Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายตัว หลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นสัญญานแล้วว่าเศรษฐกิจไทยหยุดไหลลงแล้ว โดยจีดีพีไตรมาส 2 หดตัวลงร้อยละ 4.9 หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เติบโตร้อยละ 2 หากเทียบกับไตรมาส 1 ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดี

รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวต่อว่า ไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเป็นผลตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มาจากแรง กระตุ้นจากมาตรการการคลังในการสร้างอำนาจซื้อให้กับประชาชนของประเทศต่างๆ เช่นจีน และคำสั่งซื้อสินค้าคงคลังที่เริ่มเข้ามาเพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการทั่วโลกต่างก็ลดกำลังการผลิตและลดการสตอกสินค้าอย่างแรง แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไประยะหนึ่งและเริ่มตั้งสติได้

จึงหันกลับมาผลิตใหม่ซึ่งการฟื้นตัวจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว อาจจะไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ดัง นั้นเศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V อย่างที่คาดหมายกัน ซึ่งบางคนมองว่าเศรษฐกิจโลก อาจจะค่อยฟื้นตัว และ ทรงตัวยาว ในลักษณะ ของรูป “สแควร์รูท” เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจได้

นางอัจนา กล่าวด้วยว่า ธปท.ก็ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบร้อยละ 3 - 4.5 ส่วนปี 2553 จีดีพีจะเติบโตร้อยละ 3-5 โดย ธปท.ยังพร้อมดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมาซ้ำเติมปัญหา เศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นโรงแรม กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวให้ชะลอตัวลง  2. เกิดความไม่มั่นใจในนโยบายและโครงการของภาครัฐ มีการเลื่อนโครงการลงทุนหลายโครงการ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า และ 3.กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่ควรให้ปัจจัยลบทางการเมืองมาซ้ำเติมอีก

“อย่าสร้าง ปัจจัยการเมืองมาซ้ำเติมเศรษฐกิจ เพราะรับเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกก็แย่แล้ว ปัจจัยทางการเมืองนั้นกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งหากการเมืองไม่นิ่ง การลงทุนและการบริโภคก็ไม่เกิดขึ้น” รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าว

ที่มา: เวบไซต์ไทยรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net