มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแรงงานต่างด้าว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 
หลักการสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้โดยไม่กดขี่ข่มเหงกันจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ ก็ คือ หลักสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิมนุษยชนนี้เองที่เป็นหลักประกันขั้นต่ำสุดในการช่วยเหลือมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากในทุกสถานการณ์ให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ แม้ไม่เหลือสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย ไร่นา สาธารณสุข หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือแม้กระทั่งรัฐชาติของตนที่ต้องทำหน้าที่รักษาความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในชาติ เนื่องจากหลักสิทธิมนุษยชนมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ หลักการห้ามแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ(Non-Discrimination) อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ หมายความว่าไม่ว่ามนุษย์คนใดที่ตกทุกข์ได้ยากก็มีความจำเป็นต้องดำรงชีวิตดังนั้นรัฐอื่นหรือบุคคลอื่นก็ต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้บุคคลผู้ตกทุกข์ได้ยากนั้นพ้นจากความยากลำบากดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความปรองดองในหมู่มวลมนุษยชาติ หรือจะเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นสร้างปัญหาในระยะยาวให้กับเราหรือรัฐเราก็แล้วแต่ (ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง)
 
หลักสิทธิมนุษยชนนี้ มีวิวัฒนาการมาในทุกอารยธรรมทั่วโลก ดังปรากฏในหลักธรรมคำสอนของแทบทุกศาสนาที่ให้ศาสนิกชนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือยกระดับเป็นหลักจริยธรรมของผู้ปกครอง หรือสูงสุดก็พัฒนาไปเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในรูปแบบของกฎหมาย เช่น กฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติในส่วนพันธกรณีของประชาคมโลกในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกัน    หลักสิทธิมนุษยชนนี้เองเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มุ่งคุ้มครองผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากซึ่งเป็นเหยื่อของภาวะวิกฤตชีวิต โดยมิได้แบ่งแยกว่าผู้ประสบภัยจะเป็นคนชาติใด ศาสนาใด ฯลฯ ก็ตาม
 
แม้จะมีบางยุค บางพื้นที่ซึ่งมีผู้ใช้อำนาจปกครองด้วยความโหดร้ายทารุณกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ยิปซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การฆ่าฟันชนกลุ่มน้อยโดยรัฐบาลทหารในประเทศพม่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นในสงครามกลางเมืองของหลายๆ ประเทศในอัฟริกา แต่หลักสิทธิมนุษยชนนี้เองก็เป็นตัวกระตุ้นให้ประชาคมโลกหรือกระแสสังคมต้องส่งความช่วยเหลือ หรือรองรับเหยื่อผู้ประสบภัยด้วยมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ การส่งความช่วยเหลือเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ให้ที่พักพิง การประณามผู้ก่อภัยสงคราม การกดดันให้รัฐซึ่งล้มเหลวในการปกป้องผู้ประสบภัยต้องเปิดโอกาสให้ประชาคมโลกส่งความช่วยเหลือเข้าไป หรือมาตรการขั้นเด็ดขาด คือ การส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าระงับหรือคุ้มครองการส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยโดยอาศัยมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC – United Nations Security Council)
 
หากมีการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่ใจต่อการปกป้องคุ้มครองผู้ประสบภัยจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง อาทิ รัฐบาลที่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในเขตแดนรัฐตนแล้วไม่ยอมเปิดพรมแดนให้ประชาคมโลกส่งความช่วยเหลือเข้าไป การเจตนาปล้นสะดมความช่วยเหลือทำให้สิ่งของไปไม่ถึงผู้ประสบภัย หรือแม้กระทั่งอาศัยความได้เปรียบเชิงอำนาจบังคับเกณฑ์แรงงานผู้ประสบภัยเพื่อแลกกับสวัสดิการคุณภาพต่ำ ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นกับรัฐบาลอำนาจนิยมทั้งหลายที่ใช้วิธีการเหล่านี้กดขี่ประชาชนโดยเฉพาะต่อ “ชนกลุ่มน้อย” ที่อาศัยอยู่ในดินแดนปกครองของรัฐทรราช พฤตการณ์เหล่านั้นก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยตรง เป็นเหตุให้ประชาชนที่ถูกกดขี่จำเป็นต้องอพยพโยกย้ายไปยังถิ่นฐานอื่น
 
