ปาฐกถา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: เศรษฐธรรมแห่งความรุนแรง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ปาฐกถา 60 ปีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ครั้งที่ 9 วันที่ 21 ก.ย. 2552 ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ หัวข้อ “เศรษฐธรรมแห่งความรุนแรง” ระบุ สำนึกแห่งความเป็นธรรมถูกกระแทก ถ้าสังคมไทยเข้าใจว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องทักษิณหรือไม่ทักษิณนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำนึกแห่งความเป็นธรรมถูกสกัดอย่างรุนแรง และวางอยู่บนฐานของ เศรษฐธรรม (Moral Economy) ที่ต่างกัน โดยยกตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างเศรษฐธรรมที่แตกต่างกัน กรณีของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งเหลืองและแดง ว่าจะต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจของฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์แต่เป็นความโกรธทางศีลธรรม กลับกัน เสื้อแดงก็เช่นเดียวกัน คือเมื่อเขาบุกขึ้นมาคัดค้านเสื้อเหลืองก็เพราะความโกรธทางศีลธรรม สังคมไทยถ้าไม่ยอมเผชิญหน้ากับปัญหาความเป็นธรรมที่กระทบกระเทือนอย่างหนักคงแก้ปัญหายาก
หมายเหตุ ประชาไทรายงานโดยย่นย่อเนื้อความบางส่วน
000
เศรษฐธรรมแห่งความรุนแรงเป็นความพยายามที่จะเข้าใจความรุนแรงในสังคมไทยและโลกในฐานะที่เป็นความโกรธในทางศีลธรรม อันเป็นผลมาจากสำนึกแห่งความเป็นธรรมที่ถูกโยกคลอนกระทบอย่างรุนแรง และความรุนแรงเหล่านี้วางอยู่บนฐานของชุดเศรษฐธรรม เมื่อสำนึกแห่งความเป็นธรรมถูกกระแทก ถ้าสังคมไทยเข้าใจว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องทักษิณหรือไม่ทักษิณ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดแต่มันเป็นเรื่องที่สำนึกแห่งความเป็นธรรมถูกสกัดอย่างรุนแรง และวางอยู่บนฐานของ Moral Economy ที่ต่างกัน
สิ่งที่ผมจะพูดนั้น ได้รับอิทธิพลของ E.P. Thomson และ James C.Scott โดยทอมสันพูดเรื่องเศรษฐธรรมของฝูงชนชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 18 คือ พยายามจะดูว่า เมื่อผู้คนชาวอังกฤษมีปฏิกิริยาต่อการขึ้นราคาขนมปังและราคาข้าวโพด ชาวอังกฤษในเวลานั้นก็ก่อจลาจล ทอมสันอธิบายว่าการก่อจลาจลต่อปัญหาเรื่องอาหาร เหมือนเป็นการประท้วงความไม่เป็นธรรมที่มีต่อชนชั้นล่าง ทอมสันอธิบายต่อไปว่า การจลาจลในศตวรรษที่ 18 เป็นการจลาจลซึ่งมีวินัยและมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เขาทำการจลาจลเพราะเขามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาคือการขึ้นราคาอาหารนั้นเป็นการกระทำผิดต่อเขา ความเป็นธรรมถูกกระทบกระเทือน เขากำลังต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในอดีต ชุมชนที่กำลังเป็นอยู่และเศรษฐธรรมของเขา
เจม ซี สกอตต์ ศึกษากรณีของชาวนาในพม่าและเวียดนาม โดยคิดว่า ความพยายามที่จะอยู่ให้รอดของชาวนาไม่ได้เป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นเหตุผลทางการเมืองและทางศีลธรรมด้วย พยายามจะดูว่าทั้งหมดนี้เวลาที่ชาวนาลุกขึ้นมาโต้ตอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจโดยมีเหตุมีผล โดยเลือกทางรอดความมั่นคงยิ่งกว่าความเสี่ยง เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบัญชาทางศีลธรรม คือเวลาที่สิทธิที่จะมีชีวิตของตนเองถูกกระทบกระเทือน การโต้ตอบก็ถือเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล
ความน่าสนใจของสกอตต์ คือ ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้นศตวรรษที่ 20 เขาอธิบายว่า ตอนที่ลัทธิอาณานิคมเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับชาวนา ซึ่งดั้งเดิมนั้น แม้จะมีการขูดรีดอยู่บ้าง แต่ก็มีหมอนหนุนบางอย่าง ไม่ได้ขูดรีดเกินไป
แต่รัฐอาณานิคมเปลี่ยนความสัมพันธ์นี้บนฐานของกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในเรื่องของภาษี มองไม่เห็นปัจจัยอื่นๆ เช่นฤดูกาล ความสัมพันธ์เดิมที่ก็เป็นการกดขี่ที่เข้มแข็ง เมื่อชาวนาโดนกระแทกด้วยความผันผวนของธรรมชาติและแรงกดขี่ของชนชั้นนำที่มีเจ้าอาณานิคมเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ชาวนาทำก็คือลุกขึ้นมา โดยที่การลุกขึ้นมาของชาวนาเป็นความโกรธในทางศีลธรรม คือทำอย่างนี้กับเราได้อย่างไร ชาวนาไม่สามารถจะอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้
ผมกำลังบอกว่า สิ่งที่ผมอยากจะทำวันนี้ เหมือนและต่างจากทอมสัน ที่เหมือนคือ ผมคิดถึงเศรษฐธรรมในฐานะการตัดสินใจที่มีเหตุผลของผู้คนบนฐานของจริยธรรม เช่น ถ้าผมอยากจะเข้าใจฝ่ายเสื้อเหลือง ผมก็จะต้องเข้าใจว่า การตัดสินใจของฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นความโกรธทางศีลธรรม กลับกัน เสื้อแดงก็เช่นเดียวกัน คือเมื่อเขาบุกขึ้นมาคัดค้านเสื้อเหลืองก็เพราะความโกรธทางศีลธรรม ถ้าสังคมไทยไม่ยอมเผชิญหน้ากับปัญหาความเป็นธรรมที่กระทบกระเทือนอย่างหนัก คงแก้ปัญหายาก
นี่คือการมองปัญหาบนฐานของจริยธรรมที่มีเหตุผล ผมไม่ค่อยเชื่อว่าคนถูกผลักดันโดยแกนนำฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ คนยังสามารถตัดสินใจบนฐานของเหตุผล มนุษย์เป็นคนมีเหตุมีผล ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน จะเห็นด้วยกับสีอะไร จะไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหาร เหล่านี้สามารถคิดในฐานะที่คนเหล่านั้นเป็น Moral Agent ได้ทั้งสิ้น
สิ่งที่ไม่เหมือนก็คือ นักวิชาการทั้งสองท่านนั้น โฟกัสที่ฐานของผู้คน แต่ผมพูดถึงเศรษฐธรรมของความรุนแรง ไม่ใช่ ตัวคน
ความรุนแรงในความเห็นผมมันเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ด้วย ต้องย้อนไปคิดเรื่องความหมายของการเป็นอุปกรณ์ เรอเน เดส์การ์ตส์ (René Descartes) พูดถึงความรู้ว่า “ความรู้ที่ข้าพเจ้าพอใจ คือความรู้ที่สามารถเป็นประโยชน์ในชีวิตนี้และเป็นปรัชญาที่นำมาทดแทนปรัชญาฝันเฟื่องที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้ในสำนักต่างๆ เราต้องการความรู้ที่เป็นความรู้เชิงปฏิบัติที่เราจะเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของ ไฟ น้ำ อากาศ ดวงดาว และโลกกายภาพทั้งหลายที่ล้อมรอบเราอยู่ เราต้องการเข้าใจทักษะของคนงานของเรา เราสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับจุดหมายที่เหมาะสมกับมัน และจุดหมายที่เหมาะสมกับมันทำให้เราในฐานะมนุษย์กลายเป็น “เจ้า” และ “เจ้าของธรรมชาติ” สำหรับเดส์การ์ตส์ โลกกลายเป็นของที่จะถูกนำมาใช้ เราก็รับมรดกนี้มาก็ไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นว่าทรัพยากรเอาของเหล่านี้มาใช้ ความเห็นนี้ก็อยู่บนฐานของการคิดว่าเราจะจัดการกับธรรมชาติอย่างไร
อีกคนที่สำคัญในการคิดเรื่องอุปกรณ์ คือจอร์ช ซิมเมล เขียนใน “ปรัชญาของเงิน” ว่า “การรู้จักสร้างเครื่องมือคือเครื่องบ่งบอกความเป็นมนุษย์” ความสามารถของมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์อื่นก็คือการที่เราสามารถใช้มือ ถ้าเป็นอย่างนั้นการสร้างเครื่องมือในทัศนะของซิมเมลก็คือสิ่งที่แสดงว่านี่คือการแสดงความเป็นมนุษย์
กรณีของเครื่องทรมานนักโทษเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์เพราะต้องรู้เหลายอย่างเช่น ถ้าจะหยดน้ำจะหยดตรงไหนจะเกิดผลมากที่สุด คุณต้องรู้จักร่างกายและธรรมชาติของสัตว์ ต้องรู้ว่ามันจะส่งผลต่อร่างกายของมนุษย์อย่างไร
ความรุนแรงในฐานะที่เป็นเครื่องมือ อยู่ที่ความรุนแรงมีลักษณะเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ การดำรงอยู่ของเครื่องมือต้องการเหตุผลรองรับ คือถ้าปากกาและดินสอเขียนไม่ได้ก็หมดความเป็นเครื่องมือ ปัญหาของความรุนแรงจึงอยู่ที่จะใช้ความรุนแรงไปเพื่ออะไร
ปัญหาเรื่องการก่อการร้ายก็มีการเสนอว่าเป็นไปได้ที่จะคิดถึงแง่มุมทางศีลธรรมของการก่อการร้าย ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเปิดมุมมอง
ถ้าความรุนแรงเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีเป้าหมาย เช่น การก่อการร้าย มีตัวอย่างคำสัมภาษณ์ผู้นำฮามาส ว่าไปวางระเบิดศูนย์การค้าทำไม คำตอบคือเพราะอยากให้คนอิสราเอลรู้ว่าเรามีชีวิตอย่างไร ชีวิตที่อยู่กับความกลัวตลอดเวลาเป็นอย่างไร
ความรุนแรงทุกชนิดต้องการเป้าหมายเพื่อยืนยันว่าทำไปเพื่ออะไร ในแง่นี้ความรุนแรงอย่างสงครามหรือการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือที่ดำรงอยู่ได้ด้วยเป้าหมายสุดท้ายมาเป็นเหตุผลรองรับ ซึ่งอะไรก็ตามที่อาศัยสิ่งอื่นมารองรับมันไม่ได้มีความหมายอะไร
ถ้าคิดอย่างนี้ส่งผลอย่างไร
สิ่งที่ผมอยากจะทำคือทำความเข้าใจศาสตร์และศิลป์แห่งการยิงธนู ซึ่งมีคำสอน 3 กรณีคือ มหาภารตะ อรชุนฝึกยิงธนูโดยเมื่อเล็งธนูแล้วเห็นแต่หัวนก
ในบทหนึ่งของเรื่อง เจ้า โดยมาคิอาเวลลี ระบุว่า การใช้ธนูต้องตั้งเป้าสูงกว่าเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อให้เล็งสูง แต่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และต้องขึ้นกับคุณธรรมความสามารถของคันธนู ถ้าคิดอย่างมาคิอาเวลลี เกณฑ์ของการใช้ธนูก็ต่างไปจากสิ่งที่อรชุนคิด คือเล็งเห็นแต่หัวนก
ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ขงจื่อเห็นการทำเรื่องอื่นสำคัญกว่าการยิงธนู ทั้งกล่าวว่า “ในการประลองธนูนั้น ไม่เน้นว่าธนูเข้าเป้าลึกเพียงใด ทั้งนี้กำลังของคนไม่เท่ากัน นี่คือวิถีแห่งอดีต”, “ถ้าเราเปรียบการต่อสู้เป็นการแข่งขัน มิตรภาพมีอยู่ก่อนและหลัง วิญญูชนไม่มีอะไรต้องแก่งแย่ง แม้จำเป็นต้องยิงธนูก็คำนับแล้วเดินขึ้นไป พอเสร็จแล้วก็คำนับ แม้ในการแข่งขันก็ยังเป็นวิญญูชน”
สำหรับขงจื่อ การยิงธนูสำคัญน้อยกว่าสิ่งอื่น เป้าที่จะยิงต้องมีโอกาสป้องกันตัว การยิงไม่ต้องใช้กำลัง และยิงแล้วต้องคำนับ สำหรับมาคิอาเวลลี โฟกัสของการทำงานอยู่บนความเข้าใจว่าอาวุธและอุปกรณ์นั้นมีความสามารถแค่ไหน และเวลาที่ตั้งเป้าหมายก็ตั้งเป้ามากกว่าที่เป็นจริง 
ทำไมต้องคิดถึงเศรษฐธรรมแห่งความรุนแรงเวลานี้
ทำไมต้องคิดถึงเศรษฐธรรมแห่งความรุนแรงเวลานี้ ผมคิดว่า วันนี้ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ เปลี่ยนไปแล้วจริง เราไม่เคยอยู่ในสภาวะนี้เลย คือมีการเคลื่อนของมวลชน สองกลุ่มใหญ่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ โดยมีรัฐอยู่ตรงกลาง ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยมีเลย เมื่อก่อนมีมวลชนและรัฐเอามาใช้ แต่ขณะนี้มวลชนมีตัวตนของตัวเอง มีความโกรธในทางศีลธรรมของตัวเอง และไม่อยู่ใต้รัฐ และรัฐอ่อนลงเรื่อยๆ สถานการณ์แบบนี้เราไม่เคยเป็น ผมไม่พูดเรื่องพรรคการเมืองเลยนะครับ เพราะมันมีความสำคัญน้อยมาก
อีกประการที่เปลี่ยนคือ โครงสร้างความคาดหวังของสังคมได้เปลี่ยนไป ก็หมายความว่าถ้าลำพังอย่างใดอย่างหนึ่งโอกาสที่สังคมนี้จะปะทะกันมากกว่านี้คงน้อย แต่เวลาที่มันเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ต้องรอปัจจัยใหญ่มาก แต่อาจจะปะทะกระแทกหนักมาก ปัญหาขณะนี้คือ เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งในสังคมไทยและสังคมโลก ปัญหาภาคใต้ก็ด้วยในความหมายนี้ ผมคิดว่ามันมีความโกรธทางศีลธรรมอยู่ เช่น ถ้าเป็นชาวพุทธในภาคใต้ก็โกรธทั้งต่อรัฐและคนมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ คนมุสลิมก็เกิดความโกรธอย่างเดียวกัน คือแผ่นดินนี้อยู่มาตั้งนาน ร้อยปีที่แล้วก็ถูกยึดโดยกรุงเทพฯ แล้วตอนนี้ก็มีแต่ด่านตรวจอาวุธ สิ่งที่เราพบก็คือการปะทะกันของความโกรธทางศีลธรรมแบบนี้ และวิธีการปะทะก็ต่างกัน
ศรีสะเกษก็แบบนี้ ชาวบ้านแถวนั้นก็คงโกรธพอสมควรเพราะชีวิตประจำวันของเขาถูกกระทบ อีกฝ่ายก็กลัวเสียอธิปไตย เสียจริงหรือเปล่าไม่รู้แต่มันเป็น Sense of Anger ทั้งนี้ความโกรธก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม เช่น ชาวเอสกิโมถือว่าความโกรธเป็นมารยาทที่ไม่ดี แต่ชาวโรมันถือว่าเป็นการแสดงอารมณ์ที่ดี
ขณะนี้ สิ่งที่เราเผชิญก็คือความโกรธ ด้านหนึ่งก็คือทักษิณเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อีกสิ่งหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในระยะเวลา 15 ปีมานี้ ได้จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วรัฐธรรมนูญนี้จัดการกับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนแล้วได้อย่างไร ซึ่งเราน่าจะพอหาทางออกจากความขัดแย้งได้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตจิตวิญญาณต่อสังคมไทย ถ้าไม่สนใจเศรษฐธรรมแห่งความรุนแรงสังคมไทยก็อยู่ในความเสี่ยงทั้งต่อปัจจุบันและอนาคต
 
ช่วงถาม-ตอบ
ถาม: ถึงแม้ว่าจะเข้าใจแต่ก็ยังต่างกันอยู่ดี
คือแม้ว่าเราจะต่างกันในแง่ของวิธี ก็ควรจะไม่ทำให้เราตายกันไปข้างหนึ่ง ทำไมเราจึงปล่อยให้ “ข้อไม่ตกลงเรื่องวิธี” เป็นเจ้าเรือนกระทั่งเราตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของเป้าที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าสังคมไทยมีเรื่องอื่นที่ต้องคุยกันในเรื่องของเป้าหมาย ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องคุยกัน เราต้องการประชาธิปไตยแบบไหน เราต้องการการดำรงอยู่ด้วยกันในลักษณะไหน
ถาม: ถ้ามองว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือ คนมักจะบอกว่าเราไม่มีทางที่จะบรรลุความรุนแรงด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าอย่างนั้น ทำไมคนถึงจะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ทำไมยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้นๆ ทำไมเขาไม่ใช่วิธีการที่ไม่รุนแรง หรือเขาเคยใช้มาแล้วไม่บรรลุเป้าหมาย
ผมคิดว่ามันมีมายาคติเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงหลายข้อ เช่น สันติวิธีมันช้า มันไม่เวิร์ก ถ้าเราคิดอีกทางหนึ่ง เราอาจจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะผลประโยชน์ของใครหลายๆ กลุ่ม เพราะความรุนแรงนั้นไม่ใช่ฝ่ายผู้ก่อการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำเหมือนกัน เป็นไปได้ไหมที่คนในพื้นที่ถูกหล่อเลี้ยงให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น ขณะนี้เราเห็นการใช้ระเบิดมากขึ้นเราเห็นวัดวาอารามมีทหารเข้าไปควบคุมพื้นที่มากขึ้น เพราะวัดไม่ใช้พื้นที่ทำบุญแต่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
ตัวความรุนแรง บังเหตุของปัญหา และบังเหยื่อ และบังทางเลือกอื่นๆ ในชายแดนภาคใต้แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่นๆ ก็คิดไม่ออก
ทำไมคนถึงมักคิดว่ามุสลิมใช้ความรุนแรง
อิสลามต่างกับศาสนาอื่น เรื่องใหญ่มากสำหรับศาสนาอิสลามคือเรื่องความไม่เป็นธรรมและการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเป็นหน้าที่ของคนมุสลิม ฉะนั้นหากเขารู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องยากที่มุสลิมจะรวมตัวกัน การไปนอนโดยรู้ว่าเพื่อนบ้านยังหิวอยู่อย่าเรียกตัวว่าเป็นมุสลิม จากคำสอนนี้ บอกว่า ความอดอยากเป็นปัญหา ความอดอยากของคนอื่นเป็นปัญหาของเราทางจิตวิญญาณ ฉะนั้นต้องทำอะไรบางอย่าง นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง เป็นศาสนาที่ทุกคนต้องทำอะไรบางอย่าง กิจการในโลกนี้เป็นกิจการที่สำคัญพอๆ กับโลกหน้า
ถาม: กรณีเขาพระวิหาร ภาคใต้ และเสื้อเหลืองเสื้อแดง มีลักษณะที่ต่างกันมาก กรณีของเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ละฝ่ายมีเหตุผลต่างกัน ซึ่งความดีถูกมองอย่างแยกส่วน เสื้อเหลืองมองความดีแบบหนึ่ง เสื้อแดงมองความดีแบบหนึ่ง หรือความถูกต้องที่แตกต่างกัน และเมื่อนึกถึงความยุติธรรม ดูเหมือนว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ความดีถูกแยกส่วน ความรุนแรงก็มองเป้าหมายคนละตัว ดูเหมือนไม่สามารถหาข้อยุติหรือธรรมะที่ยุติความขัดแย้งได้ อาจารย์มองธรรมที่ยุติความขัดแย้งอย่างไร
ผมไม่คิดว่าจะมีธรรมอะไรมายุติความขัดแย้งได้ ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ และความขัดแย้งอาจจะไม่ใช่ไม่ดี แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรไม่ให้ความขัดแย้งที่มีอยู่มันตกไปอยู่ในภาวะที่เป็นความขัดแย้งที่ทำให้เราถึงตาย ทำอย่างไรให้เราขัดแย้งแบบโตไปด้วยกัน คิดขัดแย้งอย่างรู้ อย่างตื่น อย่างเบิกบาน ถ้าจะมี มันอยู่ตรงไหน ซึ่งความขัดแย้งมันไม่เป็นไร
แต่ปัญหาคือ การจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง การหมดความสามารถที่จะเห็นคนที่ขัดแย้งกับเราในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ อะไรที่ทำให้ความสามารถของเรา ที่จะมองคนอื่นในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์มันหายไปเรื่อยๆ อะไรทำให้เราเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ ถ้าเรามองฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นมนุษย์ และมองว่าความรุนแรงของเราเป็นสิทธิที่เราจะโกรธ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะอยู่กันอย่างไร ผมไม่สนใจเรื่องเป้า แต่ผมสนใจวิธี จะทะเลาะกันก็ไม่เป็นไร คุณจะไปคาดหวังให้คนในสังคมนี้เห็นด้วยกับคุณทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ไหมที่จะมีสถาบันการเมืองแบบนั้นคือเป็นสถาบันการเมืองของทุกคน ว่าด้วยวิธีการขัดกันฉันท์มิตรอย่างไร
ถาม: เราจะจัดการอย่างไร มีสถาบันไหนไหม
ผมตอบไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมรู้แต่ว่า สิ่งทีเป็นพิษของสังคมไทยมีสองเรื่องคือ ความเกลียดชัง ผมไม่เสนอว่าเราต้องมารักกันนะ ไม่ต้องรักก็ได้ แต่จะทำอย่างไรจะอยู่โดยไม่เกลียด อีกอันคืออย่าเห็นความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ผมไม่รู้ว่าจะมีสถาบันอะไรทำเรื่องนี้หรือเปล่าสิ่งที่ต้องทำก็คือต้องมีบทวิพากษ์ หรือเมื่อความเกลียดชังถูกผลิตมาในสังคมนี้
ถาม: ความขัดแย้งที่เกิดจากเศรษฐธรรมที่แตกต่างกัน มันต้องการการจัดการที่แตกต่างกับกรณีอื่นๆ ไหม
นี่ยากหน่อยเพราะเราไม่ได้พูดถึงเหตุ เวลาที่ก่อรูปให้เกิดความขัดแย้งคือสาเหตุ แต่เมื่อไหร่ที่ความขัดแย้งกำลังจะเปลี่ยนเป็นความรุนแรงต้องการคำอธิบายอื่นเช่น ทำให้อีกฝ่ายไม่เป็นมนุษย์ เมื่อเราคิดถึงเศรษฐธรรมของความรุนแรงมันจึงต่าง
ถาม: ปัญหานี้แก้ด้วยการอดทนอดกลั้นได้หรือไม่
ไม่ครับเพราะอดทนไปนานๆ มันจะระเบิด เช่นกรณีชาวนา เมื่อกลับไปที่เวียดนาม คือระบบไม่อนุญาตให้ทำอะไรเลย ก่อนหน้านั้นไม่เกิดเพราะมันมีช่องทาง ความรุนแรงมันไม่ใช่ทางออกในความหมายทั่วๆ ไป มันเป็นการหมดปัญญาไม่มีทางเลือก
ถาม: การแก้ปัญหาจะถูกดีไซน์ออกมาแบบไหน โดยใคร และเมื่อรัฐอ่อนแอ ถ้าไม่ใช่รัฐทำ มันจะดีได้อย่างไร
ความโกรธเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องโกรธให้ถูกที่ คือต้องแยกโกรธ ไม่ใช่โกรธคน คือโกรธความชั่ว ไม่ใช่โกรธคนชั่ว ส่วนเรื่องความอ่อนแอของรัฐนั้น มีกรณีตัวอย่างคือผู้ชายคนหนึ่งในรัฐซานดิเอโก อายุ 20 ปี ทำงานส่งพิซซ่า ถูกแก๊งที่จะปล้นพิซซ่าและเงินยิงเสียชีวิต เมื่อจับคนยิงได้ พบว่าคนยิงอายุ 14 ศาลซานดิเอโกตัดสินคดีในฐานะผู้ใหญ่ แล้วโดนลงโทษจำคุก 25 ปี พ่อของผู้ตายนั้นขณะที่เอาลูกไปฝัง ก็มีคนถามว่าโกรธไหม พ่อบอกว่าโกรธเพราะว่าประเทศนี้มีปืนเต็มไปหมด ปืนมีเหยื่อสองทางคือ เหยื่อที่ปลายปืนและเหยื่อที่ไกปืน สิ่งที่พ่อของผู้ตายทำก็คือไปหาตาเด็กที่เป็นคนยิงปืนแล้วยื่นมือให้ แล้วบอกว่าเราสองคนเสียทั้งคู่เลยนะ เราไม่อยากให้คนอื่นเจอแบบนี้เราต้องมาร่วมมือกันเพื่อทำอะไรบางอย่าง ปืนอยู่ในมือคนเต็มไปหมด และรัฐก็ไม่มีอำนาจจะจัดการ
สำหรับรัฐที่อ่อนแอในทางเศรษฐกิจมันดี แต่ในทางการเมืองมันดีหรือเปล่า ไม่แน่ว่ารัฐที่อ่อนแอจะดีเสมอไป 
ถาม: กรณีของอองซาน ซูจีซึ่งเราก็เห็นว่าถูกกระทำ แต่ว่าถ้าเราทำความเข้าใจว่า รัฐบาลทหารพม่าก็มีเศรษฐธรรมของตนเอง แล้วจะนำไปสู่อะไร หรือกรณีที่สังคมมีสามหรือสี่ฝ่ายและแต่ละฝ่ายก็เห็นประโยชน์ของการใช้ความรุนแรง ต่างกัน ฝ่ายที่เข้าใจว่าความรุนแรงเป็นปัญหาก็พยายามหลีกเลี่ยง แต่อีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงอยู่เรื่อยๆ แล้วทางออกคืออะไร
ในสังคมที่มีฝ่ายที่เข้าใจความรุนแรง แต่อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงอยู่เรื่อย และเวลาที่เราบอกว่าความโกรธเหล่านี้ อยู่กับเศรษฐธรรมหลายชุด แล้วเศรษฐธรรมเหล่านี้เท่ากันหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ เช่นกรณีของ SPDC กับอองซานซูจี สองส่วนนี้ไม่เท่ากัน แม้ว่าอีกฝ่ายจะเห็นว่ามันเป็นอำนาจโดยชอบธรรมในการกดขี่คนอื่น แต่ถามว่า มันมีวิธีอื่นไหมที่จะทำ ไม่ใช่ว่ายอมรับสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าทำกับอองซานซูจี มันก็มีขบวนการประชาชนในพม่า ผมคิดว่าน้ำหนักมันไม่เท่ากัน
ถาม: มีตัวอย่างไหมที่ความรุนแรงมันหยุดตัวเอง
มีครับ ผมพยายามคิด มีกรณีที่สู้ๆ ไปมันเหนื่อยๆ และที่น่าสนใจคือความเหนื่อย แต่ความเหนื่อยที่อยู่บนฐานะของความโกรธทางศีลธรรมนั้นมันเหนื่อยยาก ความรุนแรงนั้นถ้าอยู่ในโลกที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าไรก็จะเหนื่อยและหยุดได้ แต่เวลาที่ความขัดแย้งไปสัมพันธ์กับเรื่องศักดิ์สิทธิ์มันเหนื่อยลำบาก
ความขัดแย้งเงียบๆ เย็นๆ เดี๋ยวมันก็จบไปเอง....มันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เรามีความสามารถที่จะอดทนกับมันแต่ก็จำกัด
ถาม: ถ้าความรุนแรงมีมูลค่า เช่นสองสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่าว่ามีทหารพรานมอบตัวว่าเขาถูกว่าจ้างให้ไปเผา ร.ร. ในภาคใต้โดยมีคนว่าจ้างเป็น อบต.
นี่คือ Economy of Violence คือมีการใช้ความรุนแรง แล้วมีมูลค่ามันก็จะถูกใช้ ถ้าคิดว่าคนถูกจ้างมาให้มาม็อบ ก็จ้างให้เขากลับสิ แต่ถ้าจ้างแล้วไม่กลับแปลว่ามันมีอะไรอย่างอื่น ผมกำลังจะบอกว่าสังคมไทยอาจจะอยู่ตรงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท