Skip to main content
sharethis
21 ส.ค. 52 - ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่อาคารรัฐสภา โดยมีนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย หลังจากคณะกรรมการได้พิจารณากันอย่างรอบด้านแล้ว จึงเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยให้นำข้อคิดเห็นของกรรมการไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมก่อนเสนอไปยัง ครม. นพ.วิชัยชี้ กฎกระทรวงนี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจากไปอย่างสงบและตามธรรมชาติ อันเป็นสิทธิในชีวิตและร่างกายที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการถือว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก
 
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่า วันนี้กรรมการสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาร่างกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.....” ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ออกมาเพื่อทำให้การปฏิบัติตามมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ญาติ สามารถปฎิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาได้ตามความประสงค์ของผู้ป่วย ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณากันอย่างกว้างขวางและมองกันอย่างรอบด้าน เนื่องจากมีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ มิติด้านสิทธิ มิติด้านกฎหมาย และมิติด้านจริยธรรมและมนุษยธรรม ในที่สุด คสช.ก็เห็นชอบหลักการของกฎกระทรวงดังกล่าว โดยที่ประชุมมอบให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดที่กรรมการตั้งข้อสังเกต หลังจากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ กล่าวว่า สาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงนี้ คือ แนวทางการเขียนหนังสือแสดงเจตนาควรมีข้อมูลใดบ้างที่สามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบหากเราไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ผู้ที่แสดงเจตนาสามารถทำหนังสือนี้ที่ใดก็ได้ หลักเกณฑ์วิธีการให้ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาได้อย่างถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือ และให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุข
 
“สิทธินี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องเขียนหนังสือแสดงเจตนา แต่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจากไปอย่างสงบและตามธรรมชาติ ไม่ทุกข์ทรมานและยืดชีวิตด้วยเครื่องมือหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยทำไว้ขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะที่ดี แสดงให้ชัดเจนว่าจะปฏิเสธการรักษาพยาบาลใดบ้าง ในขณะที่แพทย์ใช่ว่าจะไม่ช่วยหรือรักษาผู้ป่วยเลย แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตเพื่อการจากไปอย่างสงบ การเขียนเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายถือว่าเป็นความก้าวหน้ามากที่สิทธิในชีวิตและร่างกายของเราทุกคนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ” นายแพทย์วิชัยกล่าว
 
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการยกร่างกฎกระทรวงนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำมาตั้งแต่กลางปี 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา พร้อมกับรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยงานผู้ให้บริการสาธารณสุข สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง องค์กรต่างๆ รวมถึงผู้แทนฝ่ายผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในวาระสุดท้าย เป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รอบด้าน หลังจากนั้นจึงส่งร่างกฎกระทรวงไปยังสภาวิชาชีพและราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาล สถาบันการศึกษา หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ มีความเห็นตอบกลับมา เกือบ 90 องค์กร
 
นอกจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างกฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติโดยเชิญผู้แทนสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนผู้สนใจ ทำความเข้าใจกับการตายในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสิทธิในการปฏิเสธการรักษา ทั้ง 4 ภาค มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน
 
“หลังจากที่ คสช.ได้รับหลักการร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว สช.ก็จะนำไปปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และส่งไปยังกฎษฎีกาก่อนจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎกระทรวงที่สมบูรณ์ต่อไป นับจากวันนี้ สช.ก็มีหน้าที่ต้องไปจัดทำประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ได้” นายแพทย์อำพลกล่าว
 
ด้าน รศ.ดร.เสรี พงค์พิศ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โดยหลักการคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ มีเพียงรายละเอียดในทางปฏิบัติที่ต้องทำให้ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย ประเด็นสำคัญคือ การเขียนหนังสือแสดงเจตนาต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ ญาติพี่น้องมีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ด้วย เพราะคนเราเกิดมาไม่ได้อยู่คนเดียว ตายคนเดียว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น ดังนั้นเมื่อตายก็ต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เพื่อไม่สร้างทุกข์ให้กับคนรอบข้าง
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net