Skip to main content
sharethis

อลิซ่า มิลเลอร์ ซีอีโอของ Public Radio International ในอเมริกา ผู้ผลิตรายการวิทยุอิสระ เจ้าของคำขวัญ “ฟังสียงที่แตกต่าง – hear a different voice” กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 ว่าขณะที่คนอเมริกันต้องการรู้เรื่องราวในโลกมากขึ้น สื่ออเมริกันส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำหน้าที่นั้น 

เพื่อแสดงให้เห็นว่าข่าวมีอิทธิพลต่อการมองโลกอย่างไร เธอแสดงภาพแผนที่โลกที่แต่ละประเทศจะมีขนาดใหญ่เล็กตามจำนวนเวลาที่สื่ออเมริกันเสนอข่าว ในแผนที่นั้นทั้งสหรัฐ และอิรักมีขนาดพองโตมาก ขณะที่ประเทศอื่นๆ แทบจะลีบหายไป
 
 
 
 
เป็นตัวเลขจากปริมาณข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007 เดือนที่เกาหลีเหนือยอมรื้อถอนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในอินโดเนเซีย และ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Changeหรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แถลงผลการศึกษาที่กรุงปารีสยืนยันว่าภาวะโลกร้อนเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ แต่เนื้อข่าว 79% เกี่ยวกับอเมริกา ถ้าเอาข่าวอเมริกาออก ที่เหลืออีก 21% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอิรัก แทบไม่มีข่าวอื่นเลย มีข่าวเกี่ยวกับรัสเซีย จีนและอินเดียรวมกันเพียง 1%
 
เมื่อวิเคราะห์เนื้อข่าวทั้งหมด พบว่ามีข่าวหนึ่งที่กลบข่าวประเทศอื่นๆ หมดยกเว้นอิรัก คือข่าวการตายของแอนนา นิโคล สมิธ  (อดีตนางแบบเพลย์บอยที่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย) และข่าวนี้กินเนื้อที่ข่าวมากกว่ารายงานของ IPCC ถึงสิบเท่า วงจรเช่นนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป เพราะบริตนีย์ สเปียรส์ กำลังมาแรง
 
ทำไมเราจึงไม่รู้ข่าวของโลกมากขึ้น เหตุผลหนึ่งคือ สำนักข่าวลดเจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศลงครึ่งหนึ่ง นอกจากสำนักข่าว ABC ที่มีสำนักงานเล็กๆ มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวในไนโรบี นิวเดลี และมุมไบแล้ว ไม่มีสำนักข่าวต่างประเทศของอเมริกาในอาฟริกา อินเดียและอเมริกาใต้ ทั้งๆ ที่มีประชากรรวมกันกว่าสองพันล้านคน
ที่แย่กว่านั้นคือทีวีอเมริกันเสนอข่าวต่างประเทศเพียง 12%
 
ลองพิจารณาเว็บไซต์บ้าง ในปี 2007 ศูนย์วิจัย Pew ร่วมกับวิทยาลัยวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย วิเคราะห์ข่าวที่ปรากฏบนหน้าแรกของกูเกิ้ลจำนวน 14,000 ข่าว พบว่าพูดถึงเหตุการณ์เพียง 24 เหตุการณ์ และข่าวต่างประเทศที่เสนอผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นการนำข่าวจากสำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์มาเสนอใหม่ และไม่ได้ให้บริบทที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความเชื่อมโยงมากขึ้น
 
ทั้งหมดนี้จึงอธิบายว่าทำไมคนอเมริกันทั้งกลุ่มที่จบปริญญาและกลุ่มที่ไม่ค่อยมีการศึกษาจึงรู้เรื่องราวของโลกน้อยกว่าคนกลุ่มเดียวกันเมื่อ 20 ปีก่อน และถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะคนอเมริกันไม่สนใจก็ไม่จริง ในช่วงสองสามปีมานี้ คนอเมริกันที่กล่าวว่าติดตามข่าวต่างประเทศอย่างใกล้ชิดมีเพิ่มขึ้นกว่า 50%
 
คำถามคือ เราอยากให้คนอเมริกันเห็นโลกแบบบิดเบี้ยวเช่นนี้หรือ เธอเชื่อว่าเราทำได้ดีกว่านี้ และเราต้องทำ
 
 
 
…………………………………………..
เก็บความจาก http://www.ted.com Talks Alisa Miller shares the news about the news
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net