ความมีเหตุผลและขันติธรรมทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“...หากจะพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม โดยการฟังการสัมภาษณ์ตลอดทั้งรายการ ก็จะพบเจตนาที่แท้จริงของผม โดยผมหวังว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือบุคคลที่ถูกมองและถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุแห่งวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยเวลานี้  ก็ควรจะได้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริง (แม้ฝ่ายตรงข้ามจะมองว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อเท็จเสียมากกว่าข้อจริง แต่หน้าที่ของสื่อมวลชน ก็ไม่อาจจะไปตัดสินหรือสรุปได้เช่นนั้น ) และการสัมภาษณ์ก็ไม่ใช่ลักษณะของการโฟนอินเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่างเป็นกิจจลักษณะ…”

นี่คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ขอยุติการจัดรายการทางคลื่นวิทยุ อสมท.เอฟ.เอ็ม. 100.5 ของ จอม เพชรประดับ หลังสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกอากาศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2552 ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล อสมท. แสดงความไม่พอใจและขอให้ผู้บริหาร อสมท. ได้ชี้แจงถึงการปล่อยให้มีการสัมภาษณ์อดีตนายกฯทักษิณ (ดูประชาไทออนไลน์,07/09/2552)
 
ในแถลงการณ์นั้น คุณจอม ยืนยันเจตนารมณ์ว่า “ผมมีเป้าหมายอย่างแรงกล้าที่จะให้สังคมไทยได้ร่วมกันหาหนทางที่จะหันหน้าเข้าหากัน มาพูดคุยกัน และร่วมกันสร้างความปรองดอง ความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่น เป็นหนึ่งเดียวกัน  เพื่อให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทุกคน ได้ก้าวพ้นวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกาะกินชาติบ้านเมืองของเราอยู่ในเวลานี้ให้ได้”
 
จะว่าไปแล้วสิ่งที่คุณจอมพยายามทำ ก็คือการนำปัญหาการเมืองเข้ามาสู่เวที “ความเป็นการเมือง” (the political) หรือเวทีแห่งการใช้เหตุผล การเคารพความเห็นต่าง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหาขัดแย้งทางการเมือง
 
การเมืองที่มี “ความเป็นการเมือง” คือการเมืองที่มีการเปิดพื้นที่ หรือเวทีสาธารณะให้ความเห็นต่างได้ถกเถียงโต้แย้งกันด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุด ภายใต้บรรยากาศที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และการมีขันติธรรมต่อความคิดเห็นที่ขัดแย้งแตกต่าง
 
แต่ในระยะ 3-4 ปีมานี้สังคมไทยได้ทำให้การเมือง “ไม่มีความเป็นการเมือง” (nonpolitical) เพราะความขัดแย้งระหว่าง “สี” ได้ทำลายพื้นที่หรือเวทีการถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างความเห็นต่างแทบจะสิ้นเชิง
 
สิ่งที่สังคมแทบจะไม่ตั้งคำถาม (หรืออาจไม่รู้สึกผิดปกติ) เลยก็คือ ในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมา ทำไมสังคมจึงยินยอมให้ฝ่ายหนึ่งกล่าวหาโจมตีอีกฝ่ายได้อย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งทาง “สื่อเลือกข้าง” และสื่อกระแสหลักหรือฟรีทีวี แต่กลับไม่ยอมให้อีกฝ่ายได้แสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นอีกด้านผ่านเวทีเดียวกันนั้น
 
การไม่ยอมรับการเผชิญหน้าของความเห็นต่าง หรือการปิดกั้นพื้นที่สำหรับให้ความเห็นต่างได้โต้แย้งถกเถียงกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล สะท้อนถึงความเป็นสังคมที่ไร้วัฒนธรรมการใช้เหตุผลและการขาดขันติธรรมในการอยู่ร่วมกัน
 
การขาดวัฒนธรรมการใช้เหตุผลและขันติธรรมในการอยู่ร่วมกัน โดยนัยสำคัญก็คือการขาด “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” นั่นเอง
 
สังคมที่ขาดวัฒนธรรมการใช้เหตุผล มักคิดกันง่ายๆว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเดี๋ยวคนก็ลืม เพราะคนไทยลืมง่าย เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายคือ “ตัวปัญหา” วิธีการที่จะทำให้คนลืมตัวปัญหานั้นก็คือลด หรือปิดกั้นการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวและหรือความคิดเห็นของบุคคลที่เป็นตัวปัญหานั้นเสีย
 
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดนเช่นปัจจุบัน ความคิดคร่ำครึดังกล่าวนี้ยังมีการนำมาใช้อย่างไม่ถูกตั้งคำถามจากสังคม ทำให้ดูเสมือนว่าสังคมไทยในยุคติจิตอลเป็นสังคมที่ยังคงรอคอยให้ผู้ชนะมาเขียนประวัติศาสตร์ให้ท่องจำเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา
 
ความพยายามเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นของฝ่ายตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐ มีอันต้องพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แน่นอนว่าไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของคุณจอมเพียงคนเดียว แต่เป็นความพ่ายแพ้ของสังคมไทยที่ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้เหตุผลและขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันได้
 
เมื่อวัฒนธรรมการใช้เหตุผลและขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นวัฒนธรรมแห่งการรักความจริง ความถูกต้องเป็นธรรม เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เปิดให้ทุกคนทุกฝ่ายได้ใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ในการหาข้อสรุปที่ดีที่สุดซึ่งเชื่อร่วมกันได้ว่าเป็นความจริงหรือความถูกต้องเป็นธรรม สังคมที่ขาดวัฒนธรรมดังกล่าวจึงเป็นสังคมที่มืดบอดต่อความจริง ความถูกต้องเป็นธรรม
 
เราจะแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ในสังคมเช่นนี้ได้อย่างไร?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท