Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกันออกจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง ต่อกรณีที่กรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย มีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร ต่อชาวบ้าน 17 ราย ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่า อยู่ระหว่างการออกคำสั่งและส่งคำสั่งไปยังชาวบ้านอีกจำนวนร่วม 774 ราย
 ทางองค์กรเครือข่ายฯ มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักทะเบียนอำเภออาจเป็นการออกคำสั่งทางปกครองทีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาภายใต้หลักการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ การไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ที่อำเภอแม่อายสามารถออกคำสั่งเรียกให้ชาวบ้านมาได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน อันเป็นหลักทั่วไปแห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ได้รับการรับรองคุ้มครองโดยมาตรา 59 ทั้งยังเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มิใช่ดำเนินการเพียงการตรวจสอบฝ่ายเดียวโดยลำพัง และออกคำสั่งฯ ดังกล่าว
 ทางองค์กรเครือข่ายฯ ร่วมกันแถลงว่า “ทางองค์กรเครือข่ายฯ เล็งเห็นถึงและขอชื่นชมความตั้งใจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง ในการดำเนินงานด้านการทะเบียนเพื่อให้เกิดระบบจัดการประชากร รวมถึงการแก้ไขและป้องกันปัญหาฯ ในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม โดยสอดคล้องกับหลักการกระทำทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐ อีกทั้งยังเป็นการประกันถึงสิทธิเสรีภาพของราษฎรจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ”
 องค์กรและเครือข่ายฯที่เกี่ยวข้อง ขอเสนอแนะให้กรมการปกครองชี้แจงอย่างชัดเจนต่อสาธารณะถึง
(๑) หลักการ/เจตนารมณ์ของมาตรา ๑๑ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑
(๒) แนวปฏิบัติ/หลักเกณฑ์ในการบังคับใช้มาตรา ๑๑
(๓) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ถูกออกคำสั่ง รวมถึงแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และ
(๔) ขอให้กรมการปกครองมีหนังสือสั่งการไปยังสำนักทะเบียน/เทศบาลทุกแห่งเพื่อชี้แจงหลักการและแนวทางปฏิบัติของมาตรา ๑๑ ดังกล่าว
 “ทางองค์กรและเครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือคำถามใดๆ ที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงอำเภอแม่อาย จะไม่กลายเป็นอุปสรรค ลดทอนกำลังใจในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ด้วยเพราะสังคมไทยจักสามารถเข้มแข็ง มั่นคงได้นั้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสาระสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง”
 ด้านสภาทนายความ ขอให้ทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทางทะเบียนราษฎร
 ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 สภาทนายความ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น ได้ออกจดหมายถึงอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ขอให้ทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทางทะเบียนราษฎรชาวบ้าน โดยจดหมายระบุว่า ราษฎรอำเภอแม่อายที่ถูกคำสั่งให้ระงับการเคลื่อนทางทะเบียนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ได้ผ่านการพิสูจน์ตนต่อสำนักทะเบียนอำเภอแม่อายแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยการพิสูจน์นั้นราษฎรได้นำพยานหลักฐานต่างๆ เข้านำสืบพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่อย่างสมบูรณ์ จนนำมาซึ่งคำสั่งให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรในฐานะ “บุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย” ดังนั้น การที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่อายออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งมีผลกระทบต่อฐานะทางทะเบียนราษฎรและสิทธิเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพหรือดำเนินการต่างๆ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคุ้มครองและรับรองไว้ ตามมาตรา ๔, ๒๖, ๒๗, ๒๘, ๒๙ และมาตรา ๓๐ การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็น คำสั่งทางปกครอง อันหมายถึงการกระทำทางกฎหมายฝ่ายเดียวที่มีผลเจาะจงเฉพาะรายนี้ อาจเป็นการการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดและ/หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ได้รับคำสั่งฯ กล่าวคือ
การที่อำเภอแม่อายมีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนฯ ก่อนที่จะได้รับฟังคำชี้แจงหรือโต้แย้งดังกล่าว เป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ควรเกิดขึ้นในกรณีที่มีเหตุหรือน่าเชื่อได้ว่าจะมีเหตุที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างร้ายแรง หากอำเภอแม่อายต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายการทางทะเบียนของบุคคล ย่อมสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองตามหลักทั่วไปได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนฯโดยเรียกให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ตามมาตรา ๓๐ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ หรือการใช้หลักการไต่สวนในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนที่สุด อันเป็นหลักการที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา ๕๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ แต่อำเภอแม่อายกลับดำเนินการเพียงการตรวจสอบฝ่ายเดียวโดยลำพัง และออกคำสั่งฯ ดังกล่าว
คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ จึงขอให้ทางอำเภอแม่อายดำเนินการทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรชาวบ้านแม่อาย ซึ่งทางอำเภอแม่อายสามารถดำเนินการได้เองทั้งการทบทวนความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมของคำสั่งฯ ดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความมั่นคงทางกฎหมาย หลักการต้องเคารพต่อความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง หลักการบริหารงานที่ดี และหลักความเชื่อโดยสุจริตของคู่กรณี เพื่อการใช้อำนาจทางปกครองเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐ
 
ที่มาข่าว: ศูนย์ข่าวเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch News Center)

 
ศูนย์ข่าวเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch News Center) เป็นส่วนหนึ่งของงานสื่อสารสาธารณะภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT) ด้วยความเชื่อมั่นว่าการผลักดันการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มีประสิทธิภาพ-ยุติธรรรมนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้และการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนของสังคม
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net