Skip to main content
sharethis
24 ต.ค.52 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้นำประเทศมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม โดยใช้เวลาหารือนาน 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวขาดเพียงนางกลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ที่เพิ่งเดินทางมาถึงไทยในช่วงเที่ยงของวันที่ 24 ต.ค.
 
ผลสรุปสำคัญของการหารืออย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียนที่มีการหารือประเด็นต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายการติดต่อสื่อสารและคมนาคม การรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
 
ไทยเสนอรับเป็นศูนย์ทางหลวงอาเซียน
โดยการสร้างความเชื่อมโยง ภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นถนน ทางรถไฟ การเดินทางทางทะเลและทางอากาศ การค้า และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงที่มากขึ้นในภูมิภาค ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโต และการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการรวมตัวกันเป็นประชาคมของอาเซียน ไม่ใช่เพียงประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์เท่านั้น หากแต่ยังจะส่งผลให้อาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมในการจัดให้มี “ศูนย์ทางหลวงอาเซียน” (ASEAN Highway Centre) และคาดหวังว่า อาเซียนจะพัฒนาเส้นทางรถไฟของอาเซียนให้เป็นระบบรางคู่ โดยการบรรจุประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนในแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงของ อาเซียนที่จะได้รับการจัดทำขึ้นในอนาคต
 
ตั้งกองทุนอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ผู้นำอาเซียนย้ำถึงความสำคัญ ของการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังของประเทศอาเซียนไปจัดทำข้อเสนอแนะในการจัด ตั้ง “กองทุนอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” โดยเชื่อมโยงกับกองทุนต่าง ๆ ที่จีนและญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นว่าจะเสนอให้จัดตั้งขึ้นในการประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียนครั้งต่อไป (ที่เวียดนาม)
 
จีน-ญี่ปุ่นทุ่มงบช่วยเหลือ 3 หมื่นล้านเหรียญ
ทั้งนี้ ประเทศจีนได้จัดสรรเงินจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (350,000 ล้านบาท) จากกองทุนอาเซียน-จีนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ซึ่งริเริ่มโดยจีน ขณะที่ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (700,000 ล้านบาท) แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย รวมไปถึงการรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอาเซียน ซึ่งเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก และองค์การอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค และนำเสนอข้อเสนอแนะให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 รวมทั้งเราได้มอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนพัฒนาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนโดยเร็วที่สุด
        
ขณะเดียวกันยังเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ การเสริมสร้างการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินการธนาคารเพื่อป้องกันความล้มเหลวทางการเงินการธนาคารไม่ให้เกิดอีก การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.2553 การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการลงทุนภายในอาเซียน การสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในอาเซียน
 
ผู้นำอาเซียนแสดงความคาด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกู้ยืมของประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจาก การสำรองอัตราแลกเปลี่ยน) ซึ่งมีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในปลายปี 52
จัดทำท่าทีร่วมอาเซียนในเวที G20
ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่า อาเซียนควรได้รับโอกาสต่อไปให้เข้าร่วมกลุ่ม G-20 และกระบวนการหารือระหว่างอาเซียนกับ G-20 ควรได้รับการทำให้เป็นกลไกถาวร ผู้นำอาเซียนจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ด้านการคลังของแต่ละประเทศไปหารือกัน เพื่อจัดทำท่าทีของอาเซียนในเรื่องนี้ รวมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มติดต่อสื่อสารของอาเซียน (contact group) โดยมีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป อินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิกของ G-20 และเลขาธิการอาเซียนเป็นสมาชิก เพื่อทำหน้าที่ประสานท่าทีของอาเซียนด้วย
               
สร้างโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนศึกษาวัฒนธรรม
ในส่วนของการสนับสนุนให้พลเมืองภายในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมโยงกัน ด้านจิตวิญญาณ ผู้นำอาเซียนได้หารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของภูมิภาคมีความรู้สึกร่วมกันถึงความเป็น อาเซียน (ASEAN spirit) อาทิ การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ของประเทศสมาชิกรู้จักกันมากขึ้น และการจัดทำหลักสูตรการศึกษาของแต่ละประเทศที่จะช่วยเอื้อให้เยาวชนของแต่ละ ประเทศสมาชิกมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของประเทศอื่นในภูมิภาคมาก ยิ่งขึ้น
 
ยังมีประเด็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น งานเฉลิมฉลองต่างๆ การจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน และการแปลหนังสือและวรรณกรรมเป็นภาษาต่างๆของประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาอาเซียน และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ
 
สนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อน
ผู้นำอาเซียนแสดงความกังวลว่า ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่มีนัยสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนแสดงความพร้อมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำงานร่วมกันและร่วม มือกับประเทศอื่น ๆ ในการประชุม Copenhagen Summit (การประชุมผู้นำโลกเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2552) เพื่อให้การประชุมมีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับได้ของทั้ง ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนา และในการนี้ ผู้นำอาเซียนเห็นว่า แถลงการณ์ของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Statement on Climate Change ซึ่งผู้นำได้ให้การรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้) จะเป็นพื้นฐานที่อาเซียนจะใช้ในการประชุม Copenhagen Summit
 
ใน ประเด็นเกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่ง กันและกัน เพื่อให้อาเซียนมีการเตรียมความพร้อมที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ดี การมีกลไกการส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ทันท่วงที และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการตามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและการ รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Agreement on Disaster Management and Emergency Response) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้ โดยผู้นำอาเซียนได้รับทราบถึงความจำเป็นที่หน่วยงานด้านกลาโหมของประเทศ สมาชิกอาเซียน มีศักยภาพและบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ และเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะคงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัย พิบัติ และการเพิ่มพูนทักษะของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันเกี่ยวกับความจำเป็นของอาเซียนในการมีอาหารสำรอง (food reserve) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
     
เน้นการเลือกตั้งในพม่าต้องโปร่งใส         
สำหรับในกรณีของพม่านั้น ที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของการบรรลุการปรองดองแห่งชาติและความสำคัญของการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าในปี 2553 ให้มีความยุติธรรม โปร่งใส และน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ ส่วนสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี เรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และขอให้ภาคีที่เกี่ยวข้องกลับสู่กระบวนการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และดำเนินการตามพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ในรอบการเจรจาที่ผ่านมาของการเจรจาหกฝ่ายซึ่งยังคงเป็นกลไกหลักในการนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี
 
เน้นพลังงานสะอาด หนุนสนธิสัญญาไม่แพร่อาวุธนิวเคลียร์
ในเรื่องการสร้างความมั่นคง ด้านพลังงาน ผู้นำอาเซียนเห็นถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่อง นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การเสริมสร้างการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และพลังงานสะอาด ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนให้การประชุมทบทวนการดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ที่จะมีขึ้นในปี 2553 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประธานการประชุม ประสบความสำเร็จ
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐ และยังได้รับทราบข้อเสนอของเวียดนามที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ในเดือนเม.ย.2553 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงฮานอย ในเดือนต.ค.2553
 
พาณิชย์เล็งขอเงินกองทุนฯ สร้างถนนเชื่อมอาเซียน
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายเฉิน เตอ หมิง รัฐมนตรีพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรีว่า ไทยสนใจจะจัดทำโครงการโลจิสติกส์กับอาเซียน โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเงินกู้จีน-อาเซียน มูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จีนมอบให้อาเซียนกู้เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เชื่อมโยงอาเซียน-จีน
 
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า โครงการโลจิสติกส์ดังกล่าว ประกอบด้วย การลงทุนสร้างถนนเส้นทางดานัง-ตราด-แม่สอด-มะละแหม่งกาญจนบุรี-ทวาย เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจีน อาเซียน และอินเดีย และเส้นทาง R3 (คุนมั่ง-กงลู่) , R3E และ R3W (ยูนาน-กรุงเทพ-สิงคโปร์) โดยขณะนี้ทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า ในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างไทยกับจีน ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือไปแล้ว โดยหลังจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะจัดทำแผนพัฒนาการค้าระยะ 5 ปี และกำหนดแผนงานให้เป็นรูปธรรมภายในเดือนพ.ย.นี้
 
นางพรทิวา กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ได้หารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย และการกำหนดราคากลางของศุลกากรจีน ซึ่งไทยได้เรียกร้องให้จีนขยายอายุใบอนุญาตออกไปจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี และเพิ่มจำนวนผลไม้ตามใบอนุญาตนำเข้า จาก 1 ชนิดเป็น 23 ซึ่งจีนรับที่จะมีการพิจารณาต่อไป
 
 
'กรีนพีซ' บุกอาเซียน เรียกร้องแผนรับมือโลกร้อน
เวลา 13.00 น. กลุ่มกรีนพีชได้เคลื่อนไหวรณรงค์ โดยกลิ้งลูกโลกยักษ์ 2 ลูก พร้อมกับชูป้ายข้อความ "Asean:U turn the Earth หรือ อาเซียนสามารถยูเทิร์นโลกได้" จากบริเวณหน้าโรงแรมเชอรตัน ซึ่งเป็นศูนย์ข่าวอาเซียน ตรงไปยังโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 โดยนายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเรียกร้องให้ผู้นำ 10 ประเทศอาเซียนรวมตัวกัน เพื่อปกป้องและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งยุติการทำลายป่าไม้และลดการผลิตสารคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ โดยอาเซียนได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว จากเหตุการณ์พายุกิสนาที่ถล่มประเทศฟิลิปปินส์ แต่อาเซียนกลับเพิกเฉยต่อสัญญาณภัยครั้งนี้
 
นายธารา กล่าวเรียกร้อง 3 เรื่อง คือ 1.ขอให้ผู้นำอาเซียนผนึกกำลังกดดันให้ผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลก ยอมรับข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล 2. ผู้นำอาเซียนสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้ม แข็ง ในการประชุมสุดยอด ที่กรุงโฮเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคมนี้ และ3. ร่างคำแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 ต้องนำไปสู่แผนปฏิบัติได้จริง และยกให้แผนการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นวาระเร่งด่วนของอาเซียน.
 
 
       
 
 
 
เรียบเรียงจากเว็บไซต์ไทยรัฐและเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net