Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความพยายามของทั้งบริษัท และเจ้าหน้าที่รัฐจากกระทรวงแรงงาน นักการเมืองที่อยู่ในกระทรวงแรงงาน และกรรมาธิการแรงงานของรัฐสภา ในการพยายามให้คนงานหลายร้อยคนที่ไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนที่เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมและต้นเดือนตุลาคม ที่เข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้ยุติโดยเร็วที่สุด ทั้งการพยายามเสนอเงินพิเศษกับแกนนำให้ชักจูงคนงานให้โอนอ่อนผ่อนตามข้อเสนอของบริษัท การโทรมากดดันกับเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายฯ ว่าขอให้จบเรื่องเรียกร้องให้เร็วที่สุด การพยายามกันไม่ใช้เจ้าหน้าที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ เข้าไปอยู่ในกระบวนการต่อรองให้กับสมาชิกของเครือข่ายฯ นำมาซึ่งความกังขาและเงื่อนงำที่จำต้องได้รับการพิสูจน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความพยายามเกลี่ยกล่อมคนงานทั้งโดยตรงและผ่านแกนนำทั้งหลาย ของสี่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน โดยที่เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง กลับไม่มีผู้ใดเลยที่พยายามให้คำชี้แนะทางกฎหมายกับคนงาน แต่พยายามเร่งให้คนงานยุติข้อพิพาทกับบริษัทโดยเร็ว และไม่มีการพูดถึงกระบวนการตรวจสอบเอาความผิดกับทั้งบริษัทและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในชะตากรรมของคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ในสวีเดนจำนวน 5,911 คนในปี 2552 นี้

 
ชะตากรรมของคนงานเหล่านี้ ที่มีจำนวนมากเป็นชะตากรรมร่วมของทั้งสามีภรรยา ในการไปเพื่อล่าฝันตามคำโฆษณาชวนเชื่อและโน้มน้าวใจจากทั้งสี่บริษัท โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานระดับสูงไปร่วมช่วยค้ำประกันด้วยการไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมในช่วงก่อนวันเดินทาง กลับไม่มีผู้ใดใส่ใจหาคนผิดมาลงโทษหรือดำเนินมาตการช่วยเหลืออย่างจริงจัง
 
การค้าความฝันว่าจ่ายเงินให้บริษัท 75,000 -120,000 บาท แล้วจะได้เงินกลับบ้านคนละกว่า 100,000 -200,000 บาท หรือแม้แต่กระทั่งใส่ตัวเลข 320,000 บาทในเอกสารประกอบเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) กลับถูกบิดเบือนประเด็นเป็นว่า คนงานที่ไม่ได้รับเงินกลับมาเป็นพวกที่ไม่ขยัน และไม่สู้งานหนัก แม้ว่าพวกเขาจะตื่นเตรียมตัวตั้งแต่ตีสาม และออกเดินทางตอนตีสี่ เดินเท้ากันวันละกว่า 10-20 กิโลเมตร กว่าจะได้กลับถึงที่พักอีกครั้งก็เป็นเวลา 2 ทุ่ม และต้องเสียเวลาชั่งผลไม้จนถึงเกือบเที่ยงคืน โดยทุกคนมีเวลานอนกันเพียงคืนละไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม
ด้วยงานที่หนัก จนทุกคนออกปากว่า “หนักกว่าการทำนามากนัก” และว่า “ถ้าอยู่เมืองไทยขยันเช่นที่สวีเดน พวกเขาคงรวยไปแล้ว” แต่หลายคนก็มีราคาด้านสุขภาพที่ต้องจ่ายจากการทำงานหนักเกินตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทั้งปัญหาเรื่องเล็บขบ นิ้วคด อุบัติเหตุรถคว่ำ ภาวะเครียดและจิตหลอน และรวมถึงการผ่าตัดไส้ติ่ง ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการจ่ายค่าชดเชยให้กับการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานครั้งนี้ โดยเฉพาะคนที่ต้องเป็นอัมพาตหลังจากอุบัติเหตุรถคว่ำ ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะอยู่อย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล
ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนงานที่กลับมาเพราะการไม่มีผลไม้ให้เก็บ แม้แต่แม้แต่คนงานที่กลับมาหลังจากอยู่ครบสองเดือน ต่างก็มาร้องเรียนว่ารายได้ที่ได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ไม่พอใช้หนี้ ซึ่งสวนกับตัวเลขที่บริษัทจัดหางานบางแห่งอ้างในการเจรจาที่วุฒิสภาว่าคนงานบางคนได้เงินถึง 200,000 และถึง 400,000 บาท ก็ยังมี
เมื่อการไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนที่ไปกันเพียงปีละไม่กี่ร้อยคน ในรูปแบบนักท่องเที่ยวที่พวกเขาจ่ายเพียงค่าวีซ่า 3,000 บาท และค่าตั๋วรวมกันก็ไม่เกิน 40,000 บาท ได้รับผลตอบแทนสูงจนพูดกันต่อไปปากต่อปาก มันจึงถูกใช้เป็นธุรกิจค้ากำไร (ระยะสั้นๆ) ทั้งจากบริษัทจัดหางานในประเทศไทยและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในสวีเดนไปในเวลาไม่กี่ปี
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เคยเป็นเพียง 40,000 บาท ในปี 2552 สูงขึ้นเป็นเกือบแสนหรือมากกว่าหนึ่งแสนบาท และที่เลวร้ายยิ่งกว่า ค่าใช้จ่ายในการเช่ารถ ที่พัก และอาหาร ที่เคยจ่ายเพียงเดือนละ 2,500 Kronor หรือประมาณ 12,000 บาท สูงขึ้นเป็นถึงวันละ 800 -1,300 บาท หรือเดือนละ 35,000 – 45,000 บาท ค่าผลไม้ที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 18 -20 Kronor ก็ตกลงมาเหลือเพียง 8 - 14 Kronor ในปีนี้แม้ว่าผลไม้จะออกน้อยกว่าทุกปีก็ตาม (1 Kronor = 4.5 บาท)
การเห็นแก่ประโยชน์เรื่องค่านายหน้าของบริษัท และกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศของกรมการจัดหางาน ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับคนงานและครอบครัวในชั่วระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่สามารถจะประเมินค่าได้ ทั้งการล่มสลายในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้ง และถึงขั้นแยกทางกันเดิน ด้วยความกดดันจากภาวะหนี้สินและความอับอายต่อเพื่อนบ้าน คนงานเหล่านี้ทั้งที่กลับมาก่อนครบกำหนดสัญญาและอยู่จนครบกำหนดสัญญากำลังเผชิญกับการกดดันอย่างหนักเรื่องหนี้สินและการตามทวงหนี้อย่างไม่ลดละจากนายทุนเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ย 3% ต่อเดือน (สูงกว่าอันตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย คือ 15% ต่อปี) แม้แต่ในวันจ่ายเงินที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ นายทุนเงินกู้ก็มารอรับเงินอยู่หน้าห้องที่คนงานเข้าไปรับเงินกันเลยทีเดียว และแถมยังมีการกำหนดมาตรการให้บริษัทหักเงินที่จะจ่ายให้คนงาน 20,000 บาทครึ่งหนึ่งให้บริษัทโดยทันที
แม้แต่ธนาคาร ธกส. ที่อนุมัติเงินกู้ไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนในวงเงินคนละ 60,000 บาท ก็ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วยคำอ้างว่าพวกเขาไม่สามารถใช้คืนเงินกู้ตามกำหนดสัญญา
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวนข้อเรียกร้องของคนงานและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2551 ได้เสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องการหลอกลวงแรงงานและค้ามนุษย์แรงงานไปต่างประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งพวกเราเรียกว่า “สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์” คือ ยุทธศาสตร์ด้านการ “เยียวยา (การจ่ายค่าเสียหาย และค่าชดเชยต่างๆ) การป้องกัน(ทั้งการหลอกลวง และการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ และการนำบริษัทค้าแรงงานที่ผิดกฎหมายมาลงโทษ) และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยังยืน (ได้แก่การเปิดให้ผู้เสียหายในหมู่บ้านที่เป็นเป้าหมายต่างๆ นำเสนอนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน)
 
เครือข่ายฯ ได้นำเสนอว่ากระบวนการจัดส่งควรเป็นในรูปแบบ “รัฐต่อรัฐ” และยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดหางานและพวกนายหน้าต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาของเครือข่าย ไม่มีบริษัทไหนเก็บค่าหัวคิวตามกฎหมาย แม้แต่บริษัทเดียว
 
นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานในต่างประเทศที่มีสมาชิกจากกว่า 20 จังหวัดโดยเฉพาะจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ขอให้รัฐพิจารณาข้อเสนอแนะของเรา และตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่พวกเรามีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ไขปัญหาการหลอกลวงแรงงานและค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศอย่างบูรณาการและมุ่งสู่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบและการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
เครือข่ายจะดำเนินทุกมาตการในการปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก และเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศที่มุ่งเพื่อการคุ้มครองสิทธิประโยชน์สูงสุดของคนงาน “การไปทำงานต่างประเทศเป็นสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่เพื่อการแสวงหาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม”
 
เรื่องเล่าของความเจ็บปวดของคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนครั้งนี้มีมากมายนัก..
คู่สามีภรรยาจากจังหวัดตาก
 
“ไปกันทั้งสามีภรรยา โดยสามีจ่ายค่านายหน้า 78,000 บาทและภรรยาจ่าย 75,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และการเตรียมการ จะตกคนละ 90,000 บาท ทั้งคู่อยู่จนครบกำหนดสัญญา แต่ว่าเหลือเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายกันเพียง 75,000 บาท (สามี) และ 50,000 บาท (ภรรยา) ซึ่งไม่พอจ่ายคืนเงินกู้ที่กู้ยืมไป ตอนนี้ยังมีหนี้สินอยู่รวมกันอีก 70,000 บาท”
 
เชาวลิต อายุ 39 ปี (อยู่จนครบกำหนด)
“เชาวลิตไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนมาได้ 6 ปีแล้ว ปีนี้เป็นแรกที่เขาไปโดยผ่านบริษัทจัดหางาน และเป็นปีแรกที่พาภรรยาไปด้วย แม้จะมากประสบการณ์และแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีเงินเหลือกับบ้านและมาใช้จ่ายกว่าปีละ 120,000 ถึง 200,000 บาท ในปีนี้เขามีรายได้เหลือจากหักค่าใช้จ่ายเพียง 120,000 บาท หักค่านายหน้าแล้วจะเหลือเงินเพียง 20,000 บาท แต่ภรรยาของเชาวลิตขายทุนถึง 50,000 บาท ทำให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะหนี้สินไปในพริบตา”
คนงานที่กู้นายทุนนอกระบบ
“สมุดบัญชีเงินฝาก และโฉนดอยู่กับนายทุนเงินกู้ โดยเขาจะเอาไปก่อนเดินทางประมาณหนึ่งอาทิตย์ และบางคนก็ตามมาเอาในวันเดินทางเลย จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยเห็นสมุดบัญชี และก็ไม่เคยเห็นยอดเงินในสมุดบัญชี”
เรื่องเล่าจากคนล่าฝัน
“เขาว่าได้เงินเร็ว สองเดือนได้เงินเป็นแสน พอเสร็จจากทำนาแล้วก็ว่างงาน ก็เลยไป
คนในหมู่บ้านเคยไปมาแล้วเมื่อปีที่แล้ว 3 คน แล้วเข้าไปชักชวนว่ารายได้ดี ทำให้ทีมนี้ 11 คน ตัดสินใจสมัครไปปีนี้ หมู่บ้านหนองเซียงซุย อำเภอบ้านฝาง ขอนแก่น อำเภอนี้ไปกันประมาณร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่ไปกับบริษัทสยาม รอยัล และสินซันชาย
 
กุมภาฯ เริ่มพูดคุย และทำพาสปอร์ต เมษายน ทั้ง 11 คน วางเงินงวดแรก 27,000 บาทกับบริษัท สยาม รอยัล พวกเราก็อยู่บ้านรอ เริ่มเพาะปลูก และบริษัทมาบอกว่าโควตาเต็มจะหาบริษัทใหม่ให้ แล้วคืนเงินคนละ 24,750 บาท แล้วพาเราไปบริษัทสิน ซันชาย ที่อำเภอแก้งคอ จังหวัดเพชรบูรณ์ เราต้องวางเงินงวดแรก 30,000 บาท รอเซ็นสัญญา และได้เซ็นต์สัญญาและตรวจโรคในวันที่ 18 พฤษภาคม ที่โรงเรียนแก้งค้อ แล้วบอกรอฝึกอบรม
 
