Skip to main content
sharethis
 
 
 
การปลูกต้นไม้ดูเหมือนจะเป็นคำตอบสำเร็จรูปสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมักถูกใช้ในการทำประชาสัมพันธ์ของบริษัทหลายๆ แห่ง หากแต่ว่าการปลูกแต่ไม่ดูแลจึงกลายเป็นเพียงแค่กระแสแทนที่จะเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติอย่างจริงจัง ถึงแม้จะเริ่มมาจากเจตนาที่ดีอย่างการปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำหรือประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมจนกระทั่งการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตามการปลูกต้นไม้ถึงแม้จะเพื่อเป็นการอนุรักษ์แต่สุดท้ายแล้วก็หวังผลไว้ที่ประโยชน์ของมนุษย์แทบทั้งสิ้น ฉะนั้นหากจะเรียกว่าเป็นการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมก็คงจะไม่ถูกนัก
 
 
กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ร่วมกับทางวัดศรีโสดา พระอารามหลวง และชมรมเพื่อดอยสุเทพ ได้จัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้ ประกาศธรรม ช่วยสรรพสัตว์” ในวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเน้นพันธุ์ไม้ชนิดที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า อาทิ นก กระรอก ฯลฯ สิ่งสำคัญคือได้มีการประสานความร่วมมือกันระหว่างชุมชน วัด หน่วยต่าง ๆ ของท้องถิ่น ในการฟื้นฟูดูแลดอยสุเทพโดยวิถีธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่ในบริเวณหลังวัดศรีโสดา - วังบัวบาน ซึ่งตั้งอยู่บนดอยสุเทพ
 
วัตถุประสงค์สำคัญคือช่วยกันปลูกต้นไม้ชนิดที่เป็นอาหารสัตว์ป่าซึ่งนับวันยิ่งหมดไปจากการเปลี่ยนแปลง เช่น ต้นมะเดื่อ หาด สมอพิเภก มะค่าโมง เป็นต้น  รวมทั้งรณรงค์ให้ผืนป่าดอยสุเทพเป็นเขตอภัยทาน งดเว้นการล่าสัตว์ตัดชีวิตทุกชนิด โดยกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรจากวัดศรีโสดา จำนวนกว่า 200 รูป และชาวบ้านห้วยแก้ว รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติสุเทพ - ปุย หน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า (FORRU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมนักสื่อความหมายธรรมชาติ ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และเครือข่ายสื่อเพื่อชุนชน
 
การปลูกป่าในครั้งนี้นั้นได้มีการปลูกในแปลงที่ถูกแผ้วผาง 3 จุด และแปลงป่าฟื้นฟูโดยธรรมชาติอีกหลายจุด เป็นผืนป่าเชิงดอยสุเทพตั้งแต่หลังวัดศรีโสดาไปจนถึงน้ำตกวังบัวบาน เนื้อที่ทั้งหมด 20 ไร่ ทั้งนี้ทางองค์ร่วมจัดมีแผนงานที่จะช่วยกันดูแลรักษา และค่อย ๆ ขยับพื้นที่การฟื้นฟูดูแลในเบื้องต้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี รวมพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่
 
นายประศักดิ์ ถาวรยุติกานติ์ ในฐานะประธานชมรมเพื่อดอยสุเทพ ได้กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึงความสำคัญของดอยสุเทพ – ปุย ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งทางสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จิตวิญญาณของชาวเชียงใหม่มาเนิ่นนาน ทั้งเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญทางพุทธศาสนาหลายแห่ง จึงถือได้ว่าเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทุกหนแห่งต่างหลั่งไหลมาเคารพสักการะ
 
“ในปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้รับผลกระทบจากบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพป่าเกิดความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์ป่าที่จำเป็นต้องอาศัยความสมบูรณ์ของผืนป่าในการดำรงชีวิต”
 
 
ท่ามกลางภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่อย่างปัญหาหมอกควัน แน่นอนว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่นอกจากประเด็นเรื่องอากาศแล้วความสำคัญของเรื่องอาหารก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้  และด้วยป่านั้นเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก ฉะนั้นการปลูกป่าจึงควรจะต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย แทนที่จะคำถึงถึงผลที่เกิดขึ้นกับคนแต่เพียงอย่างเดียว
 
พระคุณเจ้าจากวัดศรีโสดา พระวิหารหลวง ได้กล่าวไว้ในวันเปิดกิจกรรมดังกล่าวว่า
 
“ขอจิตอันเป็นกุศลทั้งหลายที่มาร่วมกันปลูกต้นไม้ ได้ส่งความปรารถนาดีแก่กัน เพื่อสันติธรรม ความรัก ความดีงาม จักดำรงอยู่บนโลกของเราตลอดไป คำพูดของพระคุณเจ้านั้นแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของงานที่ว่าสรรพสัตว์มีวงจรชีวิตที่เกื้อหนุนกัน และมนุษย์เราสามารถแสดงความรับผิดชอบด้วยจิตสำนึกที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ด้วยการปลูกต้นไม้โดยมีเจตนาในการเอื้อเฟื้อต่อกัน ระหว่างธรรมชาติ มนุษย์ และสัตว์ ดังที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ว่า “ปลูกป่า ประกาศธรรม ช่วยชีวิตสรรพสัตว์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net