ในโลกยุคปัจจุบันที่รัฐชาติได้ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างมั่นคง พรมแดน สัญชาติ และสิทธิ-หน้าที่ตามกฎหมาย ได้แบ่งแยกมนุษย์ต่างชาติออกจากกันมากขึ้น กล่าวคือ คนที่เกิดในดินแดนไทย มีสายเลือดไทย ย่อมได้สิทธิและมีหน้าที่ตามกฎหมายไทย ส่วนคนที่เกิดในดินแดนสหรัฐอเมริกา มีสายเลือดอเมริกัน ย่อมได้สิทธิและมีหน้าที่ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา คนต่างสัญชาติจึงได้สิทธิและมีหน้าที่ต่างกันตามแต่กฎหมายภายในของแต่ละรัฐกำหนด อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคนที่เกิดในดินแดนพม่า มีสายเลือดชาติพันธุ์ต่างๆ อาจไม่ได้สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายพม่า เฉกเช่นชาวพม่าคนอื่นๆ ด้วยเหตุที่มีการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโดยรัฐบาลพม่าด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การเกณฑ์แรงงานโดยมิได้จ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาสม เป็นต้น ทำให้ชนกลุ่มน้อยต้องแสวงหาทางรอดอื่นๆในการดำรงชีพ ไม่ว่าการอพยพเข้ามาทำงานในรัฐที่มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองดีกว่าเช่น เข้ามาทำงานในรัฐไทย หรือหลบหนีเข้ามารัฐไทยเพื่อไปต่อยังประเทศที่ 3
 
เมื่อมองชนกลุ่มน้อยที่เป็นแรงงานอพยพด้วยสายตาของรัฐชาติ และกฎหมายภายในย่อมเห็นถึงการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ฯลฯ และยังมีความเสี่ยงที่ชนกลุ่มน้อยอาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทยในระยะยาวกล่าว คือ การไม่อยู่ในสาระบบทะเบียน การควบคุมทำได้ยาก หากก่ออาชญากรรมต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยอาจติดตามจำกุมได้ยาก เหล่านี้ล้วนเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นต่อรัฐไทย หรือแม้กระทั่งรัฐอื่นใดในโลกที่ประสบปัญหาผู้อพยพ            ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐ และประชาคมโลกที่กำลังเผชิญปัญหาผู้อพยพข้ามพรมแดนว่าจัดการกับปัญหานี้อย่างไร และอยู่ในความรับผิดชอบของใคร ซึ่งขอรวมเรียกว่า “มาตรฐานสิทธิมนุษยชน”
 
มาตรฐานสิทธิมนุษยชน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่แต่ละรัฐจะกำหนดกันได้เองตามอำเภอใจเนื่องจากรัฐได้มีพันธกรณีอยู่กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักการสากลนี้เองที่ทุกรัฐในประชาคมโลกยึดถือปฏิบัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลก ที่ต้องรักษาสันติภาพด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การประกันสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ทุกคน การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และการรักษาสันติภาพแห่งมวลมนุษยชาติ ดังที่ปรากฏเป็นหลักการสำคัญของกฎบัตรสหประชาชาติ          การอ้างความมั่นคงภายในรัฐเพื่อยกเว้นหลักสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมจึงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากหลักการเหล่านี้รับรองโดยกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่บทบัญญัติหลายส่วนพัฒนามาจนเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ผูกพันทุกรัฐแม้ไม่ได้ลงนามก็ตาม    หลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมสากลนี่เองที่กลายเป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ทุกรัฐในประชาคมโลกจำต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐในการจัดการปัญหา “คนอื่น” ซึ่งมิใช่ “คนชาติ” ของตน
 
ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นกับไทยเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมไทยและรัฐชาติไทยต้องทบทวนถึง “มาตรฐานสิทธิมนุษยชน” อีกครั้งว่า เมื่อรัฐไทย สังคมไทยต้องเผชิญปัญหาแรงงานต่างด้าว เราจะมีมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในการจัดการปัญหานี้อย่างไร โดยมี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้      1.เรื่องใดบ้างที่ต้องดูแล 2.ใครบ้างที่มีหน้าที่ดูแล
 
 
1. เรื่องใดบ้างที่ต้องดูแล การคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในภาวะตกทุกข์ได้ยาก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยบทบาทของผู้มีอำนาจหน้าที่(รัฐ ประชาคมโลก องค์กรต่างๆ) หากมองในแง่นี้ผู้มีอำนาจหน้าที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์อยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
 
1) การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องไม่ละเมิด (Negative Rights) ผู้มีอำนาจต้องประกันสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกายของผู้อพยพ มิให้มีการฆ่าฟัน ทรมาน หรือลงโทษโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมต่อผู้อพยพเหล่านี้ ผู้มีอำนาจต้องไม่ละเมิดสิทธิเสียเองและต้องสอดส่องควบคุมมิให้ผู้ใดละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยการกำหนดบทลงโทษต่อผู้ละเมิด ข้อสังเกตต่อสิทธิประเภทนี้ คือ ไม่ต้องลงทุนมากนักและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน สิทธิเหล่านี้จึงต้องได้รับการคุ้มครองอย่างยิ่งยวด รวมถึงรัฐผู้มีอำนาจ
 
2) การคุ้มครองสิทธิโดยการส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) ผู้มีอำนาจต้องส่งเสริมสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น มีอาหาร ยารักษาโรค ที่พักพิง และเครื่องนุ่งห่ม ผู้มีอำนาจย่อมต้องจัดทรัพยากรมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้อพยพมีข้าวกิน มียาใช้ มีที่พักพิง มีเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด ข้อสังเกตต่อสิทธิประเภทนี้ คือ ต้องมีทรัพยากรในการส่งเสริมสิทธิประเภทนี้ สิทธิประเภทนี้จึงสัมพันธ์กับทรัพยากรที่มี ดังนั้นจึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือและแสวงหาทรัพยากรมาจากหลายส่วน รัฐอาจมีหน้าที่ในเบื้องต้นเท่าที่รัฐจะสามารถจัดให้ได้ แต่เหนือไปว่ากว่านั้นรัฐอาจแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมโลกในการจัดการปัญหา และประชาคมโลกก็มีหน้าที่ในการยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยเช่นกัน
 
 
2. ใครบ้างที่มีหน้าที่ดูแล เมื่อแบ่งเรื่องที่คุ้มครองออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ จะเห็นว่า รัฐมีหน้าที่ในการไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องไม่ละเมิด (Negative Rights) โดยประชาคมโลกเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิโดยรัฐ ส่วนการส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) เป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ในการแสวงหาทรัพยากรมีจัดสวัสดิการต่างๆเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตผู้อพยพให้ดียิ่งขึ้น
 
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในเรื่อง การส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในโครงการที่รัฐจัด การขอให้มีการประกันสิทธิแรงงานต่างด้าวตามระบบประกันสวัสดิการแรงงาน ฯลฯ เนื่องจากมีการตอกย้ำจากภาครัฐว่าต้องนำภาษีมาจัดคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอ คือ ภาษีที่ใช้อยู่ในรัฐไทย มาจากภาษีทางอ้อมโดยเฉพาะการบริโภค ซึ่งแรงงานต่างด้าวย่อมต้องบริโภคในรัฐไทยอยู่แล้ว และมากกว่านั้นการไม่จัดการปัญหาอย่างจริงจังย่อมผลักให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบใต้ดินอีกด้วย
 
บทสรุปของแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ก็คือ รัฐไทยต้องงดเว้นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็น สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย และการลงโทษโดยปราศจากกระบวนการยุติธรรม ส่วนการส่งเสริมสิทธิในคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงานต่างด้าวมิได้เป็นหน้าที่ของรัฐไทยเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของทั้งรัฐไทย องค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ รวมถึงองค์การในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของรัฐต่างๆที่เผชิญปัญหานี้ร่วมกัน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ต้องแสวงหาทรัพยากรและมาตรการต่างๆมาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวที่อพยพมา เพื่อหาแนวทางในการจัดการปัญหาร่วมกันมิใช่การผลักภาระจนทำให้รัฐต่างๆเพิกเฉยจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าว จนกลายเป็นปัญหาให้กับสังคมไทยในท้ายที่สุด รวมทั้งประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐไทยทั้งหลาย(อาจไม่จำกัดเฉพาะชนชาวไทย) อาจต้องต่อสู้ช่วงชิงว่าจะนำเงินภาษีมาใช้แก้ไขปัญหาใดบ้างให้สังคมไทย มิใช่ปล่อยให้คนเพียงหยิบมือใช้จ่ายภาษีตามอำเภอใจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท