นักข่าวพลเมือง: เจรจาลดโลกร้อนวันที่ 11 ชาติพัฒนาแล้วพยายามผลักภาระให้ชาติกำลังพัฒนาร่วมรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การจัดทำกติกาโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนปฏิบัติการบาหลีภายใต้ “อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” ดำเนินมาเป็นวันที่ 11 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักภาระให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วมรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนไทย-ต่างประเทศต่างประณาม

 

 
(8 ต.ค. 52) นับเป็นช่วงที่บรรยากาศนอกห้องเจรจาการจัดทำกติกาโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนปฏิบัติการบาหลีภายใต้ “อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” หรือ “การเจรจาลดโลกร้อน” ที่ UNESCAP ที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เต็มไปด้วยบรรยากาศการจับกลุ่มถกเถียงพูดคุยค่อนข้างเครียดตามมุมต่างๆ ของตึกประชุม และหัวข้อสำคัญร่วมกันของวงคุยทั้งเล็กใหญ่ ทั้งในและนอกห้องเจรจาดูเหมือนจะวนอยู่รอบ ๆ เรื่องเดียวกันคือ ท่าทีของสหรัฐและประเทศร่ำรวยต่อการเจรจาโลกร้อนในลักษณะที่จะทำให้การเจรจากรุงเทพและต่อไปถึงโคเปนเฮเกนไปไม่ค่อยรอด
 
“เขาบอกว่าเขาไม่ได้จะล้มพิธีสารเกียวโต แต่พยายามหาทางเลือกที่ทำได้จริงและประนีประนอม” แหล่งข่าวน่าเชื่อถือคนหนึ่งกล่าวถึงท่าทีของผู้แทนประเทศแคนาดาในห้องเจรจาห้องหนึ่งในบรรดา 5 ห้องภายใต้การเจรจาในกรอบคณะทำงานด้านระยะยาว (AWG-LCA)
 
แหล่งข่าวอธิบายว่าการพยายาม “ล้ม” เนื้อหาการเจรจาที่ดำเนินอยู่ ทำด้วยการยืนยันจุดยืนของอเมริกาในเวที AWG-LCA ทั้งห้าห้อง ซึ่งเป็นจุดยืนที่อเมริการู้ดีว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนารับไม่ได้แน่นอน เช่นการเสนอให้เปลี่ยนจากภาระการลดโลกร้อนนั้นจากที่เป็นอยู่ภายใต้พิธีสารเกียวโตว่า “ร่วมกันรับผิดชอบตามศักยภาพและความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต” ซึ่งส่งผลให้ภาระหลักของการลดการปล่อยก๊าซเป็นของประเทศพัฒนา ไปเป็นคำกลาง ๆ ว่า “ต้องร่วมกันรับผิดชอบ” ซึ่งมีความหมายว่า ทุกประเทศรวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย (ต้องมีการตั้งเป้าลดชัดเจนด้วย) หรือการขอเปลี่ยนจากคำว่า “equity” ซึ่งหมายถึงความเท่าเทียมเป็น ‘equality’ ที่หมายถึงเท่ากันในเนื้อหาร่างเจรจา
 
“ท่าทีเช่นนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เย็นวานนี้ในห้องเจรจา LCA ทุกห้อง และชัดเจนมากวันนี้ ท่าทีเช่นนี้ดำเนินอยู่ต่อเนื่องและชัดเจนตามลำดับ ทำให้เราเริ่มห่วงว่าแนวโน้มนี้จะนำไปสู่อะไรที่เรากลัว คือพยายามหาร่างเจรจาใหม่แทนที่ร่างข้อตกลงภายใต้พิธีสารเกียวโตที่มีใช้อยู่และพยายามทำให้มันดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดีขึ้น มันเหมือนกับการพยายามล้มโต๊ะ” แหล่งข่าวกล่าว
 
“แล้วอย่างบ้านผมจะไปลดจากอะไรล่ะ มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และไม่ยุติธรรม” ผู้แทนชาวซูดานคนหนึ่งให้ความเห็น
 
น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ผู้ประสานงานคณะกรรมการเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมแถลงว่า ท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐเป็นรูปธรรมของการแสดงตนเป็น “ตัวป่วน” ในการเจรจาโลกร้อน เป็นการประกาศว่าสหรัฐเป็นผู้ร้ายตัวจริง “real bad guy” ที่จะทำลายความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนของประชาคมโลก
 
