"รมว.แรงงาน" เผยเตรียมชงครม.เพิ่มสิทธิป่วย-ชราภาพ ให้ผู้ประกันตน "แรงงานนอกระบบ"

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.52 ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน สัมมนาเรื่อง “แรงงานนอกระบบ ก้าวต่อไปของกระทรวงแรงงาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในภารกิจของกระทรวงแรงงานให้แก่แรงงานนอกระบบ ส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี รวมทั้งร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ได้ข้อมูลปัญหาความต้องการของแรงงานนอกระบบเพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย มาตรการหรือแนวทางขยายความช่วยเหลือไปยังแรงงานนอกระบบในภาพรวมของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ผู้เข้าร่วม สัมมนาประกอบด้วยแรงงานนอกระบบกลุ่มอาชีพต่างๆ กว่า 350 คน

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาว่า จะนำข้อสรุปจากเวทีการสัมมนาในครั้งนี้ ไปพัฒนาปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม เป้าหมาย เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกษตรกร แผงลอย รถจักรยานยนต์รับจ้าง และคนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น

สำหรับข้อเรียกร้องของแรงงานนอกระบบยังคงมีการร้องขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งขยายสิทธิประโยชน์มาตรา 40 (ผู้ประกันตนสมัครใจ) จากเดิม 3 กรณี เป็น 5 กรณี โดยเพิ่มชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยและพักรักษาตัว ที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง และชราภาพในรูปของบำเหน็จ พร้อมทั้งขอให้มีการบูรณาการสวัสดิการชราภาพของ สปส.มาตรา 40 กับกองทุนการออมเพื่อชราภาพของกระทรวงการคลัง ที่กระทรวงการคลังจะให้ในรูปแบบบำนาญ โดยกำหนดการสมทบตั้งแต่ 20-50 ปี ในอัตราเดือนละ 50-100 บาท และยังเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบในมาตรานี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินสมทบผู้ประกันตน

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาสมัยหน้า และให้ปรับปรุงระเบียบกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยปรับปรุงสัญญากู้ยืม ระยะเวลาการพิจารณาขอกู้ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานนอกระบบเข้าถึงกองทุนน้อยเพราะระยะเวลาการพิจารณา กู้เงินไม่สอดคล้องกับการรับงาน

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า จะเรื่องนำการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.52) ด้วย

ทั้งนี้ ตัวอย่างข้อเรียกร้องเชิงนโยบายของแรงงานนอกระบบต่อกระทรวงแรงงาน มีรายละเอียดดังนี้

1. ข้อเสนอกรณีประกันสังคมตามมาตรา 40 และการออมเพื่อชราภาพ
เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้ขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเดิมให้สิทธิประโยชน์ 3 ประการ ได้แก่ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ให้เพิ่มอีก 2 ประการ คือ ชดเชยขาดรายได้ยามเจ็บป่วย และ ออมชราภาพ (บำเหน็จ) รวมเป็น 5 ประการ ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อชราภาพ (กอช.) ขึ้นเพื่อจัดทำระบบบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปโดยจ่ายสมทบให้แก่ผู้ที่ออมเงินหนึ่งร้อยบาทต่อเดือนที่อายุ 20-30 ปีเดือนละ 50 บาทและผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปถึงอายุ 50 ปี เดือนละ 80 บาท และผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปีเดือนละ 100 บาท และจะนำเงินที่ออมพร้อมเงินสมทบจากรัฐบาลและดอกผลที่ได้ไปจัดสรรเป็นเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบเห็นว่ารูปแบบการออมในกองทุนการออมเพื่อชราภาพ และการขยายประกันสังคมตามมาตรา 40 เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแรงงานนอกระบบ แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะออมเงินทั้งสองกองทุน และตระหนักว่าปัญหาการขาดรายได้เมื่อยามชราภาพเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของแรงงานนอกระบบ ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าการได้รับสิทธิประโยชน์อื่นอีกสี่ด้านนอกเหนือจากบำเหน็จชราภาพตามรูปแบบการทำประกันสังคมในมาตรา 40 จะช่วยให้แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงทางสังคมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เครือข่ายแรงงานนอกระบบจึงใคร่เรียกร้องจากกระทรวงแรงงาน ดังนี้

1) โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นบำนาญพื้นฐานมีความสำคัญมาก เพราะช่วยลดความยากจนหรือป้องกันไม่ให้เกิดความยากจน และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงเสนอให้รัฐยังคงบำนาญพื้นฐาน (เบี้ยยังชีพ) และให้มีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพตามเส้นความยากจน (ประมาณ 1,500 บาท)เพื่อให้เพียงพอแก่ค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อความยั่งยืนของโครงการควรมีการออกกฎหมายรองรับให้ชัดเจน

2) ขอให้มีการบูรณาการในเรื่องชราภาพระหว่างประกันสังคม มาตรา 40 กับกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ ของกระทรวงการคลังเพราะจะเป็นระบบที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนทั้งทางด้านสังคมและรายได้ตั้งแต่วัยทำงานจนตลอดชีวิต โดยที่สิทธิประโยชน์จะเป็นแบบบำนาญ พร้อมกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกสี่ด้าน ซึ่งตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบที่ต้องการทั้งประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบและการออมเพื่อบำนาญชราภาพ

3) เสนอให้รัฐร่วมจ่ายสมทบกรณีประกันสังคมบูรณาการกับการออมเพื่อชราภาพไม่น้อยกว่า 50% ของเงินสมทบ

2. ข้อเรียกร้องด้านการพัฒนาอาชีพ
1) กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน เสนอให้ปรับปรุงระเบียบกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้เข้าถึงกองทุนดังกล่าวอย่างแท้จริง อันได้แก่ สัญญาจ้าง ระยะเวลาในการพิจารณาคำขอกู้ อายุของกลุ่ม เป็นต้น

2) โครงการต้นกล้าอาชีพ เนื่องจากโครงการต้นกล้าอาชีพได้ดำเนินโครงการมาระยะหนึ่งและใกล้จะสิ้นสุดโครงการฯ ในเดือนกันยายนนี้ แต่พบว่ามีแรงงานจำนวนหนึ่งซึ่งแจ้งความจำนงจะฝึกอาชีพยังไม่ได้รับการฝึกฯ จึงต้องการทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการต้นกล้าอาชีพ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระบบการดำเนินการของโครงการดังกล่าว

3) แหล่งตลาด เสนอให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการจัดหาแหล่งงาน แหล่งตลาดจากภาครัฐและเอกชนให้แก่แรงงานนอกระบบเพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบอื่นๆ โดย

-ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการจัดพื้นที่ขายที่เหมาะสมและราคาถูกให้กลุ่มอาชีพได้มีโอกาสเข้าไปขายผลิตภัณฑ์ตามหน่วยงานต่างๆ เช่น ตลาดในกระทรวงแรงงาน ตลาดในกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ เช่นสาธารณสุข, ศึกษาธิการ และสำนักงานเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯมหานคร เป็นต้น
       
-กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับ สำนักงานกรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการในการจัดสรรงานตัดเย็บชุดนักเรียน 20% ให้แก่กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่หน่วยงานเหล่านี้ต้องจัดซื้อ เช่นผ้าห่มกันหนาว กระเป๋าแจกงานประชุมสัมมนา ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนและเสื้อผ้าผู้ป่วยที่ใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น
       
3. ข้อเรียกร้องต่อการคุ้มครองเกษตรพันธะสัญญา
เสนอให้รัฐเร่งดำเนินการหามาตรการด้านการบริหารและด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานในระบบเกษตรพันธะสัญญาเช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่น ๆ

4. ข้อเรียกร้องการคุ้มครองคนทำงานบ้าน
-ให้กระทรวงแรงงานเร่งประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้านซึ่งดำเนินการปรับปรุงร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กมาตั้งแต่ปี 2550โดยเร็ว

-ให้กำหนดว่าคนทำงานบ้านมีวันหยุดอาทิตย์ละหนึ่งวันไว้ในกฎกระทรวงที่จะประกาศใช้

- ให้จัดให้มีการอบรมเพิ่มทักษะในการทำงานบ้านและการสื่อสารแก่คนทำงานบ้านเพื่อให้คนทำงานบ้านสามารถยกระดับความสามารถอันจะนำไปสู่การมีค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เช่นการสอนภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในการทำงานบ้าน การปรุงอาหาร และการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอัมพาต เป็นต้น

5. การจัดตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องเชิงนโยบายของแรงงานนอกระบบ
เพื่อให้ปัญหาของแรงงานนอกระบบได้รับการแก้ไขได้อย่างแท้จริง จึงขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะทำงานอันประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน แรงงานนอกระบบ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องในการติดตามข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ของแรงงานนอกระบบต่อไป
 

ข้อเรียกร้องรวบรวมเรียบเรียงโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ  
ที่มา: ข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท