Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในขณะที่สื่อหลักเน้นกิจกรรมของสหประชาชาติหรือแถลงการณ์นามธรรมของประเทศต่างๆ เกี่ยวกับพม่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ คือการต่อสู้ของพี่น้องเราในพม่า ซึ่งไม่มีวันจบจนกว่าเผด็จการจะถูกล้ม

ขณะนี้เผด็จการพม่ากำลังหาเรื่องเพิ่มโทษให้นางอองซานซูจี สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยในประเทศนั้น หลายคนมองว่าสืบเนื่องมาจากการที่ทหารพม่ามีแผนจะจัดการเลือกตั้งปลอมในปีหน้า และไม่ต้องการให้นางซูจีมีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งๆ ที่มีการสร้างกติกาให้ทหารครองอำนาจต่อไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีผลอย่างไร

ก่อนที่รัฐบาลพม่าจะยิงประชาชนที่ออกมาประท้วงเมื่อสองปีก่อน สื่อมวลชนหลักสร้างนิยายว่าอินเทอร์เน็ตช่วยให้ “ประชาคมโลก” จับตาดูพฤติกรรมของทหารพม่า ซึ่งพวกนี้อ้างว่า “ต่างจากยี่สิบปีก่อนในเหตุการณ์ 8-8-88”

แท้จริงแล้วเหตุการณ์นั้นในปี 88 ก็มีภาพออกมาพอสมควร และชาวโลกก็ทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่การหวังพึ่งรัฐบาลของประเทศตะวันตก หรืออำมาตย์ไทยในการสร้างประชาธิปไตยพม่าเป็นเรื่องตลก

ในไทยเราเห็นปรากฏการณ์ของคนอย่างอภิสิทธิ์ และนักเอ็นจีโอ ที่เข้าข้างเสื้อเหลืองในการทำลายประชาธิปไตยไทย ออกมาพูดว่า “พม่าต้องเป็นประชาธิปไตย” คำโกหกหลอกลวงของพวกนี้ไม่มีวันสิ้นสุด

การลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 เกิดจากการประท้วงของนักศึกษาเรื่องสภาพเศรษฐกิจ แต่ในไม่ช้าพัฒนาไปเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย ในเช้าวันที่ 8 สิงหาคม การประท้วงเริ่มต้นด้วยการนัดหยุดงานทั่วไปซึ่งเริ่มที่ท่าเรือ การนัดหยุดงานครอบคลุมทุกส่วน และให้พลังในการต่อสู้ เช่นข้าราชการและครูก็หยุดงาน มีการเดินขบวนของพระสงฆ์ นักศึกษา และคนทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ และทั้งๆ ที่ทหารพม่าพยายามปราบอย่างโหดร้าย ดูเหมือนว่าขบวนการประชาธิปไตยใกล้จะชนะ เพราะนายพลเนวิน หัวหน้าเผด็จการต้องลาออก

คณะทหารพยายามเปลี่ยนชื่อเพื่อเปลี่ยนภาพ และมีการสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือขบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ผลักดันการต่อสู้ถึงจุดจบ ปล่อยให้ทหารครองอำนาจต่อ นางอองซานซูจีมีบทบาทในการสลายการชุมนุม และเบี่ยงเบนพลังในการต่อสู้ไปในทิศทางการหาเสียงให้พรรค N.L.D. ของเขา

หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการ 8-8-88 นักเคลื่อนไหวพยายามหาทางต่อสู้ต่อไป บางส่วนเข้าป่าไปจับอาวุธ แต่ในที่สุดล้มเหลว และทุกฝ่ายตั้งความหวังว่าประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ จะกดดันทหารให้ปฏิรูปการปกครองไปในทิศทางประชาธิปไตย

ปัจจุบัน นี้หลายกลุ่มในพม่าสรุปว่าแนวทางดังกล่าวใช้ไม่ได้เลย ดังนั้นมีการสร้างเครือข่ายหลวมๆ เพื่อประท้วงภายในประเทศเอง นี่เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับแนวทางต่อสู้ที่เสื้อแดงไทยไม่ควรลืม

เมื่อสองปีก่อนการต่อสู้เริ่มต้นด้วยการเดินสวดมนต์ ต่อมาหลังจากรัฐบาลพม่าขึ้นราคาเชื้อเพลิง 500% ตามนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด มีการประท้วงโดยพระสงฆ์เป็นหมื่น ซึ่งให้กำลังใจกับพลเมืองทั่วไปที่ออกมาร่วมจนมีมวลชนประท้วงเป็นแสน นักต่อสู้ยุคนี้ประกอบไปด้วยแกนนำจาก 8-8-88 แต่มีคนรุ่นใหม่ที่ยังเป็นเด็กเมื่อ 20 ปีก่อนเข้าร่วมมากมาย ในปัจจุบันมีการเรียนบทเรียนจากอดีต เพราะตอนนี้หลายส่วนไม่ไว้ใจการนำของ อองซานซูจีและ N.L.D. ทั้งๆ ที่ทุกคนเห็นเป็นหนึ่งว่าต้องมีการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดรวมถึง ซูจี ด้วย

อองซานซูจีคือใคร?

อองซานซูจี คือสตรีผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า เสื้อแดงไทยต้องให้ความเคารพ ต้องเรียกร้องให้เขาถูกปล่อย แต่เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับแนวทางของเขา ซูจีคือผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (N.L.D.) ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่สมัยการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่รู้จักกันว่า "การกบฏ 8-8-88" เธอเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชในยุคอาณานิคมอังกฤษที่ชื่อ อองซาน

เผด็จการทหารพม่าเคยเป็น "สังคมนิยม" จริงหรือ?

ตั้งแต่ นายพล เนวิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1962 ผู้นำพม่าอ้างว่าปกครองตามแนว "สังคมนิยมแบบพม่า" พรรคของรัฐบาลก็เรียกตัวเองว่า "พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า" (B.S.P.P.) แต่ในความเป็นจริงถ้าเราสำรวจที่มาที่ไปของผู้นำเผด็จการทหารพม่าจะพบว่านาย พล เนวิน มาจากซีกขวา (อนุรักษ์นิยม) ของขบวนการชาตินิยมพม่าที่ชื่อขบวนการ Dobama Asiayone "เราพม่า" ซึ่งคนสำคัญของซีกซ้าย (สังคมนิยม) ของขบวนการนี้คือ อองซาน และ ทะขิ่นโซ (ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาของพม่า)

ขณะที่นายพล เนวิน อ้างตัวเป็นสังคมนิยมแบบพม่า รัฐบาลทหารพม่าก็ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์โดยประกาศว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็น ภัยต่อธรรมะ นโยบายหลักๆ ของ "พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า" คือ การปิดประเทศเพื่อพัฒนาชาติผ่านการระดมทุนโดยรัฐ การรวมชาติและกดขี่กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ และการใช้ทหารปกครองประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีเศษของแนวคิดสังคมนิยมดำรงอยู่เลย

แนวทางความคิดของ อองซาน ซูจี

อองซาน ซูจี เป็นคนที่ไม่เคยสนใจแนวสังคมนิยม และมักจะเสนอแนวทางแบบ "พุทธ" หรือสันติวิธีในการเรียกร้องประชาธิปไตย ปัญหาสำคัญของแนวการนำของ ซูจี คือเขาพยายามชักชวนให้กรรมาชีพที่ออกมานัดหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ใน 8-8-88 หรือนักศึกษาที่เป็นหัวหอกสำคัญในการจุดประกายการต่อสู้ในครั้งนั้น สลายตัว เพื่อให้การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และบ่อยครั้ง ซูจี จะเสนอว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องประนีประนอมกับกองทัพพม่า

ในหลายๆ เรื่อง ซูจี มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่เข้าข้างนายทุน (ดูหนังสือ "จดหมายจากพม่า") เช่นเธอมักจะสนับสนุนกลไกตลาดเสรีและแนวขององค์กร ไอเอ็มเอฟ และมักจะมองปัญหาของพม่าในกรอบแคบๆ ของแนวชาตินิยม ประเด็นหลังเป็นปัญหามาก และขัดแย้งกับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพแท้ เพราะประเทศ "พม่า" เป็นสิ่งที่อังกฤษสร้างขึ้นมาในยุคล่าอาณานิคม โดยที่ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนพม่า

กลุ่มเชื้อชาติ ต่างๆ เหล่านี้ เช่นชาวกะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน คะเรนนี่ ฯลฯ ไม่พอใจที่จะถูกกดขี่เป็นพลเมืองชั้นสองในระบบรวมศูนย์อำนาจที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แต่ อองซานซูจี ไม่เคยเสนอว่ากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ควรมีสิทธิ์ปกครองตนเองอย่างเสรี เพราะเธอต้องการปกป้องรัฐชาติพม่าในรูปแบบปัจจุบัน ในงานเขียนหลายชิ้นเธอจะ "ชม" วัฒนธรรมหลากหลายและงดงามของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ แต่เป็นการชมเหมือนผู้ปกครองชมลูกๆ มากกว่าการให้เกียรติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

