Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 ในระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2552 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาตาม Bali Roadmap เพื่อจัดทำกติกาโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยจะเป็นการเจรจาในระดับคณะทำงานเฉพาะกิจ 2 ชุดพร้อมกัน คือคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWG-LCA) และคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการกำหนดพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมสำหรับประเทศภาคผนวก I ภายใต้พิธีสารเกียวโต (AWG-KP)

การประชุมของ AWG-LCA ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ประเด็นเจรจาครอบคลุมใน 4 หัวข้อใหญ่ คือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก  แนวทางการลดก๊าซ แนวทางการปรับตัว และ กลไกการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
 
เฉพาะเรื่องแนวทางการลดก๊าซจะมีประเด็นแตกย่อยออกไปอีกมาก  เช่น การลดก๊าซเรือนกระจกจากปัญหาการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา (ที่เรียกกันว่า REDD) การลดก๊าซรายสาขา (Sectoral Approach) กิจกรรมการลดก๊าซอย่างเหมาะสมในระดับประเทศ (Nationally Appropriation Mitigation Action)
 
สำหรับการประชุม AWG-KP ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ประเด็นเจรจาหลักเป็นไปตามชื่อของคณะทำงาน คือ การกำหนดพันธกรณีสำหรับประเทศภาคผนวก I  (ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ของพิธีสารเกียวโตในช่วงหลังปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดพันธกรณีช่วงแรกที่กำหนดไว้ ประเด็นเจรจามีตั้งแต่เรื่องเป้าหมายการลดก๊าซ (เดิมกำหนดไว้เฉลี่ย 5.2% จากปี 1990 ในพันธกรณีช่วงแรก)  เรื่องระยะเวลาสำหรับพันธกรณีช่วงที่สอง (5ปี 8 ปี)  เรื่องปีฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ลดก๊าซ ซึ่งเดิมใช้ปี 1990 ในขณะมีข้อเสนอหลายแบบ เช่น ใช้ปี 1990 เหมือนเดิมที่เสนอโดยกลุ่ม G77 และ EU ทางสหรัฐเสนอใช้ปี 2005 เรื่องการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของกลไกยืดหยุ่นต่างๆ เช่น CDM และเรื่องกลไกใหม่เพิ่มเติม เช่น การลดก๊าซรายสาขา เรื่อง REDD เป็นต้น
 
ในขณะนี้ทั้งสองคณะทำงานฯ มีตัวเอกสารเจรจา (Negotiating Text) ออกมาแล้ว เนื้อหาส่วนใหญ่ยังติดวงเล็บ ในแต่ละข้อยังมีทางเลือกที่ต้องเจรจาอีกมาก คาดว่าจบจากการเจรจาที่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่สามารถถอดวงเล็บต่างๆ ออกได้หมด ตามแผนมีกำหนดการเจรจาที่สเปนในเดือนพฤศจิกายนอีกครั้ง ก่อนจะไปเจรจาหาข้อสรุปให้ได้ในการประชุมระดับประเทศสมาชิกของอนุสัญญาฯ และพิธีสารเกียวโตที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมปีนี้
 
ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาติดตามอย่างใกล้ชิด คือการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อยู่ในการเจรจาของ AWG-LCA ในเอกสารเจรจาขณะนี้ มีข้อเสนอให้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซสำหรับทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายใน 2 ระยะ คือการลดภายในปี 2020 และในปี 2050
 
สำหรับเป้าหมายการลดก๊าซของ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” มีข้อเสนอค่อนข้างหลากหลายระดับ เช่น ทางกลุ่ม G77 + จีน ได้เสนอให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซ 40% จากปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020  กลุ่มประเทศหมู่เกาะเสนอให้ลด 45%  อินเดียเสนอให้ลดถึง 79% ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกันเองเสนอให้ลดที่ 25% (เสนอโดยออสเตรเลีย) หรือ 30% (เสนอโดย EU) ในเอกสารเจรจาขณะนี้ตัวเลขที่ปรากฎจะอยู่ในช่วง 25-45% จากระดับในปี 1990 ภายในปี 2017 หรือ 2020 และลด 80-95% ภายในปี 2050
 
สำหรับเป้าหมายการลดก๊าซของ “ประเทศกำลังพัฒนา” ข้อเสนอที่ปรากฎอยู่ในเอกสารเจรจา จะอยู่ในช่วง 15-30% จากระดับการปล่อยในปัจจุบันภายในปี 2020 และลด 25% จากระดับที่ปล่อยในปี 2000 ภายในปี 2050 แน่นอนว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วมกันคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวอย่างหนัก
 
ตัวเลขเหล่านี้ส่วนใหญ่อ้างอิงมาจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของ IPCC ซึ่งได้เสนอว่า หากต้องการรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อน จะต้องควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศไม่ให้เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซในช่วง 25-40% จากระดับที่ปล่อยในปี 1990 ให้ได้ในปี 2020 ในขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซในช่วง 15-30%  
 
หากเอาการป้องกันปัญหาโลกร้อนเป็นตัวตั้ง ยิ่งลดก๊าซมากเท่าใดก็จะเพิ่มความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายึดถือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากการปล่อยของ ประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งแต่ในอดีต ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องรับภาระการลดก๊าซไปมากที่สุด มีงานศึกษาที่ระบุว่า หากประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ต้องช่วยลดก๊าซ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องลดก๊าซถึง 60% จากระดับปี 1990 ให้ได้ในปี 2020 ซึ่งทางฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็อ้างว่า ไม่สามารถลดได้ขนาดนั้น ต้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาร่วม ตอนนี้จึงมีกลไกต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมากเพื่อช่วยลดก๊าซ เช่น เรื่อง REDD เรื่อง NAMA
 
แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้มาก คือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตกลงจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด แต่เป็นแบบไม่กำหนดเป้าหมายเป็นพันธกรณี พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่า ต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย เช่น เรื่องงบประมาณ เรื่องเทคโนโลยี ฯลฯ
 
ผลการเจรจาเรื่องการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซจะลงเอยแบบใด ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะอาศัยอยู่ในโลกนี้กันต่อไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น จากปัญหาโลกร้อน หรือเราจะยังต้องการรักษาเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปโดยเสี่ยงกับปัญหาผลกระทบจากโลกร้อนในวันข้างหน้า
 
 
....................................................................... 
ที่มา : http://www.measwatch.org/autopage/show_page.php?t=19&s_id=143&d_id=143
หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 13–16 กันยายน 2552
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net