Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 

มองย้อนไปในอดีต 16 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดโศกนาฎกรรม ซ้ำซากที่ทำให้เกิดการสูญเสีญสุขภาพร่างกาย สุขภาพใจ และสูญเสียชีวิต ของคนงาน แล้วยังนำมาสู่การเกิดความหายนะมาสู่ครอบครัว ซ้ำร้ายยังเกิดการกล่าวขาน ไปในทางไม่ดีไปทั่วโลก และเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่สะเทือนขวัญของแรงงานไทยได้แก่ กรณีชุมชนคลองเตยถูกผลกระทบจากสารเคมีระเบิดที่คลองเตย (2 มี.ค.34) มีผู้เสียชีวิต 4 คน บ้านเรือน 642 หลังคาเรือนเสียหายในกองเพลิง กรณีโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม จังหวัดนครปฐม จนทำให้คนงานวัยหนุ่มสาว ต้องตายถึง 188 ศพและบาดเจ็บถึง 469 ราย (ในวันที่ 10 พ.ค. 36) กรณีโรงงานรอยัลพลาซ่าถล่ม (วันที่ 13 ส.ค.36) มีคนงานข้าราชการ นักท่องเที่ยวตายรวม 167 รายบาดเจ็บกว่า 200 ราย กรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน (11 ก.ค.40) ทำให้คนงาน นักท่องเที่ยว และพนักงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตายรวมจำนวน 91 รายบาดเจ็บกว่า 50 ราย กรณีโรงงานอบลำไยแห้งบริษัทหงษ์ไทยระเบิด (19 ก.ย. 2542) คนงานเสียชีวิต 36 คน บาดเจ็บ 2 ราย ชุมชนสันป่าตองบริเวณรอบโรงงานรัศมี 1 กิโลเมตร บ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เสียหายกว่า 571 หลังคา เรือน และชาวบ้านบาดเจ็บ 160 ราย ซึ่งจะเห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ยังขยายตัวออกมาสู่คนในชุมชน เช่น ชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นต้น
 
จากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิตนั้นยังต้องมีขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ของญาติผู้อยู่ข้างหลังกว่าจะได้รับสิทธิทดแทนนั้นยากเย็นใช้ระยะเวลานาน แต่การสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไม่มีอะไรมาชดใช้ได้ จนทำให้นักวิชาการ NGO ด้านแรงงาน ผู้นำแรงงานได้เคลื่อนไหวช่วยเหลือผลักดันมาตลอด
 
ช่วงนี้เองที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ก่อเกิดขึ้นเมื่อ 6 กุมพาพันธ์ พ.ศ.2536 จากการรวมตัวกันของคนงาน “โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย” ที่เจ็บป่วยและปอดเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างถาวร การเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนนั้น ยากเย็นมาก เพราะถูกปฎิเสธจากนายจ้าง และยังถูกปฎิเสธจากกองทุนเงินทดแทน ต้องมีการฟ้องร้องกันหลายร้อยคดี คนป่วยรวมกันหลายพันคน บางรายถูกปลดออกจากงาน บางรายทำงานไม่ไหวก็ต้องลาออกเอง แต่หลายรายก็ถูกนายจ้างปลอออกจากงานทั้งๆที่ป่วย อย่างไร้ความปราณี ต้องต่อสู้คดีกับนายจ้างและกองทุนเงินทดแทนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมการต่อสู้คดีนี้ 14 ปีแล้ว จากการต่อสู้ของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย กลายมาเป็นผู้ป่วยหลายๆโรคจากหลายๆโรงงานอุตสาหกรรม และต้องเข้าเรียกร้องสิทธิ์ผ่านสมัชชาคนจน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 และต่อมาในรัฐบาลหลายสมัย โดยการช่วยเหลือให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษาที่เป็นทั้งนักวิชาการ NGO ด้านแรงงาน
 
และหลายฝ่ายเริ่มมีความคิดร่วมกันว่าการเรียกร้องสิทธิทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ในขณะที่ตัวเลขสถิติทางกระทรวงแรงงานก็มีผู้บาดเจ็บประสบอันตรายจากการทำงานปีละ 200,000 คน ยังไม่รวมกับผู้ป่วยด้วยโรคจากสารเคมี มลพิษสิ่งแวดล้อมในโรงงานที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะขาดแพทย์และระบบการวินิจฉัยโรคริองรับ หรือเพราะคนงานไม่รู้ นายจ้างไม่ส่งเรื่องเข้ากองทุน ฯลฯ
 
การเรียกร้องทางนโยบายเริ่มเกิดขึ้น เช่น เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์ และหน่วยงาน ที่เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยสถาบันคุ้มครองสุขภาพคนงาน โดยผลักดันเป็นกฏหมาย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เรียกร้องในนามสมัชชาคนจน ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาล สมัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี จนได้มติ ครม. 26 มีนาคม 2540 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง ใช้ระยะเวลาร่วมร่าง 6 เดือน จนได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์ “ร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานกระกอบการ พ.ศ. ....” แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกระงับไปเสียก่อนจะถูกเสนอเข้า ครม.
 
ต่อมา ปี พ.ศ.2544 เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเอาข้อเสนอเรื่องร่าง พ.ร.บ.ไปเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมาจนถึงปัจจุบัน
 
เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล สมัยคุณลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็ออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... และยื่นเข้าสู่ ครม.ไปควบคู่กับ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯเป็น 2 ฉบับ ในขณะนั้น และถูกตีกลับมายังกระทรวงแรงงานใหม่
 
ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 กระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการ ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เข้าด้วยกัน ในส่วนของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ สมัชชาคนจน นักวิชาการ NGOs ผู้นำแรงงาน ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการพิจารณารวมร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ นี้ด้วย รวมกันแล้วใช้ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการ)” ซึ่งเป็นร่างที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ ยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น มีการตั้งองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการบริหารงานแบบเบญจภาคี เป็น จตุภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ และภาคีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ (ภาคีผู้ถูกผลกระทบ) โดยทำงานครบวงจร เช่น รักษา ฟื้นฟู ทดแทน โอนสถาบันความปลอดภัยความ และกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในสถาบันเสริมความปลอดภัยฯภายใน 5 ปี พอร่างแล้วเสร็จก็มีอันเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
 
ต่อมา ปี 2547 กระทรวงแรงงาน ก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ชื่อว่า “พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ...” ยื่นเข้าสู่ ครม. โดยเสนอตีคู่ไปกับ “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการ)” โดย ครม.จึงมีมติรับหลักการให้รวมร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เข้าด้วยกันอีกเป็นครั้งที่สอง โดยการส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณา ในการรวมร่าง 2 ฉบับ แล้วออกมา กลายเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ...” ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้มีการจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน โดยเอาเบี้ยดอกผลของกองทุนเงินทดแทนมาเป็นกองทุนเพื่อให้นายจ้างกู้ไปจัดซื้ออุปกรณ์และการจัดการความปลอดภัยในการทำงาน และสนับสนุนงานวิชาการและการรณรงค์ ซึ่งการบริหารจัดการโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วน การจัดตั้งองค์กรอิสระตาม “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....” ให้ไปอยู่ใน มาตรา 52 ของ “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....” โดยมีเพียง 3 บรรทัด ว่า “หากมีความพร้อมเมื่อใดให้จัดตั้งองค์กรอิสระ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และเป็นองค์กรอิสระด้านที่ทำหน้าที่ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” (ซึ่งมีข้อสังเกตคือทำไมกระทรวงแรงงาน ถึง ไม่ยอมรับร่างฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็มีส่วนร่วม และทำไมต้องนำ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ขึ้นมาใหม่ เพื่อประกบโดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายแม่บทในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน)
 
โดยแท้จริงแล้วร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) ก็นำเอาสาระสำคัญของหลายๆ มาตรา (โดยการเขียนล้อกับอำนาจหน้าที่ของร่าง) ของร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ไปบรรจุไว้ในพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในขณะที่ร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานนั้น เน้นการบริหารโดยราชการที่ไปเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ โดยการสร้างองค์กรใหม่ในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคนทำงานก็เป็นคนเดิมๆ ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับแรงงาน อีกทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพที่ให้นายจ้างหรือองค์กรเอกชนกู้ยืมเงินในการส่งเสริมความปลอดภัย แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับแรงงานโดยตรง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า กระทรวงแรงงานอาศัยชื่อ พ.ร.บ. ที่มีความคลายคลึงกัน ยกตัวอย่างกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่ากฎหมายความปลอดภัย
 
แต่เมื่อมาดูในส่วนเนื้อหาสาระจะพบว่าร่างกฎหมายฉบับของแรงงาน มีความแตกต่างจากฉบับของกระทรวงแรงงานมาก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีการผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับบูรณาการ ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ มาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม บริหารโดย จตุภาคี ที่ทำงานแบบครบวงจร คือ รักษา คุ้มครอง ทดแทน ฟื้นฟู รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบสถานประกอบการ และเป็นต้นแบบคลินิกโรคจากการทำงาน และออกเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการปฎิรูประบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ทันสมัย
 
ซึ่งต่อมาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ สมัชชาคนจน สมานฉันท์แรงงานไทยนักวิชาการ NGOs ได้ร่วมกันคัดค้าน ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ของกระทรวงแรงงาน จึงได้ตัด มาตรา 52 ออก
 
ทั้งนี้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ก็ยังเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อคัดค้าน ร่าง พรบ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ไว้ เพราะเห็นว่าการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยมา ก็มิได้เป็นการปฎิรูประบบสุขภาพความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในขณะนี้ได้ เพราะขาดการมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็เป็นคนเดิม จำนวนเท่าเดิม ในหน่วยงานเดิมๆ ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่ล้าหลังกว่า พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
 
ผู้ใช้แรงงาน จึงใช้ธีการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 163 เพื่อเสนอกฎหมาย (โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้เคยมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2541 แต่ช่วงนั้นการเข้าชื่อยังไม่มีกฎหมายลูกการเข้าชื่อจึงไม่เป็นผล) แต่ในปัจจุบันการเข้าชื่อยังไม่ครบ 10,000 รายชื่อได้เพียง 8,000 รายชื่อเท่านั้นเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมาย
 
ในวันที่ 8 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้นำเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ เช่น เพื่อที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดงบางพลี สมุทรปราการ อยุธยา และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก ได้ชุมนุมในวันนี้เพื่อประท้วงพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ทำตามสัญญาทั้งที่ได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้มีมติรับหลักการ ยึดถือ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเป็นร่างของพรรค แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับผ่านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยไปยัง ครม.และกำลังจะผ่านเข้าไปในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ใน การชุมนุมประมาณเวลา 14.00 น.นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าพบและรับหนังสือคัดค้าน พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกฯ ให้เร็วที่สุด โดยนายชุมพล กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นประธาน ส.ส.พรรค เมื่อมีใครเดือดร้อนตนจะเป็นผู้รับเรื่องไว้ เพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการ และจะติดต่อกลับไปตามที่อยู่ที่มีการระบุไวในหนังสือ รวมทั้งเดือนสิงหาคม 2552 มีพรรคฝ่ายค้าน เตีรยมเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย ที่เพิ่มมาตรา 52 ทั้ง 2 ฉบับคือนายสุชาติ ลายน้ำเงิน กับนายเจริญ จรรย์โกมล
 
ปัญหาผู้ป่วยจากการทำงานเป็นปัญหาที่ครุกรุ่นอยู่ตลอดเวลานับวันจะวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้านับสถิติที่มีคนประสบอันตรายปีละ 2 แสนรายรวม 5 ปีจะมีคนงานปแระสบอันตรายและเสียชีวิต 1 ล้านคนที่ต้องสังเวยไปกับอุตสาหกรรม เป็นคน ป่วย บาดเจ็บ คนพิการ และเสียชีวิต จากการทำงาน ซึ่งในส่วนของการเข้าไปช่วยเหลือของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ทำได้เป็นรายกรณีๆ ไปในแต่ละปี ไม่สามารถติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่ระบบยังคงไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาแรงงานเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันโรคที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในกลุ่มแรงงานทุกอุตสาหกรรม ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วยแล้ว คือ โรคกล้ามเนื้ออักเสบและกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคจากสารเคมี ซึ่งนอกจากแรงงานจะประสบกับปัญหาความเจ็บป่วย ยังมีเรื่องของการฟ้องคดีเนื่องจากกองทุนเงินทดแทนตีความไม่ใช่การป่วยจากการทำงาน และการถูกนายจ้างให้ออกจากงาน ทำให้มองว่าปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในรอบ 16 ปีนี้ หาได้ดีขึ้นแต่อย่างใดกลับยิ่งเลวร้ายมากขึ้นตลอดเวลา
 
ในส่วนการรักษาพยาบาล แม้ล่าสุดการเรียกร้องของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจะทำให้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงาน ได้ทำข้อตกลง MOU ให้ มี โรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์จำนวน 25 แห่ง (คลินิกโรคจากการทำงาน) ในประเทศไทย เพื่อตรวจรักษาโรค การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ แต่ก็ยังไม่มีระบบการตรวจรักษา ที่ครบวงจรอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ห้องแล๊ปไม่มี การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของโรคต้องไปตรวจกับโรงพยาบาลภายนอก และผู้ป่วยต้องเป็นคนเสียค่าใช้จ่ายเอง แพทย์เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็มีน้อยมาก ที่มีแพทย์ก็ยังทำงานไม่เต็มเวลา ต้องมีงานอื่นๆทำ งบประมาณในการตั้งคลินิกก็น้อย แรงจูงใจไม่มี นอกจากนี้ผู้ใช้แรงงานยังไม่รู้ว่า มีโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้บริการ ซึ่งก็ได้มีการเรียกร้องให้ทางผู้เกี่ยวข้องมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น
 
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นความชอบทำ ที่ผู้ใช้แรงงานจำเป็นจะต้องมีองค์กรอิสระด้านความปลอดภัย สมควรที่จะผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานมาทำงานด้านการคุ้มครองป้องกัน ดังนั้นการเสนอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ จึงเป็นสิ่งไม่สมควรไม่เพียงพอต่อปัญหาที่มีอยู่และเกิดขึ้น เป็นการเสนอกฏหมายเพื่อลวงตา แท้จริงแล้วเป็นการกระทำที่ต้องการหวงอำนาจไว้ในมือของรัฐแต่ฝ่ายเดียวและเอาใจนายทุนเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net