Skip to main content
sharethis

(16 ก.ย.) มูลนิธิเอเชียแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับ "การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของประเทศไทย" ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยสุ่มสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 1,500 คน ในเขตกรุงเทพฯและ 26 จังหวัด ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว (Face-to-Face Interview) ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2552

จากการสำรวจพบว่า คนไทยค่อนข้างมีทัศนคติในทางลบต่อทิศทางของประเทศ โดยน้อยกว่า 1 ใน 3 เท่านั้นที่กล่าวว่าประเทศกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหตุผลสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่คิดว่าประเทศไทยกำลังเดินผิดทางคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดการพัฒนา ความยากจน หรือการว่างงาน ความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมประท้วงเมื่อไม่นานมานี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้มองว่าประเทศกำลังไปผิดทางร้อยละ 11

เมื่อถามถึงปํญหาสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ร้อยละ 60 ระบุว่าเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและอีกร้อยละ 24 กล่าวว่าเป็นปํญหาด้านการเมือง 2 ใน 3 ของคนไทย (ร้อยละ 67) มองว่าสภาพทางเศรษฐกิจของตนนั้นแย่ลงกว่าเดิมหรือแย่ลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสียงเกินครึ่งเล็กน้อย (ร้อยละ 53) เท่านั้นที่ค่อนข้างพอใจหรือพอใจมากต่อผลงานของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 67 เห็นว่าตนเองมีฐานะแย่ลงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน ระหว่างผู้ที่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยลดความขัดแย้งได้ (ร้อยละ 45) กับผู้ที่คิดว่าจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น (ร้อยละ 45) อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมประชากรร้อยละ 53 ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ร้อยละ 28 พอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว

ต่อคำถามถึงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 67 คิดว่าควรมีการร่างรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป ร้อยละ 10 เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรรับผิดชอบทั้งหมด และร้อยละ 16 เห็นว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญควรให้เป็นงานของคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด คนจำนวนมากถึงร้อยละ 84 เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือฉบับแก้ไขก็ควรได้รับการรับรองจากประชาชนผ่านการทำประชามติด้วย

ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของประเทศไทย ร้อยละ 53 คิดว่าควรจะมีการเลือกตั้งก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ อย่างไรก็ตาม ความเห็นในกลุ่มนี้ก็ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่ง (ร้อยละ 23) เห็นว่าควรมีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด และอีกกลุ่มเห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งหลังจากการปฎิรูปแล้ว (ร้อยละ 30) แต่เสียงข้างน้อยเกือบกึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 43) เห็นว่าควรรอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างไร ไม่ยอมรับกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ แม้ว่าจะส่งผลให้ความขัดแย้งทางการเมืองเลวร้ายลงก็ตาม โดยเสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 62) ต้องการให้คงมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 (ซึ่งอนุญาตให้เพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้งของนักการเมืองและยุบพรรคการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้ง) ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มีเพียงหนึ่งในห้า (ร้อยละ 21) เห็นว่า นักการเมืองที่ถูกตัดสินลงโทษว่ามีความผิดทางอาญาควรได้รับการนิรโทษกรรม ในทำนองเดียวกัน ร้อยละ 57 เห็นควรให้ถอนการนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550

ทั้งนี้ แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 62 เช่นกันที่เห็นว่ากองทัพเป็นสถาบันที่มีความสำคัญ และมีถึงร้อยละ 69 ที่เห็นว่าขนาดของกองทัพเหมาะสมแล้ว คนไทยรู้สึกว่าผลประโยชน์ในการบริหารประเทศของตนจะได้รับการดูแลโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการแต่งตั้ง และแสดงความต้องการที่จะมีร่วมร่วมกับกระบวนการทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น มีเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25) ที่สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบจากการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกให้เป็นการแต่งตั้งแบบสัดส่วนผสมกับการเลือกตั้งที่บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และร้อยละ 63 กล่าวว่าชอบระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และร้อยละ 6 เห็นว่าควรยุบวุฒิสภาทั้งหมด นอกจากนี้ 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเมื่อไม่นานมานี้ที่ให้ลดจำนวน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้วแทนที่ด้วย ส.ส.ที่คัดเลือกมาโดยตำแหน่งหรือจากสถาบันอิสระ

เมื่อถามถึงระบบที่เหมาะสมที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่ในสภา ครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับระบบผสมในปัจจุบัน แต่ร้อยละ 45 เห็นว่าควรใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว

ด้านการกระจายอำนาจ ร้อยละ 69 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เมื่อถามเจาะจงลงไป ร้อยละ 75 อยากได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ในพื้นที่ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งอยู่แล้วพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชอบผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองมากเป็นสองเท่าของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากพื้นที่ผู้ว่าราชการมาจากการแต่งตั้ง

ในเรื่องของคุณลักษณะของประชาธิปไตย เกือบครึ่ง (ร้อยละ 48) อธิบายประชาธิปไตยในความหมายของสิทธิและเสรีภาพ และมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ36) เชื่อมโยงประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วม การเลือกตั้ง และการยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก มีเพียงร้อยละ 9 ที่ไม่สามารถบอกคุณลักษณะของประชาธิปไตยได้เลย

การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของประเทศไทย แม้เกือบทุกคนเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 30) ก็อาจสนับสนุนระบอบเผด็จการในบางสถานการณ์ คนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) มีมุมมองว่ารัฐบาลและประชาชนเท่าเทียมกัน ร้อยละ 16 มองว่ารัฐบาลเป็นพ่อ ประชาชนเป็นลูก และร้อยละ 11 มองรัฐบาลเป็นนายจ้าง ประชาชนเป็นลูกน้อง 7 ใน 10 คน (ร้อยละ 70) ของคนไทยรู้สึกพอใจกับประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ แต่เกือบ 3 ใน 10 (ร้อยละ 28) ไม่พอใจ แม้ว่าเกือบร้อยละ 63 ของคนไทยเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยมาก แต่มากกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 35) เห็นว่าประเทศไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยเลย

ผลสำรวจระบุด้วยว่า คนไทยมีความใจกว้างทางการเมืองมากกว่าคนในประเทศเอเชียอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่าร้อยละ 79 ยอมให้พรรคการเมืองที่ไม่เป็นที่นิยมจัดการชุมนุมในพื้นที่ของตนได้ และมีเพียงแค่ร้อยละ 6 ที่กล่าวว่าจะเลิกคบเพื่อนที่เข้าไปร่วมงานการเมืองกับพรรคที่ตนไม่ชอบ นอกจากนี้ คนไทยร้อยละ 80 บอกว่าคนเรามีอิสระในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ระดับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม/สมาคม/องค์กรแบบสมัครใจของคนไทยนับว่าอยู่ในระดับต่ำมาก โดยมีเพียงร้อยละ 22 (ร้อยละ 12 ในเขตเมือง) ที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม/สมาคม/องค์กรแห่งใดแห่งหนึ่ง ความไว้วางใจต่อผู้อื่นก็พบว่าต่ำเช่นเดียวกัน เห็นได้จาก ร้อยละ 61 เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไว้ใจไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะที่คนไทยโดยทั่วไปไม่เชื่อใจเท่าไรนักกับสังคมส่วนใหญ่ แต่กลับมีความไว้วางใจสูงมากต่อเพื่อนบ้าน โดย 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) กล่าวว่าเพื่อนบ้านของตนไว้ใจได้

ทั้งนี้ ร้อยละ 64 เห็นว่า ศาลเป็นสถาบันในระบอบประชาธิปไตยที่มีความซื่อตรงสูงมากที่สุดในบรรดาสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ตามมาด้วยกองทัพ ร้อยละ 44 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความซื่อตรงร้อยละ 35 สื่อและเอ็นจีโอร้อยละ 21 ตำรวจ ร้อยละ 17 และ ส.ส. ร้อยละ 10 

ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าสถาบันหรือหน่วยงานในระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่ค่อยเป็นอิสระหรือไม่ค่อยเป็นกลาง แต่ศาลยังคงเป็นสถาบันที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยร้อยละ 62 เห็นว่าโดยทั่วไปศาลก็ยังเป็นกลางและไม่มีอคติ อย่างไรก็ดี มี 1 ใน 3 เห็นว่าศาลไม่เป็นกลางและมีการเอนเอียงบางครั้งหรือบ่อยครั้ง

(หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติมที่ http://asiafoundation.org/resources/pdfs/ThaiConstitutionreportthai.pdf)

ด้านสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยตอนนี้อยู่ในวังวนของความขัดแย้ง คนหลายส่วนที่อยู่ในความขัดแย้งมองแต่เรื่องของการแพ้-ชนะ ระยะสั้น อย่างเอาเป็นเอาตาย อาทิ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ การชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย. อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจทำให้เห็นว่า มีสังคมที่เบื่อการประลองกำลังและเป็นห่วงกับวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ด้วย ดังนั้นสังคมจะต้องช่วยกันหาทางออกจากความขัดแย้งแบบเดิมนี้

เขากล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมหลายสี และพลังหลากสีนี้เองที่ทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ยังมีคนที่อดทนและใจกว้าง โดยดูจากผลเรื่องความอดทนต่อการลงพื้นที่ของพรรคที่ตัวเองไม่ได้เลือกและผู้ที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจโดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นแล้ว สังคมไทยจึงไม่ได้แตกแยกจนสุดจะเยียวยา
 
ทั้งนี้ สุริชัยกล่าวว่า การเมืองที่ประชาชนในประเทศสนใจนั้นไม่ใช่การเมืองในสถาบันการเมืองเท่านั้น แต่เป็นการเมืองของการมีส่วนร่วม โดยดูจากตัวเลขทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญว่า หากต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ถึงร้อยละ 67 โดยเห็นว่าควรผ่านประชามติถึงร้อยละ 84 ไม่ได้ให้อำนาจกับสภาฯ หรือนักวิชาการ ดังนั้นจะเห็นว่าความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้ให้ความชอบธรรมกับประชาชน

ด้านพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศาลจะได้รับความไว้วางใจสูงสุด เพราะระบบของศาล และการเข้าสู่ตำแหน่งทางตุลาการยังเป็นระบบปิด รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาลมีกฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาลอยู่ จึงได้ผลเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า ศาลต้องเป็นสถาบันที่สังคมให้ความเชื่อถือมากที่สุด ไม่เช่นนั้นก็อยู่กันไม่ได้ ทั้งนี้ ในช่วงหลังที่มีศาลมหาชน เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สังคมก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เพราะเรื่องนี้ไปกระทบกับหลายสิ่งหลายอย่าง ผิดกับศาลยุติธรรมซึ่งตัดสินคดีแพ่ง คดีอาญาที่กฎหมายตายตัวอยู่แล้ว และการตัดสินเป็นเรื่องของบุคคล อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า หากเปิดให้มีการวิจารณ์กันได้มากกว่านี้ อย่างน้อยในทางวิชาการ ก็จะทำให้สถาบันเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net