เครื่องบินพับของหม่อง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 

เรื่องราวของเด็กชายหม่อง ทองดี ลูกแรงงานต่างด้าวชาวไทใหญ่กลายมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งพาดหัวหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์ติดต่อกันนานร่วมสัปดาห์ เมื่อเด็กชายหม่องได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และโดยตำแหน่งแชมป์ต้องเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่น ปัญหามีอยู่นิดเดียวว่า หม่องเป็นลูกแรงงานต่างด้าวและไม่มีสัญชาติไทย ระบบราชการอันทรงภูมิปัญญาของเราจึงไม่ยอมออกหนังสือเดินทางเพื่อให้ หม่องออกนอกประเทศไปร่วมแข่งขันและกลับเข้ามาอีกวาระหนึ่งได้

แม้ว่าเรื่องของหม่องจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ขี่ม้าขาวมาช่วยหนูน้อยตัวเล็กๆ ให้รอดจากการคุกคามของระบบราชการที่ยึดถือกฎหมายที่ให้โทษ แทนที่จะเลือกใช้กฎหมายที่ให้คุณกับผู้คน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่หม่องกลับเป็นเพียงตัวแทนของมนุษย์ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้สิทธิไร้เสียงที่ดำรงชีวิตอยู่จริงในบ้านเราอีกหลายล้านคน ความช่วยเหลือจากท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เด็กชายหม่องเดินทางไปแข่งขัน เครื่องบินพับนานาชาติที่ญี่ปุ่น จึงทำได้แต่เพียงขายผ้าเอาหน้ารอดชั่วคราวเท่านั้น และเทียบไม่ได้เลยกับปัญหาแรงงานต่างด้าวหลายล้านคน ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติและหลักประกันของชีวิตอยู่ในเวลานี้
 
ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจัง และเกี่ยวพันกับปัญหาความด้อยพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านหลากหลายประเทศในอาเซียน ที่ส่งผลให้เราต้องแบกรับ
 
ปัญหาทางสังคมเหล่านี้มาเนิ่นนาน เราไม่มั่นใจด้วยซ้ำไปว่าทุกวันนี้มีแรงงานอพยพชาวพม่า ลาว และกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนเท่าไหร่ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านคาดว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อาจมีจำนวนประมาณ 3-4 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่จากรัฐฉานของพม่า
 
ความไร้ประสิทธิภาพของสมาคมอาเซียนที่ประเทศไทยเราเป็นประธานอยู่ขณะนี้ ในการกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ยุติการเบียดเบียนและใช้ความรุนแรงกับประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ทำให้ไทยเราต้องแบกรับปัญหาผู้ลี้ภัยนับแสนคนที่ค่ายแม่หละในจังหวัดตากมานานร่วมยี่สิบปี ปัญหาคนพลัดถิ่นอพยพหนีตายเข้ามาในบ้านเราเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เช่น ชาวโรฮิงญาจากพม่า ม้งพลัดถิ่นจากลาว เป็นต้น เด็กชายหม่องจึงเป็นเพียงอีกกรณีหนึ่งที่น่าจะชี้ชวนให้เราได้ตระหนักถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่เราต้องหาทางแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
 
ปัญหาคนพลัดถิ่นและแรงงานอพยพข้ามชาติ มิใช่ปัญหาใหม่หรือจำกัดแต่เฉพาะในประเทศเราเท่านั้น สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานชาวเม็กซิกันหนีข้ามพรมแดนทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อหลบเร้นเข้าไปหางานทำในสหรัฐฯมาเป็นเวลาหลายสิบปี และในเวลานี้ปัญหาแรงงานอพยพลักลอบเข้าเมืองก็ยังคงมีอยู่ แต่รัฐบาลสหรัฐฯพยายามควบคุมมิให้จำนวนแรงงานอพยพลักลอบเข้าเมืองมีมากเกิน กว่าจะบริหารจัดการและควบคุมได้ และในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างมาตรการทางสังคมและทางกฎหมายเพื่อให้ผู้อพยพ สามารถปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่ของตนได้ในระยะเวลาไม่นานนัก
 
ดังเช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นครั้งคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อพยพที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมาเป็นเวลานานได้มีโอกาสอาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิและสถานะพลเมืองที่คุ้มครองชีวิตของพวกเขามิให้ต้องถูกขูดรีดแรงงานมากเกินไปจนต้องหันไปสู่มิจฉาชีพ
 
ในประเทศเราทุกวันนี้ แรงงานต่างด้าวอพยพเข้าเมืองมีจำนวนประมาณร้อยละ 5-6 ของประชากรคนไทยทั้งประเทศ คนงานต่างด้าวเหล่านี้เข้ามาแบกรับหน้าที่การงานที่คนไทยไม่อยากทำอีกต่อไป เช่น การเป็นสาวใช้ตามบ้านเรือน เป็นคนสวน ตัดหญ้าพรวนดิน ลูกเรือประมง คนงานก่อสร้าง หรือคนงานไร้ฝีมือในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานหนักและรายได้น้อย คนงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียภาษีให้แก่รัฐเฉกเช่นคนไทยกลุ่มอื่นๆ แถมยังต้องเสียค่าบัตรแรงงานต่างด้าวอีกปีละ 1,900 บาท และค่าประกันสุขภาพอีกจำนวนหนึ่ง
 
แต่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้กลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามสมควร บ่อยครั้งที่คนงานเหล่านี้ถูกกดค่าจ้างแรงงาน และถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยข้อหาต่างๆ ประดามี เช่น ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต เป็นต้น
 
คนงานต่างด้าวเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภาระต้องส่งเงินไปเลี้ยงดูพ่อแม่ญาติพี่น้องที่บ้านเกิด บางคนต้องการเก็บออมเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ญาติพี่น้องคนอื่นๆ เดินทางมาหางานทำในบ้านเรา ภาระหนักเหล่านี้ทำให้คนงานพลัดถิ่นมักมีวิถีชีวิตที่กระเบียดกระเสียร ขูดรีดตนเองด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ กินและใช้อย่างประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้สภาพชีวิตในเมืองไทยจะดีกว่าบ้านเดิมอยู่บ้าง แต่ไหล่ที่แบกรับภาระหนักอึ้งและแรงกดดันจากรอบด้าน ก็ทำให้ชีวิตของคนงานพลัดถิ่นเหล่านี้เป็นชีวิตที่ไม่ค่อยเป็นสุขสักเท่าใดนัก
 
ประเทศชาติบ้านเมืองที่ผู้อาศัยเป็นจำนวนมากไม่มีความสุข อาจทำให้พลเมืองเจ้าของประเทศเริ่มกระวนกระวายใจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเป็นระบบได้อย่างไร
 
รากเหง้าของปัญหาแรงงานต่างด้าวอพยพในบ้านเรา มีความซับซ้อนด้วยเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน มีทั้งด้านที่เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมและความใจดีของคนไทยที่พร้อมจะอ้าแขน ต้อนรับผู้อ่อนแอที่หอบผ้าหอบผ่อนหนีตายมาพึ่งใบบุญของพระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดินไทย และมีทั้งด้านที่เปี่ยมไปด้วยการกดขี่ขูดรีดแรงงาน การค้ามนุษย์ สตรีและเด็กเพื่อประโยชน์ส่วนตน ระบบราชการของเราก็เช่นเดียวกัน มีทั้งส่วนที่ให้คุณแก่ผู้อพยพ
 
อย่างเช่นกระทรวงศึกษาธิการที่อนุญาตให้ลูกของคนงานต่างด้าวได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และในอีกด้านหนึ่งเราเห็นกระทรวงมหาดไทยซึ่งยังคงยึดมั่นอยู่กับวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่มองว่าการกีดกันสิทธิเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมประชากรผู้อพยพให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้ว่าจำนวนประชากรของแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวิธีคิดดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลก็ตาม แต่ระบบราชการของเราก็ยังคงสวมกอดวิธีคิดเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพไว้เช่นเดิม
 
คำถามสำคัญมีอยู่ว่าสังคมไทยจะจัดการกับ “คนนอก” สามล้านกว่าคนที่ใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรอยู่ในบ้านเราอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีความสุขและความหวังเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความกังวลของ “คนใน” ที่จับจ้องมองคนแปลกหน้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันอย่างกระวนกระวายใจ
 
เครื่องบินกระดาษที่เด็กชายหม่องมอบให้ผู้มีพระคุณทั้งหลาย รวมทั้งท่านนายกฯอภิสิทธิ์ อาจเบาหวิวจนลอยลมได้เนิ่นนาน แต่เครื่องบินพับนี้กลับเป็นสัญลักษณ์ของภาระหนักอึ้งที่หลายฝ่ายในบ้านเรา ต้องช่วยกันแบ่งเบาและแก้ไขร่วมกัน
 
 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 กันยายน 52
ส่งต่อเพื่อเผยแพร่โดย ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทยที่ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท