 51 พบว่า มีการใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมตามเกณฑ์อยู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทางโรงพยาบาลเองก็เล็งเห็นปัญหาและจะได้ร่วมกันในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งประเด็นการติดตามการใช้ยามีความสำคัญมากในฐานะเป็นกลไกเฝ้าระวังระบบยา
 
การนำเสนอการศึกษาเรื่องการส่งเสริมการขายยา โดยผศ.ดร.กรแก้ว จันทภาษา คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่นและ ดร.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค จากแผนงาน กพย. ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาการส่งเสริมการขายในขณะนี้ มีการนำเสนอกรณีศึกษาบทบาทบริษัทยาในการให้ข้อมูลโรคและยากับประชาชนว่า บริษัทมีบทบาทสูงและทำอย่างซับซ้อน ส่งผลต่อการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องให้มีมาตรการติดตามประเมินข้อมูลที่ออกทุกช่องทาง รวมทั้งสร้างความเท่าทันให้แก่ประชาชนในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างการใช้ข้อมูลและการโฆษณา นอกจากนี้ กพย.ยังได้สนับสนุนให้เครือข่ายคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ร่วมกันพัฒนาจริยธรรมในการฝึกงานวิชาชีพเภสัชกรรมด้านการตลาดยา หรือ ผู้แทนยา
 
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างงานที่ได้จัดทำมา ซึ่งภาพรวมสถาการณ์ระบบยานั้นมีอีกหมายมิติที่ต้องดำเนินการ จำเป็นต้องมีการจัดทำเครื่องชี้วัดสถานการณ์ เสนอผลไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคม จากผลการนำเสนอนี้ จะได้มีการประมวล และจีดทำแนวทางการทำงานของแผน กพย. ในปีหน้าด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net