Skip to main content
sharethis

นอกจากอองซาน ซูจี ที่หลายฝ่ายต่างเฝ้าจับตาว่าจะเผชิญกับชะตากรรมอะไรอีก ขณะที่ทางการพม่ากำลังพยายามจะจัดการเลือกตั้งให้ได้ในปีหน้า กองกำลังติดอาวุธทั้งกลุ่มหยุดยิงและกลุ่มต่อต้านก็เป็นที่น่าจับตามอง เพราะถ้าหากกองทัพพม่ายังคงกดดันหรือพยายามกำจัดและไม่สามารถกำชัยได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นโกก้างแล้ว เมื่อนั้นสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่?

  
 

 


พื้นที่สีเขียวในวงกลมสีแดง คือ เขตปกครองโกก้าง MNDAA (Photo: SHAN)
 
เผิงจาเซิง (Photo: SHAN)
 
ป๋ายโส่วเฉิน (Photo: Reuters)
 
กองกำลังโกก้าง MNDAA สวนสนามในวันครบรอบ 20 ปี (Photo: worldaffairsboard.com)
 
กองกำลังโกก้าง MNDAA สวนสนามในวันครบรอบ 20 ปี (Photo: worldaffairsboard.com)
 
เมืองเหล่ากาย เขตปกครอง MNDAA (Photo: SHAN)
 
ผู้อพยพจากสู้รบโกก้าง-พม่า เข้าจีน (Photo: Reuters)
 
 
เป็นข่าวครึกโครมอีกข่าวหนึ่งในรอบปีสำหรับสหภาพพม่า เมื่อรัฐบาลทหารพม่าส่งกำลังบุกเข้ายึดเขตปกครองพิเศษกองกำลังหยุดยิง “กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า” (MNDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือ กองกำลังโกก้าง ที่มีพื้นที่ครอบครองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน ด้านมณฑลยูนาน เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งข่าวนี้เป็นที่สนใจของผู้คนทั้งโลกไม่แพ้ข่าวอุโมงค์ลับใต้ดินและข่าว การพิจารณาคดีของนางออง ซาน ซูจีของรัฐบาลทหารพม่าเลยทีเดียว
 
การบุก เข้ายึดเขตปกครองกลุ่มหยุดยิงโกก้าง MNDAA ของกองทัพรัฐบาลทหารพม่าซึ่งนำไปสู่การสู้รบของทั้งสองฝ่าย ทำให้มีประชาชนนับหมื่นคนต้องลี้ภัยเข้าไปในจีนนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงการแพร่อิทธิพลครอบคลุมเขตปกครองโกก้างที่มี ความร่มเย็นปราศจากเสียงปืนมานานหลายทศวรรษ หากยังเป็นการทำลายข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองกำลังโกก้าง MNDAA ที่ทำร่วมกันมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2532 อย่างสิ้นเชิงด้วย
 
ปมเหตุนี้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า ที่ปรารถนาให้กลุ่มหยุดยิงต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 13 กลุ่ม ให้แปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF-Border Guard Force เพื่อเคลียร์ทางสู่การเลือกตั้งปีหน้า (2553) ซึ่งตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทางการพม่าได้พยายามยื่นข้อเสนอนี้ให้กลุ่มหยุดยิงพร้อมเกลี้ยกล่อมด้วยวิธี การต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทว่า กลุ่มหยุดยิงส่วนใหญ่ รวมถึงกลุ่มโกก้าง MNDAA ที่เสมือนเป็นก้างตำคอกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของรัฐบาลทหารพม่า ต่างปฏิเสธไม่ยอมให้ถูกกดหัวได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้วิธีกำจัดด้วยการใช้กำลัง
 
ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มหยุดยิงที่ดื้อรั้นของรัฐบาลทหารพม่าจึงเริ่มขึ้น โดยมุ่งพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอ่อนแอมีกำลังพลน้อยและมีความหวั่นไหวง่ายต่อการยุยงปลุกปั่นมากที่สุด กองกำลังโกก้าง MNDAA นำโดย นายเผิงจาเซิง วัย 78 ปี ดูเหมือนจะเข้าเกณฑ์ที่ว่านี้ เนื่องจากภายในเกิดความไม่ค่อยจะลงรอยอยู่เป็นทุนเดิม จากการแบ่งปันอำนาจไม่เสมอภาคของเหล่าบรรดาผู้นำ ทำให้รัฐบาลทหารพม่ามองเห็นช่องโหว่และรีบฉวยโอกาสเข้าไปแทรกแซงทันที
 
กองทัพพม่าอ้างความชอบธรรมหรือไม่อย่างไรไม่มีใครยืนยันแน่ชัด โดยกล่าวหากองกำลังโกก้าง MNDAA ว่ามีโรงงานผลิตยาเสพติดและอาวุธนำมาเป็นชนวนเหตุ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 52 พล.ต.อ่องตานทุต แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กองบัญชาการอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานภาคเหนือ) นำกำลังกว่าร้อยนาย บุกเข้าไปในเขตปกครองโกก้าง เพื่อตรวจค้นโรงงานต้องสงสัย แต่ถูกกองกำลังโกก้าง MNDAA ใช้กำลังกว่า 300 นาย ต่อต้านขัดขวาง ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงจนเกือบถึงขั้นปะทะกันในวันนั้น แต่โชคดีมีเจ้าหน้าที่ทางการจีนเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ลง
 
ทว่ากองทัพพม่าไม่ได้ละความพยายาม วันที่ 22 ส.ค. ได้ออกหมายเรียกผู้นำระดับสูงโกก้าง 4 คน รวมถึงนายเผิงจาเซิง ผู้นำสูงสุดด้วยข้อหาเดิม แต่ก็ถูกปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 24 ส.ค. ได้ออกหมายจับพร้อมจัดส่งกำลังพลหน่วยต่างๆ ทั้งทหารราบ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยปืนใหญ่ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครและตำรวจ เข้าประชิดเขตปกครองโกก้างทั้งด้านบน ติดรัฐคะฉิ่น และด้านใต้ติดเขตปกครองว้า UWSA นับพันนาย พร้อมมีการเกณฑ์ลูกหาบและรถยนต์ชาวบ้านหลายเมืองในภาคเหนือรัฐฉาน สำหรับช่วยลำเลียงสรรพาวุธและกำลังพลด้วย
 
หลังกองทัพพม่าเคลื่อนกำลังพลเต็มอัตราศึกเข้าเขตโกก้างเพื่อกดดันจับกุมผู้นำให้ได้ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น กองกำลังโกก้างที่รู้ตัวดีว่ากำลังจะถูกคุกคามรุกรานได้เรียกประชุมฉุกเฉิน เตรียมรับมือ พร้อมกับแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานอยู่ในความพร้อม ขณะเดียวกันได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายึดหลักสันติวิธี เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ทว่า ในวันที่ 25 ส.ค. กองทัพพม่าได้แต่งตั้งฝ่ายที่ไม่ภักดีต่อนายเผิงจาเซิง ผู้นำสูงสุด MNDAA รวม 11 คน เป็นคณะกรรมการบริหารเขตปกครองโกก้างชั่วคราว และเช้าวันที่ 26 ส.ค. ร่วมกันเข้ายึดเมืองเหล่ากาย เมืองหลวงเขตปกครองโกก้าง ทำให้กองกำลังโกก้างซึ่งมีกำลังพลพร้อมรบราว 1,000 นาย ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ต้องยอมสละถอนกำลังออกอยู่รอบนอกเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
 
กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 27 ส.ค. 52 เสียงปืนจากการปะทะของทั้งสองฝ่ายที่ไม่มีใครคาดหวังก็ปะทุขึ้นในที่สุด และลุกลามหลายจุดทั้งด้านเมืองชินฉ่วยเหอ ติดชายแดนจีน และโดยรอบเมืองเหล่ากาย เมืองหลวงเขตปกครอง MNDAA ยังผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียไม่แพ้กัน แต่การศึกครั้งนี้ไม่ยึดเยื้อและจบลงอย่างรวดเร็วในอีก 3 – 4 วันต่อมา เนื่องจากกองทัพพม่าซึ่งวางแผนมาอย่างรัดกุมและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ที่แยกตัวออกจาก MNDAA สามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญได้เกือบทั้งหมด ส่วนกองกำลังโกก้าง MNDAA ราว 300 – 400 นาย ถอยเข้าไปปลดอาวุธในจีน และที่เหลือยังคงต่อต้านกองทัพพม่าด้วยการใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตี ภายใต้การนำของ นายเผิงต้าซุน บุตรของนายเผิงจาเซิง

โกก้างและกองกำลัง
ชาวโกก้าง เป็นชนเชื้อสายจีน ใช้ภาษาจีนกลางสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่ มีประชากรราว 1.5 แสนคน อาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนใต้ของจีน ช่วงราวปี 2383 โกก้างมีการปกครองตนเอง โดยผู้แทนของจักรพรรดิจีน มอบตราตั้งแก่ชาวโกก้าง “ตระกูลหยาง” ขึ้นเป็นเจ้าเมือง และหลังอังกฤษและจีนมีการแบ่งเขตแดนกันชัดเจน ทำให้หลายเมืองของรัฐฉานตกอยู่ในจีน ขณะที่เขตปกครองชาวโกก้างในจีนก็เลยล้ำมาฝ่ายอังกฤษ คือ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน
   
อังกฤษได้กำหนดให้เจ้าเมืองโกก้าง ขึ้นตรงต่อเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีของรัฐฉาน ด้วยการเป็นพระยาแห่งแสนหวี แต่อยู่ไม่นานพระยาโกก้างเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี เนื่องจากต้องจ่ายภาษี หรือ ส่วย มากกว่าพระยาอื่นๆ ที่ขึ้นต่อเมืองแสนหวี จากเหตุที่โกก้างมีรายได้ดีกว่าจากการปลูกฝิ่น (ขณะนั้นในรัฐฉานมีชาวว้า ชาวโกก้าง และชาวจีนดอยหม่อ กลุ่มของขุนส่าปลูกและค้าฝิ่นมากที่สุด) ประกอบกับเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ารัฐฉานเพื่อขับไล่อังกฤษและจีนออกเขตรัฐ ฉานเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขตปกครองโกก้างได้รับผลกระทบมาก ทำให้โกก้างยิ่งไม่พอใจเมืองแสนหวีที่ไม่ยอมส่งกำลังช่วยต่อต้าน สุดท้ายโกก้างได้แยกตัวจากเมืองแสนหวี และแต่งตั้งเจ้าฟ้าขึ้นครองเมืองเอง โดยมี หยางเจินไส หรือ Edward Yang เป็นเจ้าฟ้า ทำให้รัฐฉานซึ่งขณะนั้นที่มีเจ้าฟ้าอยู่เดิม 33 เมือง เพิ่มเป็น 34 เมือง
 
หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด โกก้างได้จัดตั้งกองกำลังของตนเอง ภายใต้การสนับสนุนจากกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง KMT ที่พ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์จีนถอยเข้ามาในรัฐฉาน มีนางโอลีฟ ยัง หรือ หยาง เจินซิว หรือ นางขาขน เป็นผู้นำ และมีผู้บริหารคนสำคัญได้แก่ นายเผิงจาเซิง (ผู้นำปัจจุบัน) และนายหลอชิงหัน (ราชายาเสพติดที่ทางการสหรัฐต้องการตัว) ในปี 2505 หลังนายพลเนวิน ยึดอำนาจขึ้นเป็นรัฐบาลปกครองพม่าในชื่อ สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ SLORC [State Law and Order Restoration Council] ได้ทำการจับกุมเจ้าฟ้าไทใหญ่และเจ้าฟ้าโกก้างรวมถึงนางโอลีฟ ยัง ผู้นำกองกำลังโกก้างด้วย ทำให้ชาวโกก้างและกองกำลังโกก้างตื่นตัวเริ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่านับแต่ นั้น
 
ปี 2507 โกก้างได้จัดตั้งกองกำลังใหม่เป็น กองกำลังปฏิวัติโกก้าง Kokang Revolution Force มีเจ้าแหล็ด หรือ หยางเจินเซอ เป็นผู้นำ และในปีเดียวกันได้เข้าร่วมกับกองกำลังไทใหญ่ SSA-Shan State Army ของเจ้าแม่นางเฮือนคำ ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ๆ มีกำลังพล 4 กองพลน้อย รวมกองกำลังโกก้างมี 5 กองพลน้อย แต่ไม่นานกองพลน้อยของโกก้าง เกิดความแตกแยกกันระหว่างหลอชิงหันกับเจ้าแหล็ด โดยฝ่ายนายหลอชิงหัน ได้ไปร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งเป็นกลุ่มก่าก่วยเย (อาสาสมัคร) ส่วนกลุ่มเจ้าแหล็ด ไปร่วมกับพรรคประชาธิปไตยรัฐสภา (Parliamentary Democracy Party) ภายใต้การนำของ อูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า
 
ในปี 2510 เกิดการขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและจีน จากเหตุการปะทะกันของนักเรียนชาวจีนและนักเรียนชาวพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ซึ่งเชื่อว่าทางการพม่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยการปะทะนักเรียนมีต้นเหตุมาจากช่วงนั้นนักเรียนในประเทศจีนนิยมติดรูป ประธานเหมาเจ๋อตุง (อดีตผู้นำของจีน) ที่หน้าอกระหว่างไปเรียน ซึ่งแฟชั่นนี้ได้ลามสู่นักเรียนจีนในพม่าด้วย รัฐบาลทหารพม่าไม่พึงพอใจและได้คำสั่งห้าม ทำให้นำไปสู่การปะทะของนักเรียนทั้งสองฝ่ายลามถึงประชาชนและพระสงฆ์
 
ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีแต่ความเด็ดขาดและยอมต่อใครได้ ไม่ง่าย จึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและหันไปส่งเสริมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB-Communist Party of Burma ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าของนายพลเนวิน พร้อมกับให้การสนับสนุน เผิงจาเซิง ที่ขณะนั้นพำนักอยู่ในจีนจัดตั้งกองกำลังโกก้างขึ้น ภายใต้ชื่อ กองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง KPLA-Kokang People Liberation Army เข้าร่วมด้วย และในปี 2511 พรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB ซึ่งมีทหารจีนร่วมด้วยเข้ายึดเมืองโก (รัฐฉานฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามเขตปกครองโกก้างปัจจุบัน)
 
วันที่ 5 มกราคม 2511 กองกำลังโกก้าง KPLA ทำสัญญาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB และร่วมต่อสู้รัฐบาลทหารพม่าเรื่อยมา ขณะนั้นในพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB มีกองกำลังประชาธิปไตยใหม่คะฉิ่น NDA-K / กองกำลังสหรัฐว้า UWSA และกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา NDAA ปัจจุบันรวมอยู่ด้วย และทั้งหมดได้ทยอยแยกตัวออกตั้งเป็นกองกำลังของตัวเองในปี 2532 โดยกองกำลังโกก้างแยกออกเป็นกลุ่มแรก และในวันที่ 11 มีนาคม ปีเดียวกันได้ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า พร้อมตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 1 มีเมืองเหล่ากาย เป็นเมืองหลวง และตั้งชื่อกลุ่มเป็นกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า MNDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army มีพื้นที่ครอบครองราว 2,200 ตารางกิโลเมตร

ความไม่มั่นคง
กองกำลังโกก้าง MNDAA ถือว่ามีความอ่อนไหวและเกิดความขัดแย้งภายในบ่อยที่สุดในบรรดากลุ่มหยุดยิง โดยเมื่อปี 2535 เกิดความแตกแยกกันอีกครั้งของ MNDAA เมื่อนายหยางโมเหลี่ยง ปฏิวัติยึดอำนาจ เผิงจาเซิง จนทำให้เผิงจาเซิง ต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่กับนายจายลืน ซึ่งเป็นลูกเขยและเป็นผู้นำกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา NDAA-National Democratic Alliance Army กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี เผิงจาเซิง ได้วางแผนร่วมกับกองกำลังว้า UWSA พร้อมกับนายมงสาละ ผู้บัญชาการกองกำลังโกก้างประจำเมืองโก ร่วมกันบุกยึดอำนาจคืนจากนายหยางโมเหลี่ยงได้สำเร็จ
 
อยู่ได้ไม่นาน วันที่ 7 ธ.ค. 2538 ฝ่ายนายมงสาละ ผู้บัญชาการประจำเมืองโก ได้ประกาศแยกตัวออกจากเผิงจาเซิงไปตั้งกลุ่มเองเคลื่อนไหวในพื้นที่เมืองโก อีก โดยใช้ชื่อว่า กองทัพพิทักษ์เมืองโก MDA-Mongkoe Defense Army ขณะที่ฝ่ายนายเผิงจาเซิง ได้ตั้งมั่นพัฒนาเขตปกครองตนเองจนรุ่งเรือง จากการประกอบธุรกิจยาเสพติดและบ่อนคาสิโน ในเวลาเดียวกันกองกำลังโกก้าง MNDAA กองกำลังว้า UWSA กองกำลังเมืองลา NDAA และกองกำลังคะฉิ่น NDA-K ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสัมพันธมิตรภายใต้ชื่อ แนวร่วมสันติภาพและประชาธิปไตย หรือ PDF – Peace and Democracy Front มาจนถึงปัจจุบัน
 
ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี นับตั้งแต่เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า กองกำลังโกก้าง MNDAA ถือได้ว่าสร้างรากฐานพัฒนาเขตปกครองตนเองจนเจริญรุ่งเรือง ภายในเมืองหลวงซึ่งในอดีตเป็นสนามรบกลางหุบเขา ก็ถูกพัฒนามีโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด กระทั่งซุปเปอร์มาร์เก็ต ถนนหนทางลาดยางและมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อปี 2545 โกก้างได้ประกาศพื้นที่ปกครองเป็นเขตปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง โดยปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
 
กองกำลังโกก้าง MNDAA ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB และเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกำลังพลต่อแขกรับเชิญ ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่า เจ้าหน้าที่จีนและตัวแทนกลุ่มหยุดยิงต่างๆ และประชาชนให้กำลังใจรวมนับหมื่นคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหวังอันอบอุ่นแก่ประชาชนในเขตปกครองของตนไม่น้อย
 
ทว่า กองกำลังโกก้าง MNDAA ก็มีเรื่องไม่คาดคิดขึ้นอีก เมื่อผู้บริหารระดับสูงเกิดความไม่ค่อยลงรอยจากเรื่องการแบ่งปันอำนาจไม่ เสมอภาค ว่ากันว่าผู้นำได้แต่แบ่งปันอำนาจให้เฉพาะเครือญาติ ประกอบกับมีความเห็นต่างกันจากการยุแหย่ของรัฐบาลทหารพม่าที่พยายามบีบ บังคับให้จัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งผู้นำบางส่วนเห็นควรยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่นายเผิงจาเซิงยืนกรานเสียงแข็งไม่รับไม่เอา
 
นายเผิงจาเซิงดู เหมือนจะไม่ชอบหน้าผู้เอียงข้างรัฐบาลทหารพม่านี้มากนัก และแล้วเขาได้ทำการปลด นายป๋ายโส่วเฉิน รองของเขา พร้อมด้วยคณะกรรมการระดับสูงอีก 4 – 5 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างและแสดงท่าทีอ่อนข้อต่อรัฐบาลทหารพม่ามากเกินไป ขณะที่ฝ่ายที่ถูกปลดเมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันมายาวนาน ก็หันไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่าพร้อมกับนำข้อมูลลับไปเปิดเผย ซึ่งเป็นข้ออ้างอิงนำไปสู่การกำจัดอำนาจของนายเผิงจาเซิง ของรัฐบาลทหารพม่าพอดี
 
 
เหตุแห่งความปราชัย
กองกำลังโกก้างมีตระกูลใหญ่ที่สืบทอดอำนาจอยู่ 3 ตระกูล คือ ตระกูลหยาง (หยางโมเหลียง) ตระกูลเผิง (เผิงจาเซิง)  และตระกูลหลอ (หลอชิงหัน) แต่ตระกูลหยาง และตระกูลหลอ มีอำนาจไม่ยาวนานเท่าตระกูลเผิง ที่กุมอำนาจมาตั้งแต่ปี 2510 แต่ครั้งนี้ หากเผิงจาเซิง ไม่สามารถพลิกตัวฟื้นกลับมาได้ก็เท่ากับความเป็นใหญ่ของตระกูลเผิงก็คงจะหมดสิ้นลง และอำนาจตระกูลใหม่ เห็นจะหนีไม่พ้นตระกูลป๋าย หรือ เป๋อ และตระกูลเหลียว คือ ป๋าย หรือ เป๋อ โส่วเฉิน และเหลียวก่อชี ที่หันไปสวามิภักดิ์รัฐบาลทหารพม่า เพราะขณะนี้พวกเขากำลังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปกครองเขตโกก้างแทนเผิงจาเซิงแล้ว
 
เหตุที่กองกำลังโกก้าง MNDAA นำโดยนายเผิงจาเซิง พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัฐบาลทหารพม่าด้วยระยะเวลาเพียงสั้นๆ ไม่ถึง 1 สัปดาห์นี้ หากมองด้านการทหารแล้วถือว่ากองทัพพม่าเก่งกาจด้านยุทธศาสตร์น่ายกย่องยิ่งนัก เพราะนอกจากจะทำให้สูญเสียกำลังพลน้อยแล้วยังสามารถกำชัยโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งแทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในศึกสงครามบนโลกนี้
 
เจ้าคืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉานวิเคราะห์สาเหตุกองกำลังโกก้าง MNDAA พ่ายแพ้ว่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ ทั้งความแตกแยกภายในเนื่องจากผู้นำกระจายอำนาจไม่เสมอภาค ตลอดจนการเป็นอยู่ที่ต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่างผู้นำและทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งผู้นำมีทรัพย์สมบัติเหลือล้นทั้งรถราบ้านช่องแถมมีเงินใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย แต่ลูกน้องกลับอยู่ในสภาพที่แทบจะอดมื้อกินมื้อ อีกประการคือ นับตั้งแต่เจรจาหยุดยิงกับทางการพม่า กองกำลังโกก้างไม่มีการฝึกซ้อมด้านการรบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทหารรุ่นใหม่ขาดคุณภาพและประสบการณ์ ส่วนผู้มีประสบการณ์ก็ล้วนมีอายุมาก สมองไม่เดินเรี่ยวแรงไม่มี
 
ประการสำคัญคือ เกิดจากการไม่เข้าช่วยของกลุ่มสัมพันธมิตร ที่ลงนามทางด้านการทหารร่วมกันภายใต้ชื่อ แนวร่วมสันติภาพและประชาธิปไตย PDF-Peace and Democracy Front ที่มี 4 กลุ่ม คือ กองกำลังประชาธิปไตยใหม่คะฉิ่น NDA-K – New Democracy Army-Kachin / กองทัพสหรัฐว้า UWSA-United Wa State Army และกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย NDAA-National Democratic Alliance Army หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา
 
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายยังคลางแคลงสงสัยก็คือ การเสียทีต่อกองทัพพม่าของกองกำลังโกก้าง MNDAA จนยากที่จะฟื้นตัวนี้ “ทางการจีนมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่?..” เพราะก่อนนั้นผู้นำระดับสูงรัฐบาลทหารพม่า เช่น พล.อ.รองอาวุโสหม่องเอ และ พล.อ.ฉ่วยมาน เสนาธิการสามเหล่าทัพผลัดกันไปเยือนจีน และที่น่าสังเกตอีกคือ เหตุการณ์สู้รบของสองฝ่ายยังไม่ทันเกิด ทางการจีนได้ตั้งศูนย์ลี้ภัย จัดหาเต็นท์นับพันหลัง พร้อมเสื่อ ผ้าห่มไว้รองรับผู้อพยพอย่างรวดเร็ว
 
ขณะที่ พ.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังไทใหญ่ SSA – Shan State Army คาดการณ์ว่า ดูจากสถานการณ์แล้ว เป้าหมายต่อไปของกองทัพพม่า น่าจะเป็น กองกำลังว้า UWSA ตามด้วยกองกำลังเมืองลา NDAA ส่วนกองกำลังไทใหญ่ SSA คาดว่าจะเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. เขาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธในสหภาพพม่ายึดเหตุการณ์โกก้างเป็นอุทาหรณ์ พร้อมขอให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเพื่อปกป้องการกวาดล้างชาติพันธุ์
 
..นอกจากนางออง ซาน ซูจี ผู้นำด้านประชาธิปไตยในพม่า ที่หลายฝ่ายต่างเฝ้าจับตาว่าจะเผชิญกับชะตากรรมอะไรอีก ขณะที่ทางการพม่ากำลังพยายามจะจัดการเลือกตั้งให้ได้ในปีหน้า กองกำลังติดอาวุธทั้งกลุ่มหยุดยิงและกลุ่มต่อต้านก็เป็นที่น่าจับตามอง เพราะถ้าหากกองทัพพม่ายังคงกดดันหรือพยายามกำจัดและไม่สามารถกำชัยได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นโกก้างแล้ว เมื่อนั้นสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่?...
 
 
ข้อมูลอ้างอิง..
สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N. – Shan Herald Agency for News)
สัมภาษณ์ เจ้าคืนใส ใจเย็น บก.สำนักข่าวฉาน
(ภาษาไทใหญ่ - เหตุการณ์เมืองโก) วารสาร: จึ้งไตย ฉบับที่ 1 ม.ค. 2544

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net