Skip to main content
sharethis

คดีเรียกร้องเงินทดแทนกรณี “เส่ง ทุน” แรงงานข้ามชาติซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะทำงาน สองฝ่ายตกลงกันได้ นายจ้างยอมจ่ายตามญาติผู้ตายร้องวงเงิน 250,000 บาท แต่ขอทยอยเป็นงวด ศาลสั่งหากจ่ายครบโจทก์ต้องถอนอุทธรณ์คำสั่งประกันสังคมเนื่องจากยอมความกันได้จึงไม่ต้องให้ศาลมีคำสั่งบังคับจ่าย

 

 
 

นายเส่ง ทุน ขณะรักษาตัว (แฟ้มภาพ) (ที่มา: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)
 
จากกรณีการเรียกร้องเงินทดแทนจากการเสียชีวิตของนายเส่ง ทุน ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งใน จ.เชียงใหม่ และเสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยทางญาติผู้ตายได้เรียกร้องเงินทดแทนจากนายจ้างและสำนักงานประกันสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อการพัฒนา (มสพ.) โดยในกระบวนการพิจารณาของศาลนัดที่ 9 ในวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางบริษัทพี คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาและเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ได้เสนอว่าจะจ่ายเงินชดเชยจำนวน 40,000 บาท ส่วนนายมนัส พรมแดน นายจ้างผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของผู้ตายได้เสนอจ่ายเงินชดเชยจำนวน 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท
 
ทางด้านนายวาริม มูลคำ ผู้เป็นน้าชายของนายเส่ง ทุนที่อยู่ในเมืองไทยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากพ่อและแม่ของนายเส่ง ทุน ได้เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวน 250,000 บาท เนื่องจากคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทำศพและเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งจะเป็นจำนวนเงินประมาณ 300,000 บาท แต่กระบวนการดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลา ทางโจทก์จึงได้เสนอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินชดเชยจำนวน 250,000 บาท แทน
 
ล่าสุด วานนี้ (3 ส.ค.) ที่ศาลแรงงาน ภาค 5 ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ ศาลได้นัดฝ่ายโจทก์และจำเลยมาร่วมกระบวนการพิจารณาของศาลนัดที่ 10 โดยหลังจากที่ทางทนายฝ่ายจำเลยได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปปรึกษากับจำเลยทั้งสองแล้ว ทางทนายของนายมนัส พรมแดน นายจ้างโดยตรงของผู้ตายได้มาให้การต่อศาลว่าจำเลยได้ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายโจทก์ที่จะจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวน 210,000 บาท โดยจะขอทยอยจ่ายเป็นรายเดือนทั้งหมดหกงวด งวดละ 35,000 บาท ส่วนทางบริษัทพี คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นจำเลยร่วมจะจ่ายเงินชดเชยจำนวน 40,000 บาท โดยทยอยจ่ายเป็นสองงวด งวดละ 20,000 บาท ทั้งหมดรวมเป็นเงิน 250,000 บาท ตามที่ฝ่ายโจทก์ได้เสนอ จึงได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล
 
สำหรับรายละเอียดในการชำระนั้นทางจำเลยทั้งสองจะต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายวาริมและจะแจ้งให้ทราบภายใน 15 วัน โดยงวดแรกจะเริ่มในวันที่ 5 ต.ค. ที่จะถึงนี้ และชำระงวดต่อไปทุกวันที่ 5 ของ ซึ่งหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินงวดใดงวดหนึ่งนั้นถือว่าผิดนัดและจะต้องโดนบังคับคดีพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินจำนวนที่ค้างชำระ ทั้งนี้โจทก์จะต้องไม่เรียกร้องเงินตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ที่มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทำศพและเงินทดแทน และถ้าจำเลยทั้งสองชำระเงินครบตามสัญญาแล้ว โจทก์จะต้องถอนฟ้องอุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ เนื่องจากถือว่าเงินที่ได้รับจากจำเลยทั้งสองนั้นเป็นการจ่ายตามคำสั่งสำนักงานประกันสังคมแล้ว
 
