นายกเผยหาคนขับรถไฟแทนพนักงานที่ประท้วง – ลาเกิน 15 วัน ให้ออก

นายกรัฐมนตรีระบุได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูเกี่ยวกับบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ขับรถไฟแทนพนักงานที่ประท้วงด้วยการหยุดขับรถ ที่ประชุมครม. ขานรับ รมต.คมนาคมเผยยังไม่ประเมินค่าเสียหาย ลั่นลาเกิน 15 วัน-ให้ออก

วันนี้ (20 ต.ค.) เวลา 07.30 น. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ประท้วงหยุดเดินรถไฟสายใต้ ว่า จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ทั้งเรื่องรถไฟและปัญหาภาคใต้ ที่จะมีการเสนอกฎหมายที่ต้องนำเข้าสภาฯ สำหรับเรื่องรถไฟนั้น ได้ให้โจทย์กับผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูเกี่ยวกับบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ขับรถไฟแทนพนักงานที่ประท้วงด้วยการหยุดขับรถ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าการเจรจามีเงื่อนไขว่าคนทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด ก็คิดว่าไม่ควรจะยอม และต้องหาวิธีการแก้ไขและจะพยายามแก้ปัญหาโดยการเจรจา แต่ถ้าการเจรจานำไปสู่การยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าในวันข้างหน้าจะมีการเชื้อเชิญให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ถ้าเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็มีความจำเป็นที่ต้องหาแนวทางแก้ไข ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้อาจต้องเจ็บมากขึ้น แต่ก็ต้องทำ
โสภณลั่น ใครลาเกิน15วันสิ้นสภาพ
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรีถึงมาตรการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาหลัง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) หยุดการเดินขบวนรถในสายใต้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ว่า ได้รายงานคณะรัฐมนตรีได้ทราบถึงมาตรการที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ โดยในระยะสั้นในการดูแลผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับจากกรุงเทพฯเดินไปทางไปลงที่สุราษฎร์ธานีแล้วไปยังภูมิลำเนา โดยใช้รถตู้และรถโดยสาร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการเยียวยา ส่วนผู้สารที่จะเข้ากรุงเทพฯ โดยมาขึ้นรถที่สุราษฎร์ธานี ก็ไม่ให้เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลก็ดูแลในส่วนนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่าการเดินทางของพี่น้องคนภาคใต้เดินทางได้ปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง
นายโสภณ เปิดเผยด้วยว่า บอร์ดการรถไฟได้แก้ไขระเบียบเรื่องคุณสมบัติของคนที่จะขับรถไฟได้ซึ่งเดิมระบุว่าต้องเป็นพนักงานการรถไฟฯเท่านั้น โดยวันนี้บอร์ดรถไฟได้แก้ไขระเบียบให้นักเรียนวิศวการรถไฟ 120 คน กับอาสาสมัครที่เป็นพนักงานขับเก่าที่มีความประสงค์จะมาขับให้
ทั้งนี้ นายโสภณอธิบายว่า นักเรียนวิศวะถือเป็นพนักงานการรถไฟอยู่แล้ว เพียงแต่เดิมนั้นเป็นเพียงลูกจ้างตามมติครม. ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าวันนี้การรถไฟมรกำลังพลที่จะขับรถแล้วจากนั้นได้กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวโดยระบุว่าอีก 3 สัปดาห์ จะนำกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยกเครื่องเรื่องรถไฟทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนประท้วงเงียบที่หาดใหญ่
นายโสภณย้ำด้วยว่า ขบวนการเดินรถต้องเดิน ถ้าไม่ขับก็หาคนอื่นมาขับ ส่วนถ้าไม่มาเลยเขาก็ไม่เป็นพนักงาน เพราะเขามีหน้าที่แต่เขาไม่ทำหน้าที่ แล้วแต่เขาถ้าจะออก แต่เราไม่ได้มีความประสงค์จะให้พนักงานรถไฟออก ถ้าขาดเกิน 15 วัน
ลั่น “ถ้าประท้วงกันอย่างนี้ ต้องหาคนอื่นมาขับ”
ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำสัมภาษณ์ของนายโสภณ ว่ายังไม่ทราบความเสียหายทั้งหมดจากการหยุดงานของพนักงานรถไฟเพราะไม่ประเมินแต่หลังจากที่ตนไปที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไปดูหัวจักรที่จอดอยู่ก็มีทั้งใหม่สุด 12 ปีและเก่าที่สุด 2550ปีก็จอดอยู่ ส่วนการเดินรถของท้องถิ่นขณะนี้ เดินได้แล้วแต่เรื่องความปลอดภัยการเดินรถเป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมืองที่จะต้องไปทำความเข้าใจกับผู้ที่ประท้วง เงียบโดยการลาอย่างที่เห็น เชื่อว่าวันสองวันคงจะยุติเพราะมีคนที่มีความประสงค์ไม่ว่าคนที่เกษียณไป แล้วจะมาขับรถไฟให้ วันนี้จะเสนอครม.ในเรื่องระเบียบที่บอร์ด ร.ฟ.ท.มีมติว่าสามารถให้พนักงานที่มีความสามารถเป็นลูกจ้างเข้าขับรถไฟได้ แต่ต้องเป็นพนักงานขับรถเก่าหรือนักเรียนวิศวรถไฟ 170 คนที่ไม่ได้บรรจุเข้าทำงาน ถ้าประท้วงกันอย่างนี้ ต้องหาคนอื่นมาขับ ส่วนเรื่องลงโทษพนักงานที่หยุดประท้วงนั้น มีนโยบายที่ประนีประนอมแต่ต้องเคารพกฎเกณฑ์ขององค์กร ทุกวันนี้เราเด็ดขาดถึงบอกว่าถ้าจะให้เจรจาก่อนเดินรถไม่ได้ เรื่องเจรจาเป็นเรื่องเจรจาแต่เรื่องการทำหน้าที่ต้องไปทำต้องไปขับรถอย่าเอาประชาชนมาต่อรอง
เมื่อถามว่า แต่พนักงานเรียกร้องให้มีการปลดผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. นายโสภณ กล่าวว่า วันนี้ข้อเรียกร้องมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ผิดสมควรปลดการมีการทำหน้าที่ที่ผิดระเบียบกฎหมายสมควรปลดก็ต้องปลดไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรับผิดชอบตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ มันเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อถามอีกว่า เป็นประเด็นการเมืองหรือไม่ นายโสภณ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.บอบช้ำพอสมควรทั้งภาพลักษณ์ทั้งสถานทางการเงิน และวันนี้คนในองค์กรไม่ช่วยกันแล้ว ประชาชนเป็นเจ้าของรถไฟประชาชนทนไม่ได้แล้วจะอยู่อย่างไร เขาจ้างตนมาบริหาร จ้างพนักงานรถไฟมาจัดการแล้วปล่อยกันอย่างนี้คงไม่ไหว ส่วนใหญ่ต้องขอบคุณพนักงานที่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะคนไม่กี่คน วันนี้คนที่ประท้วง ก็ให้กลับมาทำงานใครทำผิดอะไรก็ว่ากันไป มันไม่ถึงโทษประหารชีวิตหรอก
"ถ้ายอมวันนี้บางสื่อเหมือนตำหนิเราว่าบริหารจัดการไม่ได้ ผมถึงบอกว่าวันนี้ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎกติกา ปัญหารถไฟมันสะสมมานานตนขอเวลา 3 สัปดาห์จะเอาข้อมูลรถไฟทั้งหมดให้สังคมได้รู้ ที่จริงทำไปก่อนนี้แล้วก็มาเกิดเหตุอย่างนี้ อันนี้เหตุเกิดหลังจากที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นเอกซเรย์ยกเครื่องรถไฟขึ้นมา รถไฟอย่างไรก็ต้องปรับปรุง รัฐบาลไม่กล้าปรับปรุง ปล่อยให้อยู่ตามยถากรรมมันก็เดือดร้อนแต่ต้องปรับปรุงทั้งโครงสร้างและคนไป ด้วย ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบสิทธิแต่ต้องดูให้โปร่งใส" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เวลา 08.40 น.วันเดียวกัน ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกรณี พนักงานการรถไฟลางานพร้อมกันกว่า 100 คนว่า ตนจะนัดประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(บอร์ด)ในวันพฤหัสบดี ที่ 22 ต.ค. เวลา 14.00 น.เพื่อจะดูกฎระเบียบต่างๆของรัฐวิสาหกิจเพราะ ร.ฟ.ท. เป็นรัฐวิสาหกิจ จะดูว่าอะไรที่เป็นช่องว่างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข พนักงานลางานพร้อมๆกันจะผิดหรือไม่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา เท่าที่ตนดูจากกณีเก่าๆที่ผ่านผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่จะเป็นคนพิจารณาว่าให้ลาได้เพียงใด งานจึงจะไม่เสีย ส่วนที่บอกว่าหัวรถจักรเก่า ก็ไม่น่าจะไปหยุดพร้อมๆกันหมดเพราะมันกระทบกันหลายด้าน การลาพร้อมๆกันเช่นนี้คงดูเจตนา และหลายๆด้านประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการลาปกติหรือการเมือง นายไพฑูรย์ กล่าวว่า จริงๆแล้วผู้อนุมัติการลาถ้าเห็นว่างานจะเสียต้องไม่ให้ลาพร้อมกัน ถ้าป่วยก็ต้องใบรับรองแพทย์ เมื่อถามว่า เป็นช่องว่างของกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องของระเบียบต้องไปดูอีกทีเพราะการลาลักษณะนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ เพราะการลาพร้อมๆกัน อาจจะเขียนระเบียบไว้ แต่ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้อนุมัติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดวันที่ 22 ต.ค.จะพิจารณาการลาในกรณีของรัฐวิสาหกิจอื่นๆด้วย เพราะ ต้องพยายามปิดช่อง เมื่อถามว่า หากการลาทำให้เสียหายสามารถเอาผิดกับพนักงานได้หรือไม่ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า หากว่าเขาทำถูกต้องมันก็เอาผิดยาก ตนถึงบอกว่ากฎระเบียบมันมีช่องว่างต้องไปดูอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ว่ารฟท. ไม่เจรจาจนกว่าจะมีการเดินรถ
สำหรับท่าทีจากผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น นายยุทธนา ทัพเจริญกล่าวว่า จากกรณีที่ นายสาวิตต์ แก้วหวาน ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.ได้ออกมา ระบุว่า สหภาพ รฟท.พร้อมที่จะเข้ามาเจรจากับฝ่ายบริหาร รฟท. เพื่อยุติปัญหา และให้รถไฟสามารถกลับมาให้บริการเดินรถไฟในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ แต่ในเงื่อนไขของการขอการเจรจานั้น จะขอให้ฝ่ายบริหาร รฟท.มาเจรจา และ ลงนามในหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า ฝ่ายบริหาร รฟท. และส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะมีการซ่อมบำรุงหัวรถจักร ให้มีความมั่นคงปลอดภัย ตามกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะนำออกมาให้บริการ
ผู้ว่าการรฟท. กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของหัวรถจักรนั้น ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายบริหาร รฟท. ได้มีหนังสือออกคำสั่งไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายการเดินรถ ฝ่ายการโยธา และฝ่ายช่างกล ของ รฟท.ขอให้กวดขัด ในการซ่อมบำรุงหัวรถจักร , ซ่อมบำรุงราง อย่างเข้มงวด และต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนประเด็นเรื่องความปลอดภัยของหัวรถจักรนั้นในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการซ่อมแซมตามระยะเวลาของการใช้งาน และต่อเนื่องมาโดยตลอด และจะพัฒนาให้ดีอยู่แล้ว จึงไมใช่ประเด็นที่สหภาพ รฟท.จะนำมาหยิบยกเป็นประเด็นเพื่อต่อรองกับฝ่ายบริหาร และ กระทรวงคมนาคม เพราะในขณะนี้นโยบายของ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า สหภาพ รฟท.จะ ต้องเปิดเดินรถทันที ทางกระทรวงคมนาคมจึงจะเจรจาในเงื่อนไขที่จะพัฒนาองค์กร ตามหลักเกณฑ์ของกิจการแรงงานสัมพันธ์ ได้
ที่มาบางส่วน: http://www.thairath.co.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท