“พระมหากษัตริย์” ในกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                    “ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว”
                                                             (Ignorance of the law does not excuse)

 
สุภาษิตกฎหมายข้างต้นต้องเป็นที่คุ้นเคยของทั้งนักศึกษากฎหมายมาจนถึงชาวบ้านร้านตลาดเป็นแน่ กรณีแรกคงได้ยินได้ฟังมาจากเหล่าอาจารย์ ภายใต้แนวคิดที่ว่าถ้ายอมให้อ้างความไม่รู้กฎหมายได้ การบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่เป็นผล เพราะทุกคนต่างก็จะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดกันหมด ส่วนกรณีหลังก็อาจรับรู้ได้จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด หรือที่เป็นข่าวเป็นคราวออกมาตามหน้าสื่อ ในฐานะมาตรการในอันที่จะบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผลอย่างหนึ่ง
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ผู้เขียนขอฟันธงได้เลยว่าแม้แต่ตัวผู้พูดเองก็ไม่มีทางที่จะรู้กฎหมายในทุกบทมาตราได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่หวังจะให้กฎหมายมาเป็นตัว ควบคุม สังคมและพฤติกรรมของคนอย่างเป็นบ้าเป็นหลังแบบบ้านเราด้วยแล้ว ทว่าขณะเดียวกันเราก็กลับเป็นประเทศที่กฎระเบียบคร่ำครึของบางหน่วยงานมีค่าราคากว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศทั้งยังเป็นประเทศที่หลายคนเชื่อกันว่ากฎหมายมีเอาไว้เพื่อใช้เล่นงานคนไร้อำนาจเท่านั้น ฯลฯ
 
จนถึงวันนี้แม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงกฎหมายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ก็คงไม่มีทางที่จะตอบได้เลยว่ากฎหมายของประเทศไทยที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงทุกวันนี้นั้น เอาเข้าจริงแล้วมีกี่สักกี่มากน้อย เป็นร้อยๆ หรือเกือบพันฉบับ [1]
 
เพราะลำพังช่วงที่เราได้สภา สนช. ที่มีความเข้มแข็งมาก (ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก แต่ ปธ.คมช. เป็นคนเลือกให้) มาทำหน้าที่ราวปีเศษๆ นั้น มีกฎหมายออกมามากราวทำนบเขื่อนแตกถึง 215ฉบับ (เฉลี่ยใช้เวลาแค่ 2 วันต่อกฎหมาย 1ฉบับ) อีกทั้งในขณะที่สายตาของคนกุมอำนาจตุลาการแบบไทยๆ เชื่อเสมอมาว่าประกาศคณะปฏิวัติ (หรือ ปว.) เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เลยนั้น กลับยังมี ปว. อีกมากมายที่ก็ยังไม่ได้มี พ.ร.บ.ออกมายกเลิกให้เป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างใด ไม่ต้องย้อนไปดูไหนไกล เอาแค่ช่วง คปค.อยู่ในอำนาจแค่สิบกว่าวัน มีประกาศ คปค. ออกมา 36 ฉบับ แต่จนป่านนี้น่าจะยังมี พ.ร.บ.ที่ออกมายกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ข้างต้นไม่น่าจะเกิน 3 ฉบับด้วยซ้ำ[2] ทั้งๆ ที่ มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ยังมีผลบังคับใช้กันไปอยู่เยี่ยงนี้แล
 
ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ยากที่ใครจะบอกได้ชัดว่าตกลงแล้วกฎหมายบ้านเรามีจำนวนกี่ฉบับกันแน่ ?
 
แน่นอนที่สุดว่ายังมี พ.ร.บ.อีกเป็นหลายๆ สิบฉบับที่น้อยคนนักจะทราบว่าประเทศไทยมีกฎหมายเช่นนี้อยู่ด้วย เช่น พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493, พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487,พ.ร.บ.ไพ่ พ.ศ.2486, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535, พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2525, พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477, พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475, พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518, พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521, พ.ร.บ.รักษาคลองประปา พ.ศ.2526, พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ.2550, พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ.2534, พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535, พ.ร.บ.การเกณฑ์ช่วยราชการทหาร พ.ศ.2530, พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543, พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548, พ.ร.บ.การผลิต ผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548, พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542, พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545, พ.ร.บ.คุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ.2543, พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545, พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ.2550,พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551,พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ.2551,พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นอาทิ [3]
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่กฎหมายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกขึ้นมาทำลายล้างกัน กอปรกับเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ขวบปีของการรัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเขียนชิ้นนี้จึงได้รวบรวมกฎหมายเฉพาะในชั้น “พระราชบัญญัติ” เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “พระมหากษัตริย์” ที่มีข้อห้ามบทกำหนดโทษทางอาญาทั้งหมด[4] (แต่ยังไม่รวมถึงโทษทางปกครอง เช่น อาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในเรื่องต่างๆ) ไม่ว่าจะเป็นเพื่อมุ่ง คุ้มครอง “สถาบัน” โดยทางตรง รวมทั้งโดยทางอ้อมและขึ้นอยู่กับการตีความ มารับใช้นำเสนอ ปรารถนาที่จะเพิ่มพูนความรู้ในตัวบทกฎหมายให้แก่ท่านผู้อ่านยิ่งขึ้น... เพียงเท่านี้จริงๆ
 