“เรารู้ว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการพิธีสารเกียวโต และไม่สามารถทำอะไรได้เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้ให้สัตยาบัน จะมาให้ตอนนี้ก็สายไป ทุกอย่างเลยไปไกลแล้ว ไม่ทัน นี่เข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเขานะว่าเป็นอย่างไร สหรัฐกำลังจัดทำกฎหมายในประเทศ เข้าใจ และก็เข้าใจว่ากฎหมายในประเทศของสหรัฐนี่ใหญ่กว่ากฎหมายระหว่างประเทศซึ่งไม่เหมือนบ้านเรา ดังนั้นการจะมาทำอะไรนอกบ้านโดยไม่สนกฎหมายในประเทศนั้นไม่ได้ เราก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ไม่เข้าใจว่าสหรัฐจะมาป่วนการเจรจาโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาฯ โลกร้อนทำไม สหรัฐสามารถทำกฎหมายในประเทศไป พอเสร็จแล้วก็บอกกฎหมายในประเทศเราบอกให้ทำได้แค่นี้ นี่ยังเข้าใจได้ คือต้องปล่อยให้การเจรจามันดำเนินไปอย่างที่มันควรเป็นและเป็นอยู่ซึ่งเป็นความพยายามที่สร้างสรรค์” กิ่งกรอธิบาย
 
“เราขอประณามท่าทีตัวป่วนเช่นนี้ของสหรัฐ และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศยากจนภายใต้ จี 77 ร่วมกันแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐฯ และประกาศการประณามออกมาอย่างชัดเจน นี่เป็นบทบาทที่เหมาะสมของจี 77 ไม่ใช่เวลาที่จะมาแสดงความอึดอัดขึงขังต่อท่าทีดังกล่าวส่วนตัวหรือบ่น ๆ กัน แต่ต้องผนึกกัน และบอกว่าเราไม่พอใจต่อท่าที่เช่นนี้” กิ่งกร กล่าว
 
“นี่ไม่ใช่แค่สหรัฐ แต่รวมถึงกลุ่มประเทศร่ำรวยที่สนับสนุนแต่ไม่ได้ประกาศชัดเจนอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดาและอียูด้วย ที่เกาะหลังสหรัฐอยู่”
 
“สิ่งที่ภาคประชาสังคมและองค์กรประชาชนไทยอยากเห็นในเรื่องการเจรจาโลกร้อนนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วแสดงความรับผิดชอบต่อการก่อโลกร้อนในอดีตที่เราเรียกว่าหนี้นิเวศแล้วยอมรับพันธะกรณีชัดเจนว่าจะชดเชยต่อความผิดดังกล่าวด้วยกองทุนเพื่อการปรับตัว กลไกที่ระบุในพิธีสารเกียวโต” กิ่งกรกล่าว
 
นายอันโตนีโอ ฮิลล์ (Antonio Hill, a senior policy advisor of Oxfam International) ที่ปรึกษาด้านนโยบายขององค์กร อ็อกแฟม ที่เข้าร่วมและติดตามการเจรจาฯ กรุงเทพ ใกล้ชิดกล่าวให้ความเห็นว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายต่อท่าทีสหรัฐ แต่เราก็คาดไม่ถึงว่าสหรัฐจะทำให้สถานการณ์ถอยหลังเข้าคลองขนาดนี้
 
“ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหรัฐจะทำอย่างนี้ เราไม่ได้หวังเลิศเลอว่าสหรัฐจะปรับเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือในเรื่องโลกร้อน แต่ไม่นึกว่าจะถอยหลังเข้าคลองขนาดนี้ เป็นเรื่องที่รับได้ยากจริง ๆ” นายฮิลล์กล่าว
 
นางลิดี้ แนคพิล (Lidy Nacpil, coordinator of Jubilee South - Asia Pacific) ผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน Jubilee South ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งทำงานด้านหนี้สินและการพัฒนากล่าวว่า รู้สึกโกรธมากกับท่าทีของสหรัฐและขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ แสดงบทบาทฐานะพลเมืองโลกออกมาในเรื่องนี้ ต่อรัฐบาลโอบาม่า
 
“ฉันหวังว่าโอบาม่าจะทำให้เราประทับใจมากกว่านี้เสียอีก แม้เขาจะมีนโยบายที่ดีหลายเรื่อง แต่กับเรื่องโลกร้อนมันน่าผิดหวังมาก โดยเฉพาะท่าทีของผู้แทนสหรัฐในเวทีเจรจา AWG-LCA ที่กรุงเทพฯ เราหวังเหลือเกินว่าโอบาม่า จะแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นนโยบาย “change” ในเรื่องโลกร้อนนับจากตอนนี้ ไปจนถึงโคเปนเฮเกน”
 
“ฉันอยากเรียกร้องให้พลเมืองสหรัฐให้ผลักดันรัฐบาลของพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้องและไม่ละอายต่อสามัญสำนึกที่ดีงาม เพราะภสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐทำต่อเวทีเจรจานี้จะส่งผลกระทบต่อคนมหาศาล ที่สำคัญเราไม่มีเวลาเหลือพอที่จะลังเลแล้ว ต้องลงมือทำตอนนี้” นางแนคพิลกล่าวที่ UNESCAP

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท