Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.52 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กร/เครือข่ายภาคประชาชน เช่น ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเท็จจริง จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน โดยมีนักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาจากการละเมิดสิทธิชุมชน ในนาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง และกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร
บรรยากาศในเวทีเสวนา มีวิทยากรบรรยายในประเด็นต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชน สลับกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และได้มีตัวแทนชาวบ้านจากแต่ละพื้นที่กรณีปัญหาเล่าถึงสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งวิทยากรได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรภายใต้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวอีสาน
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมของชาวบ้านในระดับรากหญ้าที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิของชุมชนที่จะปกป้องรักษาผืนแผ่นดินถิ่นกำเนิดของตนเองว่า ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการปกป้องสิทธิของตนเอง แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ได้มีความพยายามจากภาครัฐที่จะออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมการชุมนุมของชาวบ้าน ตนจึงมองว่ารัฐกับนายทุน กำลังใช้อำนาจตุลาการผ่านกระบวนการยุติธรรมมาจำกัดสิทธิของชาวบ้านในการปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่กรณีปัญหาต่างๆ เช่น กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสวนป่าคอนสารที่ผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ต่างก็ใช้การชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิชุมชน แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจอกับปัญหาคดีความทั้งทางแพ่งและอาญา โดยนายไพโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้ว่าใครได้ประโยชน์จากการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน
ส่วนนางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สะท้อนความคิดเห็นว่า สิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ปัจจุบันก็ระบุไว้ในมาตรา 67 ถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่คนในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรของตนเองทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และแร่ แต่ในทางปฏิบัติมิได้เป็นเช่นนั้น ชาวบ้านไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองได้ตามกฎหมายรัฐธรรมธรรมนูญ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิฯ เพิ่มมากขึ้น องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกื้อหนุนชาวบ้านให้สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเอง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีกรณีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขช่วยเหลืออีกมากมาย
ด้านนายแพทย์ นิรันด์พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานของคณะกรรมสิทธิฯ ว่า ตนมีบทบาทส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิในการป้องป้องรักษาทรัพยากรในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ต่างมากมาย เช่น กรณีเขื่อน ที่ดิน ป่าไม้ เป็นต้น จึงต้องสนับสนุนให้มีการเรียกร้องต่อสู้ โดยตนคาดหวังว่า ให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อให้สาธารณะเกิดการยอมรับในบทบาทของชุมชนที่จะจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง โดยคณะกรรมสิทธิ์ฯ จะมีบทบาทในการหนุนเสริมการขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิชุมชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของภาพรวมของคณะกรรมการสิทธิฯ ทั้งหมดนั้น คาดหวังต่อบทบาทการทำงานไม่ได้ทุกคน ส่วนตนก็จะทำงานอย่าสงเต็มที่กับพี่น้องทุกคน
 สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน กล่าวว่าการจัดเวทีในวันนี้มีที่มาจากองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชน 17 องค์กร ได้ตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมที่นำมาใช้ในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน เพราะการชุมนุมของชาวบ้านที่ร่วมกันเรียกร้องสิทธิในทุกวันนี้ เมื่อชุมนุมเสร็จก็ถูกจับดำเนินคดี ตนมองว่าการชุมนุมซึ่งเป็นอำนาจของชุมชนกำลังจะหลุดไป เมื่อเป็นเช่นนี้จะนำเอาอำนาจของชุมชนกลับคืนมาอย่างไรภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงได้มีการประสานงาน องค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมสะท้อนข้อเท็จจริง มุมมองความคิดเห็นต่างๆ เพื่อหาแนวทางร่วมกันที่จะนำอำนาจคืนมาสู่ชุมชนอีกครั้ง จึงได้เกิดเวทีในวันนี้ขึ้นมา
 
หมายเหตุ องค์กรร่วมจัด ได้แก่
 
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน
โครงการทามมูล
ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มูลนิธิชุมชนอีสาน
โครงการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (Mining Watch)
สมาคมป่าชุมชนอีสาน
กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและทรัพยากรแร่ภาคอีสาน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรม
มูลนิธิชุมชนไท
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Act)
มูลนิธิชีวิตไท (rrafa)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net