Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: สัมภาษณ์และเรียบเรียงจากกรณีศึกษาบนแปลงปฏิรูปที่ดิน
ภายใต้โครงงานวิจัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)


แม่ตื้น


แม่ตื้น..แรงงานไร้ที่ดินทุ่งกุลาฯ

“แม่ตื้น” หรือ นางจำปี ภาสิมมา อดีตเจ้าของนา ผู้ผกผันมากลายเป็นเพียงผู้รับจ้างบนผืนนาผู้อื่น เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว....วันนี้ “แม่ตื้น” ในวัย 52 ปี อาศัยอยู่ในบ้านไม้เปิดใต้ถุนโล่งแบบเรือนคนอีสาน ที่บ้านเลขที่ 45 หมู่ 7 ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด กับหลานตัวเล็ก ๆ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถม 3 เพียง 2 คน แม่ของหลานเป็นลูกสาวคนเล็กทำงานอยู่กรุงเทพฯกับสามี ไม่ต่างจากพวกพี่ชายหรือลูกอีก 2 คนของแม่ตื้น ซึ่งต่างเรียนจบเพียงประถมหก เป็นครอบเป็นครัว แล้วแยกย้ายไปทำงานต่างเมืองกันหมด หลังจากเสาหลักของบ้าน ผู้เป็นพ่อมาด่วนจากไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อปี พ.ศ.2543 สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ ยังมีหนี้สินที่แม่ตื้นต้องกู้ยืมมาเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าจัดงานศพจำนวนแสนเศษ ๆ และเป็นเหตุให้แม่ตื้นต้องเสียที่นาถึง 10 ไร่ไปอย่างน่าใจหายในปีเดียวกันนั้นเอง

หลังจากหลานตัวเล็กเริ่มเข้าโรงเรียน วิถีคนรับจ้างของแม่ตื้น ผู้ไม่เคยได้มีเวลานอนกลางวันจึงวนกลับมาคึกคักอีกรอบ ตื่นก่อนไก่มาเตรียมอาหาร ส่งหลานไปโรงเรียนเสร็จ จึงออกไปรับจ้างตามเงื่อนไขของการจ้างที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ยามลงนาก็ไปรับจ้างปักดำ ยามเกี่ยวข้าวก็รับจ้างเกี่ยวข้าว ค่าจ้างนั้นวันละ150-200 บาท ขึ้นลงตามแต่กระแสการแย่งคนงานในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง และตามตัวแปรกำหนดหรือฝนจะทิ้งฟ้ายามใดอีกชั้นหนึ่ง แต่หากยามข้าวขอดเล้า แม่ตื้นก็ขอแลกแรงรับจ้าง 1 วันกับข้าวเปลือกกลับบ้าน 1 กระสอบก็ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนยามเว้นว่างจากฤดูการผลิต แม่ตื้นยังทอเสื่อกก ทอผ้าไหม ผ้าซิ่น ทอโสร่งรับจ้าง ตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง เสื่อกกนั้นทอได้กี่ผืน แม่ตื้นก็ได้อีกครึ่งหนึ่งของเสื่อกกเป็นค่าตอบแทน หากนับเป็นเงินแม่ตื้นจะรับค่าจ้างวันละ 20 บาท หรือหากจะแลกเป็นข้าวเปลือก ผู้ว่าจ้างต้องคิดตามอัตราที่สมน้ำสมเนื้อกับราคาขายเสื่อกกในท้องตลาด ซึ่งอยู่ที่ผืนละ 80-100 บาท หากคิดเทียบย้อนกับราคาขายเสื่อกก หรือเปรียบค่าจ้างดำนาเกี่ยวข้าวที่เขาจ้างกันในชุมชน การรับค่าจ้างทอเสื่อกกแค่วันละ 20 บาทดูจะไม่คุ้มทุนนัก แต่แม่ตื้นก็บอกว่า “ทอไปอย่างนั้นแหละ ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ”

ส่วนทอผ้าไหม ทอโสร่ง ราคาค่าทอนั้นอยู่ที่ผืนละ 150 บาท แม่ตื้นเล่าถึงหูกผ้าไหมว่า แกทำร่วมกับยายดีมานานแล้ว ช่วยกันทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกม่อน เก็บม่อน สาวไหม จนทอมาเป็นผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง ยายดีก็ช่วยเหลือแกอยู่เรื่อย ให้เงินมาใช้บ้าง บ้างคราวพอทอเสร็จได้ผ้าซิ่น12 ผืน แกก็ยกให้แม่ตื้น 2 ผืน ซึ่งสนนราคาขายผ้าไหมในแถบนั้นอยู่ที่ผืนละ 700-1,200 บาท แล้วแต่ลายผ้า เส้นไหม และความประณีตของผู้ทอ

หากพอถามถึงรายรับโดยเฉลี่ยทั้งปีของแม่ตื้น แม่ตื้นอึกอักบอกว่าตอบยาก และได้ไล่ให้ฟังคร่าวๆ ว่า ในช่วงปักดำนา กรกฎา-สิงหาคม แม่ตื้นมีรายได้จากการรับจ้างดำนา ประมาณ 10,000 บาท รับจ้างเกี่ยวข้าว ตุลา-พฤศจิกาได้ 3,000 บาท ทอเสื่อกกและทอผ้าไหมได้ทั้งในช่วงข้าวตั้งท้อง และข้าวขึ้นเล้าเสร็จ ไปจนลงนาอีกรอบ มีรายได้ประมาณ 8,000 บาท รายได้ทั้งปี 20,000 กว่าบาท

แม่ตื้นว่า ลูกที่อยู่กรุงเทพฯก็ส่งมาให้ใช้อยู่บ้าง แต่เขาก็มีครอบมีครัว แม่ตื้นอยู่ที่บ้าน พืชผักเป็ดไก่ก็ไม่มีให้ขาย มีที่ดินงานเดียวก็ใช้ปลูกบ้าน อาศัยปลูกผักไว้ในรางไม้แค่ได้กิน ครั้นพอถามถึงรายจ่าย แม่ตื้นร้องโอย..แล้วหัวเราะเสียงดัง ก่อนเล่าให้ฟังว่า แค่ค่าขนมหลานในแต่ละวันก็ 40 บาท ค่าอยู่ค่ากินอื่นอีก เดือนหนึ่งตกเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ปี ๆ หนึ่งประมาณ 24,000 บาท ดูมากกว่ารายรับที่แม่ตื้นมี จนติดหนี้อยู่ที่ร้านขายของชำในหมู่บ้าน “เป็นหนี้ไม่ถึงพันบาท แต่แม่ไม่มีปัญญาไปจ่ายได้ครั้งเดียวหมด มีร้อยสองร้อยก็ค่อย ๆ จ่ายไป แล้วก็ไปเชื่อเขามาใหม่ วนอยู่แบบนี้แหละ” แม่ตื้นกล่าว

ถามว่าแม่ตื้นมีหนี้ที่อื่นอีกไหม แม่ตื้นบอก “เป็นหนี้กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านอยู่ 5,500 บาท เขาตัดดอกร้อยละ 2 บาท/เดือน นี่ก็เลยกำหนดส่งมา 3 เดือนแล้ว แต่ดีที่หากใครไม่มีเงินจ่าย ก็ขอผัดผ่อนเขาออกไปได้” และแม่ตื้นยังเป็นหนี้กองทุนเงินล้านอยู่ 11,000 บาท ดอกเบี้ยของหนี้กองทุนเงินล้านนั้น หากเรายืม 10,000 บาท เราต้องจ่ายดอก 500 บาท/ปี แม้จะไม่มีหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงระยับ แต่พอหักลบกลบหนี้ที่มีกับรายรับ และรายจ่ายที่ยังต้องจ่าย ชีวิตแม่ตื้นกับหลานจึงติดลบไปแล้วทั้งปี

บ่อยครั้งยามเว้นว่างจากงานรับจ้าง แม่หม้ายอย่างแม่ตื้น ผู้เป็นทั้งแม่ทั้งพ่อให้ลูก เป็นทั้งตาทั้งยายให้หลาน ยังต้องปลีกเวลามาจัดการงานครัว หาฟืนหาไม้ หาของอยู่ของกินให้คุ้มปากยายหลานในแต่ละวัน เนื่องจากไม่มีที่นาเป็นของตน แม่ตื้นเล่าด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “เวลาไปหาแนวกิน พอไปช้อนปลาที่นาคนอื่น ก็ต้องรอให้เขาหาเหลือก่อน ค่อยไปเก็บไปหาต่อได้ บางนาเขาก็หวง บางนาเขาก็สงสาร อาศัยได้ก็แต่ป่าโคกเหนือหมู่บ้านหลายป่าที่สามารถไปหาเห็ด ไปเก็บผักหักฟืนได้อย่างสบายใจ เพราะป่าโคกเป็นของสาธารณะ”

“หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากผ่านไปทางที่นาที่ขายไปเลย เห็นที่นาของตัวเองกลายไปเป็นของคนอื่น มันใจหักใจหาญ มันสะเทือนใจ” แม่ตื้นเล่าเพิ่มเติม ก่อนน้ำตาจะเอ่อคลอหน่วยเหมือนจะร้องไห้ แล้วพูดอะไรต่อไปไม่ได้จนต้องพักการสนทนาลง

นารวมเขวาโคก...หวังเรืองรองของแม่ตื้น

ก่อนพฤษภาหน้าฝนปี 2551 ชาวบ้านเขวาโคก หมู่ 7 พยายามรื้อฟื้นการทำนารวมที่คนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านเคยพาทำ ตั้งแต่ปี 2528-29 ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากพบปัญหาแบบเดิม คือแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งอาจถือเป็นสภาพปกติของท้องทุ่งที่ชนกุลาผู้แข็งแรงยังร่ำไห้ เมื่อถึงบทจะแล้งก็แล้ง บทจะอุดมสมบูรณ์ก็อุดมสมบูรณ์จนไม่รู้ว่าปูปลานาน้ำมาจากไหน

หลังเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเยี่ยงช่างทำนา ชาวบ้านเขวาโคกก็ลงแปลงไถดะเตรียมผืนดิน และทำการหว่านข้าวกล้าไว้ จนเลยสิงหาคม ข้าวกล้าซึ่งอายุเกินปักดำแล้ว ยังพากันแห้งเฉาเพราะขาดน้ำ กว่าฝนจะลงอีกรอบ ก็ล่วงเข้าเดือนกันยายน ชาวบ้านเขวาโคกจึงเห็นว่า หากแยกกันทำนาใครนามัน นาของคนทั้งหมู่บ้านอาจเสร็จไม่ทันน้ำ ซึ่งไม่รู้จะตกลงมาอีกเมื่อไหร่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ในปีถัดไปทั้งปี ชาวบ้านเขวาโคกทั้งหมู่บ้านอาจต้องซื้อข้าวกิน

เมื่อเห็นร่วมกันดังนั้น ชาวบ้านจึงจับกลุ่มลงแขกช่วยกันทำนาของแต่ละคนจนแล้วเสร็จ แต่มีนาบางผืน บ้างไม่มีต้นกล้า บ้างทำไม่ไหวเพราะไม่มีแรงงาน บ้างเจ้าของถอดใจแล้วทิ้งร้างไปทำงานต่างเมืองก่อนนั้นแล้ว ขณะฝนยังมี และเรี่ยวแรงกำลังของคนอยากทำนายังเหลือ ซ้ำยังเหลือหลายแรงที่ร่วมหัวจมท้ายช่วยเหลือกันมา ชาวนาบางครัว ซึ่งมีบ้านพ่อคูณ สงฆ์มา เป็นตัวหลัก รวมตัวกันได้ 18 ครัวเรือน จึงตกลงจะขอเช่าที่ทำนารวมด้วยกัน และ 1 ใน 18 ครัวเรือนมีครอบครัวแม่ตื้นเป็นหนึ่งในสมาชิก ความที่แม่ตื้นไม่มีที่นา หากมีผืนนาให้ปักดำทำการผลิต ก็ถือเป็นโอกาสของแม่ตื้นที่จะมีข้าวกิน ซ้ำอาจเหลือข้าวเผื่อขายเอาเงินมาใช้จ่ายได้ด้วย ฝ่ายสมาชิกในกลุ่มก็ต้อนรับแม่ตื้นด้วยความเต็มใจ

ในปีแรกของกลุ่มนารวม ซึ่งทำการติดต่อขอเช่านาว่างได้ 60 ไร่ แม้จะปักดำไม่ทันจนทิ้งผืนนาไว้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายเสีย 12 ไร่ แต่ผลผลิตที่ได้ก็คุ้มค่าพอให้แม่ตื้นยิ้มหน้าบาน เมื่อแบ่งข้าวกันแล้ว ตกหุ้นละ 130 ถัง แม่ตื้นแบ่งขายเสีย 30 ถัง ได้เงินมา 4,000 บาท ข้าวที่เหลือแม่ตื้นเก็บขึ้นเล้า และเหลือเผื่อให้ลูก ๆ มาขนไปนึ่งไปหุงกินต่างบ้านอีกต่างหาก

ส่วนค่าเช่าผืนนา แม่ตื้นบอกว่า หากเจ้าของนาเขาเรียกเก็บเป็นเงินก็จ่ายไร่ละ 500 บาท หากเรียกเก็บเป็นข้าว ก็จ่ายเมื่อได้ผลผลิตแล้ว โดยแบ่งข้าวที่ได้ออกเป็น 3 กอง หนึ่งกองให้เจ้าของนา สองกองที่เหลือสมาชิกจึงแบ่งกัน ถามว่าแม่ตื้นเหลือข้าว 100 ถัง และได้เงินมา 4,000 บาท คุ้มค่ากับที่ลงทุนลงแรงไปหรือไม่ แม่ตื้นยิ้มและบอกว่าคุ้มค่ามาก ก่อนแจงว่าแม่ตื้นลงทุนไปเป็นเงินประมาณ 2,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง

เริ่มแรกนั้น สมาชิกทุกคนต้องลงหุ้น ๆ ละ 500 บาท เปรียบเป็นค่าสมัคร จากนั้นกองกลางจะขอเก็บเรื่อย ๆ ตามจังหวะหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในระหว่างการผลิต ซึ่งจะมีการชี้แจงอยู่เป็นระยะ เป็นกติกากลุ่มที่เน้นความโปร่งใส และความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่เอาเปรียบ ไม่กินแรงกัน อย่างวันไหนลงนา แต่บ้านไหนขาด ต้องหาแรงงานมาแทนในวันนั้น หรือมาแทนในวันหลังที่มีการลงนาอีก ทางกลุ่มจะมีบัญชีรายชื่อบันทึกไว้ทุกวัน แม้ความจริงไม่ได้เคร่งครัดขนาดนั้น ใครติดธุระไปอำเภอไปโรงพยาบาลก็ลาได้ ขอให้บอกกล่าวกัน และหากสมาชิกในกลุ่มเห็นปัญหา ก็เน้นการประชุมหารือกันในกลุ่ม ตามประสาคนบ้านเดียวกันเป็นหลัก

แม่ตื้นเล่าเติมว่า “อีกอย่างครอบครัวพ่อคูณก็พาเฮ็ดพาสร้างดี สมาชิกทุกคนก็เคารพนับถือ เราเลยคุยกันง่ายไม่มีปัญหา”

นารวมในปีนี้ ทางกลุ่มนารวมหมู่ 7 ติดต่อขอเช่านาได้และได้ทำนาเพียง 25 ไร่ สมดุลกับสมาชิกกลุ่มที่เหลือเพียง 8 ครัวเรือน อีก 10 ครัวเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมในปีนี้ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกลุ่ม แม่ตื้นบอกว่า หลายครอบครัวที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ก็ไม่มีที่นาเหมือนแม่ตื้น บังเอิญปีนี้เขาเช่าที่นาได้ เลยต้องจัดการนาที่ตนเช่าไว้ จึงไม่มีเวลามาร่วมทำ เขาก็แจ้งให้ทางกลุ่มทราบ บางส่วนก็เข้าไปทำงานกรุงเทพฯ ก่อนนั้น มีบางครอบครัวที่ย้ายไปทำนารวมกับกลุ่มนารวมหมู่ 17 หมู่บ้านอีกฟากถนน แต่แม่ตื้นยังถืออีกหุ้น และยังคงอยู่ทำนากับกลุ่มนารวมกลุ่มเดิม

“มันมีแต่ได้กับได้” แม่ตื้นกล่าวยืนยัน

ขณะข้าวในนารวมกำลังแตกกอเขียวสะบัด รับกับฝนซึ่งตกดีเป็นเทน้ำเทท่าจนชาวนาทุกคนต้องยิ้ม เพราะหวังได้ถึงผลผลิต แม่ตื้นเป็นผู้หนึ่งที่ขยันขันแข็งออกไปเที่ยวนามากที่สุด ไปดูแลถอนต้นหญ้า ไปหาปูหาปลาหากบหาเขียด ซึ่งทางกลุ่มฯ อนุญาตให้หาอยู่หากิน หรือเกี่ยวหญ้าให้วัวให้ควายได้เหมือนเป็นนาของตนเอง ปากท้องของแม่ตื้นกับหลานจึงเหมือนมีที่พักพิงใหม่ มากไปกว่าป่าโคกสาธารณะ มากไปกว่าของเชื่อร้านขายของชำ ความรู้สึกของผู้มีนา จึงเสมือนกลับมาเยี่ยมเยือนแม่ตื้นอีกครั้ง แม่ตื้นจึงยิ้ม...

วันนี้....วิถีชีวิตชาวนาไทยผู้ไร้ที่ดินทำกินอย่างแม่ตื้น ไม่มีกลุ่มนารวมเสียแล้ว ก็เหมือนอนาคตไร้หลักประกัน ถึงขนาดชีวิตอาจติดลบไปตลอดชีวิต และลืมตาอ้าปากยากไปจนถึงรุ่นหลาน นารวมจึงเป็นความหวังเรืองรองของแม่ตื้น ที่ถึงแม้เงินส่วนแบ่งจากกการขายผลผลิตไม่ได้มากมายนัก แต่อย่างไรเสีย เมื่อมีกลุ่มนารวมบ้านเขวาโคก แม่ตื้นกับหลานย่อมมีข้าวกิน !
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net