Skip to main content
sharethis

เวทีนโยบายสาธารณะ "ระบบบำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืน" ซึ่งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ กว่า 200 คน จัดระดมความคิดเห็นเพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และเสนอต่อกระทรวงการคลัง

พญ. ลัดดา ดำริห์การเลิศ ผู้จัดการแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอันเนื่องมาจากการลดลงของอัตราตายและอัตราเกิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนประชากรสูงอายุไทยเพิ่มจากร้อยละ 7.4 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี 2551 และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2566 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงนับว่า สังคมไทยมีเวลาน้อยที่จะเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
 
“ผู้สูงอายุต้องการหลักประกันที่สำคัญ 2 ด้านคือ หลักประกันด้านสุขภาพ และหลักประกันด้านรายได้ ซึ่งหลักประกันด้านรายได้ต้องสร้างขึ้นตั้งแต่วัยแรงงาน ผ่านการออมในระหว่างการทำงานที่มีรายได้ แต่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เสนอกลไกดังกล่าว อาทิ หน่วยงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ซึ่งมีผลงานที่รุดหน้าในการนำเสนอระบบบำนาญจากการออมอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดการสร้างระบบหลักประกันรายได้ตามองค์ความรู้ที่มีอย่างมีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอจากเวทีความคิดเห็นทั้งหมด จะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อปรับระบบให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด”
 
ขณะที่นายสาธิต รังคสิริ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงข้อเสนอการตั้งกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมเรื่องเบี้ยยังชีพ เดิมได้เฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย มาเป็นครอบคลุมผู้สูงอายุวัย 60 ปีทุกคน 500 บาท/เดือน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งสามารถขยายไปได้ในอนาคตตามภาวะเงินเฟ้อ ปัจจุบันมีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ 5.9 ล้านคน ปี 2553 เพิ่มเป็น 6.8 ล้านคน
 
ส่วนอีกมาตรการหนึ่งคือ กองทุนการออมแห่งชาติ จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมดด้วย โดยกำหนดการออมเป็นบัญชีส่วนบุคคลนับแต่วัยแรงงานจนถึงอายุ 60 ปี ขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน รัฐสมทบเป็นขั้นบันได คือกลุ่มอายุ 20-30 ปี สมทบ 50 บาทต่อเดือน กลุ่มอายุ 31-50 สบทบ 80 บาทต่อเดือน กลุ่มอายุ 51-60 สบทบ 100 บาทต่อเดือน การออมจะไม่บังคับ แต่เน้นในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากรัฐหากเข้ามาอยู่ในระบบ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และคาดว่าจะสามารถออกเป็น พ.ร.บ. ให้แล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน
 
"กองทุน กอช. นี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้เงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้ที่ออมในระดับพื้นฐาน 100 บาทต่อเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปี และออมจนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญตลอดชีพเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพเป็นเงินทั้งสิ้น 2,210 บาทต่อเดือน ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้ในอีกไม่นานนี้" นายสาธิต กล่าว
 
ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบกล่าวว่า การตั้งกองทุนออมแห่งชาติจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีแล้วไม่มีบำนาญอาจจะลำบาก ส่วนนโยบายรัฐที่มอบเบี้ยให้ผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท คิดว่าไม่เพียงพอถ้าไม่มีลูกหลานดูแล เพราะเส้นความยากจนที่แท้จริงนั้นสูงกว่าที่รัฐประมาณการมาก
 
"เห็นด้วยกับระบบของกระทรวงการคลังในเบื้องต้น แม้จะมีกองทุนประกันสังคมเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอยู่ แต่สำหรับกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบของกระทรวงการคลังนั้น จะมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกจากบำนาญหรือไม่ เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล พิการ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่า รัฐน่าจะสามารถนำเอากองทุนสองกองมาบูรณาการรวมกันได้หรือไม่ ระหว่างกองทุนประกันสังคมกับกองทุนส่งเสริมการออม ซึ่งจะทำให้สะดวกกับประชาชนไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชนด้วย" นางสุจิน กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ผลจากการจัดระดมความคิดเห็นภาคประชาชน ผู้สูงอายุ และนักวิชาการได้สรุปข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุไทย 5 ประเด็นหลักคือ 1. นโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า ถือได้ว่าเป็นสิทธิบำนาญขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนอยู่ในพระราชบัญญัติกองทุนบำนาญแห่งชาติที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย โดยมีระบบการกำกับดูแลและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ผลประโยชน์ควรอยู่ที่ระดับเส้นความยากจนและมีการปรับตามระดับอัตราเงินเฟ้อ
 
ส่วนประเด็นที่ 2 พระราชบัญญัติการออมแห่งชาติที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง มีขึ้นเพื่อหลักประกันในเรื่องของบำนาญตลอดชีพ ไม่ใช่กองทุนเพื่อการออมทั่วไป จึงควรระบุชื่อตามวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเป็น พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ เพื่อความชัดเจน ไม่สับสน และควรพิจารณาเพิ่มเติมสวัสดิการอื่นๆ ให้กับผู้สูงอายุด้วย  นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ โดยกระทรวงการคลัง และการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อขยายสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานนอกระบบโดยกระทรวงแรงงานนั้น ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพให้กับแรงงานนอกระบบ กองทุนประกันสังคมนั้นเป็นกองทุนภาคบังคับในขณะที่กองทุนของกระทรวงการคลังจะเป็นภาคสมัครใจ ทำให้กติกาหลักไม่เหมือนกันโดยพื้นฐาน แต่ก็จำเป็นที่รัฐต้องคิดทบทวนให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนเชื่อมโยงกัน ทำงานไปด้วยกันได้ ดังนั้น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรที่จะได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาหาคำตอบร่วมกันอย่างจริงจัง
 
ส่วนการเชื่อมโยงกองทุนระดับชาติกับระดับชุมชน เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของกองทุนระดับชุมชนเฉพาะในเรื่องของการจัดสวัสดิการบำนาญชราภาพ จึงควรพิจารณาถึงความเชื่อมโยงระหว่างกองทุนระดับชาติกับกองทุนระดับชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรออกจากชุมชน ควรเปิดโอกาสให้กองทุนชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารจัดการด้วย
 
ประเด็นสุดท้าย การบริหารจัดการกองทุนที่ดี ระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบที่ดีทั้งในระดับประเทศ และระดับล่างลงไป (ระดับพื้นที่) ควรมีการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรู้ถึงการบริหารจัดการอย่างชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net