บอกว่ามีแม่บ้านทำอาหารให้กิน มีที่พัก ทุกอย่างฟรีหมด แต่ว่าไปแล้วไม่มีเลย ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องจ่ายอาหาร ทำกับข้าว ค่าเช้ารถ ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำมัน วันหนึ่งเราต้องจ่าย 350 โครน 1300 บาท แต่นายหน้าที่มาหาบอกว่าแค่ 2-3 อาทิตย์ก็หมดหนี้ เดือนที่สองมีแต่เอากับเอา บอกว่าให้เราเก็บผลไม้ วันหนึ่งจะได้ 100 กว่ากิโลกรัม เขาจะซื้อ กก. ละ 20 โครน แต่จริงๆ เราได้แค่กิโลละ 10 โครน พอสัปดาห์ผ่านไปก็ขึ้นให้เป็น 12 -14 โครน บางวัน 2 วันไม่ได้ชั่งก็มี มันไม่มี อาทิตย์แรกๆ ได้ 20-30 กก ต่อวัน หลังจากนั้นได้วันไม่ถึง 20 กก.
ตัวแทนซึ่งเป็นคนไทยจะมารับผลไม้ที่แคมป์ แล้วก็บันทึกจำนวนไว้ แล้วบอกว่าจะโอนเงินเข้าบัญชีไทย ทุกวันพุธ แต่จริงๆ ไม่มีเงินโอนเข้ามา โดยบริษัทหารถให้ แล้วคนงานก็รวมทีมกันเอง ทีมละ 8 คน โดยก่อนที่จะไป ไปกันเองทีมละ 8 คน โดยมีแผนที่ให้ แปลภาษาไทย และคลำทางกันเอง หลงทางกันบ้าง มีครั้งหนึ่งไปนอนในป่าสองคืน (ทั้งหนาวและฝนตก) และกลับวันที่ 3 ก็ได้แค่คนละ 40 กว่า กก.
 
มีน้องเป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็ได้รับการผ่าตัดและนอนอนามัย 1 วัน 1 คืน ได้พักเพียง 4 วันก็ถูกบีบให้ทำงาน แต่คนงานทำไม่ไหวก็เลยให้ทำงานทำความสะอาดในแคมป์ และทำได้สองวันก็เกิดแผลอักเสบ และปัสสาวะเป็นเลือด และได้งานล้างผลไม้ให้ ก็รอเพียงสองสัปดาห์
 
23 สิงหาคม แล้วก็หนี ขับรถหนีไปทิ้งไว้ที่ลู่เลี่ยว (Lulea)”
 
 

 
จดหมายจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ถึง เอกอัคราชทูตสวีเดน
 
Mr Lennart Linnér
เอกอัคราชทูต
สถานทูตสวีเดน
อาคารแฟซิฟิก เพลส, ชั้นที่ 20ม 140 ถนนสุขุมวิท  
กรุงเทพฯ 
 
8 ตุลาคม 2552
 
 
 
เรียน ท่านเอกอัคราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย
สำเนาส่ง
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
Ms. Wanja Lundby-Wedin, ประธานสภาแรงงานสวีเดน
สมาคมพ่อค้าเบอร์รี่ป่า (Sweden Forest Berries Association (SBIF))
ศูนย์กลางการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade Center, Sweden
Stuart Ward, Swedish International Development Cooperation Agency (SIDA)
คุณวิไลวรรณ แซ่-เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
 
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ และสมาชิกได้เดินทางมาที่สถานทูตและขอเข้าพบกับท่านทูตเพื่อนำเสนอปัญหาและ ข้อเสนอแนะถึงวิธีการยุติความทุกข์ยากลำเค็ญของคนงานไทยที่ไปเก็บพลไม้ป่า ที่สวีเดน
 