วิธีการต่อสู้ของ ซูจี เน้นการสร้างพรรคการเมืองกระแสหลักเพื่อแข่งขันทางการเมืองในรัฐสภา และในการเลือกตั้งปี 1990 พรรค N.L.D. ได้ 392 ที่นั่งจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 485 ที่ในรัฐสภา ปัญหาคือว่าการได้รับคะแนนเสียงแบบนี้ไม่ได้สร้างพลังแท้ในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ทหารพม่าไม่ยอมให้ซูจี ตั้งรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นอีกบทเรียนสำหรับเสื้อแดงไทย

ปัญหาชนชาติ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าแยกออกจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของกลุ่มเชื้อชาติไม่ได้ คนพม่ามีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด และกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ไม่ต้องการรัฐรวมศูนย์ ในอดีตผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าอย่าง อองซาน (พ่อของซูจี) หรืออูนู ไม่ชัดเจนเรื่องเสรีภาพของเชื้อชาติ และในการประชุมปางลองในปี 1947 ผู้แทนชาวกะเหรี่ยง คะเรนนี่ มอญ อาราคาน และว้า ไม่ยอมมาร่วมประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่ไว้ใจผู้นำพม่า ในปัจจุบันนางซูจีก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ดังนั้นกลุ่มเชื้อชาติอาจไม่ไว้ใจการนำของเขาเท่าไร

ด้วยเหตุนี้ขบวนการประชาธิปไตยพม่าจะต้องมีจุดยืนชัดเจนที่สนับสนุนการปกครองตนเองของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไข การที่ K.N.U. องค์กรกะเหรี่ยง ออกมาประกาศสมานฉันท์กับขบวนการประชาธิปไตยและเรียกร้องให้ทหารพม่าหันปืนใส่นายพลเมื่อสองปีก่อนเป็นเรื่องดี และองค์กรประชาธิปไตยจะต้องตอบสนองความสมานฉันท์นี้

พระสงฆ์

คณะสงฆ์ในพม่าเต็มไปด้วยชายหนุ่มที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย สาเหตุสำคัญก็เพราะการบวชเป็นพระเกือบจะเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับการศึกษา หลังจากที่ทหารปิดมหาวิทยาลัย การอาศัยวัดในการประท้วงเป็นยุทธวิธีเพื่อป้องกันตัวจากการถูกปราบปรามในขณะที่จัดวงคุยทางการเมืองด้วย คล้ายๆ กับวิธีของพวกกบฏในอิหร่านในปี 1979 หรือคนโปแลนด์ในปี 1980 ที่ใช้สถาบันศาสนาเพื่อป้องกันตัว

สรุป

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าจะชนะได้เมื่อมีการโค่นล้มเผด็จการทหารอย่าง เด็ดขาด การประนีประนอมและการเชื่อใจทหารจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้

ชาวพม่าต้องต่อสู้กับทหารในรูปแบบเดียวกับที่พี่น้องประชาชนในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เคยต่อสู้ในอดีต ต้องชักชวนให้นายทหารชั้นผู้น้อยปฏิเสธคำสั่งของเผด็จการ น่าจะมีการนัดหยุดงานด้วย ทั้งคนงานในพม่าเอง และคนงานพม่าหรือกะเหรี่ยงในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่แม่สอดในไทย

การต่อสู้ดังกล่าวอาจใช้เวลา แต่เราสามารถให้ความสมานฉันท์และกำลังใจกับพี่น้องเราได้ตลอด เช่นการประท้วงหน้าสถานทูตเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เราในไทยต้องทำคือการเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อล้มอำมาตย์ของ ราเอง อดีตหัวหน้า คมช. สนธิ พูดเองว่าเขาคิดว่าการประท้วงในพม่า “ไม่มีวันล้มเผด็จการได้” เราต้องร่วมกันพิสูจน์ว่าเขาผิด ทั้งในกรณีไทยและกรณีพม่า
.......

(1) นักการเมืองฝ่ายอำมาตย์ในไทยถูกตั้งชื่อตามนายพลคนนี้ – เหมาะสมมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net