Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 

 

ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลจะออก ‘โฉนดชุมชน’ ผมเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องวิบัติที่จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนการออกโฉนดชนเผ่าแบบประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยก็มีโฉนดที่ดินให้บุคคลและนิติบุคคลถือครองมานับร้อยปีอยู่แล้ว และถือเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขออนุญาต ‘มองต่างมุม’ เพื่อช่วยกันคิดและมองให้รอบคอบก่อน ‘โฉนดชุมชน’ จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ ผมขอคัดค้านด้วยเหตุผลเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:
 
1. ป่าเสื่อมโทรมนั้น ไม่ควรให้ใครไปอ้างสิทธิ์เอาแผ่นดินของส่วนรวมไปครอบครองเป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาด จะอ้างความจนมาปล้นแผ่นดินไม่ได้ เราควรเอาป่าเสื่อมโทรม มาปลูกป่าในเชิงพาณิชย์เพื่ออนาคตของประเทศชาติในอีก 50-100 ปีข้างหน้า ไม่ใช่กลายเป็น ‘ของโจร’ มา ‘แบ่งเค้ก’ กันไปโดยคนที่อยู่ใกล้ ๆ ถ้าปลูกป่าแล้วมีคนบุกรุก หรือทุกวันนี้มีคนพยายามทำลายป่าสมบูรณ์ให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก็ต้องป้องปราม ไม่ใช่ ‘ยกประโยชน์ให้จำเลยไป’ หรือกลับไปคิดให้คนบุกรุกดูแลป่า ซึ่งเท่ากับ ‘ฝากปลาไว้กับแมว’
 
2. คนจนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ควรทำไร่-นา เพราะไม่มีระบบชลประทาน น้ำท่าก็ไม่สมบูรณ์ ปกติคนชนบทส่วนมากก็มีรายได้จากเกษตรกรรมเป็นรอง รายได้นอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว การให้แต่ละครอบครัวครอบครองกันคนละ 5-30 ไร่ ขึ้นอยู่กับการจับจองตามอำเภอใจ คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทุกวันนี้ บ้านชนบท ก็ไม่ค่อยได้ประกอบการอะไรมาก อยู่แต่เด็กและคนแก่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นเสมือน ‘รีสอร์ท’ ให้ญาติพี่น้องที่มาทำงานตามเมืองใหญ่ กลับไป ‘ชาร์ตแบตฯ’ เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว
 
3. ถ้าคนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ค่อยมีรายได้และยากจน รัฐบาลก็ควรหาทางสร้างงานทางอื่น ไม่ใช่ปล่อยให้ไปครอบครองที่ดินกันครอบครัวละมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่น ๆ จะสงวนให้พวกเขาอยู่ตามอัตภาพเช่นนี้ในสภาพที่ไม่เหมาะสมและเป็นการไม่ควร  สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น โรงเรียนประถม สถานีอนามัย ก็ต้องขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด สิ้นเปลืองทรัพยากร เพราะคนใช้บริการก็น้อย
 
4. กรณีป่าสงวนออกมาทับซ้อนกับที่ดินของผู้ที่ครอบครองไว้ก่อน ก็เป็นปัญหาที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะแก้ไข จะถือมาเป็นข้ออ้างเพื่อสุมให้ดูมีปัญหามากมาย เพื่อจะได้ออกกฎหมายป่าชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน ถือเป็นเล่ห์เพทุบายที่ไม่ตรงไปตรงมา
 
5. พวกผู้สนับสนุนเรื่องโฉนดชุมชน ยังถึงกับอ้าง ‘ชุ่ย ๆ’ ว่า คนจนที่บุกรุกอยู่ในเมือง ก็ควรจะได้รับโฉนดชุมชนเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนมาก ไม่ได้เป็นคนจน และโดยเฉพาะชุมชนประเภทบุกรุกอยู่ฟรีบนที่ดินของคนอื่นมา 2 ชั่วคนแล้ว ทำผิดกฎหมายและได้ประโยชน์มาโดยตลอด ยังจะถือโอกาสจะอ้างสิทธิ์ให้มีโฉนดชุมชนอีกหรือ
 
6. มีตัวอย่างชุมชนแออัดแห่งหนึ่งที่หลายฝ่ายที่ไม่รู้ก็ยกย่องว่าเป็นชุมชนที่ดี โดยรัฐบาลอนุญาตให้คนเหล่านี้ที่บุกรุกที่ดินของส่วนรวมอยู่ฟรีมา 2 ชั่วคน ได้รับสิทธิเช่าอยู่แบบถูก ๆ แบบถูกกฎหมาย แถมจัดระเบียบบ้านให้ดูสวยงาม มีสวนหย่อมน่ารัก แล้วสุดท้ายก็สรุปว่าชุมชนประเภทนี้ทำดีบ้าง เป็นชุมชนพอเพียงบ้าง ทั้งที่นี่คือการ ‘ปล้น’ สมบัติของชาติและส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
 
7. เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับองค์กรชุมชนบางคนถึงขนาดเขียนบทความสนับสนุนโฉนดชุมชนว่า ชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินของเอกชนควรได้รับโฉนดชุมชนบนที่ดินที่ตนบุกรุกอยู่โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ หรือเป็นที่ดินที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ นี่เป็น ‘อาชญากรรม’ การปล้น การละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด การปล้นไม่ใช่การทวงถามความเป็นธรรม จึงเป็นบาป หากมีโฉนดที่ดินในลักษณะนี้ก็เท่ากับสร้างอนาธิปไตยให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย แผ่นดินนี้ก็จะลุกเป็นไฟ ประเทศก็จะมีแต่ความวิบัติ บรรพบุรุษของเรา ตั้งแต่ระดับกษัตริย์ ข้าราชการ (ที่ดี) และประชาชนที่สละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ก็คงต้องเสียใจกันขนานใหญ่แน่นอน
 
8. กรณีบ้านสระพัง ต.บางเสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราชที่ชาวบ้านครอบครองที่ดิน 1,600 ไร่มาตั้งแต่ปี 2491 นั้น รัฐบาลก็ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะที่นี้ ไม่ใช่กลายเป็นต้นแบบการทำโฉนดชุมชนในบริเวณอื่น ทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนไปใหญ่ ทางราชการมีโฉนดตราครุฑ แต่ที่นี่มี ‘โฉนดช้างดำ’ ถ้ามองให้ลึกซึ้งถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐซึ่งเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ชอบกล
 
9. ถ้าหน่วยงานของรัฐบางหน่วยจะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีชาวบ้านบุกรุกป่าสงวน ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน นั้น ไม่ควรไปเพียงสร้างผลงาน และกลายเป็นการกึ่งรับรองสิทธิ์ของการบุกรุกไปเสีย เพราะการแก้ไขปัญหาในภายหลัง จะทำได้ยากขึ้น
 
10. ในบางกรณีถึงกับมีการอ้างอิงการแก้ปัญหาที่ดินชายฝั่งทะเลอันดามัน ภายหลังเกิดสึนามิ นั้น แต่เดิมชาวบ้านทั่วไปก็มีเอกสารสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนผู้บุกรุก ก็ควร ‘พอ’ เสียที ไม่ใช่ยังจะอ้างสิทธิ์ที่ไม่พึงได้ต่อไปอีก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากรณีสึนามิที่มีองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กร NGO และองค์กรอาสาสมัครต่างๆ เข้าไปมากมายนั้น เชื่อว่างบประมาณที่ใส่เข้าไป อาจรวมเป็นนับพันนับหมื่นล้านไปแล้ว  แต่ก็ไม่มีโภคผลอะไรนัก และจนบัดนี้ก็ยังมีเรื่องให้ทำไม่มีวันจบสิ้น ประหนึ่งเป็นการ ‘หากิน’ กับสึนามิชอบกล
 
ประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน เวียดนาม เขาก็เลิกระบบนารวมกันไปแล้ว เรายังจะย้อนยุคไปถึงโฉนดชุมชนเสียอีก การแก้ไขปัญหาของชาตินั้น แน่นอน เราก็ควรฟังเสียงของผู้สูญเสียผลประโยชน์ และหากเขาได้รับผลกระทบ ก็ต้องชดเชยกันให้เต็มที่ แต่จะฟังแต่คนเดือดร้อน โดยไม่นำพาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติ ก็เท่ากับเรานำพาแต่กฎหมู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net