1. โดยทางตรง
 
ชื่อพระราชบัญญัติ
เนื้อความที่เกี่ยวข้อง
บทลงโทษ
 
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
 
มาตรา 10 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้
การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย
สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย
 
 
มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตาม มาตรา 10 มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
ประมวลกฎหมายอาญา(พ.ศ.2499) ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
 
 
 
 
 
มาตรา 107 ผู้ใดปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
 
 
 
มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี
 
 
มาตรา 109 ผู้ใดปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือเพื่อฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือจะฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
 
 
มาตรา 110ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี
ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
 
 
มาตรา 111ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 110 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
 
 
มาตรานี้แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
 
 
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
 
 
2. โดยทางอ้อม
 
ชื่อพระราชบัญญัติ
เนื้อความที่เกี่ยวข้อง
บทลงโทษ
 
พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485
 
 
มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2487 มาตรา 3 ได้กำหนดการเคารพไว้ดังนี้ บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบและตามประเพณีคือ
(3)เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการในงานสังคม หรือโรงมหรส
 
 
มาตรา 15ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
 
พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522
 
มาตรา 53 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อธงตาม มาตรา 6 (ธงสำหรับพระมหากษัตริย์) ดังต่อไปนี้
(1) ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(2) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตาม (1)
(3) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร
(4) ประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใดๆ โดยไม่สมควร
(5) แสดงหรือใช้สิ่งใดๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือมีแถบสีธงอันมีลักษณะตาม (4) โดยไม่สมควร
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
มาตรา 54 ผู้ใดกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (ได้แก่ มาตรา 6 ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ มาตรา 7 ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี มาตรา 8 ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี มาตรา 9 ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช มาตรา 10 ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช มาตรา 11 ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล มาตรา 12 ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอแห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล) หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
3.โดยทางอ้อม และยังขึ้นอยู่กับ ‘การตีความ’
 
พระราชบัญญัติในส่วนนี้มีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นปัญหาในการตีความถ้อยคำที่อาจให้ความหมายได้ในหลายนัยด้วยกัน เป็นต้นว่าคำว่า เกียรติภูมิของประเทศไทย” “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” นั้น กินความรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยหรือไม่? ยกตัวอย่างเช่น
 
ชื่อพระราชบัญญัติ
เนื้อความที่เกี่ยวข้อง
บทลงโทษ
 
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
 
มาตรา 23ผูสรางภาพยนตรตองดําเนินการสรางภาพยนตรในลักษณะที่ไมเปนการบอนทําลาย ขัดตอความสงบเรียบรอยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนตอความมั่นคง และเกียรติภูมิของประเทศไทย
 
 
มาตรา 77 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตาม มาตรา 26 (7) (ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
 
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
มาตรา 14ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (3)
 
 
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตาม มาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 14
 
 
ทั้งนี้พึงทราบด้วยว่ายังมีพระราชบัญญัติอีกมากมายที่มิได้เอ่ยถึงซึ่งก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง ทั้งในส่วนของพระราชอำนาจต่างๆ ตามกระบวนการของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ตลอดจนข้อยกเว้นสำหรับบางกรณี เช่น ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบางประการ, ห้ามมิให้จับกุมคนร้ายในเขตวัง เป็นต้น
 
 
.................................................................................................
[1] งานวิจัยของ ชาติ ชัยเดชสุริยะ สรุปว่ามีจำนวน 626 ฉบับ (ถึงเดือนธันวาคม 2551) หากไม่นับ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือการโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นการเฉพาะแห่ง ซึ่งรวมแล้วมีมากกว่า 500 ฉบับ, พ.ร.บ.เกี่ยวกับงบประมาณประจำปี มากกว่า 100 ฉบับ, พ.ร.บ.เกี่ยวกับการโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของส่วนราชการ และในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล มากกว่า 30 ฉบับ, พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ล้างมลทิน และยกเว้นความผิด มากกว่า 20 ฉบับ, พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายต่างๆ, พ.ร.บ.ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะอื่นๆ หรือยกเว้น หรือยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับอื่นโดยเฉพาะ ตลอดจน พ.ร.บ.ที่สิ้นผลการใช้บังคับไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 1,000 ฉบับ อ้างถึงใน ชาติ ชัยเดชสุริยะ, บทคัดย่อกฎหมายไทยจากพระราชบัญญัติ 626 ฉบับ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2552), หน้า 2-3.
[2] ได้แก่
1. พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2549
2. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมือง ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550
และ 3. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550
[3]  ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของกฎหมายต่างๆ ข้างต้นได้ที่ http://www.krisdika.go.th
[4] ประมวลจากบรรดา พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่รวมทั้งสิ้น 258 ฉบับ (ตั้งแต่ปี 2456 จนถึงปี 2551) ใน บุรินทร์ โชคเกิด และคณะ, ประมวลพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา (พ.ศ.2456-2551), (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2552).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท