Skip to main content
sharethis

เอฟทีเอวอทช์จวกข้อตกลงเศรษฐกิจอาเซียนส่งเสริมสิทธิการลงทุน แต่ไม่ใส่ใจสิทธิชุมชน เครือข่ายรณรงค์ต้านการค้าเสรีระบุยิ่งอาเซียนมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ความยากจนในภูมิภาคก็มากขึ้นตาม ด้านเยาวชนต้านการค้าเสรี ระบุรัฐจับมือทุนลิดรอนสิทธิประชาชน

 

19 ต.ค.52 วันที่สองของเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี ช่วงเช้าเป็นเวทีหารือประเด็นเศรษฐกิจสังคมในหัวข้อ "จากการบูรณาการทางเศรษฐกิจสู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความร่วมมือทางเลือกในระดับภูมิภาค" โดยไม่มีตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วม

ศจิน ประชาสรรค์ กลุ่ม FTA Watch ประเทศไทย กล่าวถึงความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Agreement) ว่าเป็นหนทางที่ผิดพลาด และวิจารณ์ว่าข้อตกลงด้านเศรษฐกิจที่ผ่านๆ มามักอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน เหมือนตกลงหนึ่งได้ถึงสี่ โดยล่าสุด ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังทราบข่าวเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนในภาคเกษตร ป่าไม้และการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะเปิดให้กับนักลงทุนจากนอกอาเซียนเข้ามาลงทุนได้ด้วย กลุ่ม FTA Watch จึงได้ทำการรณรงค์ในเรื่องนี้ เนื่องจากการลงทุนทั้งสามส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการใช้ทรัพยากรอย่างมาก ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมและการละเมิดสิทธิต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่การลงทุน โดยขณะที่มีการส่งเสริมสิทธิในการลงทุน แต่กลับไม่สนใจสิทธิของผู้อยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดการผูกขาดและความขัดแย้งในชุมชนตามมา
 
เธอเสนอว่า การลงทุนในการค้าเสรี จะต้องเปิดประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลต่อทั้งรัฐสภาและประชาชนเพื่อความโปร่งใส เปิดพื้นที่ให้คนชายขอบเข้ามาเจรจาต่อรอง เพื่อรับประกันว่า สิทธิของคนในชุมชนจะได้รับการปกป้อง
 
ขณะที่คริสต์ อึ้ง จาก UNI-Apro สหพันธ์แรงงานสากล จากสิงคโปร์ กล่าวว่า อาเซียนสนใจแต่เรื่องของธุรกิจ แต่ไม่สนใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงาน ความคิดแบบที่ใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำก่อให้เกิดปัญหาต่อแรงงานขึ้น นอกจากนี้ ในสถานการณ์แรงงานโลก การก่อตั้งสหพันธ์แรงงาน หรือการเรียกร้องสิทธิของแรงงาน ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย
 
เขากล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ว่า ส่วนมากแล้วจะรวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินแก่แรงงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาอึดอัดใจคือ แทนที่จะบอกให้ออม กลับมีแต่บอกให้คนใช้เงินมากขึ้น ทั้งที่ปัญหาพื้นฐานการล้มละลายของทั้งโลกก็เพราะการใช้จ่ายเกินตัว
 
พอล สินาพัน จากองค์กร AsiaDHRRA จากมาเลเซีย กล่าวว่า อาเซียนต้องเลือกว่าเราจะเป็นเศรษฐกิจไหน จะเป็นเศรษฐกิจแบบเสรี ที่เปิดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน โดยไม่ให้ประโยชน์กับผู้คนเลย หรือสนับสนุนเศรษฐกิจที่มีเอกภาพ มีความเอื้ออาทร แบ่งปัน ส่วนตัวเขาเห็นว่า การแข่งขันโดยไม่ดึงประชาชนเข้ามาด้วย จะทำให้คนชายขอบที่เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งแย่ลงไปอีก
 
ทั้งนี้ พอลแสดงความเห็นว่า แทนที่จะกันประโยชน์ให้บริษัทข้ามชาติมาลงทุน คนในอาเซียนสามารถผนึกกำลัง ใช้ภูมิปัญญาของตัวเอง อาทิ ระบบสหกรณ์ ระบบผู้ประกอบการ มาใช้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้
 
ตัวแทนจากมาเลเซีย แสดงความเห็นถึงการลงนามในข้อตกลงต่างๆ ของผู้นำอาเซียนด้วยว่า ควรจะมีธรรมาภิบาล โดยต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลก่อนการลงนาม รวมถึงให้มีคณะทำงานที่ร่วมร่าง ตัดสินใจในข้อตกลงต่างๆ ที่จะนำมาใช้ เพื่อให้ผู้คนที่เคยถูกละเลยมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่มีผู้คนเป็นหัวใจ โดยไม่ทำลายเศรษฐกิจของพวกเขา
 
บอนนี เซเทียวัน จาก FTAs/EPAs-EU-ASEAN FTA Campaign Network กล่าวว่า พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่างเสร็จเรียบร้อย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ โดยไม่มีการสานเสวนา ไม่มีความโปร่งใส และไม่มีการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าเสรีก็เก็บเป็นความลับ แล้วนำมาเปิดเผยหลังจากมีการตกลงแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจประชาชน
 
บอนนี วิจารณ์ว่า ข้อตกลงเหล่านี้มีผลดีต่อประเทศที่ร่ำรวย ในขณะที่ประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า กฎหมายในประเทศจะถูกเปลี่ยนใหม่เพื่อเอื้อกับผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่อย่างเรื่องการตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับออสเตรเลีย ทำให้นโยบายรัฐบาลเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ในขณะที่อาเซียนมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นอันเกิดจากการเปิดเสรีทางการค้า ความยากจนในภูมิภาคก็มากขึ้นตามมาด้วย
 
รีนา ออร่า MAP Foundation กล่าวว่า เวลาที่พูดถึงแรงงานข้ามชาติ คนมักจะพูดกันแต่เรื่องของการรวมกลุ่มทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งนั่นทำให้เราไม่เข้าใจปัญหาของแรงงาน เธอมองว่า เรื่องของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่า โดยในพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระบุถึงการเคลื่อนย้ายของอาหาร การบริการ และแรงงานที่มีทักษะ แต่ไม่พูดเรื่องของแรงงานข้ามชาติเลย ทั้งยังปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของแต่ละรัฐด้วย
 
เธอวิจารณ์ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ไทย-กัมพูชา พม่า-ลาว ว่า ไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยพบปัญหาการระบุสัญชาติ การออกพาสปอร์ต แรงงานกลัวที่จะบอกว่าพวกเขามาจากไหน อีกทั้งแต่ละรัฐยังมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างยุ่งยากอีกด้วย
 
รีนา เล่าว่า ที่ผ่านมา ภาคประชาคมสังคมเคยเสนอว่าจะควรมีเครื่องมือดูแลแรงงานข้ามชาติทุกคนไม่ว่าเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ในพิมพ์เขียวก็ให้สิทธิแค่แรงงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
 
โดนัลด์สัน แทน ตัวแทนเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Movement) กล่าวว่า มีผู้ตั้งสมมติฐานว่า การรวมตัวด้านเศรษฐกิจในอาเซียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในประเทศอาเซียนยังมีประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เป็นชาวไร่ชาวนา ทำเกษตรกรรมจำนวนมากที่ไม่ได้รับข้อมูลเรื่องตลาดการค้าเสรีจากรัฐบาล อีกทั้งการแข่งขันของเกษตรกรรายเล็กกับบริษัทขนาดใหญ่ก็เป็นเรื่องยากมาก
 
ด้านตัวแทนจากเครือข่ายประมงจากฟิลิปปินส์ แสดงความเห็นว่า อยากให้มีการพูดถึงเรื่องของชาวประมงให้มากขึ้น เอเชียตะวันออกเฉีงใต้เป็นภูมิภาคที่มีปลาเยอะมาก และกลุ่มธุรกิจก็สนใจเรื่องนี้มาก แต่ในเวทีระดับชาติต่างๆ กลับไม่พูดถึงประมงรายย่อยเลย ตอนนี้ พันธมิตรเอเชียใต้เองก็พยายามผลักดันให้มีการปกป้องสิทธิของประมงรายย่อยในภูมิภาค
 
