เตรียมจัดประชุมแก้โลกร้อนที่ กรุงเทพฯ ปลายกันยานี้

 

 

วันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศแก่นักศึกษาและประชาชนในหัวข้อ “การเจรจาระหว่างประเทศในปัญหาโลกร้อน: เมื่อวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกับการเมืองระหว่างประเทศ” ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา ว่าการสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศแก่ประชาชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาระหว่างปัญหาสำคัญๆ ที่มีการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยโครงการนี้จะเน้นที่การจัดสัมมนาในสถาบันการศึกษาส่วนภูมิภาค
สำหรับการกำหนดหัวข้อเรื่องโลกร้อนนั้น ดร.อนุสนธิ์ ได้อธิบายว่า ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข โดยผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้มาประชุมร่วมกันเพื่อพยายามที่จะลดสาเหตุและบรรเทาผลกระทบของปัญหา (Mitigation) และเพื่อพิจารณาถึงการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)
“ในขณะนี้การเจรจาระหว่างประเทศเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อนภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กำลังเข้มข้น โดยมีการประชุมต่อเนื่องกันตลอดมาเป็นระยะๆ และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Climate Change Talks ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 9 ต.ค. นี้ โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการประชุมที่บาร์เซโลนาและไปจบลงที่การประชุมโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ โดยหลายๆ ฝ่ายมองว่าที่ประชุมน่าจะสามารถเจรจาตกลงกันได้ในเรื่องมาตรการใหม่ๆ ที่จะจัดการปัญหานี้ได้”
ภายในงานได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “องค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศแบบพหุภาคี” ดำเนินรายการโดย นายธนพ ปัญญาพัฒนากุล นักการทูตชำนาญการ กระทรวงการต่างประเทศ
นายสมศักดิ์ เตรียมแจ้งอรุณ นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมองค์การระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลถึงลักษณะเบื้องต้นขององค์การระหว่างประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนา  โดยระบุว่า องค์การระหว่างประเทศคือองค์การที่ถูกสร้างขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างรัฐกับองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ โดยการประชุมระหว่างรัฐนั้นจะมีอำนาจบังคับมากกว่า
สำหรับการดำเนินการขององค์การระหว่างประเทศนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุจุดประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์การระหว่างประเทศจะตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างสองรัฐขึ้นไป โดยมีหน้าที่จัดประชุมปรึกษาหารือระหว่างรัฐและวางกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรและเสนอการใช้วิธีป้องกันร่วมกันจนวิธีปฏิบัติการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการได้รับการคุ้มครองจากสหประชาชาตินั้นไม่ใช่เป็นสิ่งได้เปล่า แต่มีต้นทุนเพราะประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินเข้าสหประชาชาติ โดยต้องจ่ายตามเกณฑ์ความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณประจำปีประเทศนั้น
สำหรับการประชุมแบบพหุภาคีในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 โดยผลจากการประชุมได้มีมติให้ตั้ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งจะมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันขององค์ความรู้และให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดย IPCC นั้น ไม่ได้ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นผู้ทบทวนรายงานหลายพันชิ้นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer reviewed) ในทุกๆ ปี และเป็นผู้สรุป สถานะขององค์ความรู้ เรื่องภาวะโลกร้อนในรายงานการประเมินซึ่งตีพิมพ์ทุกๆ 5 ปี​​หรือมากกว่านั้น
ด้าน ผศ.ดร.ขจิต จิตตเสวี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า หากมองจากปัจจุบันนั้นประเทศไทยดูเหมือนจะมีการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน แต่แท้จริงแล้วกลุ่มความร่วมมือต่างๆ หลายกลุ่มที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกนั้นเพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน และไม่ได้อยู่มาตลอด สำหรับการสัมมนาในวันนี้นั้นเห็นด้วยว่าวิทยาศาสตร์กับการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน โดยวิทยาศาสตร์จะเป็นประเด็นเรื่องว่าอะไรที่ทำให้โลกร้อน ส่วนการเมืองนั้นจะเป็นในเรื่องของใครทำ ประเทศไหน
“ก็มีการพูดกันว่าสหรัฐอเมริกานั้นแท้จริงแล้วเป็นเอกภาคีที่มาในรูปแบบพหุภาคี การที่ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศแบบพหุภาคีนั้นแม้เราจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนักในเวทีแต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่งการประชุมแบบนี้อะไรที่เป็นผลประโยชน์ก็จะทะเลาะกัน แต่ถ้าเป็นลักษณะเรื่องภัยคุกคามก็จะทำให้ร่วมมือกันดี”
ทั้งนี้ได้ในช่วงบ่ายงานสัมมนามีการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาโลกร้อน: ปฏิบัติการท้องถิ่นสู่การเจรจาระหว่างประเทศ” และในวันถัดมาได้มีการอภิปราย “การเมืองเรื่องโลกร้อน: ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ” ซึ่ง “ประชาไท” จะนำเสนอต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท