Skip to main content
sharethis
ปาฐกถา 60 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำเดือนตุลาคม โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวข้อ เศรษฐศาสน์กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง (Economic Religion and the Production of Structural Ignorance) ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันจันทร์ที่ 19 ต.ค. 2552
000
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ก่อนอื่นผมต้องของชี้แจงสักนิดว่าเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ผมเพียงแต่พยายามรวบรวมแง่คิด มุมมองต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมมาเรียบเรียงให้ชัดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อแสดงจุดยืนและทัศนะที่ผมเห็นด้วย
อย่างไรก็ดีพูดให้ถึงที่สุดแล้วเรื่องที่ผมตั้งใจจะพูดก็ไม่ได้ผิดไปจากหัวข้อ เพียงแต่ต้องการชี้แจงล่วงหน้าว่าผมไม่มีความรู้พอที่จะมาวิจารณ์วิชาเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งขอจำแนกความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ในฐานะสาขาวิชา กับเศรษฐศาสน์ที่ผมใช้เป็นชื่อหัวข้อในการปาฐกถา คำหลังนี้พูดอีกแบบหนึ่งใช้คำว่า ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ หรือลัทธิบูชา จีดีพี
ความแตกต่างระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และลัทธิบูชาเศรษฐกิจ อยู่ที่ฝ่ายหลังมักจะของยืมทฤษฎีหรือจินตภาพของฝ่ายแรกไปใช้อย่างสามานย์ ทำให้เกิดชุดความคิดที่คล้ายกันหรือเหมือนกันขึ้นมาอีกชุดหนึ่งซึ่งหลุดออกจากความเป็นวิชาการ กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองบ้าง เป็นข้ออ้างทางสังคมบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะนำไปใช้ในบริบทใด
พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือว่า ลัทธิบูชาเศรษฐกิจหมายถึงลัทธิที่ยึดถือการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนทางสังคมและกิจกรรมโดยกำหนดให้ด้านอื่นๆ เป็นเพียงด้านรองกระทั่งถูกหักลางได้อย่างสิ้นเชิงเพื่อสนองจุดหมายนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในระดับนโยบายของรัฐ การลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ มักจะมีลำดับความสำคัญสูงกว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการขยายตัวเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมมักถูกกำหนดคุณค่าไว้สูงกว่าการรักษาสภาพเดิมของชุมชนท้องถิ่น เช่นนี้เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ในระดับปัจเจกบุคคล การยึดถือเศรษฐกิจเป็นศาสนา ก็มักนำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์ทางวัตถุหรือรายได้ที่เป็นเงิน ในระดับที่ลดทอนหรือยกเลิกคุณค่าอื่นๆ ของชีวิต เช่นมิตรภาพ น้ำใจ ความเมตตา กรุณา ตลาดจนความสงบสันติ พูดโดยรวมแล้วลัทธิบูชาเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการมองโลกโดยภาวะวิสัย หรือ Objective Thinking เท่าใดนัก หรือไม่ได้มาจากกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเชื่อทางอัตวิสัย เป็น Subjective Thinking แบบหนึ่ง ที่งอกมาจากความปรารถนาของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง แต่เมื่อถูกยึดถือกันเป็นจำนวนมากก็กลายเป็นลัทธิความเชื่อที่ไม่ต่างอะไรกับศาสนาบางนิกาย อีกทั้งยังเป็นศาสนาที่ก้าวร้าวรุนแรงยิ่ง มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อตอกย้ำแนวคิดของตน มีการผลิตวาทกรรมี่เชิดชูจุดหมายของตน อีกทั้งมีขบวนการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของตน ตลอดจนมีบทลงโทษลงทัณฑ์ผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือขัดขวางแนวคิดของตน เช่นนี้แล้วลัทธิบูชาเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อโลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคนในสังคมอย่างหนักหน่วง ทำให้มีการมองโลกเพียงด้านเดียว คือด้านที่เป็นผลประโยชน์ทางวัตถุเท่านั้น
นี่ต่างกับวัตถุวิสัยทางปรัชญา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หากผลประโยชน์ในการทำความเข้าใจมิติของชีวิตและจักรวาล
ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่าความหมกมุ่นถึงผลประโยชน์ทางวัตถุนั้น ได้ลดทอนความสงบทางจิตใจลงไปขนาดไหน ความอยากมีอยากเป็นอย่างไร้ขอบเขตทำให้บุคคลต้องทะเลาะกับตัวเองกับผู้อื่น และทะเลาะกับธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับจุดหมายในการสร้างชีวิตและสังคมที่สงบสุข
ก็อาจจะพูดได้ว่าโลกทัศน์ดังกล่าวเป็นการมองโลกและชีวิตผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นความมืดทึบทางปัญญา หากพูดภาษาธรรมก็คือว่า เป็นชีวิตที่ถูกดันโดยอวิชชา หรือ Ignorance
ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา อวิชชาหรือความไม่รู้นั้นมีสาเหตุมาจากความหลงในอะไรสักอย่าง เป็นโมหะ หรือบางทีก็หลงใหลในทุกสิ่งทุกอย่างจนมองไม่เห็นความจริงของชีวิต ตามที่พระท่านสอนคืออวิชชา 4 กับอวิชชา 8
ข้อแรก หมายถึง ว่าไม่รู้อริยสัจ 4 ประการอันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ส่วนข้อหลังนั้นเพิ่มไปอีก 4 ประการไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต แน่นอนผมตระหนักดีว่านี่อาจจะไม่ใช่เวลาลงลึกถึงระดับโลกุตรธรรม
แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมที่เน้นแต่ด้านของการเติบโตทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต่างก็หลุดไปจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมอีกทั้งปรุงแต่งสินค้าซึ่งถูกนำมาปรุงแต่งชีวิตและกามารมณ์ โดยไม่สนใจว่าผมประทบระยะยาวจะออกมาเช่นใด นี่เราอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นอวิชชาที่ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคตเป็นการหมุนวนอยู่กับวงจรทุกข์อย่างหาทางออกไม่ได้
วรรคแรกของปฏิจสมุปบาทนั้นกล่าวว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย อันนี้แปลว่าเพราะมีความโง่เหลาเป็นเครื่องมือ ผู้คนจึงก่อกรรมขึ้นมา ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการจะหลุดพ้นจากวงวัฎของกรรมเวร หรือพ้นทุกข์ย่อมเป็นเรื่องทำไม่ง่าย หากไม่มีการดับอวิชชาเสียก่อน
ผมอยากจำกัดการสนทนาไว้ที่เรื่องความทุกข์ร้อนทางสังคม เพราะฉะนั้นคำว่าอวิชชาที่นำมาใช้ เป็นการใช้ในความหมายกว้างๆ เป็นการมองชีวิตแค่ด้านเดียว หรือมองโลกคลาดจากความจริง
ในความเห็นของผม อวิชชาดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของปัจเจกชน มากเท่ากับการถูกผลิตขึ้นอย่างจงใจโดยโครงสร้างหลักๆ ของสังคม ที่สำคัญคือมันถูกผลิตขึ้นด้วยนโยบายหลักของรัฐ โดยระบบการศึกษาของรัฐที่เป็นการศึกษาแบบแยกส่วนตัดตอน ตลอดจนการโฆษณาสินค้าและบริการที่ท่วมทับระบบข่าวสารของสังคม จนเหลือพื้นที่ให้ทางเลือกอื่นๆ น้อยเต็มที่
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือว่า อวิชชาหรือความโง่เขลาในประเทศนี้ เป็นผลผลิตเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำโดยกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่ปัญหาพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมามากแล้ว ผมจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ทำให้ประเทศของเราตกอยู่ในภาวะ 1 รัฐ 2 สังคม รวยสุดขั้ว จนสุดขีด จนกะทั่งกลายเป็นปัญหาการเมืองทีแก้ไม่ตก เมื่อมวลชนแยกกันฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำต่างกลุ่ม ซึ่งขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่อำนาจ ผมไม่คิดว่าใครจะแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองแบบนี้ได้ ถ้าไม่นำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นที่สะท้อนลักษณะอวิชชาในนโยบายของรัฐก็คือ แทบจะไม่มีการสรุปบทเรียนอะไรอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความผิดพลาดในนโยบายการพัฒนาประเทศ มิหนำซ้ำยังย้ายอุปาทานเรื่องการพัฒนามาเป็นอุปาทานเรื่องตลาดเสรี กระทั่งผสมผสานมันเข้าหากันโดยยืนยันไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ ฉบับ 2550
ในเมื่อรัฐเป็นฝ่ายยืนยันในมายากคติในเรื่องเหล่นี้เสียแล้ว ผู้ที่ถือลัทธิบูชาเศรษฐกิจหรือบูชาจีดีพี ก็นับว่ามีทั้งมหาวิหารและคัมภีร์อ้างอิงอย่างพร้อมมูล เรียนตรงๆ ว่าผมเองก็ไม่เข้าใจว่าเมื่อผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นแห่งชาติหรือแบบไร้พรมแดน ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยสุด 20 เปอร์เซ็นต์ กับคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ ห่างกันถึง 13.2 เท่าและคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนจนสุด 10 เปอร์เซ็นต์ได้ส่วนแบ่งแค่ 3.9 เปอร์เซ็นต์  แล้วเรายังยืนยันที่จะเดินหนทางนี้ต่อไปได้อย่างไร บางทีเรื่องมันอาจจะเป็นแบบที่ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้ชี้ไว้ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่กระบวนการปกติ แต่เป็นสิ่งที่สังคมเลือก และก็คงมีแต่สังคมอวิชชาเท่านั้นที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นของจริง
เพราะฉะนั้นมันคงจะไม่ใช่เรื่องที่ปราศจากเหตุผล ที่ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เคยสรุปไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่นับเป็นกำแพงด้านหนึ่งที่กั้นขวางการเติบโตทางปัญญา ที่ท่านใช้คำว่าเป็นหลุมดำทางปัญญา นอกเหนือไปจากสังคมแนวดิ่ง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ และระบบการศึกษา
พูดถึงระบบการศึกษา อันที่จริงถ้าเรามีระบบการศึกษาที่สร้างพลังทางปัญญาได้สำเร็จ เราอาจจะช่วยถ่วงดุลอวิชชาของลัทธิบูชาจีดีพีได้บ้าง แต่ดังที่ผมกล่าวไว้แล้วในบางที่บางแห่ง โครงสร้างและเนื้อหาของการศึกษาไทย เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เน้นไปในทางแยกสาขามากกว่าบูรณาการองค์ความรู้ให้เข้าใจโลกและชีวิตโดยรวม กล่าวอีกแบบคือเราแยกมิติต่างๆ ของความจริงออกจากกัน แยกห้องเรียนออกจากโลกภายนอก แยกผลการเรียนออกจากเจตจำนงในการเรียน กระทั่งตัวสถาบันการศึกษาเองก็แยกห่างออกจากสังคม สภาพเช่นนี้ทำให้การท่านรู้ทางปัญญาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ดีแม้ ว่าการศึกษาแบบแยกส่วนจะมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่างแต่ท้ายที่สุดตัวแปรที่กำหนดสภาพดังกล่าวมากที่สุด ก็คือตลาด พูดง่ายๆ คือการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตตนเองของผู้ศึกษาเพื่อจะได้กลายเป็นสินค้าราคาแพงในตลาดแรงาน ทั้งนี้โดยไม่ต้องสนใจไยดีว่าในภาพที่ใหญ่กว่าแรงงานของตนจะถูกนำไปสนองวัตถุประสงค์ใด แม้แต่อาจารย์ที่สอนวิชาต่างๆ ก็อาจจะไม่ทันได้ไต่ถามว่าศาสตร์ที่มอบให้ลูกศิษย์นั้นเป็นศาสตร์แห่งการครอบงำและครอบครองหรือเป็นศาสตร์แห่งการเข้าใจและเข้าถึง
แน่นอน การผลิตตัวเองให้เป็นสินค้าที่มีราคาในท้องตลาดโดยผ่านการศึกษา กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็เป็นกระบวนการผลิตตัวตนของปัจเจกบุคคลไปด้วย แต่ก็เป็นตัวตนในมุมแคบเต็มที อยู่ในระดับอหังการ์ ตัวกูของกูเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่บ้าปริญญา เต็มไปด้วยผู้มีการศึกษาสูงที่โง่เขลา หลายคนอาจจะมีรายได้มาก หาเงินเก่ง แต่มีชีวิตที่เหลือเหมือนอนารยะชน เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้แสงสว่างทางปัญญาแก่สังคม ระบบการศึกษาที่ตกเป็นอาณานิคมของลัทธิบูชาเศรษฐกิจกับกลายเป็นโครงสร้างที่ผลิตอวิชชาเสียเอง
กล่าวสำหรับระบบการนำเสนอข่าวสารของสังคมซึ่งมีผลหล่อหลอมโกทัศน์ไม่น้อยไปกว่าระบบการศึกษา กระทั่งอาจจะมีพลังหนักหน่วงกว่า เราก็เห็นอยู่แล้วว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร อาจจะพูดได้ว่า กระแสหลักของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสังคมได้ถูกครอบงำโดยแรงจูงในทางธุรกิจไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าและวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม หรือการเสนอข่าวเร้าใจให้เสพทั้งๆ ที่หลายเรื่องไม่ควรจะเป็นข่าว แม่กระทั่งการนำเสนอข่าวความเป้ฯไปในบ้านเมืองธรรมดาๆ ก็ต้องมีการปรุงรสเพื่อเพิ่มยอดชาย สภาพดังกล่าวนับว่าสวนทางกับสวนทางกับสังคมอุดมปัญญาในระดับประสานงา เป็นการผลิตอวิชชาในระดับโครงสร้างอีกชนิดหนึ่ง ผู้ผลิตสื่อไม่ว่าจะหวังดีสักเพียงใด ล้วนแล้วแต่ดิ้นไม่พ้นอิทธิพลของเงื่อนไขทางธุรกิจ จำเป็นต้องปรุงแต่งข่าวสารให้นำมาซึ่งกำไรสูงสุดของผู้ว่าจ้างซึ่งตนเองมีส่วนแบ่งอยู่ด้วย ลัทธิบูชาเศรษฐกิจจะไม่ปราณีกับคนที่ไม่ยอมร่วมมือ
ในสภาวะที่ระบบข่าวสารของสังคมเป็นเช่นนี้ ก็ชวนให้น่าสงสัยเหมือนกันว่า กลไกการทำงานของสิ่งทีเรียกตลาดเสรีจะเป็นเช่นไร
สมมติฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เห็นว่าในระบบตลาด มนุษย์เราจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล แท้จริงแล้วเป็นไปได้หรือไม่ การถูกพูดกรอกหูอยู่ทุกวันว่าผิวคล้ำเป็นปมด้อย หรือรักแร้ดำเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต จนต้องซื้อครีมยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้มาถูถาเป็นการจัดสินใจที่เต็มไปด้วยเหตุผลหรือไม่ แน่นอนวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมที่กระพือพัดอยู่ในสื่อโฆษณาต่างๆ ย่อมทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ยังไม่ได้บริโภคยังมีอีกมาเหลือเกิน
ด้วยเหตุนี้ความคิดที่ก่อรูปตามหลังมาก็คือ ตัวเองยังรวยไม่พอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะพออยู่พอกินมากแล้วก็ตาม  ในความเห็นของผม แม้ว่าเราจะมีคนที่จนจริงๆ อยู่ในประเทศหลายล้านคนซึ่งจำเป็นจะต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกรูปแบบ แต่คนเหล่านั้นไม่ได้สานต่อก่อกระแสอวิชชาเท่ากับสภาพจิตแบบกลัวไม่รวยของคนชั้นกลางที่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาของสื่อต่างๆ ดังที่เราจะเห็นการเข้าหาไสยศาสตร์อย่างบ้าคลั่งของคนกลุ่มหลังซึ่งนำไปสู่การบิดเบือนศาสนธรรมอย่างไม่เคอะเขิน วัดวาอารามหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิหลายแห่งล้วนถูกดัดแปลงให้เป็นแหล่งพิธีกรรมขอลาภยศสรรเสริญ บางพวกตระเวนไหว้พระไหว้เจ้าทุกแห่งเพื่อจุดหมายที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมคำสั่งสอน หลายคนไหว้กระทั่งหมูหมากาไก่ ท่อนไม้สากกะเบือ หรือสัตว์ชนิดไหนก็ได้ที่เกิดมาผิดปกติจาเพื่อนร่วมสายพันธุ์ ทั้งนี้ด้วยความปรารถนาเพียงหนึ่งเดียวคือ ขอให้รวยๆ
อันที่จริง การจะบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นผลจากลัทธิเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ถูก เพราะในบางกรณีความมั่งคั่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการบริโภคแต่ถูกมองเป็นจุดหมายสูงสุดโดยตัวของมันเอง ดื้อๆ ลอยๆ เหมือนกับที่นโยบายของรัฐเน้นเรื่องการเติบโตของจีดีพี
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์บุรุษท่านหนึ่ง น่าสนใจมาก ท่านบอกว่าตัวเองได้เลี้ยงปี่เซี๊ยะไว้ทั้งหมด 3 คู่ โดยตั้งชื่อให้ เช่น ตัวหนึ่งชื่ออำนาจ ตัวหนึ่งชื่อบารมี ตัวหนึ่งชื่อพันล้านและอีกตัวหนึ่งชื่อหมื่นล้าน ปี่เซี๊ยะดังกล่าวมีคุณสมบัติหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือส่งเสริมความมั่งคั่งร่ำรวย นำโชคลาภให้ไหลมาเทมา ท่านให้สัมภาษณ์ว่าปี่เซี๊ยะพวกนี้ต้องทำจากหยกหรือหินเพราะจะมีพลังในตัวเอง โดยจะต้องผ่านพิธีปลุกเสกเสียก่อน พอได้มาก็ต้องเอามาอาบน้ำ ตั้งชื่อ ขอให้เขาช่วยดูเงินดูทองให้เรา เลี้ยงเหมือนทามาก๊อต เอาน้ำตั้งให้เขากิน เวลากลางคืนนั่งดูทีวีก็เอาเขามาวางข้างๆ เรียกชื่อเขา ลูบเขา ขอให้เขาให้ลาภเรา ท่าเจ้าของบทสัมภาษณ์นี้ยังยืนยันด้วยว่าข้อห้ามสำหรับการเลี้ยงปี่เซี๊ยะนั้น คนที่เป็นเจ้าของจับได้คนเดียว หากให้คนอื่นจับเหมือนแบ่งโชคแบ่งลาภ ผมคงไม่ต้องออกความเห็นเพิ่มเติมอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงแต่ขอทำหมายเหตุเชิงอรรถนิดหน่อยว่า ปี่เซี๊ยะนั้น คือรูปแกะสลักขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของผสมของสัตว์หลายชนิด ทั้งสัตว์ที่มีจริงและสัตว์ในจินตนาการ ส่วนทามาก็อตเป็นของเล่นเด็กญี่ปุ่น ส่วนผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องทั้งหมดนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทุกวันนี้เราอาจพูดได้ว่าการผลิตสื่อโฆษณาในแนวทางของลัทธิบูชาเศรษฐกิจกับโลกทัศน์ชีวิทัศน์ของผู้ผู้เสพสื่อได้ทักทอเป็นสายใยสำคัญจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดใคร และในระบบตลาดเสรี เมื่อมีการเรียกร้องต้องการในเรื่องความมั่งคั่งส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือประเภทนำเสนอวิธีการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงถูกผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จนเหลือพื้นที่บริโภคของหนังสือประเภทอื่นๆ น้อยเต็มที
แน่นอนสำหรับสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ มีแต่หนังสือที่ขายได้เท่านั้นจึงถือว่าเป็นหนังสือที่ดี ส่วนเนื้อหาสารถที่บรรจุไว้ในหน้ากระดาษอาจจะไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่มันอาจจะถอนรกถอนโคนคุณค่าที่เหลือทั้งหมดของชีวิตเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่น่าจะกำลังขายดีในประเทศไทย หลังจากข่ายดีมาแล้วในโลกตะวันตก หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาษาไทยว่ารวยได้ไม่ต้องเอาถ่าน โดยมีคำโปรยหน้าปกสำทับไว้ด้วยว่า นี่คือวิธีคิดทางการเงินแบบนอกกรอบที่ช่วยให้คนไม่เอาถ่านพลิกกลับมารวยล้ำหน้าคนที่ฉลาดและทำงานหนักกว่า เอาล่ะ บางทีชื่อหนังสือคำโปรยอาจะเป็นแค่กลยุทธ์ทางการค้า แต่พอพลิกอ่านข้างใน เราจะพบว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เอาจริง กับเรื่องที่เขาเขียนมาก และหมายความตามชื่อเรื่องและคำโปรยจริงๆ ดังมีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า “คนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งล้วนมีเป้าหมายหลักในการครอบครองทรัพย์สินให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เป้าหมายของคุณในฐานะคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งมือใหม่ ก็คือซื้อหาทรัพย์สินชิ้นแรกมาซะ คุณไม่จำเป็นต้องมีเงินมากหรอกครับ อันที่จริงแล้ว คุณไม่ต้องใช่เงินตัวเองเลยก็ได้” นอกจากนี้ก็มีข้อความบางอย่างเขียนไว้เกี่ยวกับชีวิตที่ดี
“การมีชีวิตที่ดีเสียตั้งแต่ตอนนี้หมายถึงอะไร มันหมายถึงการสนุกกับสิ่งของทุกอย่างของคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ไม่วาจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ การท่องเที่ยว สิ่งของหรูหรา สิ่งของดีๆ ทั้งหลาย แต่ก็อย่างที่คุณรู้อยู่แล้ว ผมยังเชื่อว่าการเป็นคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่ง คุณต้องมีเวลาอยู่ด้วย.ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่คุณใช้ร่วมกับคนอื่น คนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งใช้เวลากับครอบครัวอย่างจริงจัง พวกเขาอุทิศตัวให้กับชุมชน ให้เงินบริจาคองค์กรการกุศาล สนับสนุนสถาบันการศึกษาและศาสนาพวกเขาคือ เป็นผู้อุปถัมภ์องค์การวิทยาศาสตร์และศิลปะ พวกเขาช่วยคนอื่นตะเกียกตะกายออกจากความจน ผมจึงอยากเป็นคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งทางจิตวิญญาณด้วย”
เช่นเดียวกับเรื่องปี่เซี๊ยะให้ลาภผมคงไม่ต้องออกความคิดเห็นเพิ่มเติม แต่จะว่าไปนับถึงวันนี้แนวคิดข้างต้นก็ไม่ใช่ของใหม่ แต่การที่มันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างเข้มข้นในรูปแบบต่างๆ ก็ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยว่าว่าสังคมที่ถูกอบร่ำด้วยบรรยากาศเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจะนำพาวิกฤตแบบไหนมาให้เราอีก
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับหนังสือที่ผมยกมากก็คือว่ามันมีข่าวสารที่สำคัญว่าต้องรวมศูนย์ความมั่งคั่ง ไว้ในมือคนส่วนน้อยก่อนจากนั้นค่อนกระจายรายได้และความเจริญ ผมไม่ทราบว่าในระดับปัจเจกบุคคลมันเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า เป็นไปได้แค่ไหนที่จะบวกรวมจิตวิญญาณที่โลภเร่งถึงขีดสุด เข้ากับจิตวิญญาณที่อุทิศตัวเพื่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยผมทราบว่าแนวคิดที่คล้ายๆ กันนั้นเคยถูกโฆษณาโดยรัฐและนักวิชาการในประเทศไทยมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ และมันเป็นคำมั่นสัญญาที่ไม่เคยปรากฏเป็นจริง เพราะฉะนั้นการเอามายาคติดังกล่าวมาผลิตซ้ำอีก จึงไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นอวิชชา  
จริงอยู่ลำพังความคิดอยากได้อยากมีเหล่านี้ หากไม่ละเมิดใครก็อาจอนุโลมได้ว่าเป็นแค่ความเชื่อส่วนตัว เป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งแม้จะไม่ค่อยสร้างสรรค์นักก็ตาม
แต่ความเป็นจริงมีอยู่ที่สถานการณ์ทางสังคมไม่ได้หยุดอยู่ที่ความคิดอันฟุ้งซ่านเท่านั้น หากแต่นำไปสู้ความเดือดร้อนอันเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งคนที่ถูกทิ้งให้ยากจนสุดขีดและคนที่อยากรวยล้วนแล้วแต่มีโอกาสแต่ลื่นไถลไปสู่การสนองความต้องการของตนโดยไม่คำนึกถึงวิธีการ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสถิติอาชญากรรมต่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากความอยากได้ทางวัตถุทั้งสิ้น
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างหนักอีกด้วย จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก เราถูกจัดไว้ที่อันดับที่ 80 จาก 160 ประเทศ ทั้งนี้โดยมีการเรียงลำดับจากคอร์รัปชั่นน้อยสุด ไปสู่คอร์รัปชั่นมากสุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นคะแนนกับประเทศใกล้เคียงในเอเชียกันแล้ว ประเทศไทยได้เพียง 3.5จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่มาเลเซียได้ 5.1 ญี่ปุ่นได้ 7.3 และสิงคโปร์ได้ถึง 9.2
ท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกาะกินประเทศมาช้านาน กลายเป็นปัญหาการเมืองและเป็น ปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน เราคงพูดไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เกี่ยวโลกทัศน์ทางด้านผลประโยชน์ ทุกคนมีผลประโยชน์ทั้งนั้น แต่มันเป็นผลประโยชน์ที่ออกนอกบรรทัดฐานไปไกลซึ่งสุดท้ายนกลับมาส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจเอง ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่นานนี้ว่า
“ได้รับทราบจากบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างว่ามีการกินหัวคิวของในโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็งสูงถึง 20 -25 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากเกินไปถ้าเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร ถือว่าธรรมดา” ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้คำนวณไว้หากมีการคิดค่าหัวคิวในอัตราร้อยละ 25 ตามโครงการไทยเข้มแข็ง เงินภาษีอากรของประชาชนที่รั่วไหลไปสู่กระเป๋าคนโกงจะมีปริมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท นี่ก็เป็นปัญหาที่เริ่มต้นด้วยความอยากรวย
แน่นอนว่าเราไม่สามารถโยนความผิดปกติเหล่านี้ไปให้วิชาเศรษฐศาสตร์ต้องรับผิดชอบ แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นสภาพที่ต่อเนื่องมาจากอวิชชาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากลัทธิบูชาผลประโยชน์ของนักเศรษฐกิจ ทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่าที่ผ่านมากินหัวคิวแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครว่าอะไร หากจะเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่น่าจะเป็นไรเช่นกัน เพราะถึงอย่างไรเงินทองที่ได้มาทั้งอาชญากรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะถูกนำมาจับจ่ายใช้สอยบริโภคก็นับเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ในความเห็นของผม ปัจจัยมูลฐานที่สุดที่ก่อให้เกิดอวิชชาเชิงโครงสร้าง ก่อให้เกิดการมองโลกเพียงด้านเดียวซึ้งผิดจากความจริง ยังคงอยู่ที่นโยบายของรัฐ ซึ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ที่ผ่านมาในระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ รัฐไทยได้ใช้อำนาจรวมศูนย์กำหนดความสำคัญทางการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้เป็นอันดับหนึ่ง มิไยว่าบาดแผลทางสังคมที่เกิดขึ้นจะสั่งสมไว้มากแค่ไหน มิไยว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้จะถ่างกว้างออกไปเพียงใด การเสื่อมทรุดของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะหนักลงปานใด รัฐก็ยังคงยืนยันที่จะให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา สภาพเช่นนี้ทำให้สังคมไทย ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไปได้
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ มาบตาพุด ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างการสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุโดยผ่านทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรม กับคุณภาพชีวิของผู้คนในสังคม การที่ชุมชนชาวมาบตาพุดและเครือข่ายภาคประชาชนไม่อาจฝืนทนกับสภาพที่ทรมานเช่นนี้ต่อไป นับเป็นการตื่นรู้ครั้งสำคัญของสังคมไทย ที่เรียกร้องต้องการให้รัฐไทยออกจากลัทธิบูชาเศรษฐกิจและนำมาประชาชนมาสู่ชีวิตที่สมดุลมากขึ้น
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ นับตั้งแต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ ทั้งในพื้นที่มาบตาพุดและในพื้นที่ใกล้เคียง ปรากฏว่าทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนต่างก็ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่าคำสั่งศาลดังกล่าวจะทำให้เกิดผลเสียทางด้านเศรษฐกิจ ผลทั้งนี้โดยมีชุดเหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังกันมาจนคุ้นเคย คือหนึ่ง ต่างชาติจะไม่ลงทุนในประเทศไทย สอง จีดีพีจะลดลงเพราะเงินลงทุนหายไป สามถึงสี่แสนล้านบาท และสามผู้คนจะตกงานถึงหนึ่งแสนคน เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วประเทศไทยจะเสียหายมาก
ที่ผมบอกว่าน่าสนใจก็คือว่า ชุดเหตุผลเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ทุกๆ ความขัดแย้งคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นมันจึงมีลักษณะเป็นอุดมกหรือวาทกรรมทางการเมืองมากกว่าคำอธิบายสถานการณ์ที่เป็นจริง และลักษณะของอุดมการณ์ไม่ว่าของฝ่ายไหนก็ตาม กระบวนการใช้ตรรกะเหตุผลบางอย่าง เหตุผลทั้งหมดมักจะตั้งอยู่บนฐานความเชื่อบางอย่างที่ยกขึ้นหิ้งไว้ แล้วบอกว่าห้ามเถียง เช่นในกรณีนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมคือผมประโยชน์ส่วนรวม จีดีพีคือดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรือง การมีงานทำเป็นสิ่งที่ดี อะไรทำนองนั้น
ในจุดนี้ผมอยากจะขอหมายเหตุไว้สักนิดว่า ถ้าพิจารณาโดยหลักธรรมแล้ว อุดมการณ์ทุกประเภทล้วนเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะมันเกิดจากการจับความจริงบางส่วนมาขังไว้ในกรอบคิด จากนั้นก็ปรุงแต่งจนมองข้ามความจริงทีเป็นรูปธรรมที่คลี่คลายอยู่เบื้องหน้าในปัจจุบัน ท้ายที่สุดมุมมองแบบนี้ก็จะนำไปสู่การเข้าใจโลกอย่างผิดๆ กระทั่งหลุดไปจากความจริงอย่างสิ้นเชิง หรือทะเลาะความจริงอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะมีความคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของความจริงเสียเองพวก Fundamentalist ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ไม่ว่าฝ่ายศาสนาหรือการเมือง ล้วนแล้วแต่มีมิจฉาทิฐิเช่นนี้
ในกรณีของมาบตาพุด สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกใจหายก็คือ ขณะที่ชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นบุคคลที่มีหน้าตาตัวตนอย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม มีคนเจ็บและคนเสียชีวิตด้วยโรคร้ายนานาชนิดอย่างเป็นรูปธรรม ฝ่ายรัฐและภาคธุรกิจกลับพูดถึงคุณค่าและปริมาณของเงินลงทุนแบบลอยๆ โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใครได้อะไรแค่ไหนจากเงินดังกล่าว จำนวนคนทำงานหนึ่งแสนคนก็เป็นมนุษย์นิรนาม ไม่รู้ว่าเป็นใคร และทำงานในเงื่อนไขอะไร งานเหล่านั้นสร้างชีวิตที่ดีให้พวกเขาหรือไม่ หรือยิ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาเลวลง กลายเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอีกชนิดหนึ่ง เพราฉะนั้น ในแง่หนึ่งเราจะเห็นได้ว่าข้อขัดแย้งของมาบตาพุดเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง Myth (มายาคติ) กับ Reality (ความเป็นจริง) และผมคงไม่ต้องตอกย้ำก็ได้ว่าการมองข้ามความทุกข์ร้อนที่เป็นรูปธรรมของผู้คนในนามของความดี ตัวเลขนามธรรม จริงๆ แล้วก็คืออวิชชา นี่คือโมหะที่ครอบงำประเทศไทยมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1
ชาวบ้านมาบตาพุดไม่ใช่เหยื่อรายแรกของอวิชชานี้ ก่อนหน้านั้นมีชาวบ้านปากมูน ชาวอำเภอจะนะ บ่อนอก หินกรูด และคนยากคนจนในอีกหลายที่หลายแห่งซึ่งถูกกดดันให้สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือเสียสละ เพื่อหลีกทางให้กับสิ่งที่เรียกกว่าการพัฒนา
แน่นอน กล่าวเช่นนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าทำอย่างไร ความสำคัญนั้นจะไม่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดๆ โดยเกาะเกี่ยวไม่ยึดโยงกับคุณค่าอื่นใดของความเป็นคน
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่ควรจะต้องเลือกอย่างสุดขั้วระหว่างเอาเศรษฐกิจแล้วทิ้งทุกอย่างกับได้ทุกอย่างแล้วทิ้งเศรษฐกิจ  แท้จริงแล้วประเด็นหลักมันอยู่ที่องศาของความเหมาะสม อยู่ที่ความสมดุลระหว่างปัจจัยอันเป็นคุณต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ ในความเห็นของผม กรณีมาบตาพุดนั้นควรจะต้องถูกมองในเชิงบวก ถือว่าเราโชคดีที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ผมหมายถึงว่าในเมื่อกลตลาดเสรีไม่สามารถปรับสมดุลของตัวเอง ไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนข้อบกพร่องของตัวเองได้ กลไกของสังคมอื่นๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการจัดตั้งรวมตัวกันเอาธุระของชาวบ้านและบทบาทของศาลปกครอง ตลอดจนการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
ถ้าหากเราสามารถทำให้สภาพเหล่านี้กลายเป็นกระบวนการปกติธรรมดา ในระยะยาวแล้ว การผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างก็จะทำได้น้อยลงกระทั่งทำไม่ได้ ที่ผ่านมาวาทกรรมขอลัทธิบูชาจีดีพี หรือพวก Fundamentalist ทางด้านเศรษฐกิจมักจะกล่าวอ้างว่าเศรษฐกิจดีคนก็มีงานทำ ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มีงานทำ มีรายได้ก็จะมีความสุข แต่คำถามมีอยู่ว่าความจริงเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่ งานและรายได้แบบที่เป็นอยู่คือความสุขเสมอไปหรือไม่ หรือว่าแท้จริงแล้วสำหรับคนจำนวนมากมหาศาลมันเป็นแค่ทางเลือกระหว่างอดตายกับการมชีวิตอยู่อย่างลำบากยากแค้นเท่านั้น
จากตัวเลขที่เรามีอยู่ ทุกวันนี้เรามีแรงงานในระบบไม่ถึงสิบล้านแต่มีแรงงานรับจ้างนอกระบบราว 23-24 ล้าน ดังนั้นคนกลุ่มใหญ่ที่ออกแรงสร้างจีดีพี แท้จริงแล้วกลับไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามค่าแรงขั้นค่ำ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในเรื่องไหน การรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองก็ทำไม่ได้ ถึงเวลาถูกเลิกจ้างก็ไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร
ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องถามต่อไปอีกว่านอกเหนือไปจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เที่ยวไปหักล้างคุณค่าอื่นๆ ทางสังคมนั้นเป็นเรื่องที่คุ้มกันหรือไม่ แม้ว่าคุณค่าทางสังคมดังกล่าวอาจจะวัดเป็นตัวเลขหรือถูกตีราคาเป็นเงินไม่ได้ก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา พอประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รัฐก็ได้นำเงินมาแจกผู้ประกันตนคนละสองพันบาทเพื่อจับจ่ายใช้สอยในเรื่องใดก็ได้ เจตนารมณ์ของรัฐจึงให้เอาไปใช้สอย ไม่ใช่เก็บออม เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงไปทำข้อตกลงกับห้างร้านและองค์กรธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ร้านขายฟาสต์ฟูด ไปจนถึงห้างใหญ่ๆ ห้างหรูๆ สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ โดยตกลงกันไว้ว่าให้ประชาชนสามารถนำสิ่งที่เรียกว่าเช็คช่วยชาติไปใช้แทนเงินสดได้ และให้บริษัทเหล่านั้นเพิ่มมูลค่าเช็ค ซึ่งเป็นจินตนาการเกี่ยวกับความได้เปรียบของลูกค้า อีกทั้งใช้เงินสดเป็นเงินทอนด้วย ผลที่ออกมาก็คือบรรดาห้างร้านต่างๆ พากันโหมโฆษราสินค้าของตนเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งแข่งกันนำเสนอเพิ่มมูลค่าของเช็ค ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าสินค้าที่โฆษณากันใหญ่โตมิใช่น้อยคือเครื่องสำอางยี่ห้อต่างประเทศ อาหารต่างประเทศ สถานบันเทิงตลอดจนสินค้าฟุ่มเฟือยระดับแบรนด์เนมอีกหลายอย่าง พูดกันสั้นๆ ก็คือกระตุ้นกระแสบริโภคนิยมให้เร้าใจถึงขีดสุดเพื่อจะได้เกิด Economic intercourse และไปถึง Economic orgasm พร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนิยามคำว่า ‘ชาติ’ อยู่ด้วย ชาติคืออะไร แค่ซื้อเครื่องสำอางฝรั่งมาใช้เป็นการรักชาติแล้วหรือไม่ แน่นอนความสับสนในเรื่องนี้ทำให้คำว่าชาติเลอะเทอะมากขึ้น ที่ชัดเจนมีอย่างเดียวคือชาติดังกล่าวไม่ได้รวมชาวไร่ชาวนาและแรงงานนอกระบบซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ประกันตนและเป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ข้อโต้แย้งก็คือการค้าและการจับจ่ายใช้สอยเป็นเรื่องดี ที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดการจ้างงาน เม็ดเงินจะลงไปถึงรากหญ้า ทุกคนจะได้รับประโยชน์ แม้จะไม้ได้รับแจกเงินโดยตรงก็ตาม แต่เรียนตรงๆ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าการค้าและการจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นครั้งนั้น จะแบ่งส่วนแบ่งให้คนยากคนจนทั่วประเทศคนละกี่บาทกี่สตางค์ ยกเว้นพวกสามล้อแดง ที่อาจจะได้เศษกระดาษและพลาสติกเพิ่มขึ้น
อันที่จริงประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี่ เป้าหมายหลักของการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างโดยลัทธิบูชาเศรษฐกิจ ก็คือการก่อให้เกิดภาพลวงตาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ภาพลวงตาเกี่ยวกับประโยชน์สุขของคนกลุ่มหนึ่ง มายาคติดังกล่าวเป็นการปลดอาวุธทางปัญญาของผู้คนในสังคม ทำให้เราแทบไม่มีกรอบคิดทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมใดๆ ที่จะไปถ่วงดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจได้แม้แต่น้อย รัฐบาลและภาคธุรกิจอาจเพียงพูดลอยๆ ว่าส่วนรวมได้ประโยชน์เรื่องก็ต้องจบลงตรงนั้น อย่างไรก็ดีลึกๆ แล้วเราทุกคนทราบดีว่าหลักการที่ใช้ในการบริหารธุรกิจก็ดี หรือแผนการที่ถูกนำมากระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ดี กลับมีจุดเน้นอยู่ที่กำหรสูลงสุดและต้นทุนต่ำสุด ซึ่งบ่อยครั้งสวนทางกับประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่แทนที่จะบรรจบกันโดยอัตโนมัติ
ถามว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือไม่ ตอบประเด็นนี้ผมได้เรียนไว้แต่แรกแล้วว่าผมไม่มีความรู้พอที่จะวิจารณ์วิชาเศรษฐศาสตร์และผมจำแนกความแตกต่างระหว่างการยึดถือลัทธิบูชาเศรษฐกิจเป็นศาสนาประจำชาติ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ในฐานะสาขาหนึ่งขององค์ความรู้
แต่ก็อีกนั้นแหละ พูดอย่างเกรงอกเกรงใจแล้วผมยังต้องยืนยันว่านักเศรษฐศาสตร์มีส่วน ทำให้การผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดจากอกุศลเจตนา หากเกิดจากการที่ท่านถูกเชื่อถือและถูกนำไปอ้างมากเกินไป โดยผู้คนที่ท่านควบคุมไม่ได้ เช่นนักธุรกิจและนักบริหารบ้านเมือง ความน่าเชื่อถือของวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นวิชาที่ยืนยันลักษณะ Value Free ไม่มีฉันทาคติหรืออคติในเรื่องคุณค่าและรสนิยม ไม่ตีเส้นแบ่งด้วยหลักการทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงมีฐานะเป็นกลางไม่เข้าใครออกใคร พูดอีกแบบคือเศรษฐศาสตร์ทั้งที่เป็น self image และ public image เป็นการมองแบบภววิสัยโดยผ่านการคิดคำนวณเป็นสำคัญ กระทั่งเป็นสาขาสังคมศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่สุดมันอยู่ตรงนี้แหละ ในเมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์เปิดพื้นที่โล่งในทางคุณค่า ผู้ที่ขอยืมชุดความคิดของวิชานี้ไปใช้จึงสามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ เช่น คำว่าผู้บริโภค ซึ่งฟังดูเป็นคำกลางๆ และมักจะถูกนำมาใช้มากในระยะหลังเพื่อกระตุ้นการซื้อการขายภายในประเทศหรือเพื่อชดเชยการถดถอยทางเศรษฐกิจ ตามความเข้าใจของผม หลักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้บอกเลยว่าคุณควรจะบริโภคอะไร ด้วยวิธีไหน ที่สำคัญคือ บริโภคมากๆ แล้วจะกระตุ้นการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานจากนั้นทุกคนก็ได้ประโยชน์
แต่สำหรับเราท่านซึ่งเป็นคนธรรมดา เป็นนักวิชาการในสาขาอื่น การที่ซาเล้งครอบครัวหนึ่งซื้อไข่ไก่สามฟองมาแบ่งกันกินในครอบครัวซึ่งมีสมาชิก 6 คน ย่อมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการที่เศรษฐีนีวัยสาวปลายๆ คนหนึ่งซื้อไข่ไก่โหลหนึ่งมาพอกหน้าทาสะโพก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อันนี้เนื่องจากมันมีเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นเราก็อดเสียดายไข่ไก่แทนคนจนๆ ไม่ได้ แน่ละ เราสามารถยกตัวอย่างแบบนี้ได้อีกมายหมายหลายกรณี เพื่อยืนยันว่าการเติบโตของยอดขายหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความถึงความเจริญทางสังคมเสมอไป
ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าเป็นเพราะเศรษฐศาสตร์อาศัยคณิตศาสตร์มากไปหรือเปล่าจึงทำให้กระบวนการใช้ตรรกะเหตุผลส่วนใหญ่หนักไปทางเป็นแบบ Deduction แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าวิธีการให้เหตุผลแบบ deduction นั้นขึ้นกับสมมติฐานเป็นสำคัญ จากนั้นข้อสรุปที่ได้มาก็จะกลายเป็นสมมติฐานของข้อสรุปต่อๆ ไป อันที่จริงวิธีคิดแบบนี้มีประโยชน์ถ้าเราใช้พิจารณาสถานการณ์ที่ควบคุมตัวแปรได้ สถานการณ์ที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง แต่ถ้านำมาใช้กับสถานการณ์ที่มีมิติหลากหลายและแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างสังคมมนุษย์ โอกาสที่สมมติฐานจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็เป็นไปได้สูง เมื่อผิดพลาดตั้งแต่สมติฐาน ข้อสรุปที่เหลือซึ่งได้มาจากกระบวนการ deduction ก็อาจะใช้ไม่ได้
พูดให้ชัดขึ้นก็คือว่า ในความเห็นของผม เศรษฐศาสตร์อาจจะอิงกับนิยามความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ที่ตายตัวมากเกินไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกนำไปแปรรูปให้เป็นศาสนาทางเศรษฐกิจ แทนที่จะถูกใช้ประโยชน์ในฐานะองค์ความรู้ทางวิชาการ
ตามความเห็นของผมการสร้างสมมติฐานเบื้องต้นนั้น น่าจะอาศัยวิธีการแบบ Induction จะดีกว่า คือหากฎเกณฑ์ทั่วไปจากความจริงที่เป็นรูปธรรม จากนั้นจะค้นพบนัยยะอะไรบ้างค่อยว่ากัน
แต่ก็ดังที่ศาสตราจารย์เยนเดร แมกโครสกี (Deirdre N. McCloskey) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Secret Sins of Economics ท่านกล่าวว่าจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไม่ค่อยได้ศึกษามนุษย์ตัวเป็นๆ ที่มีชีวิตจิตใจจริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกที่ตัวเองพยายามอธิบาย เป็น Institutional Ignorance คือเป็นอวิชชาระดับสถาบัน
แต่ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม เศรษฐศาสตร์กลับชอบตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับความต้องการและความพอใจของมนุษย์ตลอดจนความมีเหตุมีผลของมนุษย์ในตลาดเสรีราวกับว่าไม่ต้องเถียงกันอีกแล้วในประเด็นเหล่านี้
สำหรับในกรณีของประเทศไทย ตัวอย่างที่สะท้อนภาพความเพียงพอของวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ชัดเจน คือวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดังที่ท่านคงจะจำได้ การเปิดเสรีทางการเงินในประเทศที่พัฒนามาอย่างไม่สมดุลและขาดทั้งธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างประเทศไทย ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การพังพินาศทางเศรษฐกิจในชั่วเวลาข้ามคืน สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือเงินกู้จากต่างประเทศถูกนำมาแบ่งปันกันระหว่างนักการเมืองและนักธุรกิจ เม็ดเงินจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างแท้จริง หากแต่ถูกดูดซับไปเข้ากระเป๋าปัจเจกบุคคล ด้วยการปั่นหุ้น ปั่นราคาที่ดิน ตลอดจนปล่อยกู้อย่างไร้หลักการ การนั้นก็มีการนำไปใช้ในการบริโภคสิ่งต่างๆ ล้นเกินอย่างเหลือเชื่อ สุดท้ายเมื่อรัฐบาลถูกกดดันให้ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ต่างประเทศทวงหนี้คืน ทั้งประเทศก็ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย
พอเกิดปัญหาขึ้นแล้ว การแทรกแซงของรัฐบาลไม่เพียงแต่จำเป็น หากยังกลายเป็นข้อเรียกร้องของสาธารณชน ความคิดเรื่องปล่อยให้กลไกตลาดเสรีแก้ปัญหาโดยตัวของมันเองหายไปโดยสิ้นเชิง ถามว่านี่เป็นความผิดของนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า หลายท่านอาจจะคิดว่าไม่ใช่ เพราะว่าผู้คนไม่ได้ทำตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยก็พลาด เพราะท่านไม่ได้วางสมมติฐานเรื่องตลาดเสรีไว้บนพฤติกรรมมนุษย์ที่เป็นจริง ผมหมายถึงว่ามนุษย์บางจำพวกในประเทศไทย ซึ่งถือหลัก Rationalism (หลักความเชื่อในเหตุผล) เฉพาะในกรอบของผลประโยชน์เฉพาะหน้า และผลประโยชน์เฉพาะตัว ด้วยเหตุนี้การเปิดตลาดเสรีทางการเงินจึงไม่ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือความมั่งคั่งที่แท้จริง หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมซึ่งฉ้อฉล ฟุ้งเฟ้อที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์มีส่วนสร้างมายาคติขึ้นมาหลายเรื่อง จนทำให้สังคมหลงใหลได้ปลื้มไปกับภาพลวงตาบางอย่าง เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับวิกฤตไทยปี 2540 และวิกฤตโลกในปัจจุบันคงไม่ได้
แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องซ้ำเติม และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปยกตนข่มท่าน ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ก็คงต้องสารภาพว่าพวกเราก็ไม่ได้ทำได้ดีกว่าท่านเท่าไหร่ ดูจากสภาพการเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ก็จะเห็นความอับจนทางปัญญาของเราอยู่ไม่น้อย
 นักรัฐศาสตร์หลายคนก็เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบออกแบบระบอบประชาธิปไตยที่งดงามมาก โดยมีข้อแม้อย่างเดียวว่าคนที่เข้าไปสู่เวทีอำนาจจะต้องเป็นคนดี แต่ตรรกะแห่งอำนาจเป็นความจริงอีกชุดหนึ่ง ทำให้คนดีไม่ค่อยได้เข้าใกล้อำนาจสักเท่าใด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราออกแบบไว้พูดก็พูดได้เพียงว่ามันสวยงาม
อีกอย่างคือพวกเราชาวรัฐศาสตร์ มักจะอยากเห็นการเมืองดีโดยไม่ต้องต่อสู้กัน ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับความจริงของโลกสุดท้ายก็เลยได้แต่แสดงปาฐกถา หรือจัดอภิปรายไปวันๆ
กลับมาเรื่องเศรษฐศาสน์ที่ผมตั้งเป็นหัวข้อในวันนี้หรือลัทธิบูชาเศรษฐกิจ ถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่าการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างเพื่อค้ำจุนลัทธินี้จะมากจะน้อยก็ล้วนขอยืมหลักคิดพื้นฐานไปจากวิชาเศรษฐศาสตร์ จากนั้นจึงปรุงแต่งเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เศรษฐศาสตร์เปิดโล่งไว้ เช่น ส่งเสริมการบริโภคสรรพสิ่งได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงรสนิยมและคุณค่าทางวัฒนธรรมขอเพียงให้เพิ่มยอดขายและเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพี ถลุงต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ยั้งเพราะมันเป็นต้นทุนที่เจ้าของกิจการไม่ต้องจ่าย แล้วทั้งหมดนี้อธิบายทุกอย่างว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนร่วม ง่าย ๆและดื้อๆ
ถามว่าแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์ของเราพ้นจากบาปกรรมได้อย่างไร ผมคิดว่าจริงแล้วนักเศรษฐศาสตร์นั่นแหละที่จะมีบทบาทมากกว่าใคร ในการช่วยถอนอุปาทานเรื่องลัทธิบูชาจีดีพี
ศาสตร์แขนงนี้ได้รับการเคารพนบนอบทั้งจากภาครัฐและภาคสังคมมากอยู่แล้ว ท่านควรใช้บารมีที่มีอยู่ช่วยผู้คนแก้ปัญหาทางปัญญา ประการแรก แม้ว่าท่านอาจจะยังต้องอยู่กับคณิตศาสตร์ต่อไป แต่ผมเห็นว่าควร จะเพิ่มคุณค่าจริงของชีวิตจริงเข้าไปในการหาขอสรุป อย่าลืมว่าแม้แต่วิชาโหราศาสตร์ซึ่งใช้คณิตศาสตร์มากเช่นกันท้ายที่สุดก็ยังต้องนำปัญหารูปธรรมของเจ้าของดวงมาพิจารณา
ประการที่สอง ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์ควรตรวจสอบสมมติฐานที่ใช้ให้มากขึ้น เช่น คำว่า ผลประโยชน์แห่งชาติ คำนี้มีจริงหรือเปล่า ส่วนรวมหมายถึงอะไรก้อนเดียวหรือหมายถึงกลุ่มผลประโยชน์แสนล้านกลุ่มที่ขัดกันอยู่ การลงทุนของต่างชาติที่ว่าดีนั้นดีตรงไหน
ประการสุดท้าย นักเศรษฐศาสตร์ควรจะถือเป็นหน้าที่ของตนที่ควรจะออกมาท้วงติงหรือตอบโต้พวก Economic fundamentalism ซึ่งเอาหลักวิชาของท่านไปใช้อย่างสามานย์ บิดเบือนศาสตร์ของท่าน
อันที่จริงสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้อาจจะเป็นการเหมารวมไปสักหน่อย และอาจจะไม่ยุติธรรมแก่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบอยู่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขออภัยด้วย
ผมทราบดีว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้นและในทุกวงวิชาการทุกสาขาผู้คนต่างก็มีความคิดแตกต่างกันไป หากท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดอ่านในแนวนี้อยู่แล้ว ผมก็ขออนุโมทนาด้วย ส่วนท่านที่ยังเห็นต่างหรือเห็นว่าความเห็นของผมไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัยด้วยเช่นกันที่ทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิดถูกล่วงเกิน ผมรบกวนเวลาของท่านทั้งหลายมามากแล้วก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณารับฟัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net