Skip to main content
sharethis
19 ก.ย. 52 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์ “3 ปี รัฐประหาร และมรดก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ควบคุมพื้นที่ และมีข้อห่วงกังวลต่อกฏหมายดังกล่าวที่ถูกใช้ในการลิดรอนสิทธิของประชาชน

 
แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
3 ปี รัฐประหาร และมรดก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
ครบรอบ 21 ปี แห่งการรัฐประหารโดยเผด็จการทหารพม่า ภายใต้การนำของนายพลซอ หม่อง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2531 ในนาม “สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ” (The State Law and Order Pestoration Council; SLORC) เหตุการณ์ครั้งนั้นได้รับการประนามจากประชาคมโลกอย่างรุนแรงที่สุด มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากจากการปราบปรามของกองทัพ จนถึงบัดนี้ การรัฐประหารดังกล่าวยังไม่สามารถมองเห็นอนาคตของสังคมในการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของพลเมืองในพม่าแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับการรัฐประหารเดือนกันยายนในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งบัดนี้ เราได้มรดกเป็น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2551 ซึ่งคงอำนาจแก่กองทัพ กำกับและดูแลสังคมการเมืองไทยในภาวะปกติในนามของ “ความมั่นคง” 
 
ผลพวงการรัฐประหาร ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยทันที การรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเกิดขึ้นทั่วไปหลังจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การปฏิเสธการเลือกตั้งโดยละเลยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในช่วงกว่า 1 ปีให้หลัง การละเมิดสิทธิโดยประกาศกฏอัยการศึกซึ่งมีไว้ใช้ในยามสงครามทั่วประเทศ การละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (IESCR) อันเป็นบรรทัดฐานที่ประชาคมโลกผลักดัน รวมทั้งการใช้อำนาจภายหลังการรัฐประหารโดยเบ็ดเสร็จซึ่งเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางความคิดอันเป็นสิทธิเบื้องต้นที่ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนรับรอง นำมาสู่การจัดวางสังคมการเมืองไทยท่ามกลางความขัดแย้ง การไร้บรรทัดฐานทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
 
ในโอกาสครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของกองทัพไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยช(ครส.) มีความเห็นและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้กองทัพทบทวนบทบาทและสรุปบทเรียน 3 ปีการรัฐประหาร ซึ่งนำมาสู่วัฒนธรรมทหารนำการเมือง และการสืบทอดอำนาจของทหารผ่านบทบาทตามกฏหมายของ กอ.รมน. เพื่อกลับคืนบทบาท “ทหารอาชีพ” ตามเดิม และยุติการแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกิจการทางการเมืองอันเป็นบทบาทของรัฐบาลพลเรือน รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาภายในกองทัพและโรงเรียนนายร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารซ้ำรอยขึ้นในอนาคต
 
2.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ควบคุมพื้นที่ และมีข้อห่วงกังวลต่อกฏหมายดังกล่าวที่ถูกใช้ในการรอนสิทธิของประชาชน และเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน ตามสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสมควรเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านการอบรมการควบคุมฝูงชนในภาวะจราจลบนบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพหรือทหารในการควบคุมการชุมนุมประท้วงของพลเมือง นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมุ่งแทรกแซง ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก และอำนาจตามกฎหมายนี้มีล้นเกินขอบเขต กล่าวคือ กองทัพสามารถบังคับบัญชาสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยงานและทุกคนได้ ผู้บัญชาการกองทัพบกในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน. ยังมีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน หรือให้อำนาจเจ้าพนักงาน ค้น จับกุม คุมขัง บุคคล ห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหสถาน ห้ามการเดินทางตามเส้นทางต่างๆ ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีอำนาจสั่งย้ายข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐออกจากพื้นที่ได้ด้วย ตลอดจนสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นการหมิ่นเหม่อย่างมากที่อาจมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ โดยอ้างความมั่นคงในราชอาณาจักร การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้อย่างถาวร และไม่ถูกตรวจสอบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของข้าราชการตามหลักนิติรัฐ ซึ่งเสริมสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือพลเรือน และมีลักษณะ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” ในพื้นที่ที่ประกาศใช้ อันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรเปิดให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกในอนาคต รวมกับ พ.ร.บ.กฏอัยการศึก พ.ศ.2457 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฏหมายล้าสมัยและกึ่งเผด็จการ
 
3.ขอให้ทุกฝ่ายมีการชุมนุมอย่างสงบและสันติวิธีบนวิถีประชาธิปไตย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยไม่เลือกปฏิบัติ จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม และนำข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองมาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทางการเมืองและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จะจับตาและติดตามการทำงานของกองทัพและรัฐบาลภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่ามีการปฏิบัติการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด มีผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง และทำให้เกิดอุปสรรคในการสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร เพื่อจัดทำข้อเสนอให้มีการปฏิรูปบทบาทของกองทัพต่อการเมือง และแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต่อไป
 
19 กันยายน 2552
แถลงโดยนายเมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net