Skip to main content
sharethis
 
         
25 ต.ค.52 เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำแต่ละประเทศกลุ่มอาเซียน ลงนามในเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ และลงนามเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุม โดยเฉพาะปฏิญญาชะอำ-หัวหิน เนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ และพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับประเทศเวียดนาม
        
 อภิสิทธิ์กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน
 นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ตอนหนึ่งด้วยว่า "ขอแสดงความซาบซึ้งอย่างยิ่งยวดของประชาชนชาวไทยแด่สมเด็จพระราชาธิบดีซุลต่านบรูไน ดารุสสลาม และผู้นำอีก 14 ประเทศที่ได้ลงนามถวายพระพรพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้พระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ในการรับตำแหน่งประธานปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ประการ ที่มีลักษณะเด่น สรุปได้ด้วย “สามอาร์ -3Rs” กล่าวคือการบรรลุเป้าหมายตามกฎบัตรอาเซียน - Realising the ASEAN Charter การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง - Revitalizing a people-centred ASEAN Community และการเน้นย้ำความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค Reinforcing human security for all ซึ่งทั้งสามเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดีภายในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยได้รับความสนับสนุนจากความมุ่งมั่นร่วมของประเทศกลุ่มอาเซียน และองค์กรต่าง ๆ ตามกฎบัตรอาเซียนก็ได้รับการจัดตั้งและเริ่มทำงานแล้ว ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สองวันที่แล้ว ก็เป็นความสำเร็จล่าสุดของอาเซียน ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
 
การหารือตลอด 3 วันที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึง vibrant spirit of cooperation and a common sense of destiny และสะท้อนให้เห็นถึงพันธกรณีของเราในการผลักดันกระบวนการสร้างประชาคมด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนในปี 2558"
         
“อภิสิทธิ์”ชี้กมธ.สิทธิอาเซียนผลงานชิ้นโบว์แดง
หลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ แถลงผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และ ประเทศคู่เจรจาครั้งที่ 15 ในฐานะประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมาในฐานะประธานอาเซียนได้ผลักดันการสร้างประชาคมจนประสบความสำเร็จของการพัฒนา 3 เสาหลัก โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ที่สามารถจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกลไกสามารถเผชิญกับปัญหาท้าทายต่างๆได้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร และ พลังงาน ส่วนข้อการจัดตั้งการริเริ่มเชียงใหม่(ซีเอ็มไอ) เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบวิกฤติการเงิน และ ขยายวงเงินกองทุนจากเดิม 80,000 ล้านดอล์ล่าสหรัฐฯ เป็น 1.2 แสนล้านดอล์ล่าสหรัฐฯ จะเห็นรูปธรรมในปลายปีนี้ ทั้งนี้ด้านการรับมือกับภัยพิบัติมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่จะเร่งผลักดันให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม รวมทั้งข้อตกลงในรอบโดฮา และ เรื่องภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเก้น
         
นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงปัญหาการที่ไม่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าตัวแทนภาคประชาสังคมอาเซียนกับผู้นำอาเซียน ว่า เป็นปัญหาด้านการประสานงานเนื่องจากภาคประชาสังคมอาเซียน ไม่มีกลไกที่แน่ชัดซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างรัฐสภาอาเซียนที่มีตัวแทนและการประสานงานที่ชัดเจน
 
อย่างไรก็ตามการหารือในรูปแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนสำเร็จ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแม้จะขรุขระบ้าง แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงต่อไป ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เสนอปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ประเทศเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนครั้งต่อไปได้ไปปรับปรุงแก้ไข แต่ยืนยันปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความไม่ไว้วางใจของภาคประชาสังคมในกลุ่มอาเซียน
 
ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงปัญหานี้ว่าอาเซียนต้องยอมรับข้อแตกต่างด้านการเมืองการปกครอง และ การคัดเลือกตัวแทนภาคประชาสังคมของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะได้รับการปรับปรุง ในการหารือครั้งต่อไป
 
อาเซียนกับคู่เจรจาแถลงร่วมมือด้านอาหาร-พลังงานชีวภาพ
ขณะเดียวกันที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 12 (EAS) ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ได้ออกแถลงการณ์ชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน+3 โดยมีสาระสำคัญว่า เราประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี มีความกังวลต่อความมั่นคงด้านอาหารและความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้ภาวะความผันผวนของราคาอาหารและน้ำมันที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมจึงย้ำถึง ข้อยึดมั่นของพวกเราที่จะรักษาความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานสำหรับประชาชนของเรา และความจำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในกระบวนการสร้างประชาคมในภูมิภาค โดยอ้างถึง แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (2550-2560) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 11 ที่สิงคโปร์ ในเดือนพ.ย. 2550 โดยมีการเรียกร้องให้มีความร่วมมือในหลากหลายสาขา รวมทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
 
ทั้งนี้ ได้ยืนยันความยึดมั่นอีเอเอสต่อปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออก ปี 2550 ในการพัฒนาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมความหลากหลายของพลังงานเชื้อเพลิง และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และแหล่งพลังงานใหม่และที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งพลังงานชีวภาพ
 
ที่ประชุมอีเอเอส สนับสนุน การดำเนินการของโครงการนำร่องคลังสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังสำรองข้าวฉุกเฉินในกรอบอาเซียน+3 โดยอาศัยประสบการณ์จากการจัดตั้งคลังสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกและร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ โดยการปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีและองค์การระหว่างประเทศ จัดทำยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคอาหารและพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตอาหารและพลังงานชีวภาพที่ดียิ่งขึ้น อันจะช่วยประกันความสมดุลในการผลิตอาหาร ทั้งนี้ ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในปี 2553
 
อีกทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับนโยบาย ประสบการณ์ และการพัฒนาขีดความสามารถและความร่วมมือด้านเทคนิค เพื่อส่งเสริมการทำให้มาตรฐาน การผลิตพลังงานชีวภาพและความปลอดภัยกับด้านอาหารในภูมิภาคมีความสอดคล้องกัน รวมทั้งกานลงทุนด้านป่าไม่ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อประกันว่าจะมีแหล่งผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่เกษตรกร
 
นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำนโยบายด้านการค้าพลังงานชีวภาพในภูมิภาคเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานชีวภาพร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพรุ่นที่ 2 และพลังงานทางเลือก
 
สื่อเทศมองประชุมอาเซียนมีความคืบหน้าบางอย่าง
บทบรรณาธิการในเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์อาหรับนิวส์ ที่เผยแพร่วันนี้ ระบุว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ที่หัวหิน/ชะอำนาน 3 วันที่จะปิดฉากวันนี้ ประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ที่ประชุมกลับเลี่ยงที่จะวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงอย่างนั้นก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งอย่างอิสระและเสรีในปีหน้า
 
ส่วนความพยายามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนแบบเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจของยุโรปนั้น ยังมีการปฏิบัติตามข้อตกลงเปิดเสรีการค้าและพาณิชย์ได้อย่างจำกัดและกระท่อนกระแท่น เช่น มาเลเซียได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเปิดเสรีการบิน แต่บางประเทศยังลังเลและต้องการปกป้องผลประโยชน์ของสายการบินแห่งชาติของตัวเอง แต่หากชาติสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงผลประโยชน์อย่างแท้จริงของเขตการค้าเสรีและพยายามเลิกปกป้องภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนจะสามารถมีอิทธิพลในเวทีการค้าโลก ประเทศที่ยังล้าหลัง อย่าง ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับโปรตุเกส สเปน และกรีซ ที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูนับตั้งแต่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
 
นอกจากนี้บทบรรณาธิการยังได้แนะว่าอาเซียนควรมีการปรับกฎข้อบังคับด้านการค้าและพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมายให้ได้มาตรฐานเดียวกันจึงจะทำให้ตลาดแข็งแกร่งได้ นอกจากนี้เงินทุนจะต้องไหลเวียนในภูมิภาคได้อย่างเสรี และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความเป็นสหภาพทางการเมือง แต่สิ่งนี้ยังไม่มีในอาเซียน เพราะอาเซียนยังมีการแบ่งแยกพรมแดนแตกต่างจากยุโรป แต่หากชาติอาเซียนมีการรวมทรัพยากรและบุคลากรเข้าด้วยกัน ตลอดจนทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายของการร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ก็จะนำไปสู่การเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจ
และหนทางสู่จุดหมายนั้นยังคงยากลำบาก ผู้นำอาเซียนจึงควรเริ่มทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาคกันในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่จะสามารถแสดงความยินดีได้ในการประชุมปีหน้า
 
         
 
 
 
เรียบเรียงจากเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net