Skip to main content
sharethis

สบท. เตือนผู้บริโภคใช้บริการโรมมิ่งระวังจ่ายค่าบริการอ่วม ตรวจสอบเงื่อนไขให้ดีมีจำกัดวงเงินกรณีโรมมิ่งหรือไม่ อย่าใช้ร่วมกับระบบบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพราะต้องเสียสองต่อ และระวังเวลาไปพื้นที่ชายแดน อาจได้จ่ายเสมือนอยู่ต่างประเทศโดยไม่รู้ตัว

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศและต้องการใช้โทรศัพท์มือถือ คือการใช้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศ หรือ บริการข้ามแดนอัตโนมัติ ข้อดีของบริการประเภทนี้คือ ผู้บริโภคยังสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือเดิมในการติดต่อสื่อสารได้ แม้ในยามอยู่ต่างประเทศ แต่ก็มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากมีราคาแพงเป็นพิเศษแล้ว ยังต้องเสียค่ารับสายและค่าเรียกสายด้วย นั่นคือเพียงแค่มีผู้โทรเข้า แม้ไม่รับสายก็ต้องเสียค่าบริการแล้ว โดยเสียในอัตราเท่ากับค่าโทรทางไกลจากไทยไปประเทศปลายทาง นอกจากนี้ ในกรณีโทรหากันในต่างประเทศก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสองต่อ คือเสียทั้งคนรับสายและคนโทรออก
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้บริการโรมมิ่งคือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพราะศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ให้ข้อมูลไม่ชัดเจนพอ
“บางรายซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศโทรกลับเมืองไทยผ่านมือถือที่เปิดโรมมิ่งไว้ เพราะศูนย์บริการทำให้เข้าใจว่า ค่าบริการจะหักจากบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่จริงๆ ค่าโทรโรมมิ่งก็เสีย บัตรโทรศัพท์ก็ถูกหัก เข้าข่ายเสียสองต่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าจะโทรข้าประเทศผ่านมือถือที่เปิดบริการข้ามแดนอัตโนมัติก็ไม่ควรต้องใช้บัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ” ผอ.สบท.กล่าว
นายประวิทย์กล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่งที่มีการเข้าใจไม่กระจ่าง คือกรณีที่บางเครือข่ายมีบริการจำกัดวงเงินค่าบริการในแต่ละเดือน แต่ผู้บริโภคไม่ทราบว่าบริการดังกล่าวไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น มีการใช้บริการจำกัดค่าบริการเดือนละหมื่นบาท เมื่อไปต่างประเทศแล้วผู้บริโภคก็คิดว่าจะมีการตัดบริการให้เองหากใช้เกิน ในขณะที่ทางด้านของผู้ให้บริการระบุว่า วงเงินที่จำกัดเป็นวงเงินเฉพาะค่าบริการภายในประเทศ ไม่รวมโรมมิ่ง กรณีลักษณะนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่ทันระวังและต้องจ่ายค่าบริการหลายแสนบาท
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงกรณีปัญหาที่เกิดจากการเชื่อมต่ออัตโนมัติสำหรับผู้บริโภคที่มีการสมัครบริการข้ามแดนอัตโนมัติไว้ และเมื่อไปใกล้บริเวณชายแดน แม้ยังอยู่ในแผ่นดินไทย แต่มือถืออาจเชื่อมต่อกับระบบโดยอัตโนมัติ ทำให้เมื่อโทรเข้าหรือรับสายก็ต้องจ่ายในราคาข้ามแดน ดังมีกรณีเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่เดินทางไปในเขตพื้นที่ อ. สะเดา จ. สงขลา และมือถือก็เชื่อมต่อกับระบบของประเทศมาเลเซียโดยอัตโนมัติ หรือผู้เดินทางไปบริเวณชายแดนภาคอีสานก็อาจต้องจ่ายค่าบริการเสมือนเดินทางอยู่ในประเทศลาวได้เช่นเดียวกัน
“วิธีป้องกันปัญหาลักษณะนี้คือ อย่าสมัครบริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือถ้าสมัครเอาไว้แล้วก็ต้องตั้งค่าโทรศัพท์ให้เชื่อมต่อเครือข่ายแบบแมนนวลเท่านั้น อย่าใช้ระบบออโต้เด็ดขาด เพราะถึงจะสะดวกในการค้นหาสัญญาณ แต่กรณีไปเชื่อมต่อสัญญาณเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน อาจกระเป๋าฉีกโดยไม่รู้ตัวได้ หรือถ้าให้ดี เวลาใช้มือถือแถวชายแดน ลองสังเกตดูชื่อเครือข่ายหน้าจอด้วย ถ้าเห็นชื่อแปลกๆ ก็ปิดเครื่องก่อนดีกว่าครับ” นายประวิทย์ฝากคำแนะนำถึงผู้บริโภคด้วยความห่วงใย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net