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นองค์กรที่มีระบบสมาชิก ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2550 ด้วยเป้าหมายเพื่อขจัดธุรกิจค้ามนุษย์แรงงานหน้าเลือด และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน ที่นับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมาได้สูบเลือดสูบเนื้อของเกษตรกรยากจนจากภูมิภาคที่จนที่สุดในประเทศ ไทย อีสานกว่า สามล้านคน เครือข่ายนับตั้งแต่ก่อตั้งได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ ต่อรอง และเรียกร้องค่าเสียหายให้กับสมาชิกของเราเป็นจำนวนมาก ผ่านมาเพียงสองปีเครือข่ายมีสมาชิกกว่าพันครอบครัวจาก 20 จังหวัดโดยเฉพาะจากภาคอีสานภาคเหนือ
 
กว่าทศวรรษ กระทรวงแรงงานได้นำเสนอด้วยความภาคภูมิใจถึงตัวเงินกว่า 5-60,000 ล้านบาทที่แรงงานไทยในต่างประเทศปีละกว่า 350,000 คน ส่งผ่านมายังธนาคารต่างๆ แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้ถึงมือครอบครัวทั้งหมด แต่กลับตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายหน้าและบริษัทจัดหางานต่างๆ
 
นับตั้งแต่เดือน กันยายนปีนี้ เครือข่ายฯ และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (องค์กรสนับสนุน) ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากคนงานไทยที่กลับมาจากสวีเดนหลายร้อยคน พวก เขาเหล่านี้เป็นเกษตรกรยากจนจากอีสาน ที่ถูกทำให้เชื่อว่าในระหว่างสองเดือนของการรอฤดูเก็บเกี่ยว พวกเขาสามารถมีรายได้ 200,000 บาทจากการไปเก็บผลเบอร์รี่ป่าที่สวีเดน แลกกับการจ่ายค่านายหน้า 75-100,000 บาท (โดยไปกับสี่บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน)
 
พวกเขาต้องเดินข้ามเขาหลายลูก ข้ามพรมแดนสวีเดนและฟินแลนด์ แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินระหว่าง 100-200,000 บาท (เพราะบางคนไปทั้งสามีและภรรยา) เรื่องราวความทุกข์ยากของพวกเขาได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนทั้งจากสวีเดน และประเทศไทย กระนั้นก็ตามการเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ระหว่างคนงาน 400 คนกับรัฐบาลไทย และกระทรวงแรงงาน ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
 
ในวันที่ 27 กันยายน 2551 เครือข่าย และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อนำเสนอปัญหาเรื่องนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
ขณะนี้คนงานทุกคน กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักและถูกตามทวงหนี้อย่างไม่ลดละจากนายทุนเงิน กู้และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ใช้คืนเงินกู้ บางคนถึงกับขายที่นา บางคนได้รับหมายแจ้ง จำนวนมากได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ บางคนเลือกจะไม่เดินทางกลับบ้านเพราะไม่กล้าสู้หน้าเพื่อนๆ ในชุมชน 
 
ดังนั้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน คนงานได้ยืนหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีด้วยข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ
 
* รัฐต้องแก้ไขปัญหา หนี้สิน โดยการยกเลิกหนี้สิน หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชดใช้หนี้สินให้แก้ผู้เดือดร้อน หรือดำเนินมาตรการพักชำระหนี้และรับแปลงหนี้นอกระบบมาสู่ธนาคารของรัฐ
 
* จัดโครงการฟื้นฟูและสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่ผู้เดือดร้อนและครอบครัว และการชดเชยค่าเสียโอกาสทางด้านรายได้ต่างๆ
 
* เร่งรัดกระบวนการ ทางกฎหมายเอาผิดบริษัทจัดส่ง หน่วยงานของรัฐที่เข้าไปพัวพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการหลอกลวงคนไทยไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน
 
* สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อป้องกันกระบวนการหลอกลวงแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
 ในวันกรรมกรสากลปี 2551 เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้ออกมาตรการเพื่อให้วงจรค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติที่มีถึง 34 ปี ด้วยสามมาตรการคือ เยียวยา(ค่าเสียหาย) ป้องกัน(การหลอกลวง) และโครงการพัฒนาที่ยังยืนในหมู่บ้านยากจนต่างๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการหลอกลวง พร้อมกับนี้พวกเราได้ยืนขอเสนอว่ากระบวนการจัดส่งควรเป็นในรูปแบบ รัฐต่อรัฐและยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดหางานและพวกนายหน้าต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาของเครือข่าย ไม่มีบริษัทไหนเก็บค่าหัวคิวตามกฎหมาย แม้แต่บริษัทเดียว
 
คนงานไทยกว่า 400 คนที่กลับมาจากสวีเดนได้สมัครเป็นสมาชิกของเครือข่ายและขอให้เครือข่ายช่วย แก้ปัญหาของพวกเขา พวกเราได้นอนรอพบนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม และบัดนี้พวกเราได้เดินด้วยเท้าหลายกิโลเมตรเช่นเดียวกับการเดินเก็บเบอร์ รี่ที่สวีเดนเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากสถานทูตสวีเดน และเพื่อขอร้องให้มีการปรึกษาหารือว่าสถานทูตจะวางมาตรการอย่างไรในการ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นที่พวกเราประสบมาในปีนี้
 
พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าตัวแทนของพวกเราจะได้เข้าพบท่านทูต พวกเราทุกคนขอขอบคุณสถานทูตสวีเดนเป็นอย่างยิ่งที่มีความเข้าใจในปัญหาความ เดือดร้อนของพวกเรา พวกเรามีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้
 
1. จากบทเรียนที่คนงาน 400 คน (สมาชิกของเครือข่าย) ที่เดินทางไปสวีเดนเพียงสองเดือนตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ได้นำมาซึ่งความทุกข์ยากของครอบครัวและชุมชน เกินกว่าที่พวกเขาจะประมาณ การณ์ได้ รายชื่อของพวกเขาแนบมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้
 
2. การจ้างงานในลักษณะนี้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรถูกใช้เป็นการแสวงหาผลกำไร พวกเราขอเรียกร้องให้สถานทูตสวีเดน ให้วีซ่าเฉพาะกับคนงานที่ยืนใบสมัครผ่านทางกระบวนการที่เห็นชอบทั้งจากสถาน ทูตสวีเดน เครือข่ายฯ และกระทรวงแรงงาน
 
3. พวกเราขอความช่วยเหลือมายันสถานทูตสวีเดนในประเทศไทยให้ช่วยเจรจากับสมาคมพ่อ ค้าเบอรร์รี่ป่า ให้ตั้งกองทุนเพื่อชดเชยหรือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามรายชื่อที่แนบมา ซึ่งพวกเราได้ยื่นข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทย และยื่นมายังสถานทูตสวีเดน เครือข่ายฯ ได้นำส่งรายชื่อเหล่านี้ให้ทั้งรัฐบาลไทยและสถานทูตสวีเดน และพวกเราจะขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงในความช่วยเหลือในครั้งนี้
 
4. เครือข่ายฯ มีความประสงค์จะเห็นมาตรการกดดันรัฐบาลไทยเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีการ ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจัดหางาน และข้าราชการ โดยเฉพาะจากหน่วยงานสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่พวกเราได้รับฟังเรื่องราวการคอรัปชั่นมายาวนานหลายปี และมีความสงสัยว่านี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำให้สำนักงานบริหารแรงงานไทยไป ต่างประเทศ มักจะอ้างว่าไม่มีความสามารถในการจัดส่งแรงงานเอง แต่ขอให้บริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง แทนที่จะให้องค์กรของภาครัฐ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือองค์กรของลูกจ้างเป็นผู้จัดส่ง
 
5. พวกเราใคร่ขอร้องว่าคนงานที่แนบรายชื่อมานี้ ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่าย จะได้อยู่ในกลุ่มคนงานกลุ่มแรกที่จะได้โควตาไปเก็บผลไม้ในฤดูกาลหน้า เครือข่ายฯ โดยไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร จะรับผิดชอบในการดำเนินขั้นตอนต่างๆ ในการเตรียมการและเอกสารต่างๆ ในการยื่นขอวีซ่าในประเทศไทย และเครือข่ายฯ จะเจรจากับสภาแรงงานระหว่างประเทศสวีเดนเพื่อการดำเนินการรับช่วงต่อไปเมื่อ คนงานเดินทางไปถึงสวีเดนแล้ว
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
                                                                    ขอแสดงความนับถือ
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ประธาน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ
ผู้อำนวยการ โครงการรรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net