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา แรงงานจากสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า อาเซียนพูดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งดูเหมือนดี แต่ปรากฎว่าอาเซียนกลับมองไม่เห็นหัวคนจนประชาชนสิบประเทศ ถ้าการลงทุนเสรี การเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งที่มีทักษะและไม่มีทักษะก็ควรจะเสรีด้วย ทั้งที่มีและไม่มีทักษะ นอกจากนี้ ต้องกำหนดให้เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานด้วย ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยเธอตั้งคำถามว่า ถ้าอาเซียนมีเขตแดนแล้วจะเป็นชุมชนอาเซียนได้อย่างไร
 
เธอกล่าวถึงกฎหมายที่อนุญาตให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆ ว่า จะต้องระบุถึงมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) อาทิ สิทธิในการรวมตัว การเจรจาต่อรอง และค่าจ้างที่เป็นธรรม ไว้ด้วย
 
เยาวชนต้านการค้าเสรี ระบุรัฐจับมือทุนลิดรอนสิทธิประชาชน
ระหว่างการพูดคุยในเวทีเศรษฐกิจสังคมในช่วงเช้า กลุ่มเยาวชนในชื่อ “กลุ่มเยาวชนไทยต่อต้านการค้าเสรี” ราว 20 คน ได้เดินขบวนถือแผ่นป้ายต่อต้านการค้าเสรี โดยอ่านแถลงการณ์ระบุว่า ในฐานะของเยาวชนไทยและประชาชนบนแผ่นดินไทย ที่มองเห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิการมีชีวิต โดยระบบการค้าเสรีที่รัฐร่วมมือกับนายทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและคนรากหญ้า ทำให้เกิดการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอันหลากหลาย ในนามของเยาวชนไทยต่อต้านการค้าเสรี (FTA) จึงขอประกาศเจตนารมณ์ว่าจะร่วมกันสร้างสังคมเป็นธรรม ที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
 
“เราจะขอยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของพี่น้องประชาชน ผู้ถูกกดขี่จากสงครามเศรษฐกิจและจะร่วมต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม อันประกอบไปด้วยการมีระบบเศรษฐกิจการค้าที่เป็นธรรม การมีสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย การมีอธิปไตยทางอาหาร การมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการมีสิ่งแวดล้อมที่ยังยืน” แถลงการณ์ระบุ พร้อมเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้
 
 

 
แถลงการณ์ของเยาวชนไทยต่อต้านการค้าเสรี (FTA)
 
 
เราในฐานะของเยาวชนไทยและประชาชนบนแผ่นดินไทย ผู้มีลมหายใจเป็นหนึ่งเดียวกับเสรีชนบนโลกใบนี้
 
เนื่องจากสิทธิและการมีชีวิตของเราถูกลิดรอนลง โดยระบบการค้าเสรีที่รัฐร่วมมือกับนายทุนกำหนดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อพี่น้อง ประชาชนและคนรากหญ้าอย่างแท้จริง
 
การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบจากระบบการค้าเสรี จึงเกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่วไม่มีข้อยกเว้นกับชุมชนและสังคม และวัฒนธรรมอันหลากหลายของเรา
 
ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนของเรา ล้มตายจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนมากได้ล้มตายไปแล้ว และมีอีกจำนวนมากที่กำลังจะล้มตายต่อไป หากสงครามการค้ายังดำเนินอยู่
 
ดังนั้นก่อนที่พี่น้อง ประชาชน ของเราจะล้มตาย เราในนามของเยาวชนไทยต่อต้านการค้าเสรี (FTA) จึงขอประกาศเจตนารมณ์ว่า
 
“เราจะขอยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของพี่น้องประชาชน ผู้ถูกกดขี่จากสงครามเศรษฐกิจและจะร่วมต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม อันประกอบไปด้วยการมีระบบเศรษฐกิจการค้าที่เป็นธรรม การมีสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย การมีอธิปไตยทางอาหาร การมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
 
ถึงแม้สิ่งที่เราประกาศออกมานี้ อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติ แต่เพราะสิ่งนี้มิใช่หรือที่ทำให้คนหนุ่มสาวของเรายังมีลมหายใจอยู่ และแต่นี้เป็นต้นไป พี่น้อง ประชาชน ของเราสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติและยุติธรรม ไม่ใช่อยู่ด้วยการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
 
เราขอเรียกร้องให้เพื่อนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อสู้กับเราด้วย
 
 
ด้วยความศรัทธา
กลุ่มเยาวชนไทยต่อต้านการค้าเสรี
วันที่ 19 ตุลาคม 2552
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net