Skip to main content
sharethis

(28 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เตรียมชี้มูลกรณี กล่าวหา ครม.นายสมัคร สุนทรเวชและพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีออกมติ ครม.สนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 ก.ย. ว่า เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมต่อจากสัปดาห์ที่แล้วอย่างแน่นอน แต่จะสามารถชี้มูลได้ทันทีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรรมการทุกท่าน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการจะพิจารณาผู้ถูกกล่าวหาอีก 32 คน และตนมีความเห็นว่าพรุ่งนี้ ( 29 ก.ย.) น่าจะแล้วเสร็จสามารถชี้มูลได้ เพราะถือว่าสำนวนมีความสมบูรณ์แล้ว

ขณะที่ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนกล่าวหา ครม.นายสมัคร สุนทรเวชและพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีออกมติครม.สนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาชี้มูลกรณีดังกล่าวโดยที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ว่า การพิจารณาต่อในวันที่ 29 ก.ย.นั้นจะยึดหลักการเดิมคือพิจารณาผู้ถูกกล่าวหาทีละคน ใครมีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นก็ต้องพิจารณาในข้อเท็จจริงที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าใครที่อ้างเหมือนกันในคำให้การ ก็อาจจะรวมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.จะสามารถชี้มูลความผิดได้ในวันที่ 29 ก.ย.นั้นเลยหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ถ้าเวลาเพียงพอก็สามารถสรุปได้ ดังนั้นจะเสร็จหรือไม่คงสัญญาไม่ได้ แต่มีการพิจารณาต่อแน่นอน เมื่อถามว่า มีใครมายื่นเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อสองวันที่ผ่านมานายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นเอกสารมาซึ่งก็ถือว่ามีความแตกต่างจากข้อมูลเดิมนิดหน่อย ซึ่งตนคงบอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะคงไม่เป็นผลดีต่อการพิจารณาคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเพิ่มเติมจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า มีเท่าเดิมไม่มีเพิ่ม เมื่อถามว่า หากมีการชี้มูลความผิดในคดีดังกล่าวต่อผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน แล้วต้องให้หยุดการกระทำหน้าที่ทันทีหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีคนถามกันมาก คงต้องบอกว่ามันเป็นข้อกฎหมายที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งขณะนั้น แต่มีตำแหน่งใหม่ แต่อย่างไรก็ตามเท่าที่เคยทราบว่าได้มีคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความแล้วว่า ไม่ต้องหยุด ในกรณีที่เปลี่ยนตำแหน่ง แต่ถ้าจะให้เป็นบรรทัดฐานจริงๆคงต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ถูกชี้มูลเป็นรัฐมนตรีที่มีตำแหน่งเดิมอยู่ในรัฐบาลนี้ ยังจะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ใช้ถ้อยคำต่างกันนิดหน่อยระหว่างกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 55 คือบุคคลผู้ถูกกล่าวหา แต่ในรัฐธรรมนูญใช้คำว่าในตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา ดังนั้นจึงมีความเห็นต่างกันไปว่าถ้าเขาเปลี่ยนตำแหน่งมาแล้วจะต้องหยุดหรือไม่ ดังนั้นคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า สำหรับในส่วนของข้าราชการที่ถูกกล่าวหามีโทษอย่างไร น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า มีโทษทางวินัย อาญา ตามมาตรา 157 ทั้งนี้ตนยังไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นจะมีความผิด แต่ถ้าเป็นการชี้มูลข้าราชการประจำนั้นจะมีโทษทั้งอาญาและวินัย ส่วนข้าราชการการเมืองเมือง มีอาญาและมีการถอดถอนด้วย เมื่อถามถึงกรณีที่อาจมีผลกระทบถึงเรื่องขวัญและกำลังใจในการทำงานของข้าราชการส่วนใหญ่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า หน้าที่ของ ป.ป.ช.คือการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง คงจะไปดูถึงผลขนาดนั้นไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของ ป.ป.ช.ทั้งหมดหรือไม่ในการพิจารณาคดีใหญ่และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และคราวที่แล้วหลังการชี้มูลความผิดกรณีสลายกลุ่มผู้ชุมนุม 7 ก.ย. 51 ก็มีระเบิดที่บ้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่กังวล เพราะเราทำหน้าที่ของเรายังไงก็ต้องทำหน้าที่ ซึ่งคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีคงเข้าใจว่าเราทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีเจตนาหรืออคติกับใคร หรือโกรธเคียงผู้ใดเป็นพิเศษ ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
 

“กล้านรงค์” ระบุคดีกล้ายางจบแล้ว- รื้อใหม่ไม่ได้

นายกล้านรงค์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีบางฝ่ายต้องการให้ ป.ป.ช.หยิบยกคดีทุจริตกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาทของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ กลับมาพิจารณาสำนวนใหม่อีกครั้ง ว่า คงจะหยิบยกขึ้นมาไม่ได้เพราะเป็นสำนวนคดีที่ส่งไปยังศาลฏีกาแล้ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลที่ว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และคนที่จะอุทธรณ์คือผู้ต้องคำพิพากษา ที่สามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ป.ป.ช.ไม่ใช่ผู้ต้องคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการร้องให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินขององค์คณะผู้พิพากษา นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายหรือไม่ที่จะให้ตรวจสอบ มีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรที่จะต้องตรวจสอบ ดังนั้นต้องดู เพราะผู้พิพากษาศาลฎีกานั้นมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าที่ประชุมคณะกรรมการในวันที่ 29 ก.ย.จะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ปกติหากมีการยื่นมาและมีสื่อมวลชนไปทำข่าว ทางสำนักงานเลขาฯ ป.ป.ช.ก็จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ว่าได้มีการยื่นเรื่องนี้และมีสื่อมวลชนมาทำข่าว หลังจากนั้นทางสำนักงานจะนำเรื่องกลับไปพิจารณาว่าคำร้องที่ร้องเข้ามานั้นเป็นคำร้องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ ถ้าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่เขาก็จะเสนอขึ้นมา แต่ถ้าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ก็ดูว่าข้อมูลจากคำร้องเพียงพอหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งอยู่ที่ขั้นตอนของสำนักงาน

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net