Skip to main content
sharethis

ตำรวจฮอนดูรัสเผยมีผู้เสียชีวิต 2 รายจากเหตุจลาจล ขณะอดีต ปธน.ยันมี 10 ราย รัฐบาลชั่วคราวเลิกเคอร์ฟิวแล้ว แต่ยังล้อมสถานทูต ยูเอ็นบอกไม่เชื่อมั่นในสภาพการณ์ของฮอนดูรัส ประกาศงดชั่วเหลือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม อดีตโค้ชฟุตบอลทีมชาติฮอนดูรัสบอกรัฐประหารทำลายวงการลูกหนัง

แผนที่แสดงสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเตกูซิกัลปา เช่นรัฐสภา (ด้านซ้ายบน)
สถานทูตบราซิลในฮอนดูรัสที่เซลายาอาศัยอยู่ (ด้านขวาบน) และทำเนียบประธานาธิบดี (ขวาล่าง)
(BBC)

 

 

 

เซลายา นั่งอยู่กับกลุ่มผู้สนับสนุนภายในสถานทูตบราซิลที่ถูกปิดล้อม
ขณะกำลังแถลงข่าวในวันที่ 24 ก.ย.
(Reuters Pictures/Daylife)
 

สมาชิกคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนพากันขนของใช้ประจำวันไปให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาที่อาศัยกันอยู่ใน สถานทูตบราซิล ในวันที่ 23 ก.ย.
(Reuters Pictures/Daylife)
 

ผู้สนับสนุนเซลายาชูป้าย “ขอบคุณบราซิล” ในการชุมนุมนอกสถานทูตบราซิลในกรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.
(Reuters Pictues/Daylife)

 
ตำรวจเผยผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย นับตั้งแต่เซลายากลับมา
ทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสออกมาประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังคงมีการล้อมสถานทูตบราซิล ซึ่งมานูเอล เซลายา พักอาศัยอยู่ ทางด้านตำรวจออกมาบอกว่ามีประชาชนอย่างน้อยสองคนถูกสังหารในการประท้วงนับตั้งแต่วันจันทร์ (21 ก.ย.) โดยล่าสุดในคืนวันพุธ (23 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุมที่อยู่นอกสถานทูต
 
ทางเอเอฟพี รายงานว่า การกลับมาอย่างไม่ทันตั้งตัวของเซลายาเมื่อวันจันทร์ (21 ก.ย.) ที่ผ่านมาทำให้ประเทศฮอนดูรัสเกิดความวุ่นวายและกลายเป็นที่จับตาของผู้นำนานาชาติจากการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติในนิวยอร์ก
 
จากข่าวของเอเอฟพี ทางตำรวจฮอนดูรัสบอกว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วสองรายนับตั้งแต่เซลายากลับมา ขณะที่บีบีซีรายงานว่า เซลายาอ้างว่ามีผู้สนับสนุนเขาเสียชีวิตแล้ว 10 รายในการปะทะกันกับกลุ่มผู้รักษาความสงบช่วงสัปดาห์นี้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
 
ด้านมานูเอล เซลายา ผู้สนับสนุนเขาอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ ยังคงติดอยู่ในสถานทูตฯ โดยมีเสบียงอาหารลดลงเรื่อยๆ และถูกทำให้โดดเดี่ยวโดยการตัดน้ำ ตัดไฟ และสายโทรศัพท์
 
เอเอฟพี รายงานว่าผู้สนับสนุนเซลายาสวมชุดแดงพากันออกมาตามท้องถนนของกรุงเตกูซิกัลาปาหลายพันคนในวันพุธ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งในวันที่ 28 มิ.ย.
 
ตำรวจ เปิดเผยว่า หลังจากที่เซลายากลับมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลแล้วสองราย มีรายหนึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันพุธ (23 ก.ย.) หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับตำรวจในคืนก่อนหน้านี้ โดยทางโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติฮอนดูรัสระบุว่า ผู้ตายเคยร่วมประท้วงต่อต้านรัฐประหารมาก่อน
 
 
เงื่อนไขการเจรจาตัวและสภาพผู้คนภายในสถานทูตฯ
เซลายาบอกผ่านโทรศัพท์จากในสถานทูตฯ ว่า เขาอยากเจรจาแบบตัวต่อตัวกับมิเชลเลตตีผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัส ในการให้เขาคืนสู่ตำแหน่ง "เป้าหมายคือการได้คุยกับเขาอย่างเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เพียงเขาเท่านั้น แต่กับกลุ่มทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในประเทศด้วย" เซลายากล่าว
 
มิเชลเลตตี เคยเสนอจะคุยกับเซลายาตัวต่อตัวหากเขายอมรับข้อตกลงให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 29 พ.ย. แต่เซลายาก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวโดยบอกว่าเป็นการ "บงการ"
 
สภาพการณ์ของสถานทูตตอนนี้เป็นเกมการรอคอยซึ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสองฝ่าย การติดต่อสถานทูตส่วนใหญ่ถูกตัดขาด แม้ว่าทางสถานทูตสหรัฐฯ จะมีการใช้ยานพาหนะเพื่อนำเจ้าหน้าที่ของบราซิลบางส่วนออกไปในวันอังคาร (22 ก.ย.)
 
มิลตัน เบนิเตส นักเขียนของฮอนดูรัส ผู้สนับสนุนเซลายาและเข้าไปอยู่ในสถานทูตด้วย บ่นถึงสภาพที่ย่ำแย่ในนั้น "พวกเรายังใส่เสื้อตัวเดิมอยู่เลย อาบน้ำก็ไม่ได้" เบนิเตส กล่าว โดยเรียกสภาพแบบนี้ว่า "กึ่งมนุษย์"
 
ผู้สนับสนุนเซลายาบางส่วนที่เหนื่อยอ่อนในสถานทูตยืนยามอยู่ตลอดทั้งคืน เนื่องจากกลัวว่าอาจมีการบุกโจมตีสถานทูตฯ โดยกำลังทหาร แม้รัฐบาลของมิเชลเลตตีจะออกมาบอกในวันอังคาร (22 ก.ย.) ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะไม่ใช้กำลังบุกเข้าไปในพื้นที่สถานทูตฯ
 
 
รัฐบาลยกเลิกเคอร์ฟิว หกโมงเช้า วันพฤหัสฯ
ด้านรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัส ได้ยกเลิกกฏเคอร์ฟิวและอนุญาตให้ประชาชนออกมาตามท้องถนนได้ในเวลา 6.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของฮอนดูรัสรายงานว่า รัฐบาลชั่วคราวเรียกร้องให้ประชาชนกลับออกมาทำงาน และให้คำมั่นว่าทหารกับตำรวจจะคอยรักษากฏระเบียบ ขณะที่อาร์ตุโร่ วอลเลซ จากสำนักข่าวบีบีซีให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลยกเลิกกฏเคอร์ฟิวในครั้งนี้ ราวกับพยายามทำให้ฮอนดูรัสกลับสู่สภาพปกติ แต่ในความเป็นจริงฮอนดูรัสอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากคำว่าปกติ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่เซลายาถูกขับออกจากประเทศแล้ว
 
 
ยูเอ็นงดช่วยเหลือการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน เผยไม่เชื่อมั่นในสภาพการณ์
บัง คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่าจะยกเลิกการสนับสนุนการเลือกตั้งในฮอนดูรัส โดยบอกว่าสถานการณ์ไม่เอื้อต่อการลงคะแนน ซึ่งทางฮอนดูรัสมีกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
 
"เขาไม่เชื่อว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะเหมาะต่อการดำเนินการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง" โฆษกของบัง คี มูน กล่าวในแถลงการณ์ของสหประชาชาติ
 
ทางสหประชาชาติได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ฮอนดูรัสในช่วงเดือน กันยายนปี 2008 โดยมีการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ตามหน่วยเลือกตั้ง การนับคะแนนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการฝึกฝนด้านข้อมูลของประชาชน
 
"ทางสหประชาชาติมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบันและเรื่องความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮอนดูรัส" เขากล่าวในแถลงการณ์ "เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ การเจรจาที่ได้รับการอนุมัติจากฮอนดูรัส และเคารพต่อทูตของบราซิลของกรุงเตกูซิกัลปา ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้"
 
เลขาธิการสหประชาชาติยังได้บอกผ่านแถลงการณ์อีกว่า เขาจะเข้าร่วมกับองค์การรัฐอเมริกันและผู้นำอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อผลักดันข้อตกลงและเรียกร้องให้ผู้มีบทบาททางการเมืองทุกคนใช้ความพยายามเป็นสองเท่าในการหาข้อยุติผ่านการเจรจาอย่างสันติ
 
ในที่ประชุมของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา คริสติน่า เคิชเนอร์ ประธานาธิบดีอาร์เจนติน่าออกมาเรียกร้องให้ "ใช้ยุทธวิธีแบบพหุพาคีที่มีความเที่ยงตรงในการคืนประชาธิปไตยให้ฮอนดูรัส และการเคารพในสิทธิมนุษยชน และทำให้แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะทำได้หากอยู่ภายใต้ความเคารพในรัฐธรรมนูญ"
 
ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) บอกให้รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสเคารพใน "สวัสดิภาพทางร่างกาย" ของเซลายาและสถานทูตอันเป็นที่ละเมิดมิได้
 
ด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากล ออกมาแสดงความตื่นตัวต่อปัญหาความตึงเครียดในฮอนดูรัส โดยบอกว่าสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมกำลังอยู่ในภาวะ "สุ่มเสี่ยงอย่างมาก"
 
ขณะที่หนังสือพิมพ์ ล ทริบูนา (La Tribuna) ของฮอนดูรัส รายงานว่ารัฐบาลเม็กซิกันออกมาพูดถึงสถานการณ์ที่สถานทูตบราซิลในฮอนดูรัสว่า ห่างไกลจากบรรยากาศของการประนีประนอม และเป็นการนำพาประเทศไปสู่การเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้รัฐบาลเม็กซิกันซึ่งถือว่า เม็กซิโกเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับฮอนดูรัส เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศของสันติเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย
 
 
ฮิวแมนไรท์วอทซ์วอน OAS ช่วยกดดันรัฐบาลรัฐประหารให้เลิกใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกมาเรียกร้องให้องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States หรือ OAS) ช่วยกดดันให้รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมและขอให้ดำรงไว้ซึ่งสิทธิ์พื้นฐานของประชาชน
 
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตั้งแต่มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหนึ่งราย โดยจริงๆ แล้วอาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ ทางฮิวแมนไรท์วอทช์เน้นว่าจากข้อมูลที่ได้รับมา มีผู้ถูกจับกุมแล้วมากกว่า 150 ราย
 
"ประชาคมโลกต้องดำเนินการโดยด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยของฮอนดูรัสใช้กำลังอีก" โฮเซ มิกุเอล วิวานโค ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
 
จากข้อมูลของคณะกรรมการเพื่อญาติของผู้ถูกกุมขังและสาบสูญในฮอนดูรัส (COFADEH) รายงานว่า โจเซฟ เจมส์ เปอร์โดโม อายุ 16 ปี ถูกสังหารในวันที่ 22 กันยายน 2009 โดยตำรวจใน ซาน เปโดร ซูลา ซึ่งทางกลุ่มยังได้รับรายงานที่ยังไม่มีการยืนยันอีกว่าในวันนี้ (24 ก.ย.) มีผู้เสียชีวิตสี่รายจากการใช้กำลังตำรวจในกรุงเตกูซิกัลปา
 
"ตำรวจฮอนดูรัสมีอำนาจที่จะจับกุมผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงอย่างผิดกฏหมายได้" ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว "แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีอำนาจในการกระทำรุนแรงหรือเพิกเฉยต่อสิทธิพื้นฐานในขณะที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่"
 
 
อดีตโค้ชทีมชาติเผย รัฐประหารทำลายวงการลูกหนังฮอนดูรัส
ราม่อน มาราเดียโก อดีตโค้ชของทีมชาติฮอนดูรัส บอกว่าวิกฤติทางการเมืองหลังการรัฐประหารกำลังทำลายกีฬาประจำชาติอย่างฟุตบอล
 
"รัฐประหารทำลายกีฬาฟุตบอล แฟนๆ ไม่มาชมกันที่สนาม ทำให้เกิดภาวะขาดดุลทางการเงิน ผู้จัดการทีมต่างๆ ก็ประสบปัญหา" มาราเดียโก กล่าวขณะอยู่ที่เม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งมีทีมเรียล เอสพาน่า ของฮอนดูรัส แข่งขันอยู่กับทีมพูม่าของเม็กซิโก
 
เขาบอกว่าผู้จัดการทีมทั้งหลายรู้สึกเหนื่อยกับการมีภาระติดพันธ์ทางการเงินกับผู้เล่นบางคน และตัวผู้เล่นเองก็อยู่ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต
 
"ฟุตบอลเป็นการเยียวยาแผลใจ มันเป็นสิ่งดึงดูดและทำให้เราผ่อนคลาย มันปลดเปลื้องเราจากความรู้สึกแย่ๆ" มาราเดียโกกล่าว "แต่เราก็ได้ยินในช่วงไม่นานมานี้ว่า มีการเลื่อนการแข่งขันอีก สิ่งที่เราทำได้ก็เพียงแค่หวังว่ามันจะไม่แย่ไปกว่านี้"
 
 
 
ที่มา - แปลและเรียบเรียงจาก
 
Two die in Honduras unrest, Sophie Nicholson, AFP, 23-09-2009
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net