ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’: “ทุกฝ่ายกลัวเรา”

 
เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยโพสต์แทบลอยด์, 11 ต.ค. 2552
 
 
สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ในวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่, 6 ต.ค. 52 (ที่มา: ดัดแปลงจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์)
 
000
 
"ทุกฝ่ายกลัวเราหมด... ถ้ามองให้ลึกเลย พวกเรานี่คือจุดเปลี่ยนของสังคมไทยนะ เพราะพวกเราคือพลังศีลธรรมที่จะโค่นล้มปรับเปลี่ยนรากเหง้าเดิมๆ ที่ผูกขาดอำนาจมา ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะเข้ามาแล้วบอก เฮ้ย! จากนี้ไปขอให้มีความสมดุลในสังคมได้ไหม ตรงนี้กระเทือนหมดทุกคนเลย กระเทือนธุรกิจใหญ่ๆ กระเทือนกลุ่มอำมาตยาธิปไตยบางกลุ่ม กระเทือนข้าราชการเก่าบางกลุ่ม กระเทือนนักการเมืองชั่วๆ บางกลุ่ม กระเทือนทหารชั่วๆ บางกลุ่ม นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมโดนยิงไงล่ะ"
 
"คำว่าอำนาจนอกระบบคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า ถ้าคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์ผมปฏิเสธ-ไม่ใช่ เพราะวันนี้ผมสู้มาคือสู้เพื่อให้เมืองไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกษัตริย์จะเป็นพระองค์ใดผมยินดี ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม เน้นตรงนี้นะ ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม ผมยังเห็นว่าเมืองไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์"
 
 
ครั้งแรก! ที่ไทยโพสต์แทบลอยด์สนทนากับสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเขาเปลี่ยนจากสื่อมวลชนและแกนนำพันธมิตรฯมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
 
ถัดจากเรายังมีอีกค่ายมารอสัมภาษณ์ "ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเปิดตัวแต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือกแล้ว"
 
แน่นอนทุกคนเคยฟังสนธิบนเวที สนธิใน ASTV แต่ครั้งนี้ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง เขาเป็นฝ่ายถูกสื่อมวลชนถาม
 
000
 
 
สถานการณ์เปลี่ยน
 
พอเป็นหัวหน้าพรรค นักการเมืองก็ออกมา...(ยังพูดไม่จบ)
"กระแนะกระแหน ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะพวกที่ออกมากระแนะกระแหนกำลังหวาดกลัวสถานภาพตัวเอง เพราะพวกนี้สร้างฐานการเมืองบนพื้นฐานที่ผิด คือพรรคการเมืองในอดีตเกิดจากนายทุนทั้งนั้น คนไม่กี่คนเองเงินมาลงกัน และกำหนดว่าคนโน้นจะเอา ส.ส.จากที่ไหนมาบ้าง คนนั้นซื้อมาได้เท่าไหร่ คนนี้ซื้อมาได้เท่าไหร่ พอมาเจอการเมืองที่มวลชนเขาให้เกิด พวกนี้ก็มีความรู้สึกว่าเฮ้ยมันไม่ใช่แล้ว พวกนี้เกิดความกลัว ก็พยายามจะพูดตลอดเวลาว่าเมื่อเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วก็อย่าไปประท้วงบนถนนต้องมาสู้ในสภา เป็นวิวาทะเดิม"
 
"คือพวกนี้ไม่เข้าใจอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ว่าจริงๆ แล้ว มีแต่พรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองใหม่เท่านั้นเอง พรรคเพื่อไทยเขาจ้างมวลชนเข้ามา พรรคการเมืองใหม่มีมวลชนหนุนให้เกิด เพื่อไทยนี่เกิดจากนายทุนก่อน และตอนหลังนายทุนก็เอาเงินไปจ้างมวลชนเพื่อเอามวลชนมาสนับสนุน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายๆ คนก็ขึ้นเวทีเสื้อแดง ส่วนพรรคการเมืองใหม่เกิดจากมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ และเมื่อสู้ถึงจุดจุดหนึ่งเขารู้สึกว่าต้องมีเครื่องมือของเขาเข้าไปเป็นตัวแทน เพราะฉะนั้นในลักษณะหนึ่งเรากับพรรคเพื่อไทยมีความคล้ายคลึงกัน ส่วนที่มาของมวลชนจะไม่เหมือนกันเลย ที่เหลือตกขอบไปหมดแล้ว แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีมวลชน พรรคชาติไทยก็ไม่มี คนพวกนี้อย่างเช่นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เวลาแกมาปั๊บแกก็ต้องถามตัวเองว่า ส.ส. เก่าๆ ของแกมีเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งเวลาคุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆ ตั้งไปตั้งมามีความรู้สึกว่าเออถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เป็นนายกฯนาน ความอดทนไม่มี เป็นนักธุรกิจลงทุนไปแล้วอยากได้เงินคืนทันที นั่นคือที่มาของคุณเสนาะ เทียนทอง พอคุณเสนาะมาเกิดอะไรขึ้น คุณเสนาะไม่ได้เอามวลชนมา คุณเสนาะเอา ส.ส.และหัวคะแนนมา ก็คือเอาเงินไปซื้อมา เอาสายพรรคความหวังใหม่มาบ้าง เอาสายโน้นสายนี้มาบ้าง การเลือกตั้งครั้งนี้เท่าไหร่ 30 ล้าน 25 ล้านเอาไป เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่คน พอมาเจอพรรคการเมืองที่มีมวลชนหนุนหลังเขาย่อมไม่พอใจ แต่ว่าผมไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น เพราะผมมองว่าส.ส.ในสภา รัฐสภาจะปฏิเสธการเมืองภาคประชาชนไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่าเสียงยิ่งใหญ่ที่สุดมากกว่าส.ส.คือเสียงของมวลชน"
 
 
เขากระแนะกระแหนเพราะเคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง
"ธรรมดา การไม่รับตำแหน่งทางการเมืองมีหลายวิธี เอ้า ถามคุณว่าพระพุทธเจ้าเคยอดอาหารใช่ไหม ท่านก็บอกว่าท่านจะไม่รับประทานอาหารจนกระทั่งท่านบรรลุนิพพาน ทำไมท่านเปลี่ยนใจมารับประทานอาหารล่ะ คือผมคิดว่าอะไรก็ตามถ้าเราพูด คำพูดในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยนไป สมมติคุณบอกว่าคุณจะอหิงสาสันติ แล้วมาโจรมาปล้นบ้านคุณกำลังข่มขืนลูกเมียคุณ ถามว่าคุณจะอหิงสาสันติได้แค่ไหน มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้กังวลสักนิด ในที่สุดแล้วถึงจุดสุดท้ายจะพิสูจน์เองว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นอย่างไร ว่าผมยึดติดกับอำนาจหรือเปล่า"
 
"ผมอยากจะเรียนให้ทราบนิดหนึ่งว่า การทำพรรคการเมืองใหม่มันไม่ได้ต่างจากการที่เราเริ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเลยแม้แต่นิดเดียว ย้อนหลังไปดูปลายปี 2548 ผมออกมาโดดเดี่ยว สู้ แล้วประมาณต้นปี 2549 เรารวมตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรปี 2549 สาหัสสากรรจ์ ต้นปี 2549 เรายังไม่มีมวลชน คนที่มามาด้วยความสงสัยอยากรู้อยากเห็น มีบางส่วนที่ไม่ชอบคุณทักษิณก็มาร่วมด้วย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปได้หล่อหลอมคนต่างๆ เหล่านี้ แม้กระทั่งวันที่ 19 ก.ย. จบลงไปแล้ว หลายคนก็คิดว่าพันธมิตรน่าจะสลายตัวได้แล้ว ทุกคนมองว่าอ่อนกำลังลงแล้ว นั่นคือการอ่านเกมที่ผิดพลาด แม้แต่คุณเฉลิมก็อ่านเกมผิดพลาด คุณเฉลิมให้สัมภาษณ์ตลอดเวลาว่าไม่มีแล้ว มีคนไม่กี่คน แต่พอเขาเริ่มคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มันเกิดพลังมวลชนมาจากไหนไม่รู้ 193 วันมันเป็นจุดหล่อหลอมที่ทำให้ทุกคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าคำว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรที่เป็นรูปธรรม แต่มันเป็นจิตวิญญาณอยู่ในจิตใจ เหมือนความดีความชั่ว เหมือนกับศีลธรรม เหมือนเราเห็นว่าอย่าไปโขมยของนะเพราะมันผิด จิตเราบอกว่ามันผิด เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้การสร้างพันธมิตร 3 ปีแรกยากมาก แต่ว่าในที่สุดแล้วคุณก็เห็นว่า 4 ปีเต็มๆ เราสร้างจากฐานเรา จากฐานความอยากรู้อยากเห็นมาเป็นฐานของคนที่เห็นด้วย และก็เริ่มมีส่วนที่คนเห็นด้วยอย่างมากมาย มีบางส่วนที่เห็นด้วยที่นักการเมืองประมาท”
 
“พันธมิตรมีอยู่ 3 กลุ่มนะ กลุ่มแรกคือกลุ่มฮาร์ดคอร์ ไปไหนไปด้วย จะการชุมนุมที่ไหนเห็นหน้ากลุ่มนี้ก่อน กลุ่มคนพวกนี้มีประมาณไม่เกินหมื่น อีกกลุ่มคือประเภทที่เรียกว่าเมื่อมีวิกฤติก็เข้ามาร่วม พวกนี้จะโผล่มาจากไหนไม่รู้ มาจากใต้บ้างมาจากอีสานบ้าง มาจากจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ชลบุรีบ้าง ร่วมด้วยช่วยกัน กลุ่มพวกนี้ยังแฝงด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มซึ่งไม่ออกมาช่วยเต็มๆ แต่ช่วยอยู่ในพื้นที่ เช่น เต็มแล้วออกๆ เอ้าเฮียฮั้วจัดรถให้แล้ว 20 คัน พวกนี้จะอยู่ตามจังหวัดต่างๆ คนพวกนี้จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นพวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสุดท้ายนี่น่ากลัวมากที่นักการเมืองและพลังของภาคการเมืองเก่าประมาทและไม่รู้ คือกลุ่มที่ผมเรียกว่ากลุ่มอีแอบ อีแอบคือเห็นด้วยกับพันธมิตร รักพันธมิตรแต่ไม่กล้าแสดงตัวเลยแม้แต่นิดเดียว แค่ใส่เสื้อเหลืองยังไม่กล้าใส่เลย คนพวกนี้เยอะมากมายมหาศาล ผมเจอคนพวกนี้มาก คนที่เดินเข้ามาแล้วจับมือผมและก็บอกว่าผมเป็นพวกคุณนะ แต่แสดงตัวไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งบริษัทผม สองผมเป็นข้าราชการ สามผมเป็นครู ผมเป็นโน่นเป็นนี่ คนพวกนี้แสดงออกตอนไหน ตอนที่ไม่มีใครไปดูเขา ในคูหาการเลือกตั้ง นี่คือพลังเงียบที่แท้จริง พรรคการเมืองทั้งหลายไม่เคยคิดถึงปริมาณคนพวกนี้ เยอะแยะมหาศาล และคนพวกนี้จะเป็นฐานที่สำคัญ ฉะนั้นผมมามองว่าการสร้างพรรคการเมืองใหม่นั้นไม่ได้ต่างจากการเริ่มพันธมิตร ต่างกันตรงที่ว่าตอนนั้นเราเริ่มจากฐานศูนย์ วันนี้เราเริ่มจากฐานที่มีอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่สุดคือจะดำรงปกป้องต่อสู้และก็ยืนหยัดในอุดมการณ์ เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ ทำงานเป็น ได้ดีแค่ไหน ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย ถ้าผมพูดไปก็จะหาว่าผมคุยโวโอ้อวด สำหรับผมแล้วผมมั่นใจในตัวผม แต่ผมมีหน้าที่ที่จะสร้างบ้านเมืองให้แข็งแรง ให้คนในบ้านนี้มีอุดมการณ์เดียวกันหมด และก็จะต้องมีวินัย กติกาที่ชัดเจน พูดง่ายๆ ว่าจะต้องต่อสู้กับกิเลส จริงๆ แล้วพรรคการเมืองใหม่นั้นถ้าดูให้ดีๆ ก็คือพรรคธรรมาธิปไตยนั่นเอง เอาธรรมนำหน้า ใครผิดธรรมเราก็ต้องจัดการ ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมั่นใจว่าหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ต้องไม่ผิดธรรม"
 
 
ตอนแรกเหมือนยังไม่อยากจะรับ ทำไมเปลี่ยนใจ
"มันเป็นอย่างนี้ เมื่อชุมนุมเสร็จแล้วผมก็มีความรู้สึกว่าหายเหนื่อย และเตรียมรับคดีความต่างๆ เดินหน้าสู้ในทางปัญญา ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นอยู่เรื่องเดียวคือถ้าเราให้ปัญญากับมวลชน ให้ปัญญากับสังคมแล้วสังคมจะไปรอด ปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าเกิดขึ้นจากสื่อมวลชน สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ คนพวกนี้แทนที่จะให้ปัญญาประชาชนกลับมอมเมาประชาชน มอมเมาไปในทางที่ผิด สองมอมเมาไปในข้อมูลที่ผิด ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้มันก็จะไปได้ดี"
 
"จู่ๆ สุริยะใสก็มาบอกว่า พี่ พรรคพวกอยากให้ตั้งพรรคการเมือง ผมก็ปฏิเสธ บอกไม่เอา แกจะตั้งก็ตั้ง เขาบอกไม่ได้พี่ ถ้ามีพรรคการเมืองพี่ต้องร่วมด้วย ถ้าพี่ไม่ร่วมไม่มีความหมาย บอกเฮ้ยพี่ก็ร่วม ASTV พี่ก็ช่วยอยู่แล้ว เขาบอกไม่ได้ตัวพี่ต้องลงมาด้วย ผมก็บอกเอาอย่างนี้ดีกว่าถ้าคิดจะตั้งพรรค ใสไปหาหัวหน้าพันธมิตรมาคนหนึ่ง ที่เมื่อเอ่ยชื่อมาภาพสะท้อนว่าเป็นคนกล้าหาญและมีความซื่อสัตย์ ผมก็บอกใสว่าพี่นึกถึงพล.ต.จำลอง ศรีเมือง พล.ต.จำลองท่านก็ปฏิเสธ ผมก็ไปคุยกับท่าน ผมคุยกับท่านจากการที่ท่านปฏิเสธกลายเป็นท่านกลางๆ ขอดูหน่อย พอมาคุยกันมาหมู่แกนนำทั้ง 5 คน พวกเรายกเว้นผม มีพี่พิภพ พี่สมศักดิ์ พี่ลอง และ อ.สมเกียรติ ก็บอกเฮ้ยเรื่องนี้เราตัดสินใจเองไม่ได้หรอก โยนให้ประชาชนตัดสินใจดีกว่าว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง"
 
"แต่ว่าก่อนที่จะมีตรงนี้มันมีคั่นกลาง คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกอยากตั้งพรรคการเมือง และแกก็ไม่อยากให้พวกเรา... เพราะแกพูดตลอดเวลาว่าพันธมิตรไม่ควรตั้งพรรคการเมือง ควรจะให้คนอื่นตั้งแล้วให้ใช้ฐานเสียงพันธมิตรสนับสนุน เราก็ไม่ได้คิดอะไรนะ เราก็เฉยๆ ต่อความคิดอันนี้ เพราะถ้าคุณไชยวัฒน์จะตั้งหรือใครจะตั้งก็ตาม ที่เป็นหน่วยแตกย่อยสาขาพันธมิตรก็ตั้งไปสิ แต่จะให้ทางผมไปผลักดัน ผมทำไม่ได้ เพราะหนึ่งผมไม่รู้ว่าวัตถุเจตนา และใครบ้างที่ไปตั้งพรรคอันนั้น แรกทีแกก็ไปเอาพรรคประชาภิวัตน์ของพล.ต.มนูญกฤต แล้วปรากฏว่าวันนี้เป็นอย่างไร พล.ต.มนูญกฤตกำลังจะไปพรรคเพื่อไทย"
 
"ก็คือต้องการมาใช้ฐานเสียงพันธมิตร ในที่ประชุมแกนนำก็บอกว่าไม่ได้หรอก ถ้าจะตั้งพรรคต้องให้ประชาชนตัดสิน เขาก็เลยมีการชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค ข้อผิดพลาดมีอยู่ว่า อ.ปานเทพดันไปทำแบบสอบถาม 50,000 ชุด มีหน้าหนึ่งถามว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองใครควรจะเป็นหัวหน้าพรรค ก็มีทั้งชื่อผม ชื่อพี่ลอง พี่พิภพ ปรากฏเขาติ๊กชื่อผมมา 70% พอจะให้ผมปังแล้ว พันธมิตรระดับแกนนำทุกคนก็มาพูดกับผม ผมก็ยังอ้ำอึ้งบอกไม่ได้หรอก ยังไม่เอา ไม่แน่ใจ จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย ก็มีเสียงเข้ามาแล้วก็บอกว่าถ้าผมไม่เข้าพรรคตั้งไม่ได้ และตั้งไม่ได้นี่ที่สำคัญคือประชาชนด่า ประชาชนเขาบอกก็ไหนคุณบอกจะทำตามประชาชนไง คือของเราไม่ได้เอาประชาชนมาอ้าง แต่ประชาชนจะยืนหยัดเอาเรา เพราะเรามีที่มาที่ไปของทุกอย่าง เราไม่ได้ซี้ซั้วทำ เหมือนเวลาเราจะเคลื่อนพลไปที่ไหนจะถามประชาชน เราจะสู้เรื่องนี้ เอาไม่เอา ถ้าไม่เอาก็บอกมา ถ้าเอาเราก็ไป จนในที่สุดแล้วผมมีความรู้สึกว่าผมปฏิเสธเขาไม่ได้"
 
"ที่ผมปฏิเสธไม่ได้ก็เพราะศรัทธาที่สร้างมามันไม่ได้สร้างกันง่ายๆ มันสร้างมาเพราะแกนนำพันธมิตรเป็นคนที่คำไหนคำนั้น พูดจริงทำจริง ถ้าไปบอกเขาว่าให้เลือกว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค แล้วเขาบอกให้ตั้งพรรค เขาบอกว่าเขาจะเอาคนนี้ และเราบอกว่าผมไม่เอา ผมถอย ผมถอยนี่โอกาสที่ความรู้สึกของพันธมิตรที่เสียใจและสูญเสียศรัทธา ถึงแม้จะไม่ทั้งหมด เพียงแค่ส่วนเดียวหรือสองส่วนผมก็ถือว่าเยอะแล้ว อีกประการหนึ่งเราก็มองว่าวันข้างหน้าถ้ามีเรื่องมีราวแล้วเราต้องมานำเขา เขาจะฟังเราไหม ก็เลยจำเป็นต้องรับ ผมพูดตลอดเวลาว่าผมไม่อยากเป็นแต่ต้องเป็น นี่คือที่มาคำพูดผม ไม่อยากเป็นแต่ต้องเป็น แต่เมื่อมาคิดลึกๆ แล้ว เมื่อเราคิดว่าพรรคการเมืองคือเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มันก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคุมการเมืองใหม่อยู่ ถ้าวันใดข้างหน้าพรรคการเมืองใหม่ จะเป็นที่หัวหน้าพรรคหรือจะเป็นที่ใครก็ตาม ทำแล้วมันทำให้พรรคการเมืองใหม่ไม่มีความหมาย ผมเชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้มพรรคการเมืองใหม่แน่ การล้มก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสนับสนุนเลย จบ พรรคการเมืองใหม่ก็ไปไม่รอด"
 
"เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่าพรรคการเมืองใหม่คือส่วนหัวของพันธมิตรนั้นผิด พันธมิตรต่างหากที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ เพราะเราต้องพึ่งพาพันธมิตร และอุดมการณ์เหมือนกัน อุดมการณ์พันธมิตรทุกคนที่มาร่วมชุมนุมกันไม่มีใครไม่เสียสละ คนใต้หลายคนปิดบ้านปิดช่อง น้ำท่วมก็ไม่กลับบ้าน ตกงานก็ไม่สนใจ เจ้าของร้านเสริมสวยที่ชุมพรปิดร้านเลยแล้วมาเป็นการ์ด หมอบางคนมาทำความสะอาดกวาดขยะ นี่คือการเสียสละ และพวกนี้ซื่อสัตย์ไหม ก่อนหน้าเขาจะมาเขาอาจจะเบี้ยวแชร์ เขาอาจจะโกงเงินคน แต่เมื่อเขามาร่วมหน้าเวทีและร่วมชูธง จิตใจเขาซื่อสัตย์แล้ว เขาซื่อสัตย์ต่อชาติบ้านเมือง และเขากล้าหาญไหมไม่ต้องถามเลย น้องโบว์กล้าหาญไหมที่ตายไป ทุกคนที่ตายไป ขนาดวันที่ 7 ที่หอประชุมใหญ่ ถามว่าถ้าต้องออกมาชุมนุมคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญเอาไม่เอา ทุกคนตะโกนลั่นว่าเอา ถามว่าทำงานเป็นไหม 193 วันที่ชุมนุมถ้าคุณทำงานไม่เป็นคุณเจ๊งไปแล้ว ไหนจะต้องบริหารความขัดแย้ง ไหนต้องบริหารเรื่องยุทธศาสตร์ บริหารกำลังทรัพย์ จิตวิญญาณตรงนี้มันถ่ายทอดมายังพรรคการเมืองใหม่หมดแล้ว พรรคการเมืองใหม่ก็ต้องเสียสละเหมือนกับพันธมิตรเสียสละเข้ามาชุมนุม"
 
"นักการเมืองที่เข้ามาร่วมพรรคการเมืองใหม่ต้องรู้ว่าการเมืองใหม่คือการเสียสละอย่างแท้จริง เสียสละตัวเองเข้ามา ไม่ใช่เข้ามาแล้วเพื่อกอบโกย อันนี้ชัดเจน สองต้องซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์นี่สำคัญมากเพราะว่าชาติบ้านเมืองทุกวันนี้มันไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปัญหาการจาบจ้วงสถาบันเพียงอย่างเดียว เป็นปัญหาของความซื่อสัตย์ การคอรัปชั่นปีหนึ่งเป็นแสนๆ ล้าน โครงการแต่ละโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการ NGV โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการสนามบินใหม่ โครงการถนนปลอดฝุ่น นี่คือเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น และมันผ่องไปเป็นภาระประชาชนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น นักศึกษาประชาชนต้องใช้รถไฟฟ้าราคาแพง สนามบินต้องคิดค่าบริการแพงขึ้น ทุกอย่างต้องแพงขึ้นเหตุเพราะนักการเมืองเข้าไปกอบโกย และบางคนมาอ้างว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วตั้งหน้าตั้งตากอบโกย เขาไปมองประเด็นว่าความผิดพลาดใหญ่ของคุณทักษิณก็คือไปจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณทักษิณไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นถ้าพรรคการเมืองพรรคใดก็ตามประกาศว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แตะต้องไม่ได้ จงรักภักดี ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ดังนั้นเขาก็ตั้งหน้าตั้งตาโกงได้ แต่เขาหารู้ไม่ว่าการโกงแบบนี้คือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์จึงเป็นหัวใจที่สำคัญมาก"
 
"กล้าที่จะเปลี่ยน กล้าไหมล่ะที่จะออกกฎหมายในเรื่องของการค้าปลีกให้มันชัดเจนเลย กล้าไหมที่จะปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ปตท. เพื่อให้รัฐบาลในที่สุดแล้วเป็นเจ้าของ กล้าไหมที่จะไปบังคับให้อุตสาหกรรมพลังงานลดค่าการกลั่นให้น้อยลง กล้าไหมที่จะบอกว่าเราต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ไปปะทะกับปุ๋ยเคมีซึ่งนายทุนเป็นเจ้าของ กล้าไหมที่จะบอกว่าต่าบริการโทรคมนาคมต้องลง กล้าไหมที่จะต้องเพิ่มภาษีบันเทิง เพิ่มภาษีสินค้ามอมเมาประชาชน กล้าหรือเปล่าที่จะเพิ่มภาษีเหล้าขาวเพื่อให้คนกินเหล้าน้อยลง พวกนี้ต้องใช้ความกล้าหาญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าเราทำงานเป็น เราเสียสละ เราซื่อสัตย์ เรากล้าหาญ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เราคิดเองนะ แต่เป็นจิตวิญญาณที่เราต้องรับต่อเนื่องมา และเราต้องรับตรงนี้เอาไว้ นี่คืออุดมการณ์พรรค"
 
"หลายคนบอกว่าเฮ้ยพรรคคุณใช้นโยบายทฤษฎีใคร ไม่มีทฤษฎี เราไม่มีมาร์กซิสม์ เราไม่มีเหมาอิสม์ เราไม่มีซ้ายจัดเราไม่มีซ้ายอกหัก เรามีอยู่อย่างเดียว ส่วนรวมได้ ส่วนรวมได้จริงๆ ท่านจิรายุ อิศรากูร ณ อยุธยา ท่านพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้สร้างความสมดุล อันนี้เราเห็นด้วยและสิ่งที่เราพยายามจะทำคือสร้างความสมดุล เราเรียนรู้มากจากการต่อสู้ 193 วัน สิ่งที่เราเรียนรู้มากที่สุดคือการมีภราดรภาพ เมืองไทยไม่เคยมีภราดรภาพเลย จนกระทั่งมีการชุมนุม วงหนึ่งมีไฮโซ หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ ถือตะกร้าปิกนิคมา เปิดออกมามีปลาแซลมอน มีเนยแข็งฝรั่ง มีไวน์ฝรั่งเศส ติดกันร่วมวงกันเลยพี่น้องจากอีสานนั่งกินแจ่วกินปลาร้า กินส้มตำ และ 2 ฝ่ายนั่งคุยกัน คนอีสานคนอุดรนอนที่เดียวกับคนใต้ ยะลา ปัตตานี และรักกัน ผมไม่เห็นความขัดแย้ง ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการฆ่ากันที่ภาคใต้ ภราดรภาพมันเกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าเมืองไทยจริงๆ แล้วสร้างภราดรภาพได้ ดังนั้นใครล่ะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดภราดรภาพตรงนี้ นี่คือสันติสุขสันติภาพที่แท้จริงที่เกิดขึ้น เหมือนกับเราบอกว่าสิทธิเท่าเทียมกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลพูดแต่ปาก แต่รัฐบาลให้สิทธิคนมีเงินมากกว่าสิทธินายทุนเล็ก ถ้าผมพูด ถ้าพรรคการเมืองใหม่จะบอกเลยว่าสิทธิการทำมาหากินต้องเท่ากัน ทุนใหญ่กับทุนเล็กรังแกกันไม่ได้ เหมือนกับสิทธิของการทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องเท่ากัน ไม่ใช่ไทยรัฐมีสิทธิมากกว่าไทยโพสต์หรือมากกว่าผู้จัดการ หนังสือพิมพ์เล็กหนังสือพิมพ์ใหญ่มีภราดรภาพเท่าเทียมกันหมด ตรงนี้มีความหมายลึกซึ้ง ถ้าเราเชื่อตรงนี้เราต้อง make sure ว่าทุนใหญ่ไม่รังแกทุนเล็ก ยกตัวอย่างง่ายๆ เทสโกโลตัสต้องไม่รังแกโชห่วย เราก็ค่อยไปหาวิธีการไม่ให้เขารังแกกัน แต่ว่าเขาอยู่ได้ด้วยกันทั้งคู่ โชห่วยก็เจริญเติบโตต่อไปได้ ทุนใหญ่ก็อยู่ได้ เทสโกโลตัสอาจจะไม่อยู่ในเมืองอาจจะต้องมาอยู่นอกเมือง เทสโกโลตัสไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับให้เจ้าของที่เขาทำสินค้าเขาขายดี ส่งเข้าไปขายในเทสโก จนวันหนึ่งเทสโกบอกว่าต่อไปคุณส่งมาขายได้แต่ต้องใช้ยี่ห้อเทสโกโลตัส อย่างนี้เป็นการรังแกทุนเล็ก คนที่ทำสินค้าเล็กๆ ก็จะเป็นทาสเทสโกไปตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้พรรคการเมืองใหม่ไม่ยอม หรืออีกนัยหนึ่งเรากำลังจะบอกทุนต่างๆ ที่เคยชินกับการกดขี่ขูดรีดเอากำไรจากผู้ที่ส่งของซัพพลายเออร์ว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องกำไรน้อยลงมานะ คืนกำไรให้ประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือหลักการของพรรคการเมืองใหม่"
 
 
สู้สองแนวทาง
 
พันธมิตรยังอยู่ แล้วจะแยกกับพรรคการเมืองใหม่อย่างไร สมมติจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ พันธมิตรจะออกมาเดินขบวนหรือว่าพรรคการเมืองใหม่ออกมาคัดค้าน
"เราต้องเข้าไปร่วมด้วย เราก็จะเข้าคัดต้านในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง เรากับพันธมิตรนี่เนื้อเดียวกันนะ ยืนยันเลยไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะเราเกิดจากเขา เมื่อเราเกิดจากเขาแล้วฉันทามติเขาเป็นอย่างไรเราเล่นด้วย เราจะไม่มีการทำอะไรก็ตามที่ไปขัดแย้งต่อปรัชญาและวิธีการแนวความคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาเป็นพลังแห่งศีลธรรม พันธมิตรจะไม่มีวันที่เคลื่อนไหวและแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้ผมไม่ติดคุก ถ้าวันหนึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าผมติดคุก พันธมิตรจะไม่มีวันเคลื่อนไหวแก้กฎหมายนี้ นี่ยกตัวอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พันธมิตรทำเป็นสิ่งซึ่งพลังศีลธรรมต้องทำ ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง เมื่อยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องอย่าว่าแต่พันธมิตรเลย ถ้ากลุ่มเสื้อแดงยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องในศีลธรรมพรรคการเมืองใหม่ก็ร่วมด้วย"
 
 
จะไม่มีแยกแยะระหว่างความเป็นพันธมิตรกับความเป็นพรรคการเมืองหรือ
"มันแยกไม่ได้ จะแยกได้อย่างไร สมมติว่าเรามี ส.ส.เข้าไปในสภา เราก็ทำหน้าที่ของ ส.ส. สมมติเราเสียงน้อยกว่าแต่เราเห็นว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลหรือคนที่มีเสียงมากกว่ากำลังทำผิด พันธมิตรเขาสามารถที่จะตัดสินได้ ถ้าเขาตัดสินปังเขาเห็นว่าประเด็นอันนี้ไม่ใช่ เราสามารถเข้าร่วมได้ เราร่วมทั้งสภาและนอกสภา"
 
"ถ้าคุณอยู่ในวงการเมืองมานานพอสมควรจะจำได้ว่าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ โพกหัวและพาชาวใต้มาเย้วๆ อยู่หน้าทำเนียบ มี-เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมวันนั้นคุณสุเทพไม่ไปสู้ในสภา ทำไมเอาประชาชนชาวสุราษฎร์มา หรือใครก็ตามในพรรคเพื่อไทยขึ้นไปบนเวทีเสื้อแดง ผมเห็นมีตลอดเลย ไม่ว่าจะเป็นคุณยิ่งลักษณ์ เจ๊แดง ไม่ว่าใครก็ตาม ทำไมคุณทำล่ะ แต่คุณบรรหารไม่เคยทำเพราะคุณบรรหารไม่เคยมีมวลชน คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่เคยทำเพราะคุณสุวัจน์ไม่มีมวลชน มีแต่หัวคะแนน"
 
"ฉะนั้นผมมองว่าการเมืองภาคประชาชนใหญ่กว่าการเมืองในสภา เพราะสภาไม่เคยมองเห็นประชาชนอยู่ในสายตามานานแล้ว เหตุผลก็เพราะสภามองเห็นประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย 4 วินาทีเท่านั้น เขาซื้อเสียงมา 500 บาท เอาให้หัวคะแนนพากลุ่มมา 100 คน 500 บาทและบอกล่วงหน้าให้กาเบอร์ 4 ประชาชนสูญเสียสิทธิตั้งแต่ยอมรับเงิน 500 บาทแล้ว ถึงแม้ไม่รับ 500
บาท ประชาชนไปลงคะแนนเสียงด้วยความซื่อใสบริสุทธิ์ พอลงเบอร์ 4 ปั๊บคุณนับหนึ่งถึงสี่ 4 วินาที สิทธิคุณหมดแล้ว เพราะ ส.ส.เอาสิทธิตรงนี้เข้าไปและบอกว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผมเข้ามาเพราะฉะนั้นผมทำอะไรก็ได้ นั่นคือวิวาทะทะเลาะกันมาตลอดว่าคุณมาจากการเลือกตั้งจริงแต่ว่ามติของประชาชน สิ่งที่คุณทำให้ประชาชนเดือดร้อนคุณไม่เคยสนใจ เหมือนอย่างมาบตาพุด ทุกคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลโวยวาย การลงทุนเสียหาย คิดถึงทุนแต่ไม่ได้คิดถึงประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ได้นึกถึงสิ่งแวดล้อมที่จะอยู่กับมาบตาพุดไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ถามว่าระหว่างทุนกับประชาชนคุณจะเลือกตรงไหน นี่คือข้อท้าทาย ฉะนั้นผมคิดว่าการเมืองใหม่มีข้อดีอย่าง มันจะเริ่มทำให้กระบวนทัศน์ของนักการเมืองเก่าบางคนเริ่มเปลี่ยนไปบ้าง ถ้ามองในแง่ดีนะ หรือไม่ ถ้ามองในแง่ร้ายคือพวกนี้จะตกขอบไปเลย และพวกนี้จะกลายเป็นขยะทางประวัติศาสตร์ ที่จะไม่มีใครพูดถึงอีกต่อไป"
 
 
นักรัฐศาสตร์มองว่าการเคลื่อนไหวไล่ระบอบทักษิณของพันธมิตร เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ extreme พอมาเป็นพรรคการเมืองต้องปรับตัว จะต้องปรับตัวไหม
"ผมอยากให้นักรัฐศาสตร์ทบทวนตัวเองสักนิด เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่ทำให้นักรัฐศาสตร์ต้องศึกษาใหม่แล้วนะ อย่าไปใช้ทฤษฎีเก่า เพราะมันไม่มีในทฤษฎี เด็กที่เรียนรัฐศาสตร์ทุกคนไม่เคยเจออันนี้ เมื่อไม่เคยเจออันนี้อาจารย์รัฐศาสตร์ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ แต่มานั่งวิเคราะห์วิจารณ์จากภูมิปัญญาตัวเอง จากการอ่านหนังสือ ถ้าเรามองย้อนหลังดีๆ เรามองกันอย่างเป็นธรรม ประเด็นไหนบ้างที่พันธมิตรสู้แล้วเป็นประเด็นที่ผิด เราไล่ระบอบทักษิณเพราะอะไร เพราะระบอบทักษิณทำอะไรไว้บ้าง และทำไมเราไม่ไปไล่ทางสภา เพราะระบอบทักษิณใช้เงินปูทางสร้างเผด็จการในสภา แก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ล่าสุดที่พิสูจน์ชัดของระบอบทักษิณคืออะไรคือการแก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่พันธมิตรสู้ไม่ใช่จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาสู้ ทำไมเราต้องลุกขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 ก็เพราะว่ารัฐบาลชุดคุณสมชายคุณสมัครต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่ออะไร เพียงเพื่อให้คุณทักษิณพ้นผิด ถ้านักรัฐศาสตร์เข้าใจตรงนี้ว่านี่คือการเมืองภาคประชาชน เพราะรัฐสภาเขาไม่สามารถพึ่งได้ เพราะรัฐสภาถูกผูกขาดด้วยเงิน ภาคประชาชนมีอยู่ทางเดียวก็คือต้องประท้วงตามสิทธิที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มันดู extreme ตรงไหน มันดู extreme ตรงที่เมื่อชุมนุมแล้วชี้แจงแล้วประท้วงแล้วรัฐสภาก็ยังไม่ฟัง เมื่อรัฐสภาไม่ฟังเราก็บุกเข้าไปที่ทำเนียบ เข้าไปประท้วงให้เห็น เพราะสิ่งที่เราต้องการอยู่อย่างเดียวคือไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ เพียงแค่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกาศออกมาว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญจนกว่ามีมติทั่วประเทศไทยยอมให้แก้ เราไม่มีความชอบธรรมจะอยู่แล้ว เราจะถอยทันที แต่กลับไปใช้วิชามารกลับไปใช้ความเจ้าเล่ห์แสนกล พยายามสอดแทรกมาตลอดเวลา ใช้เวลาจังหวะเผลอเข้าไป และถามหน่อยว่าการที่เราไปบุกล้อมรัฐสภา เราไปด้วยอาวุธหรือเปล่า เราไม่มีอาวุธ การป้องกันสามารถจะป้องกันได้ ปิดสภา ในที่สุดก็ไม่ต้องประชุมสภาเสีย หรือเลื่อนไปประชุมที่อื่น ไปประชุมเชียงใหม่พันธมิตรก็ไม่มีปัญญาไปเชียงใหม่หรอก แต่ไม่ทำ ต้องการหาเหตุปราบปราม เพราะฉะนั้นวันที่ 7 ต.ค.ถามว่าใครเริ่ม เราไม่ได้เริ่มเลย การไปสนามบินเพราะอะไร เพราะคุณสมชายไปประชุมครม.ที่ดอนเมือง เราก็ไปล้อมดอนเมืองเพื่อให้รู้ว่าเราไม่เห็นด้วย คุณสมชายก็หนีจากดอนเมืองไป และทำไมเราไปสุวรรณภูมิเพราะคุณสมชายกำลังจะบินกลับมาจากเปรู มันมีเหตุมีผลของมันทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เราไป"
 