นายวาริม มูลคำ น้าชายของนายเส่ง ทุนได้กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ในที่สุดได้รับเงินชดเชยตามสิทธิที่ควรจะได้รับ หลังจากที่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด 10 นัด ซึ่งในแต่ละครั้งตนต้องลางานจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มาขึ้นศาล โดยเงินที่ได้จะส่งไปให้พ่อและแม่ของนายเส่ง ทุน ที่รัฐฉาน ประเทศพม่า
 
ขณะเดียวกันมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ออกแถลงการณ์ด่วน ตัวอย่างของชัยชนะในการเรียกร้องสิทธิเงินทดแทน: พ่อแม่ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากการทำงาน รับเงินทดแทนกว่า 250,000 บาท” โดยระบุมีรายละเอียดดังนี้
 
 
ตัวอย่างของชัยชนะในการเรียกร้องสิทธิเงินทดแทน: พ่อแม่ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากการทำงาน รับเงินทดแทนกว่า 250,000 บาท
 
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
 
ชัยชนะของสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในกรณีนี้ พ่อแม่ของนายทุน แรงงานข้ามชาติจากรัฐฉาน ประเทศพม่าวัย 17 ปี ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนแรงงาน และประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการทำงานในโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง จะได้รับเงินทดแทนจำนวน 250,000 บาท หลังจากที่ได้ดำเนินคดีและเจรจาเรียกร้องสิทธิจากนายจ้างมากว่า 2 ปีที่ศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ผลของคดีนี้ เป็นการสร้างความหวังให้แก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ากว่า 2 ล้านคนในประเทศไทยที่ต้องทำงานเสี่ยงอันตรายในที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามผลของคดีนี้ก็ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของสำนักงานประกันสังคมที่ยังคงเลือกปฏิบัติไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงและรับเงินจากกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม กรณีได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน
 
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 นายบุญและนายทุน แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ อายุ 27 ปีและ 17 ปีตามลำดับ ได้ประสบอุบัติเหตุในขณะที่ทำงานอยู่ในโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง บริเวณพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นของเทศบาล โดยมีนายจ้างของคนทั้งสองรับงานมาจากบริษัท พี คอร์เปอร์เรชัน จำกัด ผู้รับเหมาชั้นต้น ในขณะที่ทั้งสองคนกำลังทำงานอยู่นั้น รถผสมปูนได้ถอยมาใกล้กับบริเวณที่ทั้งสองคนทำงานอยู่ ทำให้ดินถล่มทับทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส
 
นายบุญ เป็นแรงงานไทยใหญ่ที่ถือบัตรบุคคลพื้นที่สูง รอดชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว แต่ก็ได้รับบาดเจ็บบริเวณปอด ไหล่หัก ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณคอและสูญเสียความสามารถในการได้ยินอย่างถาวร ทั้งนี้ นายบุญต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนานกว่า 2 เดือน ในขณะที่นายทุน ได้เสียชีวิตลงหลังจากประสบอุบัติเหตุเพียง 4 วัน เนื่องจากได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง อย่างรุนแรง
 
นายทุน เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2550 แต่ไม่ได้จดทะเบียนแรงงานแต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงที่นายทุนเดินทางเข้ามานั้น ยังไม่มีการเปิดให้จดทะเบียน โดยทำงานและพักอยู่กับญาติและรับจ้างในสวนลำไย ก่อนที่จะเข้ามาทำงานก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับค่าจ้างวันละ 170 บาท ญาติของนายทุนต้องรวบรวมเงินเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท และค่าจัดการศพอีก 20,000 บาท (ภาพประกอบ: นายทุนขณะรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล)
 
หลังจากที่นายทุนเสียชีวิต ญาติของนายทุนได้ติดต่อกับนายจ้างให้จ่ายเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตให้ ตอนแรกนายจ้างบอกว่าจะจ่ายเงินทดแทนให้จำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธ และบอกญาติของนายทุนว่า แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนภายใต้กฎหมายไทย ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงได้ให้ความช่วยเหลือให้มีการนำคดีของนายบุญและนายทุนยื่นคำร้องที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2550 โดยเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องของนายบุญและดำเนินการให้ได้รับเงินทดแทนกรณีได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทนได้ โดยให้เหตุผลว่านายบุญเป็นบุคคลพื้นที่สูง แต่สำหรับกรณีของนายทุน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามารถทำได้เพียงออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินให้ญาติ และยืนยันว่า นายทุนไม่ใช่ลูกจ้างที่มีสิทธิเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้เนื่องจากเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน
 
ในช่วงเดือนธันวาคม 2550 ถึงมีนาคม 2551 ได้มีการสอบถามความคืบหน้าจากสำนักงานประกันสังคม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ส่งหนังสือถึงนายจ้างของนายทุนแล้ว แต่นายจ้างไม่มา หลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม 2551 ทางสำนักงานประกันสังคมจึงได้ส่งเรื่องให้ตำรวจเพื่อเรียกนายจ้างมาดำเนินคดีเนื่องจากขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 หลังจากที่มีข่าวของนายทุนลงในหนังสือพิมพ์ ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกคำสั่งโดยให้ญาติของนายทุนผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนประมาณ 300,000 บาท แต่ในคำสั่งดังกล่าวกลับไม่ได้ระบุว่าใครคือญาติผู้มีสิทธิดังกล่าว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้มีการมอบเอกสารของญาติและคนในครอบครัวของนายทุนทั้งภาษาไทยและภาษาพม่าจำนวนมากให้แก่เจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบของสำนักงานประกันสังคมในการให้ความยุติธรรมกับครอบครัวของนายทุน ญาติของนายทุนที่อาศัยที่จังหวัดเชียงใหม่จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 และหลังผ่านการเจรจาแบบไม่เป็นทางการมานานกว่า 15 เดือน ท้ายสุด วันนี้ นายจ้างของนายทุนยินยอมที่จะจ่ายเงิน 250,000 บาท โดยจะจ่ายเป็นรายเดือน ระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ญาติของนายทุน โดยจะต้องถอนคำร้องที่สำนักงานประกันสังคม
 
นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า “มสพ. เห็นว่าการหาข้อยุติของคดีวันนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์สำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ของนายทุนซึ่งอาศัยอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศพม่า ให้ได้รับความมั่นคงในชีวิตหลังจากต้องสูญเสียลูกชาย อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของนายจ้าง ความสำเร็จของคดีนี้ได้เป็นความหวังให้กับแรงงานข้ามชาตินับล้านคนในประเทศไทย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้นายทุนจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนแต่ก็สามารถได้รับความยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวนี้ได้”
 
นายสมชาย ยังกล่าวอีกว่า “สิ่งที่นายจ้างที่เป็นคนไทยพึงถือเป็นบทเรียนจากเรื่องนี้ คือ 1. ไม่ควรที่จะมุ่งแต่ผลประโยชน์จนละเลยเรื่องความปลอดภัยของคนงาน และ 2. พวกเขาควรร่วมมือกับแรงงานข้ามชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านแรงงาน เพื่อช่วยให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและไม่ต้องรับภาระเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนก้อนโตแต่เพียงผู้เดียว”
 
นายสมชาย ยังทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางประกันสังคมจะใช้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับความล้มเหลวของพวกเขาในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อที่จะพัฒนาระบบของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้แรงงานที่ประสบอุบัติเหตุอย่างเช่นกรณีของนายทุนนี้ จะสามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้อย่างไร คดีนี้ หากทาง มสพ. ไม่เข้าไปดำเนินการให้ความสนับสนุน ก็อาจมีบทสรุปเหมือนอย่างแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตจากการทำงาน โดยที่ไม่มีใครใส่ใจ แม้จากรัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม โดยที่ครอบครัวของพวกเขาจะไม่ได้รับการชดใช้เยียวยาใดๆทั้งสิ้น”
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net