นักวิชาการคมนาคมเห็นด้วยกำหนดอายุรถโดยสาร-องค์กรผู้บริโภคจี้ศึกษาการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร


จำรูญ ตั้งไพศาลกิจ
 

นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งตอนนี้ในกรุงเทพมหานครมีการกำหนดอายุรถแท็กซี่แล้ว โดยต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี ขณะเดียวกันทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ก็ได้มีการกำหนดอายุรถตู้โดยสารทั่วประเทศแล้วเช่นกัน

นายจำรูญ เปิดเผยด้วยว่า ทาง สนข.เองได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ ซึ่งทราบมาว่า ทางกรมการขนส่งทางบกได้ทำการศึกษาเรื่องการกำหนดอายุรถโดยสาร โดยมอบหมายให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ (ม.อ.) เป็นผู้ศึกษา

นายพิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการศึกษาดังกล่าว ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 70 คาดว่าอีก 3 เดือนจะแล้วเสร็จ โดยจากการศึกษาเก็บข้อมูลรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดสงขลา พบว่า อายุรถโดยสารสาธารณะที่มีอายุมากที่สุด อยู่ที่ประมาณ 40 – 45 ปี

 


รถเมล์ด่วน – ตัวอย่างรถเมล์ด่วนวิ่งระหว่างเมืองหาดใหญ่ – สงขลา
ตามผลการศึกษาเบื้องต้นของศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TRDC)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหัดสงขลา สนข. จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษาจัดทำระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่และเชื่อมโยงเมืองสงขลา โดย สนข. มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TRDC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ศึกษาจัดทำระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

ในการสัมมนาครั้งนี้มีนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย โดยนายนิพนธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า การจัดทำระบบขนส่งมวลชนไม่ควรมองแค่หาดใหญ่ สงขลา แต่ควรมองไกลไปถึงอำเภอสะเดา หรืออำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาด้วย

“อย่างสะเดาเราจะมองข้ามไม่ได้เลย เพราะสะเดาเป็นเมืองที่โตเร็วมาก เรามีมูลค่าการค้าขายผ่านด่านสะเดาในแต่ละปีมากกว่า 2 แสนล้านบาท การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนควรดูทั้งผลได้ผลเสีย อย่างการรื้อฟื้นทางรถไฟสายหาดใหญ่ – สงขลาเดิม ต้องดูว่าผู้ที่บุกรุกเข้าไปอาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะช่วยอย่างไร เพราะเป็นคนที่อ่อนแอ” นายนิพนธ์ กล่าว

รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TRDC) ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมี 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย การศึกษาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมเชื่อมโยงระหว่างเมืองหาดใหญ่และเมืองสงขลา การศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ และการศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการศูนย์กลางการคมนาคม

โดยประเด็นการเชื่อมโยงระหว่างเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลา มีการเสนอแนวทาง 4 ทางเลือกประกอบด้วย 1.การสร้างช่องทางระบบช่องทางรถด่วนพิเศษ จากเมืองหาดใหญ่ สู่ทางหลวง 414 สายลพบุรีราเมศวร์เข้าสู่เมืองสงขลา 2.ระบบช่องทางรถด่วนพิเศษจากเมืองหาดใหญ่สู่ทางหลวง 407 สายกาญจนวนิช ตลอดเส้นทางเข้าสู่เมืองสงขลา 3.ระบบรถด่วนพิเศษเขตทางรถไฟ เริ่มจากเมืองหาดใหญ่ ขนานไปกับทางรถไฟเดิมจนสู่เมืองสงขลา และ 4.ระบบรถไฟชานเมือง ตามเส้นทางรถไฟเดิมจากเมืองหาดใหญ่สู่เมืองสงขลา

รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ ระบบช่องทางรถด่วนพิเศษจากเมืองหาดใหญ่สู่ทางหลวง 407 สายกาญจนวนิช ตลอดเส้นทางเข้าสู่เมืองสงขลา โดยใช้รถเมล์ด่วยพิเศษหรือ BRT เนื่องจากสามารถปรับปรุงระบบถนนที่มีอยู่เดิมได้โดยใช้งบประมาณไม่มาก

ส่วนระบบรถไฟ ซึ่งมีทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตรอยู่นั้น ต้องมีการปรับปรุงใหม่ รวมทั้งการสร้างสะพาน จุดตัด ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 4,250 ล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟกิโลเมตรๆ ละ 50 ล้านบาท สะพานและท่อระบายน้ำรวม 500 ล้านบาท ทางข้ามทางรถไฟ ขนาดใหญ่ 4 จุดๆ ละ 250 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมูลค่าที่ยังไม่ได้ประเมินอีกประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท ได้แก่ ค่าชดเชยและโยกย้ายชุมชนที่รุกล้ำเขตทาง ระบบไม้กั้นรถไฟและระบบอานัติสัญญานและการลงทุนตัวรถไฟ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ อยากให้มีการรื้อฟื้นทางรถไฟสายหาดใหญ่ - สงขลามากกว่า

เภสัชกรสมชาย ละอองพันธ์ ผู้ประสานงานวิชาการโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้ริโภค ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ กล่าวในเวทีสัมมนาว่า การเชื่อมโยงเส้นทางหาดใหญ่ – สงขลา ต้องคำนึงถึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับด้วยว่าใครเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์เหล่านั้น เพราะอาจมีการประท้วงจากกลุ่มผู้ประกอบการแน่นอน

เภสัชกรสมชาย กล่าวต่อว่า อีกส่วนที่อยากจะฝากไว้คือเรื่องของการขนส่งใน ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ยังไม่มีใครเข้าไปจัดการ

เภสัชกรสมชาย กล่าวอีกว่า ควรมีการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่า มีสถิติมากน้อยเพียงใด และต้องทำการศึกษาด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเลขลดลง แล้วการเชื่อมโยงเส้นทางใหม่จะช่วยเรื่องปัญหาจราจรได้จริงมากน้อยแค่ไหน โดยต้องศึกษาถึงการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วย ต้องคำนึงถึงระบบการจัดการรถที่มีอายุมากอยู่ในสภาพที่เก่าว่ามีความปลอดภัยหรือไม่เพียงใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท