Skip to main content
sharethis

ศรีสะเกษ / 7 กันยายน 2552 นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานและคณะ พร้อมด้วยนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ลงพื้นที่เขื่อนราษีไศล เยี่ยมชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนาที่ได้ชุมนุมต่อเนื่อง 95 วัน เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหา ณ สันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา

โดยคณะของนายวีระ วงศ์แสงนาค เดินทางมาถึงสันเขื่อนราษีไศลในเวลาประมาณ 11.00 น. ชาวบ้านได้ทำพิธีผูกข้อต่อแขนต้อนรับขวัญให้กับคณะผู้มาเยี่ยมตามวัฒนธรรมของคนอีสาน
 
นางผา กองธรรม แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวถึงการมาของรองอธิบดีวันนี้ว่า “ท่านอยากมาเห็นข้อเท็จจริงของพวกเรา ก็ไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงว่าจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาทันที เพราะแนวทางแก้ปัญหาของเรา ทิศทางที่จะทำให้การแก้ปัญหาของเราแล้วเสร็จขึ้นอยู่กับเรา อยู่ที่กระบวนการตามเรื่องของเรา ไม่ใช่กระบวนการที่เขากำหนด หากเตรียมข้อมูลจากพื้นที่พร้อมเมื่อไร ก็จะนำเสนอสู่รัฐบาลตามกระบวนการต่อไป”
 
แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวอีกว่า “ชาวบ้านที่มาอยู่ที่นี่ อยากให้กรมชลประทานและรัฐบาลแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สำเร็จลุล่วงในปัญหา 3 ประการคือ  1. ยังไม่ได้รับค่าชดเชย 2.กรณีที่ดินอยู่นอกอ่างเก็บน้ำ แม้เขื่อนราษีไศลจะเก็บกักน้ำในระดับ 119  ก็ได้ผลกระทบเช่นกัน  3.ผู้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาวตั้งแต่การสร้างเขื่อน อยากให้มีแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน ระยะสั้นและระยะยาว ให้พวกเราการหาอยู่หากินให้ยั่งยืนได้อย่างไร นอกจากนี้ชาวบ้านยังอยากฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กรมชลประทานจะมาทำงานร่วมกับพี่น้อง ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีท่านรองอธิบดีกรมชลประทานมาเยี่ยม”
 
ด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า “การเดินทางมาวันนี้ ได้ทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่า พี่น้องจำนวนมากได้มาชุมนุมอยู่ที่สันเขื่อนราศีไศลเป็นเวลา  95 วันแล้ว ก็ติดตามข่าวมาโดยตลอด และอ.ชัยพันธ์ก็ได้ชวนให้มารับฟังปัญหาของพี่น้องที่ชุมนุมอยู่ที่นี่ จึงได้มาเยี่ยมเยียนและฟังข้อคิดเห็น กรณีโครงการเขื่อนราษีไศล กรมชลประทานเองก็มิได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ต้องค่อยๆ แกะ ไม่อาจทำได้รวดเร็ว เพราะติดขัดกับการเปลี่ยนรัฐบาลและระเบียบของข้าราชการบ้างเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการหลายส่วน สำหรับตนเองมีใจที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องราษีไศลด้วยใจเต็มร้อย เพราะท่านผู้ได้รับผลกระทบควรได้รับความช่วยเหลือ แม้บางครั้งอาจต้องแก้ต้องรื้อระเบียบก็ต้องยอม จะทำให้จบเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”นายวีระ ย้ำ
 
ขณะที่นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า “เขื่อนราษีไศลคนที่ทำบาป ทำกรรมคือ กรมพัฒนาที่ส่งเสริมและพลังงาน ตอนนี้กรมชลประทานก็จะมาแก้บาปแก้กรรมให้กับเรา ไม่ใช่เป็นจำเลย ถ้าเราไปนั่งคิดเรื่องกฎหมายมันไปไม่รอด ท่านรองอธิบดีกรมชลประทานเคยแถลงแล้วว่า การสร้างเขื่อนที่ผ่านมามีความผิดพลาดและก่อผลกระทบมากมาย เนื่องจากประชาชนไม่มีส่วนร่วม วันนี้กรมชลฯจะมาสร้างมิติใหม่ โดยการให้ประชาชนมามีส่วนร่วม ในการกำหนดชะตากรรมของท่านเองในการจัดการะบบชลประทาน โดยสร้างพื้นที่นำร่องขึ้นแล้วที่จ.พิจิตร ซึ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการระบบชลประทาน”
 
“การลงพื้นที่จริงแลกเปลี่ยน ร่วมมือกันแก้ปัญหา ก็จะทำให้เห็นความจริงว่า ทำไมชาวบ้านต้องมาอยู่ และอยู่กินกันอย่างไร ทุกข์อย่างไร จึงจะเข้าใจถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน และก็ต้องมาช่วยคนจนก่อน เพราะคนจนไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับบ้าน อยู่กับนา แต่เมื่อนาไม่มี ที่ดินมันหายไป จะทำอย่างไร แล้ววันนี้เขื่อนต้องอยู่กับชาวบ้าน ทำอย่างไรจึงจะเป็นเขื่อนราษีไศลของประชาชน ไม่ใช่ของกรมชลเท่านั้น นี่เป็นเรื่องที่ควรทำ ก็มีโครงการหลายๆ อย่างของกรมชลประทาน ที่สามารถนำไปทำกับพี่น้องได้ ก็พูดคุยหารือกัน โดยให้ประชาชนเป็นคนคิดเอง แล้วกรมชลฯเป็นคนช่วย”ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ย้ำ
 
นายชัยพันธ์ ทิ้งท้ายว่า“การเจรจาแก้ปัญหา ก็มีได้บ้างเสียบ้าง ไม่มีใครได้อย่างเดียวหมดทุกอย่าง ขอแค่ให้ยุติธรรม พอเหมาะพอควร และพอเพียง ซึ่งมนุษย์ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะพูดคุยหาข้อยุติกันได้ เรื่องเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาแม้วันนี้อาจไม่ได้จบเบ็ดเสร็จแต่ต้องมีความก้าวหน้า”
 
จากนั้นสมัชชาคนจนและคณะของนายวีระ วงศ์แสงนาค ได้นำพันธุ์ต้นไม้ทาม ไปปลูกที่คันดินบริเวณสันเขื่อนราษีไศล ก่อนที่จะกินข้าวเที่ยงร่วมกันและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาจากชาวบ้าน ก่อนที่จะเดินทางกลับในเวลาประมาณ 15.00 น.
 
อนึ่งเขื่อนราศีไศล เป็นเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ที่ก่อสร้างและกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปี 2536  โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ทำให้พื้นป่าทามและที่ดินทำกินของชาวบ้านกลายเป็นอ่างเก็บน้ำประมาณ 100,000 ไร่ และชาวบ้านประมาณ 7,000 – 10,000 ครอบครัวคือผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการดำเนินการบริหารโครงการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา มูลล่าง ปัจจุบันชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล กรณีสมัชชาคนจน ชุมนุมเรียกร้องให้มีดำเนินการแก้ไขปัญหาคือ การจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา การตรวจสอบกรณีชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่นอกอ่างเก็บน้ำระดับ 119 ม.รทก.(Back Water Affect) เนื่องจากได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และการเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนระยะยาวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net