Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี ในหัวข้อ “นักข่าวพลเมือง : ศักยภาพในการกำหนดวาระทางการเมือง-สังคมกับความท้าทายที่เกิดขึ้น” ขึ้นที่มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ ฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี น.ส.โสภิดา วีรกุลเทวัญ ผู้ประสานงานโปรแกรมสื่อเพื่อประชาธิปไตย มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน น.ส.นันทา เบญจาศิลารักษ์ บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

โสภิดา วีรกุลเทวัญ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้เปิดการอภิปรายโดยเริ่มจากประเด็นว่า กลุ่มคนที่ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองนั้นคือใคร โดย นันทา เบญจาศิลารักษ์ บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ได้ให้ข้อมูลว่า เรื่องแนวคิดของนักข่าวพลเมืองนั้นมีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการเรียกว่านักข่าวพลเมือง โดยคำดังกล่าวนั้นมาเป็นที่รู้จักกันในสังคมเมื่อทีวีไทยได้มีการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถรายงานข่าวได้

กำเนิด ‘บล็อกเกอร์’ สะท้อนสื่อกระแสหลักไม่ตอบสนอง
สำหรับองค์ประกอบที่ทำให้เกิดนักข่าวพลเมืองนั้น นันทา ได้กล่าวว่า ที่จริงแล้วนักข่าวพลเมืองนั้นเติบโตมาพร้อมกับการมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อย่างเช่น กลุ่ม Esaanvoice กลุ่มไทยปักษ์ใต้ ส่งผลให้เกิดการทำข่าวในส่วนที่ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน ฉะนั้นข่าวที่ไม่เคยเป็นข่าวจึงปรากฏสู่สังคมมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวเหล่านั้นก็คือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรภาคประชาชน
 
นันทา ยังชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิตอลที่ก้าวหน้านั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากได้ทำให้เกิดสื่อใหม่ ซึ่งทำให้ช่องทางการสื่อสารไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดกับสื่อกระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียว และได้ทำให้คนที่ไม่ได้มีทักษะการรายงานข่าวแบบมืออาชีพก็สามารถรายงานข่าวได้ ซึ่งทำให้เกิดนักข่าวพลเมืองในลักษณะของปัจเจกบุคคล อย่าง บล็อกเกอร์
 
“การเกิดขึ้นของบล็อกเกอร์สะท้อนการรับสื่อกระแสหลักว่า มีปัญหา และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคมได้”
 
ยุคสมัยแห่งการท้าทายจารีตการทำข่าวแบบเดิม
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท กล่าวเห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว และกล่าวถึงความหมายของนักข่าวพลเมือง ซึ่งเคยจำกัดอยู่กับผู้ที่ทำหน้าที่สื่อข่าวภาคประชาชน เช่น ข่าวจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ แต่ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ไม่สามารถที่จะจำกัดได้ว่า นักข่าวพลเมืองคือภาคประชาชนเท่านั้น เพราะไม่จำเป็นว่า ต้องเป็นคนชายขอบเท่านั้นที่จะต้องมารายงานข่าว แต่อาจเป็นคนกลุ่มต่างๆ ที่เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองที่เข้ามารายงานข่าวสารที่ถูกปิดกั้น
 
ชูวัส ยังได้กล่าวอีกว่า การมีนักข่าวพลเมืองทำให้เกิดการตั้งคำถามในทุกเรื่อง และไม่สามารถผูกขาดความจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือองค์กรภาคประชาชนก็ตาม ส่งผลให้เรื่องความน่าเชื่อถือนั้นมีเส้นแบ่งพร่าเลือน ทำให้ตอนนี้เป็นยุคสมัยที่ได้ทำลายความเป็นฐานันดรที่ 4 และท้าทายจารีตการทำข่าวแบบเดิม การเขียนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกระชับเหมือนเดิมเพราะพื้นที่ไม่ได้จำกัดเหมือนบนหน้ากระดาษ
 
“ผมคิดว่าสำนักข่าวหลายแห่งก็ได้นำข่าวจากบล็อกมาใช้เยอะ วิถีการทำข่าวก็จะต้องเปลี่ยนไป เหมือนวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไปหลังจากที่มนุษย์ได้ผลิตเครื่องจักรไอน้ำ แล้วสังคมก็เปลี่ยนเข้ายุคสู่อุตสาหกรรม ซึ่งในกรณีนี้ทำให้ช่องทางการสื่อสารสาธารณะแบบเดิมถูกท้าทาย”
 
“อย่างไรก็ตาม นักข่าวพลเมืองจำเป็นต้องมีทักษะ เพื่อใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้ปรากฏ เช่น แครื่องมืองสร้างเครือข่าย อย่าง twitter ที่คนๆ หนึ่งก็สามารถมีคนรับข่าวสารของเขาได้มากกว่า CNN ได้ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเดาเหตุการณ์ข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร”
 
สมชายชี้นักข่าวพลเมืองยังไม่ถึงขั้นตั้งญัตติสาธารณะ
ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันตนยังอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สื่อทางเลือกอย่างประชาไท ประชาธรรมนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนส่วนน้อยได้เข้ามาสื่อสาร แต่ก็มีคำถามว่า มันสามารถผลักดันหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน โดยยกตัวอย่างสำนักข่าวประชาธรรมในช่วงแรกๆ นั้น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พยายามที่จะนำข่าวของสำนักข่าวประชาธรรมไปขายกับสื่อกระแสหลักเพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ เพราะสื่อทางเลือกนั้นอาจจะไม่สามารถสร้างกระแสได้ ทำให้การส่งผ่านข้อมูลความรู้ทำได้จำกัดในวงแคบๆ
 
“ไม่ใช่แค่การอัพเนื้อหาขึ้นเว็บแล้วก็จบ แต่ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงของคนด้วย คนมักพูดว่า คนยุคนี้อ่านหนังสือพิมพ์กันน้อยลง แต่ผมเห็นว่าเป็นการรับสื่อน้อยลงมากกว่า จึงไม่แน่ว่า อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงแล้วจะอ่านข่าวบนเว็บไซต์เยอะขึ้น เพราะเว็บไซต์เป็นเพียงช่องทางของคนที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว”
 
รศ.สมชาย กล่าวยอมรับว่า การมีของนักข่าวพลเมืองนั้นแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพ แต่ไม่ถึงขั้นตั้งญัตติสาธารณะได้  และเราเลือกยังอ่านเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความสนใจของเรา
 
“เช่น เหลืองอ่านเอเอสทีวีผู้จัดการ แดงอ่านไทยอีนิวส์ เพราะฉะนั้น อาจไม่จริงที่ว่า อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องเดียวยังทำให้คนแตกแยกกันได้ ดังที่เห็นจากการเมืองไทย”
 
“เราได้จักรยาน แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นรถไฟใต้ดิน”
สำหรับประเด็นนี้ ทางชูวัส บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไทกล่าวเห็นด้วยอีกเช่นกัน โดยอธิบายว่า นักข่าวพลเมืองนั้นมีศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วันนี้อินเทอร์เน็ตยังจำกัดวงอยุ่แค่ชนชั้นกลาง ยังไปไม่ถึงชาวบ้าน และปัจเจกในเมืองไทยก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ แม้เราจะเห็นได้ในต่างประเทศที่มีการแสดงออกซึ่งแรงกดดันอย่าง flash mob แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดหรือเห็นผลในเมืองไทย
 
“อินเทอร์เน็ตคืออนาคต แต่หากจะให้มีผลต่อการเคลื่อนไหวทางสังคม จำเป็นต้องมีทักษะ และต้องมีกลไกหรือกิจกรรมรองรับ แต่วันนี้ยังไม่เกิดขึ้น เหมือนตอนนี้เราได้จักรยานมา แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นรถไฟใต้ดิน มันไม่ได้นำไปสุ่เป้าหมายแบบเร็วนัก อย่าว่าแต่สื่อพลเมืองที่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย คนเสื้อแดงเกินครึ่งประเทศก็ยังไม่สามารถกำหนดวาระทางสังคมได้ แม้เชื่อว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่มีกลไกอื่นมารองรับ ก็เปลี่ยนอะไรหรือกำหนดอะไรไม่ได้”
 
บก.ประชาธรรมเสนอต้องสร้างกลไกที่ทำให้ข่าวเล็กๆ ร้อยเรียงเป็นภาพใหญ่
อย่างไรก็ตาม นันทา บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม กล่าวเสริมเห็นว่า ต้องมีกลไกที่ทำให้ข่าวเล็กๆ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ เรียงร้อยให้เป็นภาพใหญ่ ซึ่งหากไม่มองแค่กรณีอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะมีกรณีวิทยุชุมชนบ้านกรูดที่สร้างญัตติสาธารณะในพื้นที่ได้ ส่วนประเด็นเรื่องเพดาน เรื่องเสรีภาพของนักข่าวพลเมืองนั้น นันทา ได้ให้ข้อมูลว่า การทำข่าวภาคประชาชนอย่างสำนักข่าวประชาธรรมเอง ก็มีหลักวิชาการเหมือนกัน ต่างกันแค่คนรายงานเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งก็โดนสื่อกระแสหลักมองว่าไม่น่าเชื่อถือ
 
ซึ่ง รศ.สมชาย เสนอว่า ต้องสร้างแบรนด์ความน่าเชื่อถือให้นักข่าวพลเมือง ให้เป็นผู้ที่มีความถนัดเฉพาะทางในบางเรื่อง แสดงความเป็นมืออาชีพ เช่น ศูนย์ข่าวอิศรา ที่เสนอข่าวภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ข่าวที่มีความถนัดและสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net