Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมระดมความคิดเห็นทางเลือกนโยบายในการสร้างหลักประกันสุขภาพครอบครัว ผู้ประกันตนในระบบหลักประกันสังคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณากรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ศึกษาความเหมาะสมของการขยายสิทธิประกันสังคมให้กับคู่สมรส และบุตรของผู้ประกันตน ประมาณ 5.8 ล้านคน จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของ สปสช. ย้ายมาอยู่ในระบบประกันสังคม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นักวิชาการระบบสาธารณสุข นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เป็นต้น

นพ.พงษ์ พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว เพราะการเร่งรีบดำเนินการดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหาระบบประกันสุขภาพของ ประเทศเลย และไม่มีความชัดเจนว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับระบบในภาพรวมของ ประเทศอย่างไร เพราะการขยายสิทธิดังกล่าวไม่ทำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น มีแต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์กับคู่สมรสและบุตร เหมือนกับเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แต่ถ้ารัฐบาลจะดำเนินการตามมติ ครม.ต่อไป นักวิชาการในที่ประชุมได้เสนอรูปแบบให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดสรรงบประมาณ แยกกองทุนด้านการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนออกมาจากงบประมาณสวัสดิการส่วน อื่น ส่วนการบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลนั้น ให้ สปส.มาซื้อบริการรักษาพยาบาลจาก สปสช.แทน ทั้งนี้ สปสช.จะนำมติที่ประชุมเสนอให้กับบอร์ด สปสช. พิจารณาในวันที่ 14 กันยายน ก่อนรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ

รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้ช่วยอธิการบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับการที่คู่สมรสและบุตรจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม จากที่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเงินชดเชยจากการทุพพลภาพและเสียชีวิต แต่สิทธิเดิมที่เคยได้รับจาก สปสช.ก็ยังคงอยู่ ภาพรวมของทั้งประเทศเรื่องการจัดการด้านสุขภาพจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เป็นเรื่องดีที่ สปสช.จะเข้ามาดูแลเฉพาะในส่วนของการรักษาพยาบาลของสวัสดิการอื่นๆ

นาง สาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมคู่สมรสและบุตร แต่ยังมีความกังวล คือ 1.หากโอนคู่สมรสและบุตรมาแล้วจะต้องไม่กระทบสิทธิผู้ประกันตนเดิม และ 2.จะต้องไม่เก็บเงินเพิ่มจากผู้ประกันตนอย่างซ้ำซาก ที่สำคัญ สปส.ควรดูแลผู้ประกันตนให้ดีและเข้าถึงบริการก่อน เพราะระบบประกันสังคมมีเงินค่อนข้างสูงถึง 5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นกองทุนขนาดใหญ่จึงควรให้บริการที่มีประสิทธิภาพ

“รัฐบาล รีบออกนโยบายเกินไป ไม่รู้เป็นเพราะว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่กลับจะมาขยายสิทธิเพิ่มให้ผู้ประกันตน รัฐบาลกำลังใช้วิธีการเอาเงินคนจนมาอุ้มคนจนกันเองหรือไม่ ดังนั้นเห็นว่าควรจะทบทวนมติครม.นี้” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ควรทบทวนมติ ครม.ใหม่ เพราะไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยดีขึ้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงระบบสาธารณสุขในเชิงปฏิบัติ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเงินเท่านั้น เป็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่ไม่เป็นธรรม อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าล้มได้

ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพไทย กล่าวว่า เนื่องจากระบบการบริหารจัดการของ 2 ระบบต่างกัน สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงคือ 1.อัตราการใช้บริการและค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของผู้ใช้บริการจะต้องคำนวน ในแต่ละกลุ่มอายุที่ต่างกัน และต้องคำนวนจากค่าใช้จ่ายจริง 2.ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง 24 ล้านคนจะได้รับสิทธินี้ด้วยหรือไม่ 3.การบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนของสปสช. ขณะที่ สปส.ไม่มีการบริการในส่วนนี้ อาจจะทำให้ผู้ที่ถูกโอนย้ายสิทธิ เสียสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ รวมทั้งสิทธิตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสุขภาพ ในขณะที่ของ สปส.ไม่มี

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เงินที่ใช้บริหารจัดการและรักษาพยาบาลของระบบ สปส. มาจากเงินกองทุนฯ ที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ขณะที่ระบบ สปสช.ต้องทำเรื่องเสนอขอไปยังสำนักงบประมาณ ดังนั้นหากโอนสิทธิในส่วนของคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนไปแล้ว ในอนาคต งบประมาณที่ใช้ในส่วนนี้ สปส. จะต้องทำเรื่องเสนอสำนักงบประมาณแบบปีต่อปีเหมือนกับ สปสช.หรือไม่

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตน ไม่มีคู่สมรสและบุตร จะสามารถขอโอนสิทธิดังกล่าวไปให้กับบิดาและมารดาแทนได้หรือไม่ เพราะเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯเช่นเดียวกัน รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมในส่วนนี้อย่างไร

ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลออกนโยบายนี้ เพราะอยากเป็นซานตาคลอส แจกเงิน แต่แจกไม่เป็น เพราะเป็นนนโยบายที่ไม่ได้แก้ปัญหาในระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ดังนั้นเสนอว่ารัฐบาลควรปฏิรูประบบบริการสุขภาพด้วยการแยกระบบบริการสุขภาพ ออกจากระบบบริการด้านอื่นๆ เพราะมีการบริหารและจัดการที่แตกต่างกัน โดย สปส.ควรดูแลเฉพาะด้านสวัสดิการของผู้ประกันตน ส่วนการการให้บริการด้านสุขภาพ ควรโอนสิทธิให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลแทน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม

นางสุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการขยายความคุ้มครอง โดยมีฝ่ายลูกจ้างเป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 4 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และทางราชการ 6 คน จากกระทรวงสาธารณสุข สปสช. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สปส. เพื่อศึกษาแนวทางขยายและพิจารณาค่าใช้จ่าย ส่วนได้ข้อสรุปเป็นอย่างไรนั้น สปส.จะเปิดประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้ง

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net