"ที่ผมเสียใจวันนี้คือนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาปัญหาอย่างถ่องแท้ เอาทฤษฎีที่ตัวเองเรียนมาและเอาทฤษฎีของรัฐสภาต้องเป็นอย่างนี้นะ ส.ส.ต้องเป็นอย่างนี้ การประท้วงถ้า extreme ไม่ถูกต้อง เขาไม่เคยพิจารณาว่าเรา extreme ตรงไหน ถ้าเขามองว่าการที่เราไปบุกดอนเมือง extreme ก็ต้องมองว่าชาวนาเคยมาล้อมไหม แต่บังเอิญชาวนานั้นไม่มีพลังทางปัญญามากเท่ากับพันธมิตร พันธมิตรแต่ละคนคุณอย่าไปประมาทเขา พูดถึงการศึกษาแล้วหลายๆ คนสูงกว่าพวกเราเยอะ มีทั้งอดีตอธิบดี มีทั้งนายพลมา คนอย่าง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ เป็นคนที่หลอกมาได้ง่ายๆ หรือ คนอย่างพล.อ.ปานเทพ อดีตแม่ทัพภาค 4 หลอกเขามาได้หรือ ไม่มีทาง แต่คนพวกนี้หลอมใจเดียวกันมาเห็นว่าปัญหาของชาติปัญหาตรงนี้ ขออย่างเดียวรัฐบาลฟัง ถ้ารัฐบาลฟังแล้วหาทางออกที่มีเหตุผล เหมือนอย่างการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำไมต้องผ่านวาระ 1 แล้วค่อยทำประชามติ ทำไมไม่ทำประชามติก่อน ทั่วประเทศ ถ้าประชามติออกมาอย่างไรพันธมิตรพร้อมที่จะรับประชามติ แต่ว่าทำไมฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึงเปลี่ยนใจยอมแก้ตอนนี้ เพราะว่าคุณทักษิณเป็นคนสั่ง คุณทักษิณขี้เกียจรอ แล้วจะไม่ให้เราสู้ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะผมทะเลาะกับทักษิณ คุณทักษิณกลับมาเป็นมนุษย์ที่มีศีลมีธรรม มีหิริโอตตัปปะ เพียงหยุด คุณทักษิณหยุดคนเดียวทุกอย่างหยุดหมด เพราะถ้าคุณทักษิณหยุดคุณเฉลิมก็หยุด บิ๊กจิ๋วก็หยุด พรรคเพื่อไทยก็หยุด เพราะฉะนั้นถ้าคุณทักษิณไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร"
 
 
ประเด็นคือจากการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมาเป็นพรรคการเมือง ต้องปรับตัวไหม
"ผมคิดว่าพันธมิตรวันนี้การเคลื่อนไหวของเขา เขาไม่ได้ซี้ซั้วเคลื่อนไหว แม้กระทั่งในการเดินทางไปเขาพระวิหารของคุณวีระ สมความคิด แกนนำพันธมิตรเขาก็ยังมีท่าทีที่นิ่งเฉย เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันข้ามขั้นตอนไปนิดหนึ่ง ขั้นตอนที่ถูกต้องแกนนำพันธมิตรเขามีความรู้สึกว่าควรที่จะไปเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยก่อน ว่าปัญหาเขาพระวิหารขอให้แก้ภายใน 7 วัน 14 วัน แต่คุณวีระก็มีจุดยืนของเขา ฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่าพันธมิตรในบางครั้ง คุณวีระเขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นพันธมิตร เขาคิดว่าเขาเป็นเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นเราถือว่าเราเป็นเครือข่ายเดียวกันเราก็ให้การสนับสนุน"
 
"จะเห็นว่าพันธมิตรไม่ได้ทำอะไรเลย ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล เสื้อแดงออกมาประท้วงมาไล่ประชาธิปัตย์ที่พัทยา พันธมิตรไม่ได้ออกนะ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่ออกเพราะเราถือว่าเป็นปัญหาระหว่างเสื้อแดงกับรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้ไขไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ถ้าอะไรเป็นเรื่องส่วนรวม อะไรเป็นเรื่องหลักการแล้วพันธมิตรจะต้องมีมติ ตรงนี้ต่างหากที่ผมคิดว่าพันธมิตรทำไปตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาว่า extreme หรือไม่ extreme และไม่ได้มีปัญหาว่าเมื่อมีพรรคการเมืองใหม่แล้วพันธมิตรต้องลดบทบาท พันธมิตรเขาพร้อมจะทำทุกเมื่อที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นและคิดว่ามันกระทบกระเทือนเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองใหม่ก็มีหน้าที่ที่จะสร้างปัญญาให้คนเห็นว่าพรรคการเมืองใหม่คือทางออก ทางเลือกที่พรรคการเมืองเก่าไม่สามารถจะให้กับประชาชนได้ ส่วนจะได้เลือกเข้ามามากน้อยแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่งเราไม่สนใจ เราสนใจอย่างเดียวว่า ดอกบัวมันเกิดจากโคลนตมฉันใด พรรคการเมืองใหม่ต้องพยายามทำตัวให้เป็นดอกบัว ให้คนเห็นว่าท่ามกลางน้ำเน่าทั้งหลายนี้มันยังมีน้ำดี มันยังเป็นความหวังของสังคมไทย มันยังเป็นความหวังของคนที่มีอุดมการณ์"
 
 
ขบวนการเคลื่อนไหวทุกขบวนการ ไม่ว่าในประวัติศาสตร์หรือในต่างประเทศ ต้องมีกลุ่มประชาชนที่มีศรัทธาแรงกล้า แต่พอกลายเป็นพรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงกับชาวบ้าน จำเป็นไหมที่ต้องลดระดับความเข้มข้นลง แม้ไม่ถึงขนาดเดินไหว้ชาวบ้าน แต่เข้าหาคนที่เป็นกลางๆ ได้มากขึ้น
"ผมคิดว่าประชาชนที่เป็นกลางคือปัญหาใหญ่ของเรา เราไม่เคยคิดว่าชาติไทยควรจะเป็นชาติที่เป็นกลาง เพราะเรายืนยันตลอดเวลาจนกระทั่งวันนี้และจนกระทั่งผมตาย ว่ากลางไม่มี มีแต่ถูกกับผิด ดีกับชั่ว การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้พ้นผิดนี่ผมคิดว่าอันนี้ผิด ถ้าผิดแล้วเราจะมากลางระหว่างถูกผิดไม่ได้ ผมยกตัวอย่างนี้มานานแล้ว ข้าวกับขี้ เราเลือกกินข้าวเพราะเราไม่กินขี้ ถ้าคนเป็นกลางก็เอาข้าวผสมขี้สิ แล้วกิน มันไม่มี จะอยู่ถูกๆ ผิดๆ ไม่ได้ จะอยู่ชั่วกับดีร่วมกันไม่ได้ นี่คือปัญหาใหญ่คือปัญญาของสังคมไทย เพราะฉะนั้นประชาชนที่คิดว่าตัวเองเป็นกลางตัวเองกำลังทำผิดอย่างมหันต์ เพราะว่าตัวเองไม่รู้จักว่าถูกคืออะไรผิดคืออะไร ชั่วคืออะไรดีคืออะไร และประชาชนจะรู้ได้อย่างไร ประชาชนต้องมีความรู้ ความรู้นั้นหนึ่งมาจากสื่อ เมื่อสื่อไม่พร้อมจะให้พันธมิตรก็พร้อมจะให้ และจุดยืนพันธมิตรตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันนี้เราไม่เคยเปลี่ยน เราโดนยิงตายไป 10 ศพ พิการไป 10 กว่าคน บาดเจ็บเป็นร้อยๆ คน เราก็ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนเราเลยแม้แต่นิดเดียว และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราแยกออกจากกันไม่ได้เพราะเราเป็นเครื่องมือเขา และคนที่จะตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่คือพันธมิตรนั่นเอง พรรคการเมืองใหม่จะถูกตรวจสอบจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนอย่างเข้มข้นมากกว่าทุกพรรค เพราะเราเป็นลูกของเขา เราเป็นสาขาหนึ่งของเขา เราไม่ได้เป็นเจ้าของเขา อันนี้ต้องเคลียร์กันให้ชัดเจน"
 
 
สมมติในอำเภอหนึ่งมีพันธมิตรสักพันคน ก็ยังมีประชาชนทั่วไปอีกเป็นหมื่นคน พรรคการเมืองใหม่จะเอาชนะใจประชาชนทั่วๆไปอย่างไร
"เราไม่ได้หวังว่าเราจะต้องมีกี่เสียง ผมตอบตัวเองตลอดเวลาว่าการเข้ามาสู่การเมืองใหม่นั้นอุปมาอุปไมยเหมือนการเริ่มพันธมิตร ให้เขาเห็นด้วยอุดมการณ์เรา แต่วันนี้อย่างน้อยในหมื่นคนที่ในอำเภอนั้นยังมีพันคนที่เป็นพันธมิตร เราเพียงแต่หวังว่าพันคนนี้จะเป็นหัวคะแนนเราที่จะออกไปขายความคิด ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ใช่ว่าตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว เลือกตั้งแล้วจะเป็นรัฐบาลทันที ไม่ใช่ ใช้เวลา อดทน ขอให้พรรคการเมืองใหม่นั้นเป็นทางออกทางการเมืองที่ใสสะอาดแล้วค่อยๆ เจริญเติบโตไปด้วยคุณธรรมศีลธรรม ผมก็พอใจแล้ว ผมเพื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะพอใจด้วย"
 
 
พูดได้ไหมว่าไม่คิดจะเป็นนายกฯ ด้วยการได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่ง แต่ต้องการสร้างพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐาน
"ถ้าเราได้มากกว่าครึ่งเราต้องเป็นสิ เพราะเราเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ แต่เรากำลังพูดว่าเราไม่ได้เข้าไปแล้วหวังที่จะเป็นเลย เรารู้ว่ากระบวนการสำคัญที่สุด คนที่อ้างตัวว่าเป็นกลางคือคนที่เราต้องให้การศึกษา สมมติว่าครั้งนี้เขาเลือกเราเข้ามา ในอำเภอนี้หมื่นคน เราหาได้อีกพันคน เรามี 2,000 คน ฝ่ายตรงกันข้ามซื้อเสียงมา 8,000 คน เขาได้ไปเราไม่ว่า แต่เราทำตัวเราให้เป็นบัวเหนือโคลนเหนือตม อยู่ในสภา ส.ส.ในสภา ตัวแทน 8,000 คนมันไปทำความชั่วทำเลว อีก 8,000 คนจะเริ่มหันมามองเราแล้ว งวดต่อไปเราอาจจะได้เพิ่มอีกพันสองพัน มันใช้เวลา การให้ปัญญาคนต้องใช้ความอดทน และการให้ปัญญาคนเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมีสิทธิเลือก 2 ทางเดิน ทางเดินหนึ่งคือเป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้า 28 องค์ ที่นิพพานไปแล้วและเก็บนิพพานอยู่กับตัวเอง แต่พระพุทธเจ้าตัดสินใจว่าเมื่อตรัสรู้แล้วจำเป็นต้องเดินทางเผยแพร่ธรรม จะต้องเผชิญกับมาร ต้องอดทนทุกอย่าง หน้าที่ของพรรคการเมืองซึ่งสืบทอดเจตนารมณ์จากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องการที่จะเริ่มให้ปัญญาทางการเมืองกับประชาชน ต้องให้ด้วยความอดทน ต้องอดทนต่อการเสียดสี ทนต่อการให้ร้ายป้ายสี ในประวัติศาสตร์โลกไม่เคยมีอธรรมที่ชนะธรรมได้ แต่ว่าธรรมกว่าจะชนะได้ต้องผ่านการเคี่ยวกรำผ่านการทดสอบ"
 
 
ปัญหาของพันธมิตรคือการไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นต่าง โจมตีคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับการเป็นพรรคการเมือง
"ถ้าอย่างนั้นผมยกตัวอย่างให้แล้วกัน ความเห็นต่างของคุณคือกลุ่มสีขาว กลุ่มสีขาวเป็นกลุ่มที่-โทษนะ-หน้าไหว้หลังหลอก เพราะว่ากลุ่มสีขาวมาโจมตีพันธมิตร แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเขาโจมตีพันธมิตร กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านเลยแม้แต่นิดเดียว กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงความเห็นใจประชาชนที่ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนกรณีที่เสื้อแดงมาเผาบ้านเผาเมือง นิ่งเงียบเฉย แต่กลุ่มสีขาวจะยื่นเข้ามาในจังหวะเวลาที่จะบอกว่าเฮ้ยต้องเป็นกลางนะ เรารักสันติ กลุ่มสีขาวไม่เคยถามตัวเอง ย้อนกลับไปคำถามเก่าว่าอะไรบ้างที่พันธมิตรสู้มาแล้วมันไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หามาสักข้อหนึ่ง ถ้ากลุ่มสีขาวเห็นว่าสิ่งที่พันธมิตรทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่เห็นด้วยวิธีการ ก็มาพูดกันว่าไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร แต่ไม่ใช่บอกว่าพันธมิตรไม่ฟังความคิดเห็น พันธมิตรฟังตลอดเวลา มีอยู่เยอะ มีอยู่หลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของพันธมิตร ผมเชื่อว่าถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว กลุ่มสีขาวหลังจากเห็นตัวอย่างมาเรื่อยๆ พวกที่เป็นกลางเริ่มมาเข้าข้างเรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ แต่ว่าเราต้องอดทน กว่าที่เขาจะเข้าใจเราบางส่วน เราเสียเลือดเสียเนื้อไปมากมาย"
 
 
ถ้าพูดอย่างให้ความเข้าใจ เวลานั้นเหมือนทำสงคราม พันธมิตรต้องปฏิเสธความเห็นต่างเพื่อไม่
ให้ไขว้เขว แต่เมื่อเป็นพรรคการเมือง จะเป็นพรรคของพันธมิตรหรือพรรคของมวลชน ถ้าเป็นพรรคมวลชนก็ต้องเปิด
"เราเปิดกว้างแน่นอน แต่เราเปิดกว้างบนพื้นฐานที่อุดมการณ์เราไม่เปลี่ยนแปลง อุดมการณ์เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ ทำงานเป็น เราไม่เปลี่ยนแปลง"
 
 
พันธมิตรจะพลิกจากผู้ตรวจสอบมาเป็นพรรคการเมืองต้องถูกตรวจสอบ
"เราจะถูกตรวจสอบโดย 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือสังคมทั่วๆ ไป สองโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ จุดยืนเราพร้อมให้ตรวจสอบ การกระทำเราก็พร้อมให้ตรวจสอบ เราจะเป็นคนซึ่งยอมให้ตรวจสอบมากกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย"
 
การตรวจสอบคงไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่จะเป็นการถกเถียงเรื่องแนวคิด
"เราพร้อม แต่ว่าตราบใดก็ตามการตรวจสอบอันนี้ไม่ทำให้หลักการเราเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ามาตรวจสอบหลักการเรา เรายืนบนหลักการที่ถูกต้อง และเราก็จะยืนหยัดอยู่อย่างนี้"
 
 
ถ้าเปรียบว่าผ่านช่วงทำสงครามมาแล้ว ตอนนี้ต้องอ่อนท่าทีลงไหม
"ผมไม่อยากใช้คำว่าการอ่อนท่าที ผมอยากจะใช้คำว่าเปิดกว้างรับแนวร่วมมากขึ้น แต่จะเปิดกว้างอย่างไรก็ตาม ก็ยังยืนหยัดอยู่บนหลักการ 4 ข้อ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพราะพรรคการเมืองใหม่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิมพรรคพลังธรรม ซึ่งพรรคพลังธรรมมาได้ครึ่งทางแล้ว พรรคพลังธรรมที่ผิดพลาดที่สุด พี่ลองเองก็ยอมรับ คือการไปเอาทักษิณมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะรู้จักคนรู้จักหน้าไม่รู้จักใจ เราจะไม่มีทำความผิดพลาดนั้น แต่เราจะยอมรับฟังความเห็นมากขึ้น แน่นอนที่สุด"
 
 
ชีวิตไม่ใช่ของผม
 
ส่วนตัวรู้ไหมว่ามีจุดอ่อนเยอะ
"มีเยอะ แต่วันนี้มีหน้าที่สร้างพรรค ผมมีหน้าที่สมานความสามัคคีในกลุ่มพันธมิตรด้วยกัน พันธมิตรเรามี 76 จังหวัด แต่ละจังหวัดนี่ไม่ยอมใครทั้งสิ้น ผมหน้าที่ทำให้ทุกคนหลอมความคิดหลอมอุดมการณ์เข้าไป จุดอ่อนของผมมี กร้าว ผมไม่ยอมคน ผมคิดอะไรผมพูดไปอย่างนั้น ในวงการสื่อมวลชนเกลียดขี้หน้าผม ช่วยไม่ได้ แต่วันที่ผมตายไป เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อพวกเขามองย้อนหลังแล้วเขาจะเสียใจที่สังคมไทยไม่มีคนอย่างผม"
 
 
คุณสนธิเป็นคนที่คนรักก็รักมาก คนเกลียดก็...(พูดยังไม่จบ)
"เกลียดมาก ผมไม่แคร์ เพราะผมไม่ใช่คนกลางๆ เพราะผมมีจุดยืนที่ชัดเจน"
 
 
แล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไหม
"เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือถึงที่สุดแล้วคนที่รักผมเขาศรัทธาในตัวผม เขาจะทุ่มเทให้ผม คนที่เกลียดผมนี่เกลียดผมจริงๆ แต่ถ้าเป็นคนที่เกลียดด้วยปัญญา และเป็นคนที่มีสติมีปัญญา ในที่สุดผ่านไประยะเวลาหนึ่ง... อย่าลืมนะปี 2548 กว่าผมจะมาถึงวันนี้ได้ กว่าคนจะยอมรับผมได้ ผมต้องทำให้คนที่ไม่ไว้ใจผมและเกลียดผม เริ่มค่อยๆ พลิกทีละนิด เออมันสู้จริงโว้ย เฮ้ยมันของจริงไม่ใช่ของปลอม เพราะจะเริ่มด้วยว่าสนธิ-คำพูดที่เป็นมาตรฐานที่ทุกคนใช้ ทุกรัฐบาลใช้ ก็คือ-มันขอเขาไม่ได้มันถึงด่าเขา เฮ้ยพอมันไม่ได้ดังใจมันก็เล่นงานเขา นี่เป็นคำพูดทุกครั้ง แม้กระทั่งในพรรคประชาธิปัตย์ พอผมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์เขาหาว่าผมไปขอโครงการแล้วเขาไม่ให้ คนของพรรคประชาธิปัตย์พูด คนของพรรคเพื่อไทยพูด"
 
"มันต้องใช้เวลาช่วงหนึ่ง คนที่ขมขื่นที่สุดต้องอดทนที่สุดคือผม ผมก็ต้องอดทนมาตลอด จนกระทั่งผ่านมาถึงปี 2552 จากกลุ่มพันธมิตรหลายกลุ่มที่ไม่ไว้ใจผมเริ่มไว้ใจผม เชื่อใจผม ตอนที่เราเริ่มพันธมิตรใหม่ๆ ไม่มีใครไว้ใจผม พี่พิภพก็ไม่ไว้ใจผม พี่สมศักดิ์ก็ไม่ไว้ใจผม ไอ้ใสก็เช่นเดียวกัน มีพี่ลองคนเดียวที่เชื่อใจผม แต่มาวันนี้ทุกคนยอมรับผม ทุกคนยอมรับความจริงใจผม ทุกคนยอมรับความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญของผม เพราะฉะนั้นจากนี้ไป อีก 2-3 ปีข้างหน้าก็เป็นภารกิจซึ่งผมต้องอดทน อดทนให้คนที่เกลียดผมเขามีความรู้สึกว่าในที่สุดแล้ว ถ้าเขามีปัญญามีสติเขาจะบอก เฮ้ย-เรามองสนธิผิดไป มันอาจจะดีก็ได้ แต่คนที่เกลียดเพราะสติมันแตก เพราะว่าความโมหะของมัน อันนั้นผมช่วยไม่ได้แล้ว ในโลกนี้จะต้องมีคนประเภทนี้อยู่ตลอดเวลา ผมต้องยอม นี่คือความเจ็บปวดของผมไง นี่คือคำตอบที่บอกว่าผมไม่อยากเป็นแต่ผมต้องเป็น เพราะเป็นแล้วมันต้องเจอหอกเจอดาบเจอธนูอยู่ตลอดเวลา ต้องอดทน ต้องอดทนเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือทำอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยได้ปัญญา"
 
 
การเป็นสื่อมวลชนทำให้ถูกตั้งคำถามมากด้วย
"แน่นอนที่สุด ซึ่งผมก็เฉยๆ ผมยังขำ ผมขำในเชิงที่เป็นวิชาชีพของสื่อมวลชน เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ใหญ่เทียมฟ้า สื่อมวลชนต่างประเทศมันยังแข่งกันทำ มันไม่ได้สนใจว่าใครเริ่มก่อน ผมยังจำได้สมัยคดีวอเตอร์เกท ประธานาธิบดีนิกสัน สองคนแรกที่ทำเรื่องนี้คือบ็อบ วู้ดเวิร์ด กับคาร์ล เบิร์นสไตน์ วอชิงตันโพสต์ พอมันตีข่าวไปวันแรก สิ่งแรกที่เขาทำคือวอชิงตันไทม์ นิวยอร์คไทม์ แอลเอไทม์ ทุกฉบับมันประชุมใหญ่ เฮ้ยทำไมวอชิงตันโพสต์ได้ฉบับเดียว ทุกคนมัน fight กันหมดเลย เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้ชนะวอชิงตันโพสต์ ปัญหาใหญ่ระดับชาติหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไทยกำลังจะเสียดินแดน ซึ่งใหญ่มาก แทนที่ทุกคนจะบอกว่าเฮ้ยทำไมผู้จัดการได้ไปคนเดียว คือทุกคนไม่ได้พูดว่าทำไมผู้จัดการได้ไปคนเดียว แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าเฮ้ยผู้จัดการลง อย่าไปลงแม่-มัน อันนี้คือข้อผิดพลาดของสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งการยิงผม มีอยู่ไม่กี่ฉบับที่สนใจ นอกนั้นแล้วช่างมัน ให้มันตายซะก็ดี"
 
 
พูดแบบนี้สื่อฟังก็ยิ่งจะไม่ชอบ หัวหน้าพรรคการเมืองต้องพึ่งสื่อนะ
"มันไม่ใช่ผม ผมเอาความจริงมาพูด ผมเอาธรรมมาพูด ถ้าผมต้องเปลี่ยนตัวผมเองเพียงเพื่อผมต้องการเอาใจสื่อ นี่ไม่ใช่การเมืองใหม่ เพราะผมถือว่าความจริง ความดีที่ผมทำ ถ้าสื่อเมืองไทยเห็น สื่อเมืองไทยให้การสนับสนุน ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลสังคมไทย แต่ถ้าสื่อเมืองไทยยังไม่เห็น ผมถือว่าเป็นความโชคร้ายของสังคมไทย ผมก็ต้องสู้ต่อไป เพราะว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชินซะแล้วกับการสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ว่ามันได้ผล เพราะถึงจุดจุดหนึ่งก็เริ่มมีคนเห็นใจ เริ่มมีคนเข้าใจเรามากขึ้น"
 
 
ที่บอกว่าคนรักมากเกลียดมาก บางด้านก็เหมือนกับทักษิณ
"ถูก แต่คุณทักษิณเวลาคนเกลียดคือเกลียดการกระทำของคุณทักษิณ ของผมที่เกลียดเกลียดเพราะหมั่นไส้"
 
 
ทักษิณแม้ไม่พูดถึงเรื่องผลประโยชน์ นิสัย ปาก ก็ทำให้คนหมั่นไส้
"ก็เพราะว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพอบวกผลประโยชน์เข้าไปด้วย แต่ว่าผมมันไม่มีผลประโยชน์ ฉะนั้นผมจะโดนเกลียดอยู่บนพื้นฐานของโคลน ของผมถูกเกลียดก็เพราะว่าจิตใจมันเกลียดไม่ใช่เหตุผลในการเกลียด"
 
 
ที่บางคนเกลียดเพราะเหมือนกับว่าพูดแล้วคนต้องเชื่อ ถูกทุกอย่าง เหมือนเป็นศาสดา
"ผมไม่เคยพูดแล้วขอให้ทุกคนเชื่อ ถ้าผมพูดอะไรแล้วไม่จริง ปี 2548-2552 สี่ห้าปีมันพิสูจน์ได้แล้วว่าสิ่งที่ผมพูดคุณมีสิทธิไม่เชื่อได้ แต่ทำไมคุณเชื่อ เพราะว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นความจริงทั้งนั้น"
 
 
บางคนอาจจะมองว่าต้องรักสนธิ ต้องเกลียดสนธิ แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง มีจุดเด่นจุดด้อย การที่เขามาร่วมกับพันธมิตรเขาอาจไม่ได้ศรัทธาคุณสนธิ แต่เพราะเขาต้องการไล่ทักษิณ
"ของธรรมดา ถ้าคุณยกตัวอย่างอย่างนี้มันมีหมดทุกอย่าง แต่สิ่งที่ผมพยายามจะพูดคือผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นศาสดา ผมพูดนี่เชื่อก็เชื่อ ไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน ทุกครั้งที่การชุมนุมตั้งแต่ปี 2548 มาผมยังจำได้ เวลาผมเปิดแถลงข่าว นักข่าวถามผมคำแรก เป็นคำถามที่คลาสสิคที่สุด คุณสนธิคิดว่าจะมีคนมาชุมนุมกี่คน ตลอดเวลา และผมก็จะตอบคำถามด้วยคำตอบที่คลาสสิคตลอดเวลา ผมบอกผมไม่สนใจว่าจะมีกี่คน จะมีร้อยคนผมก็จะขึ้นพูด เพราะผมเชื่อในสิ่งที่ผมทำ และผมก็มามองดูองค์ประกอบของพันธมิตรแล้ว องค์ประกอบพันธมิตรเป็นคนที่เรียนหนังสือสูง จบปริญญาตรี 60-70% ปริญญาโทก็เยอะ คนพวกนี้ไม่ใช่คนที่ผมไปซี้ซั้วพูดได้ แรกๆ เขาก็ไม่เชื่อ อย่างผมพูดเรื่องบ่อน้ำมันในเขมรในอ่าวไทย สมัยที่ผมออกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุม รู้ไหมใครที่พูดว่าผมเพ้อฝัน มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ท่านเป็นคนพูดเองว่าสนธิเพ้อฝัน แต่วันนี้ท่านมายอมรับว่าผมพูดจริง และจะพูดอีกเร็วๆ นี้ เรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งหลายคนบอกว่าผมเพ้อฝัน"
 
"บางครั้งคุณพูดความจริง ที่คุณพูดความจริงเพราะคุณมีความเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เพราะหนึ่งองค์ความรู้คุณบอกคุณ สองการที่คุณสัมผัสมามาก อ่านหนังสือมามากเห็นมามาก สามสัญชาตญาณคุณบอก 3-4 สิ่งรวมกันแล้วทำให้เมื่อพูดออกไปแล้วมันยังไม่เป็นจริง มันต้องใช้เวลาสักพักพิสูจน์ คำถามคือคุณจะยืนหยัดได้อย่างไร ในช่วงจากตรงนี้ถึงตรงนี้ ทนต่อไปเพื่อให้มาถึงตรงนี้และให้ความจริงมันเกิดขึ้น ตรงนี้คือความอดทนที่ต้องมี ผมไม่ได้สนใจหรอก ผมเชื่อว่าวันที่ผมตายไปแล้วเด็กรุ่นหลังเมื่อมาอ่านข้อเท็จจริง อ่านสิ่งที่ผมสู้มา เปรียบเทียบ เด็กรุ่นหลังเขาจะเป็นคนตัดสินเอง ว่ามันเป็นอย่างนี้เองหนอ ใช้คำพระก็คือมันก็เป็นของมันอย่างนี้แหละ"
 
 
เขาอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นผู้ร้ายหรือเป็นวีรบุรุษ แต่เป็นอาวุธของสังคม
"เป็นอาวุธของใครล่ะ ถ้าเป็นอาวุธของประชาชนผมเต็มใจให้เป็น ไม่เสียหายนี่"
 
 
คนจำนวนหนึ่งที่มาร่วมพันธมิตร เขาอาจจะไม่ได้เชื่อคุณสนธิ แต่เขาเห็นว่าล้มทักษิณได้ ถึงวันนี้เขาอาจจะรู้สึกว่าคุณสนธิควรหมดบทบาทแล้ว
"ก็เป็นสิทธิที่เขาจะคิดอย่างนั้นได้ ผมไม่ห้าม และเขาไม่อยากสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ผมก็ไม่ว่า เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่องค์กรที่ตายตัว มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณเป็นเรื่องความศรัทธา มีไหมคนที่ไม่ศรัทธาผม มี ผมแคร์ไหม ผมเฉยๆ ผมเพียงแต่หวังว่าเมื่อเขาทราบความจริงแล้วเขาจะเปลี่ยนใจ และผมไม่ต้องการให้เขามาศรัทธาผม มาศรัทธาผมทำไม ผมไม่ใช่เทพเจ้าผมไม่ใช่ศาสดา ไม่ต้องมาศรัทธาผม แต่ว่าเชื่อในสิ่งที่ผมทำหรือเปล่า และสิ่งที่ผมทำมันตรงใจคุณหรือเปล่า ถ้าตรงใจก็โอเค ถ้าคุณคิดว่าผมเป็นเครื่องมือในการล้มทักษิณ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วคุณไม่เชื่อผมอีกต่อไป ก็เป็นเรื่องของคุณอีกเหมือนกัน ผมไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ถ้าอย่างนั้นคุณไปตามเส้นทางคุณ ผมไปตามเส้นทางผม คือเดินตามเส้นทางของมวลชนส่วนใหญ่ที่เขาต้องการให้ผมมาทำการเมือง ถ้าคุณไม่เชื่อสิ่งที่ผมทำก็ไม่ต้องสนับสนุนผม"
 
 
กลุ่มฮาร์ดคอร์เป็นคนกลุ่มที่เชื่อคุณสนธิมาก พอเป็นหัวหน้าพรรคกลุ่มนี้อาจขยายบทบาท มันจะเป็นอุปสรรคกับกลุ่มที่สาม กลุ่มพลังเงียบที่พูดถึงไหม
"ไม่รู้สิ แต่ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่าเวลาผมไปต่างจังหวัดพี่น้องประชาชนก็ยังให้การต้อนรับผมอยู่เหมือนเดิม ผมไปหนองคาย เดินไปเที่ยวตลาดอินโดจีน พี่น้องก็วิ่งออกมา ถ่ายรูปกับผม กอดผม คุณป้าคุณย่าคุณยาย ลูกหลานเขาพาผมไปกราบท่านผมก็ไป ผมเป็นคนธรรมดา คือผมไม่ได้ยี่หระจากการซึ่งคนมีความรู้สึกว่าผมยิ่งใหญ่ไม่น่าเคารพนับถือ ผมวางเฉยมาก ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำผมทำดีให้ชาติบ้านเมือง ผมทำดีให้ส่วนรวม วันนี้ไม่เห็นคุณค่าผมวันหน้าก็ต้องเห็น และจริงๆ ผมก็ไม่อยากทำด้วยนะ ผมไม่อยากมาอยู่ในจุดนี้ ถามว่าย้อนหลังกลับไป ผมอยากจะทำอะไร ย้อนหลังกลับไปผมไม่อยากอยู่เมืองไทย ผมไม่อยากรับรู้สิ่งที่คุณทักษิณทำกับประเทศไทย แต่ถ้าผมรับรู้แล้วไม่ว่าผมอยู่ที่ไหนผมก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน"
 
"จริงๆ แล้วประชาชนไม่ควรเลือกผม 70% ที่เลือกผมจากการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ควรเลือกผมเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าเขาเลือกให้พี่พิภพ อ.สมเกียรติ พี่ลองเป็น หน้าที่ผมก็จบแล้ว แต่วันนี้ผมไม่มีสิทธิ ที่ผมไม่มีสิทธิเพราะถ้าผมปฏิเสธปัง อ้าว! แล้วมึงมาตั้งพรรคทำไม มึงมาถามความเห็นกูว่าควรจะตั้งพรรคหรือไม่ควร แล้วกูให้ความเห็นว่าควร มึงเสือกมาถามว่าใครควรเป็นหัวหน้าพรรค กูบอกว่ามึงควรเป็นแล้วมึงเสือกไม่เป็น ผมตอบคำถามเขาไม่ได้ เพราะผมไม่เคยมีชีวิตที่เป็นของผมเอง"
 
"นับตั้งแต่ผมเข้ามาร่วมชุมนุม ชีวิตผมถูกกำหนดโดยมวลชน มวลชนกำหนดผมเอง ถ้าผมถอยออกมา ในอนาคตข้างหน้าถ้ามีอะไรไม่ดีขึ้นมากับชาติบ้านเมือง และถ้าผมต้องการที่จะออกมาเพื่อสู้ เขาก็บอกเฮ้ยไม่ไหวไอ้นี่มันสู้ครึ่งๆ กลางๆ มันไม่ใช่นะ มันมีข้อต่ออีกหลายข้อต่อที่ผมต้องคำนึงถึง เอ้าเหมือนผมติดคุกหรือไม่ติดคุก ถ้าผมแก้กฎหมายให้ตัวเองไม่ติดคุก สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ลูกชายผมเดินไปถนนต้องเอาปี๊บคลุมหัว ลูกน้องผมทั้งASTV ทั้งผู้จัดการ มันก็จะอายเพราะมันเคยสู้มา มันบอกว่านายมันเก่ง ซื่อสัตย์ นักเลงใจกล้า มีคุณธรรม สุดท้ายขบวนการประชาชนจะล่มสลาย ฉะนั้นก็ถามกลับ ชีวิตผมเป็นของผมหรือเปล่าล่ะ ไม่เป็นแล้ว ผมมีชีวิตอยู่เพื่อส่วนรวมเพื่อมวลชน"
 
"เพราะฉะนั้นในมวลชนนั้นก็จะมีทั้งคนชอบผมมาก และจำนวนมากด้วยที่ชอบผม ไอ้ฮาร์ดคอร์นี่แน่นอน แต่นอกจากฮาร์คอร์แล้วคุณอย่าประมาท ยังมีคนชอบผมอีกเยอะมาก ส่วนคนไม่ชอบผม ต้องมี ถ้าไม่มีมันผิดปกติ เพียงแต่ว่าผมใส่ใจมากไหม ผมก็ใส่ใจ อะไรที่เขาไม่ชอบผมผมก็พยายามแก้ แต่ถ้าผมแก้ถึงจุดจุดหนึ่งผมแก้ไม่ได้เพราะมันผิดหลักการผม เหมือนกับถ้าคุณบอกว่าผมจะต้องเดินขึ้นสำนักงานหนังสือพิมพ์ทุกฉบับแล้วเอาดอกไม้ไปให้เขาเพื่อบอกว่าช่วยหน่อย ผมทำไม่ได้ เมื่อผมทำไม่ได้ผมก็ทำไม่ได้ อยากกระทืบผมก็กระทืบไปสิ เพราะทุกวันนี้พวกคุณก็กระทืบผมอยู่แล้ว ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย ไอ้คนที่โดนมา 200 กว่านัดแล้วมันฟื้นจากความตายมันไม่รู้สึกอะไรอีกแล้วนะ"
 
 
แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่าศาสดา
"ก็ไปตั้งว่าศาสดา ที่ผมต้องพูดอย่างนี้เพราะว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น ที่ผมต้องพูดอย่างนี้เพราะผมไม่ต้องการทำลายความศรัทธาของประชาชนเขา ผมไม่ต้องการว่าบอกว่าหลงตามมันนึกว่ามันจะแน่ ในที่สุดมันก็ของปลอม"
 
 
เดี๋ยวก็มีคนบอกว่าคุณสนธิเป็นอะไรไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นอะไรไปภาคประชาชนก็ล่มสลาย
"มันไม่ล่มสลายหรอก แต่ผมมีความรู้สึกว่าเขาจะท้อถอย ผมไม่อยากให้เขาท้อถอย ถ้าผมทำให้เขาท้อถอยผมจะเป็นคนบาปของเขา ผมทำไม่ได้ มันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ยาก มันขึ้นอยู่กับเรา ใจเราอยู่ที่ไหน ถ้าใจเรานิ่ง ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่ได้เพราะผมคิดว่าทุกอย่างที่มีอยู่เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ถามพี่เปลวดูสิ กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุขขัง อนัตตา และในที่สุดมันก็ไม่มีอะไร วันนี้พัชรวาทมีอะไรไหม วันนี้ทักษิณมีอะไรไหม วันนี้จอมพลถนอมมีอะไรไหม วันนี้ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ตายไปอยู่ที่ไหนแล้ว ระหว่างมีอะไรถ้าทำคุณให้แผ่นดินทำได้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำยิ่งดี ผ่านไปแล้วมันเป็นเรื่องสมมติหมด พี่เปลวกับผมก็ผ่านมาเยอะแล้ว เห็นมามาก คุณบุญชู โรจนเสถียร มีอะไร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีอะไร คุณปรีดี พนมยงค์ มีอะไรไหม มีอยู่อย่างเดียวสุดท้ายแล้วเมื่อไม่มีอะไรแล้ว คนรุ่นหลังเขาพูดถึง พูดถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์อย่างดี พูดถึงคุณสุภา (ศิริมานนท์) อย่างดี อย่างน้อยที่สุดผมก็เชื่อว่าเมื่อผมไม่มีอะไรแล้วสักวันหนึ่งคนรุ่นหลังจะพูดถึงผมในแง่ดีมากกว่าแง่ร้าย ส่วนไอ้ที่มาให้ร้ายผมหรือหมั่นไส้ผม ผมช่วยไม่ได้ ผมเพียงแต่สงสารเขา ที่เขาไม่มีวันเข้าใจ ว่าอะไรถูกอะไรผิด ที่ร้ายที่สุดคือเขาไม่ได้ทำบทบาทของเขาในฐานะสื่อมวลชน ที่ควรจะเป็นอย่างจริงจัง เขาเอาความหมั่นไส้เป็นตัวคั้ง ก็เลยทำให้วิชาชีพเขาพังทลายไปหมด ทำให้วิชาชีพเขาเดินไปด้วยมายาคติและมีอคติ"
 
 
ความสมดุล
 
พรรคการเมืองใหม่จะเป็นพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง แล้วอุดมการณ์การเมืองใหม่จะไปด้วยกันอย่างไร ในเมื่อพันธมิตรเคยพูดถึงการเมืองใหม่ว่าจะต้องรื้อระบบรัฐสภา
"เรายึดถือ 2 ระบบ คือระบบรัฐสภาและระบบการเมืองภาคประชาชนด้วย เราให้ความสำคัญเท่ากัน เราไม่ปฏิเสธ ทั้งคู่ต้องไปด้วยกัน เหมือนกับว่าปัญหาของชาติบ้านเมืองที่ไม่ได้รับการแก้ไขทางสภา และประชาชนเขาเดือดร้อนและรวมตัวกัน"
 
 
เป้าหมายสูงสุดไม่ได้บอกว่าต้องการเปลี่ยนระบบเป็น ส.ส.สรรหาหรือ
"(หัวเราะ) อันนี้ยาว คุณอย่ามาถามผมตรงนี้เลย เอาเป็นว่าโดยสรุปผมมีความเชื่อว่าการที่จะทำการเมืองให้ดี ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไอ้ 70:30 เป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งเอาไว้ แต่คนมาอ้างว่าเราจะทำอย่างนั้น ไม่ใช่ ผมกำลังบอกว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้คนทุกภาคส่วนได้มีสิทธิส่วนในผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ที่ให้เกิดความสมดุลกัน ไม่มีใครได้เปรียบมากเกินไปและไม่มีใครเสียเปรียบมากเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วตราบใดก็ตามที่เรายังยึดถือระบบการเลือกตั้งเป็นวิธีเดียวของระบบประชาธิปไตย ผมถือว่าผิด นี่คือกระบวนทัศน์ของผม อาจารย์รัฐศาสตร์ก็จะบอกว่าถ้าไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรล่ะ เขาจะต้องถามอยู่ตลอดเวลา ผมก็ตอบว่ามันมีสิ มานั่งคิดกันสิ คุณอย่าเพียงเอายี่ห้อของการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์มา แล้วก็มานั่งธรรมาสน์มาเทศน์ เพราะว่าเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์คุณต้องเชื่อผม ไม่ใช่อย่างนั้น"
 
"เพราะเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2548 มา คุณทักษิณมีข้อดีอย่างหนึ่ง คุณทักษิณทำให้เกิดการเมืองภาคประชาชน และการเมืองภาคประชาชนวันนี้คุณนึกดูจากศูนย์เมื่อปี 2548 มาเป็นล้านๆ คนในปี 2552 แล้วพรรคการเมืองใหม่ตั้งอยู่บนฐานล้านๆ คนในปี 2552 ให้เวลามันอีก 3 ปี 5 ปี 10 ปี ฐานนี้ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตำถามคือว่าระบบการเลือกตั้งอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ แม้กระทั่งถึงแม้เราจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม สมมตินะ ผมก็ไม่ได้เชื่อว่าการเป็นรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากคือคำตอบของการสร้างความสมดุลในประเทศไทย เพราะขณะเดียวกันมันก็จะมีฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันมันก็จะมีปัญหาอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้รับการดูแล เพียงเพราะว่าผมได้เสียงข้างมากในสภา ทำอย่างไรให้เขามีสิทธิมีส่วนเข้ามาร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อไม่ให้มีใครได้มากเกินไปและไม่ให้มีใครเสียมากจนเกินไป ต้องมาช่วยกันคิด แต่ถ้าใครคิดว่าระบบการเลือก ลงคะแนนเสียง เท่านั้นเองเป็นทางออก ผมขอปฏิเสธว่าไม่ใช่ครับ"
 
 
สรุปว่าเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้คุณสนธิเป็นนายกในระบอบรัฐสภา ได้เสียงข้างมาก แต่เป้าหมายคือการเมืองใหม่
"ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ที่สร้างความสมดุลให้กับสังคมไทย"
 
 
ฉะนั้นพรรคการเมืองใหม่คือเครื่องมือในการเดินงานมวลชน
"พรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในเครื่องมือซึ่งยังจะมีอีกหลายเครื่องมือออกมา"
 
 
เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานมวลชน แต่วันหนึ่งคนจะถามว่าถ้าพรรคการเมืองใหม่มีสมาชิก 5 ล้าน ไม่ได้ต้องการชนะเลือกตั้งหรอก แต่คราวนี้ยึด NBT ยึดทำเนียบใหม่อีกทีชนะแน่
"(หัวเราะ) คงไม่ใช่อย่างนั้น คุณไปสรุปอย่างมีอคติ คือคุณตั้งธงมาแล้วว่าคุณจะต้องเอาเรื่องนี้ให้ได้ มันไม่ใช่หรอก ถ้าเรามีสมาชิก 5 ล้านคน คือทุกวันนี้สมาชิกเราสมาชิกตัวจริง เมื่อใดก็ตามเรามีสมาชิก 5 ล้านคน เมื่อนั้นประเทศไทยเปลี่ยน เพราะสมาชิกของเรามีเยอะมาก เพียงแต่เขาไม่แสดงตัว ถามว่าคนมีอุดมการณ์ร่วมกับเราเยอะไหม เยอะมาก แต่คนที่กล้าพอที่จะมาลงชื่อเป็นสมาชิกอาจจะมีไม่ถึง 5 แสนคนด้วยซ้ำในที่สุด"
 
"ผมอุปมาอุปไมยให้ฟังดีกว่า การเมืองใหม่เหมือนกับเรากำลังทำตัวอย่างให้ดูว่าเฮ้ยการเมืองใหม่ในวิสัยทัศน์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมันต้องเป็นอย่างนี้ เป็นการเมืองที่สะอาด จะได้ ส.ส.มากี่คนเราไม่สนใจ เป็นการเมืองที่ไม่โกงกิน ไม่ติดกับกิเลส ก็เหมือนกับที่ผมบอกว่าในที่สุดแล้ว พันสองพันคนในอำเภอที่เป็นของเราจะถูมิใจเรา และ 8 พันคนที่ไม่เลือกเราและมันเอาคนอื่นเข้าไปแทนจะเริ่มตั้งข้อสงสัยกับคนที่เลือกเข้าไป แล้วเขาก็หันมามองเรา อย่างน้อยที่สุดถ้าเราเป็นตัวแปร ตัว catalyst ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด ถ้าการเมืองใหม่มันเริ่ม work คนเริ่มชอบ พรรคประชาธิปัตย์มันเปลี่ยนตัวมันเอง พรรคชาติไทยมันเปลี่ยนตัวมันเอง พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ผมคิดว่าผมสำเร็จแล้ว ผมไม่ได้มีอัตตาว่าผมจะต้องเป็นใหญ่ที่สุด ถ้าตัวผมเป็นเหตุทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ผมไม่ต้องเป็นอะไรผมก็พอใจ เพราะผมอยากจะกลับไปกินก๋วยเตี๋ยวของผมง่ายๆ ไม่ต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ผมพอใจผมแค่นี้"
 
"ถามว่าผมคิดอย่างนี้ได้ตอนไหน ผมเริ่มคิดได้หลังจากที่ผมเข้ามาสู้หลายปีแล้ว และผมคิดตกผลึกวันที่ผมถูกยิงแล้วผมฟื้นขึ้นมา ผมเกิดใหม่แล้วผมบอกว่าเฮ้ยชีวิตผมไม่ใช่เป็นของผมอีกต่อไปแล้ว ชีวิตผมเป็นของสังคม มีชีวิตอยู่ส่วนที่เหลือจะต้องทำอันนี้ให้สำเร็จ ทำสำเร็จแล้วไม่ว่าจะเป็นอะไรไม่สนใจเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ต้องเป็นอะไรก้พอใจ พอใจที่สุดคือไม่ต้องเป็นอะไร"
 
 
เมื่อกี้ตั้งคำถามแบบ extreme แต่สมมติพรรคการเมืองใหม่มีสมาชิก 5 ล้านคน ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้มี 20 ล้านแล้วชนะการเลือกตั้งเข้ามา แต่ว่าผลักดันการเมืองให้เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง จะใช้วิธีไหนก็ได้ เพื่อผลักดันการเมืองไปสู่เป้าที่ต้องการคือไม่เอาระบบเลือกตั้งอย่างเดียว
"เป้าที่ต้องการของผมคือให้สังคมสงบสุข ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ให้ประเทศชาติแข็งแรง ให้ศาสนาเจริญ ให้พระมหากษัตริย์มั่นคง เป้าผมอยู่เพียงแค่นี้ การเลือกตั้งเป็นวิธีหนึ่ง แต่ต้องมีวิธีที่ผสมผสานกันระหว่างการเลือกตั้งกับหลายๆอย่าง ซึ่งถามผมว่าอะไร ไม่ทราบ จะทราบเมื่อมีปัญหาแล้วแก้ปัญหา"
 
 
มองประชาธิปัตย์อย่างไร ผลจากการโค่นล้มรัฐบาลตัวแทนทักษิณ รัฐบาลประชาธิปัตย์มีอะไรดีขึ้น
"ประชาธิปัตย์ติดกับดักตัวเอง กับดักของการอยากเป็นรัฐบาลแค่นั้นเอง พอติดกับดักตัวเองก็เลยทำให้ตัวเองหรี่ตาข้างหนึ่งในสิ่งซึ่งตัวเองเคยคิดว่าเป็นอุดมการณ์ตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มี ประชาธิปัตย์ก็เลยกลายเป็นหนูติดกับ ดิ้นอยู่ตอนนี้ ไม่รู้จะดิ้นไปอย่างไร ผมมีแต่ความสงสารเขา"
 
 
ที่ตั้งพรรคเพราะมองว่าเขาไปไม่รอดหรือเปล่า
"ไม่ใช่ การตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเขาไปไม่รอดหรืออะไร การตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเพราะว่ามันเป็นอีกอีกก้าวหนึ่งของขบวนการภาคประชาชนที่ต้องเดินหน้าต่อไป"
 
 
แกนนำพันธมิตรรวมทั้งคุณสนธิเป็นนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมาก่อน เคยต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านฝ่ายอำมาตยา แต่ต้องร่วมมือกับเขาในช่วงตอนไล่ทักษิณ พอมาถึงตอนนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจนอกระบบ เขามีประชาธิปัตย์แล้ว เขาจะยังสนใจพรรคการเมืองใหม่หรือ
"ผมแก้คำถามนิดหนึ่ง คนอื่นผมไม่รู้นะ แต่ผมไม่เคยร่วมมือกับใคร ด้วยความสัตย์จริงในการประท้วงครั้งแรกๆ ไล่ทักษิณก็มีคนติดต่อผมมา จะให้ใช้ความรุนแรง ผมปฏิเสธ ไม่เอา มีคนบอกให้ผมไปเผาโน่นเผานี่ เอาประชาชนไปแล้วทหารจะออกมา ผมไม่เอา ผมไม่ยุ่ง เพราะฉะนั้นนั้นการร่วมมือผมก็เชื่อว่าพี่น้องไม่ได้ร่วม ผมยิ่งไม่ร่วมใหญ่"
 
 
เอาว่าเป็นแนวร่วม
"ใครจะมาเป็นแนวร่วมผมไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว ใครจะมาร่วมขึ้นเวทีใครจะมาร่วมนั่งฟัง แต่ว่าจะมาใช้พวกเราไปทำอย่างนั้น เราไม่เคยคิด"
 
"พอมาวันนี้แล้วคำว่าอำมาตยาธิปไตยคุณต้องแบ่ง ถ้าถามว่าอำมาตยาธิปไตยเขามีความคงอยู่ในสังคมมานานหรือยัง นานแล้ว เราปฏิเสธเขาได้ไหม ไม่ได้ ก็เหมือนกับกลุ่มนายทุนใหญ่ ก็ปฏิเสธเขาไม่ได้ กลุ่มนายทุนน้อยก็ปฏิเสธเขาไม่ได้ นี่คือปัญหาของการสร้างความสมดุลในสังคมไทยว่าทำอย่างไร
ให้ทุกภาคส่วนเขามีสิทธิมีเสียงในการร่วมบริหารประเทศหรือในการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ของประเทศ ตรงนี้ต่างหากที่ผมมอง เพราะฉะนั้นพอมาร่วมครั้งนี้แล้ว คุณอนุพงษ์ คุณประวิตร จะไปจับมือคุณเนวิน จับมือประชาธิปัตย์ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เขาจะจับมืออะไรก็ตามเขาต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ที่สุดก็คือทำอย่างไรให้ชาติแข็งแรง ศาสนาเจริญรุ่งเรือง พระมหากษัตริย์มั่นคง เท่าที่ผมดูอยู่เขาไม่ได้ทำให้ชาติแข็งแรง เขาไม่ได้ทำให้ศาสนาเจริญ และเขาไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง ฉะนั้นปัญหาคือเขาติดกับตรงความต้องการในอำนาจเขามากเกินไป จนกระทั่งเขาลืมหน้าที่ของเขา ถ้าเขากลับมายึดถือหน้าที่ของเขา เขาย่อมไม่โกงกิน เขาย่อมไม่มีโครงการบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ ก็แสดงว่าสิ่งที่เขาก้าวเข้ามา เขาก้าวเข้ามาบนการหลอกลวงประชาชน และหลอกลวงสังคม เขาก็ไม่ต่างจากสมัยถนอม-ประภาส เท่าไหร่"
 
 
อำมาตยาคงไม่จำกัดแค่ประวิตรหรืออนุพงษ์ แต่เราพูดถึงอำนาจนอกระบบที่เรารู้กัน ถึงวันนี้เขาจะเลือกใครระหว่างประชาธิปัตย์กับเรา
"คุณต้องระวังตรงนี้นิดหนึ่ง คำว่าอำนาจนอกระบบคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า ถ้าคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์ผมปฏิเสธ ไม่ใช่ เพราะผมเนี่ย วันนี้สู้มาคือสู้เพื่อให้เมืองไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกษัตริย์จะเป็นพระองค์ใดผมยินดี ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม เน้นตรงนี้นะ ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม ผมยังเห็นว่าเมืองไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์"
 
"เพราะฉะนั้นอำนาจนอกระบบในสายตาที่คุณจะถามผม ผมต้องตัดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกว่าไม่ใช่ ถ้าอำนาจนอกระบบคุณจะหมายถึงองคมนตรีหรือ ผมคิดว่าคงมาทำอะไรเราไม่ได้หรอก เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมสู้นั้นเขาต้องเห็นด้วย เพียงแต่ว่าเขาเห็นด้วยในลักษณะไหนอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการที่เขาจะมาแทรกแซงเราได้ไหม ผมไม่คิดว่าเขาแทรกแซงเราได้ เขามาแทรกแซงเขาก็ต้องเจอพี่พิภพ เจอพี่สมศักดิ์ อ.สมเกียรติ หรือเจอผมหรือเจอพี่ลอง คือผมอยากเรียนอย่างนี้ดีกว่า แกนนำทั้ง 5 คนรุ่นแรกวันนี้ไม่ใช่แกนนำเมื่อปี 2549 อีกต่อไปแล้ว พวกเรา 5 คนความคิดตกผลึกหมด และมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งเนื้อเดียวกัน เพราะฉะนั้นข้อที่หนึ่งมาทำให้เราแตกแยกทำไม่ได้อยู่แล้ว ข้อที่สองจะมาแทรกแซงอะไรไม่มีสิทธิ พวกเราไม่เคยมีความลับกัน สมัยที่อยู่ 193 วันคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ให้ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ติดต่อผมขอคุยด้วย ผมเอาข้อความนี้มาเล่าให้พี่ลอง พี่พิภพ พี่สมศักดิ์ อ.สมเกียรติ ทุกคนรับรู้หมด ทุกคนบอกสนธิคุยสิแล้วดูว่าเขาจะว่ายังไง เพราะฉะนั้นแล้วผมมั่นใจว่าอำนาจนอกระบบจะมายุ่งอะไรกับเราไม่ได้"
 
 
แต่อำนาจนอกระบบ อำมาตยา รัฐราชการ เขาก็ต้องชอบประชาธิปัตย์ซึ่งว่านอนสอนง่ายกว่าพรรคการเมืองใหม่
"ปัญหาใหญ่ของเราคืออะไรรู้ไหม คือทุกฝ่ายกลัวเราหมด แต่ที่สำคัญคือประชาชนไม่กลัว มวลชนเรากลับไม่กลัว ถ้ามองให้ลึกเลย พวกเรานี่คือจุดเปลี่ยนของสังคมไทยนะ เพราะพวกเราคือพลังศีลธรรมที่จะโค่นล้มปรับเปลี่ยนรากเหง้าเดิมๆ ที่ผูกขาดอำนาจมา ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะเข้ามาแล้วบอก เฮ้ย! จากนี้ไปขอให้มีความสมดุลในสังคมได้ไหม อย่างที่ผมได้พูดไปว่าขอไม่ให้มีใครได้มากเกินไปได้ไหม และอย่าให้ใครเสียมากเกินไป ขอแค่นี้ ตรงนี้กระเทือนหมดทุกคนเลย กระเทือนธุรกิจใหญ่ๆ กระเทือนกลุ่มอำมาตยาธิปไตยบางกลุ่ม กระเทือนข้าราชการเก่าบางกลุ่ม มันกระเทือนหมด กระเทือนนักการเมืองชั่วๆ บางกลุ่ม กระเทือนทหารชั่วๆ บางกลุ่ม นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมโดนยิงไงล่ะ"
 
 
ก็ใช่ คนถึงว่าคุณสนธิเป็นเหมือนนั่งร้าน
"แต่เมื่อผมฟื้นมาแล้วผมก็บอกว่าเฮ้ยสิ่งที่กูทำนี่ไม่ผิดนี่หว่า ต้องเดินหน้าต่อไป จะมาทิ้งกลางคันได้อย่างไร ถ้าการตายของผม ถ้าจะมีการตายอีกครั้ง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้จริง มันก็คุ้ม เพราะวันนี้การตายสำหรับผมมันไม่มีความหมายอีกแล้ว"
 
 
ที่ถามเพราะอำนาจบางส่วนที่เคยหนุนพันธมิตร เขาอาจจะไม่เอาด้วยกับพรรคการเมืองใหม่
"ผมไม่ทราบจริงๆ และผมไม่แคร์"
 
 
ทุนใหญ่ประเภทเหล้าขาวที่พูดถึง ตอนนี้เขาอุ้มประชาธิปัตย์ดีกว่า
"ผมก็ไม่แคร์"
 
 
ถ้าอย่างนั้น พรรคการเมืองใหม่ต้องฟันฝ่าเยอะมาก
"มันเคยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ง่ายบ้างล่ะ ไม่มี"
 
 
ผู้สนับสนุนจะลดลง
"เราใช้มวลชนเป็นคนสนับสนุนเรา เราใช้เงินค่าสมาชิก เราใช้คนซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นักธุรกิจระดับเล็กระดับกลางที่อยากจะเห็นอะไรดีขึ้น และเห็นว่าเขาไม่ได้เป็นเบี้ยล่าง เขาจะเข้ามาสนับสนุนเรา แทนที่เราจะเอาผู้สนับสนุน 3-4 รายแบบพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่เขาทำกัน เราเอาผู้สนับสนุนสักพันราย"
 
 
อาจจะไม่ใช่แค่ทุน อำนาจอื่น
"อำนาจพวกนี้จะปฏิเสธเสียงของมวลชนไม่ได้ ไม่มีทาง"
 
 
แต่เขาเลือกประชาธิปัตย์ก่อน
"ก็เลือกไปสิ เลือกแล้วเขาได้อะไรไหมล่ะตอนนี้ วันนี้ผมคิดว่าเขาคงนั่งก่ายหน้าผากว่ากูคิดถูกหรือเปล่าวะเนี่ย เขาเลือกพันธมิตรมีข้อเสียอย่างเดียวคือพันธมิตรสั่งไม่ได้ แต่ถ้าเขาเลือกเราเพียงอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม เขาก็เลือกไม่ผิด และถ้าเขาอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมและศีลธรรม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะไม่เลือก และถ้าเขายืนอยู่บนพื้นฐานมโนธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะทำงานกับเขาไม่ได้ เท่านั้นเอง ถ้าเขาเสียสละด้วย ซื่อสัตย์ด้วย กล้าหาญด้วย ก็จบ พูดภาษาเดียวกันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าพูดต่างภาษาแล้วจะบังคับให้ผมพูดภาษาเดียวกับเขา ผมไม่เอา เท่านั้นเอง"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท