รายงาน: ประชาคมเชียงใหม่กับข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน

 
จากการที่เครือข่ายภาคเหนือหยุดโลกร้อน จัดระดมความเห็นในกิจกรรม “ปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: หนทางสู่เมืองยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยเครือข่ายภาคเหนือหยุดโลกร้อน (เชียงใหม่) และองค์กรร่วมจัด ที่ห้องประชุมพุทธสถาน ถ.ท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับชาติในปฏิบัติการลดการปล่อยคาร์บอน และให้นโยบายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดปริมาณคาร์บอนในชั้น บรรยากาศให้เหลือ 350 ส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (ppm) นั้น
 
ล่าสุด ได้มีการออกข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยประชาคมเชียงใหม่เพื่อกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับชาติในปฏิบัติการลดการปล่อยคาร์บอน และให้นโยบายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้เหลือ 350 ส่วนในล้านส่วน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 450 ส่วนในล้านส่วนเพราะนักวิทยาศาสตร์แถลงว่า แม้ขณะนี้คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ระดับ 387 ส่วนในล้านส่วน แต่ก็ก่อให้เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติมากมายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อเสนอเชิงนโยบายของเครือข่ายฯ มีดังนี้
 
 
ข้อเสนอระดับเมือง
สำหรับนโยบายระดับเมืองนั้นได้เสนอให้ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งจะต้องมีระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชน ในเมืองและระหว่างเมืองที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการเดินทางโดยใช้จักรยานและเดินในชีวิตประจำวัน โดยกำหนดให้มีวันใช้จักรยานประจำสัปดาห์ รวมถึงการมีพื้นที่เมืองที่เป็นย่านปลอดยานยนต์ และให้มีรถโรงเรียนรับส่งนักเรียนเพื่อลดจำนวนยานพาหนะในท้องถนน ทั้งนี้ควรจะมีการส่งเสริมการใช้สินค้าท้องถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนส่ง โดยรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องช่วยเหลือเกษตรกรชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นในการปรับปรุงการผลิตและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการทำเกษตรในเมือง
 
นอกจากการลดมลพิษจากระบบขนส่งแล้วก็ควรที่จะต้องลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันและถ่านหินเป็นวัตถุดิบนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงมาก ฉะนั้นควรที่จะหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทน ซึ่งจะต้องนำร่องโดยหน่วยงานราชการ เช่นการติดตั้งแผงโซลาร์เซล และองค์กรหรือหน่วยงานที่ใช้ไฟฟ้ามากควรที่จะต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และควรที่จะมีการลดเวลาเปิดทำการของร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ส่วนมลพิษจากการเผานั้นจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเผาขยะและเศษวัสดุทุกชนิด
 
ทางเทศบาลนครเชียงใหม่จะต้องออกเทศบัญญัติให้ก่อสร้างอาคารแบบประหยัดพลังงาน และสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้อาคารที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและมีการจัดการของเสียแบบเหลือศูนย์ และส่งเสริมให้หน่วยงานขนาดใหญ่ นำขยะเศษอาหารมาผลิตก๊าซหุงต้ม (Biogas) และผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel) จากน้ำมันที่ทอดแล้ว ทั้งจะต้องมีการนำของเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม นอกจากนี้จะต้องมีการออกเทศบัญญัติให้ประชาชนลดขยะที่ไม่ย่อยสลาย แยกขยะจากครัวเรือน และติดตั้งบ่อดักไขมันในครัวเรือนก่อนทิ้งลงท่อ ขณะที่ทางเทศบาลเองก็ต้องมีการจัดเก็บขยะแบบแยกชนิดในแต่ละวัน และเพิ่มมูลค่าใบไม้ หญ้าและกิ่งไม้ โดยอาจจะนำมาทำปุ๋ยหมัก ผลิตเป็นของตกแต่งสวน เฟอร์นิเจอร์
 
สำหรับด้านการวางผังเมืองแบบยั่งยืน (Sustainable Urban Planning) นั้นจะต้องไม่ดำเนินการขยายถนนเพื่อไม่ส่งเสริมการใช้รถส่วนตัว ฟื้นฟูเมืองเพื่อการอยู่อาศัยแทนการออกไปอยู่นอกเมือง และเพื่อลดการเดินทางข้ามเขต ซึ่งจะต้องมีการใช้พื้นที่เมืองอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้พื้นที่เมืองแผ่ขยายไปยังพื้นที่ทำการเกษตร ในส่วนของการเดินทางนั้นจะต้องมีการวางโครงข่ายทางจักรยานที่ครอบคลุมพื้นที่ และมีที่จอดรถจักรยานในสถานที่สาธารณะ และทางเท้าจะต้องปรับปรุงให้เป็นเส้นทางที่เดินได้อย่างสะดวกปลอดภัยไม่มีสิ่งกีดขวาง
 
ทั้งนี้จะต้องออกเทศบัญญัติให้แต่ละอาคารปลูกต้นไม้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ให้ระยะถอยร่นอาคารมีสัดส่วนของพื้นที่ปลูกต้นไม้แทนการเทคอนกรีต ส่วนพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่แล้วจะต้องมีการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมืองเพิ่ม รวมถึงจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินที่ปล่อยรกร้าง มีมาตรการให้เจ้าของปลูกต้นไม้ หรือให้เกษตรกรเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรในเมือง ขณะเดียวกันก็ลดหรืองดเว้นการจัดเก็บภาษีบ้านที่มีต้นไม้มาก นอกจากนี้ควรที่จะส่งเสริมให้ร้านค้าเปลี่ยนจากการใช้ใบตองหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้แทนถุงพลาสติก
 
 
ข้อเสนอระดับประเทศ
สำหรับนโยบายระดับประเทศนั้นความเห็นที่ได้จากเวทีเสนอว่า จะต้องมีแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองที่ไม่เกินระดับมาตรฐานสากล ซึ่งจะต้องมีช่วงดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายชัดเจน โดยเสนอให้มีรถไฟฟ้าด่วนรางคู่เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ และเชื่อมเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อลดการเดินทางโดยเครื่องบิน และร่นเวลาเดินทาง ส่วนสนามบินทุกแห่งควรที่จะต้องย้ายออกไปนอกเมืองและจำกัดเที่ยวบิน ด้านการผลิตไฟฟ้าควรที่จะกระจายการผลิตไฟฟ้าโดยสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม แสงแดด น้ำ ชีวมวล ซึ่งจะต้องไม่ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตไบโอดีเซลซึ่งนำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่าและแย่งพื้นที่ผลิตอาหาร
 
ด้านภาคเอกชนควรมีมาตรการจูงใจด้านภาษีแก่ธุรกิจที่ลดการใช้พลังงาน หรือธุรกิจที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลดภาษีอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานน้อย และอุปกรณ์เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นอจากนี้ก็ควรที่จะให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ และจะต้องเลิกผลิตโฟมและพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย ซึ่งจะต้องเพิ่มภาษีถุงพลาสติกและห้ามแจกถุงพลาสติกในร้านค้าจากการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน โดยจะมีการส่งเสริมการวิจัยและนำผลการวิจัยมาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะต้องหยุดความเจริญเติบโตทางด้านการผลิตสินค้าที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของโลก ส่วนปัญหาหมอกควันนั้นจะต้องมีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน การเผาป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
 
นโยบายการเจรจาระหว่างประเทศ
เวทีดังกล่าวได้เสนอให้รัฐบาลทั่วโลกและรัฐบาลไทยต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือไม่เกิน 350 ppm. ส่วนแนวทางเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศกำลังพัฒนานั้นเป็นเพียงการทำธุรกิจเหมือนเดิม (Business as usual) แต่ไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเทศต้นตอของปัญหาไม่ได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ฉะนั้นควรที่จะยกเลิกโครงการ การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา(REDD: Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Country)ซึ่งกำลังจะเข้ามาดำเนินการในไทย และกิจกรรมที่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ได้ดำเนินการในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องถูกคำนวณเป็น Carbon footprint ของประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศที่พัฒนาแล้วต้องให้สัตยาบันและดำเนินการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นไปตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)
 
 
ชมรมจักรยานเชียงใหม่ฯ เสนอรัฐออกมาตรการหนุนใช้จักรยาน
นอกจากนี้ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่ ได้เสนอเพิ่มเติมถึงประเด็นเรื่องการใช้จักรยานเพื่อเพิ่มการจูงใจผู้ใช้จักรยานไปทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเสนอให้ ครม.พิจารณา มีนโยบายทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งรัฐจะต้องประกาศคุ้มครองผู้ใช้จักรยานที่ขับขี่ถูกกฎทุกถนนอย่างจริงจัง และให้ผู้ที่ใช้รถจักรยานไปทำงาน ได้รับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีชดเชยเพิ่มขึ้นอีก 1 วันสำหรับการใช้จักรยานไปทำงานทุก 50 วัน ปีละไม่เกิน 5 วัน (ทั้งปีมีวันทำงานประมาณ 250 วัน) 
 
นายนิรันดร โพธิกานนท์ ประธานชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่หันไปใช้รถจักรยานแทนรถยนต์หรือจักรยานยนต์นั้นควรจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีรถประจำปี (ป้ายวงกลม) ร้อยละ 10 ของที่เคยเสียอยู่ และการใช้จักรยานไปทำงานทุก 50 วัน ควรจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีปีละไม่เกินร้อยละ 50 ของที่เคยเสียอยู่ โดยอาจะมีการการลดหย่อนเบี้ยประกันภัยตาม พ.ร.บ. ของรถยนต์หรือจักรยานยนต์เป็นสัดส่วนกับจำนวนวัน ได้สูงสุดถึงร้อยละ 50 สอดคล้องกัน รวมถึงสามารถนำหลักฐานการซื้อจักรยานที่ใช้เดินทางไปทำงาน มาใช้ลดหย่อนในปีภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งจะช่วยจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น อย่างไรก็ตามควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 เพื่อให้นายกเทศมนตรีองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้ว่าการนครและมหานครมีอำนาจในการวางผังเมืองด้านการจราจร และสนับสนุนการทำเส้นทางจักรยานพร้อมด้วยระบบจราจรที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานได้ (ดูข้อเสนอของชมรมจักรยานวันอาทิตย์ที่ล้อมกรอบ)
 
 
ข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เพื่อให้ นายกเทศมนตรีองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้ว่าการนครและมหานครมีอำนาจในการวางผังเมืองด้านการจราจร และสนับสนุนการทำเส้นทางจักรยานพร้อมด้วยระบบจราจรที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานได้
 
โดย ชมรมจักยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่
 
ประเทศไทย มี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายหลักที่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ของการการจราจร ซึ่งหมายถึง การใช้ทางของผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ รวมถึงการขับขี่และการใช้รถใช้ทาง(หรือถนน)ของรถทุกชนิดเอาไว้ ยกเว้นทางรถไฟ
 
พ.ร.บ. นี้ ยังเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานจราจรที่มีวิสัยทัศน์กำหนดช่องทางเดินรถประเภทใดประเภทหนึ่งขึ้นได้ เช่นช่องเดินรถประจำทางสวนถนนจราจรทางเดียวใน กทม. สามารถออกประกาศกำหนดทางเดินรถสองทางให้เป็นทางเดินรถทางเดียวได้ เมื่อเห็นว่าสะดวก ปลอดภัยและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
 
ในเชียงใหม่ ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ได้กำหนดให้ถนนรอบคูเวียงเดิมซึ่งเป็นการจราจรสองทาง เปลี่ยนเป็นทางเดินรถทางเดียว เมื่อราว พ.ศ. 2525 เนื่องจากมีปัญหารถติดมาก...เดิมรถสามารถวิ่งผ่านสี่แยกต่างๆ รอบคูเวียงเข้าสู่คูเวียงได้ การปรับเปลี่ยนถนนเดินรถสองทางให้เป็นทางเดียวทำให้รถที่เคยติดนานวิ่งไหลลื่น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถนนนอกคูเวียง เช่นถนนท่าแพ ถนนช้างม่อย และถนนลอยเคราะห์ให้เป็นถนนทางเดียว นอกจากนั้นการเข้า - ออกของรถสู่พื้นที่สี่เหลี่ยมคูเวียงและถนนช้างม่อยตัดใหม่เลียบวัดแสนฝางถูกปรับ เปลี่ยนตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ... เปิดทางไว้ให้ กลายเป็นถนนสวนชิดขวาเหมือนในประเทศลาว ประเทศพม่า และประเทศในยุโรปซึ่งแตกต่างจากระบบจราจรสวนชิดซ้ายส่วนใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งยังมีการกำหนดให้ซอยต่างๆ ที่เชื่อมโยงถนนช้างม่อย กับถนนท่าแพ และถนนลอยเคราะห์เป็นถนนจราจรทางเดียวด้วย การเปลี่ยนให้เป็นถนนทางเดียวมีเหตุผลดี เพราะทำให้รถยนต์วิ่งได้สะดวกกว่าต้องวิ่งสวนกันในซอยที่ถนนแคบ แต่มีผลให้รถทุกชนิดวิ่งทางเดียวทั้งหมดรวมทั้งจักรยานด้วย ผู้ใช้จักรยานถูกบังคับให้ต้องขับขี่อ้อมวนเพื่อเดินทางมายังจุดหมายเริ่มต้น โดยต้องใช้แรงกายของตน ทำให้เสน่ห์ของการใช้จักรยานในเมืองเชียงใหม่หายไป การทำให้เฉพาะจักรยานวิ่งสวนได้ดังเดิม จะทำให้เสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งและอย่างยั่งยืน
 
เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรกำหนดช่องเดินรถสำหรับรถแต่ละชนิดได้ และปรับเปลี่ยนทางเดินรถจากกฎเกณฑ์ทั่วไปได้ ก็ย่อมสามารถที่จะกำหนดให้เฉพาะจักรยานวิ่งสองทางได้เช่นเดิมในถนนที่เป็นทางเดินรถทางเดียว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นทางเลือกให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน ร่วมแก้ปัญหารถติด-มลพิษมาก และร่วมหยุดโลกร้อน-ด้วยชีวิตพอเพียงได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นและเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมใหม่
 
ในระหว่างเดือนกันยายน 2547 – สิ้นมกราคม 2552 ผู้บังคับการตำรวจภูธรเชียงใหม่ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร จำนวน 3 นาย เงียบเฉย หรือไม่ยอมออกประกาศเส้นทางจักรยาน 3 สายในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมียุทธศาสตร์ให้ผู้ใช้จักรยานสามารถขับขี่สวนกลับมายังที่เดิมได้ในถนนจราจรทางเดียว เพื่อให้สามารถเดินทางลัด คือเดินทางกลับถึงจุดเริ่มต้นที่ออกเดินทางได้ โดยไม่ต้องอ้อมวนไกลเหมือนกับการเดินทางที่ใช้เครื่องยนต์ เพื่อจูงใจให้คนเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการใช้ยานยนต์ส่วนตัว มาใช้จักรยาน ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการประหยัดพลังงาน ช่วยลดมลพิษและปัญหาการจราจรติดขัด และร่วมกับนานาประเทศลดโลกร้อนด้วยชีวิตพอเพียง ซึ่งจะมีผลให้เมืองเชียงใหม่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวสำหรับคนไทยและคนต่างประเทศ ผู้บังคับการฯบางท่านอ้างว่าถนนที่จะเปิดเป็นเส้นทางจักรยานนั้นแคบไม่ปลอดภัยต่อการใช้จักรยาน บ้างก็อ้างว่าการให้จักรยานขับขี่สวนทางได้ในถนนจราจรทางเดียวเป็นการผิดกฎหมายตามมาตรา 139 ในพ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 รวมทั้งอ้างว่าการให้จักรยานขับขี่สวนมาได้นั้นไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการอ้างที่ขัดกับข้อเท็จจริง แต่จะไม่ขัดข้องถ้าให้จักรยานขับขี่ตามกระแสจราจรซึ่งเป็นวิธีการขับขี่จักรยานที่ปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริงทราบดีว่าการขับขี่สวนจราจรทางเดียวได้นั้นปลอดภัยกว่า เนื่องจากไม่มีรถอื่นที่เร็วกว่าวิ่งแซงมาจากข้างหลัง
 
การออกประกาศเส้นทางจักรยานที่จูงใจพร้อมด้วยระบบจราจรที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่พร้อมที่จะดำเนินการจึงติดขัดชะงักงันต่อเนื่องมาถึง 4 ปีเศษ ต่อมา พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธรเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งย้ายมาปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้พิจารณาเห็นว่า การขับขี่จักรยานนั้นเป็นผลดีต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและเป็นข้อดีของเมืองเชียงใหม่ จึงออกประกาศเส้นทางจักรยาน 3 สายนั้นโดยอ้างอำนาจที่ทำได้ตามมาตรา 139 ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ซึ่งทำให้เทศบาลนครเชียงใหม่ลงมือทาสีตีเส้น เปิดเส้นทางจักรยานส่วนหนึ่งตามที่ออกประกาศแล้วได้
 
ปรากฏการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการออกประกาศเส้นทางจักรยานดังกล่าวนานติดต่อกันถึง 4 ปีเศษ นั้น เกิดจากการที่เจ้าพนักงานจราจรส่วนใหญ่ ไม่ประสงค์จะมีภารกิจเพิ่มขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ใช้จักรยานในการเดินทางตามสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญหรือเป็นปัญหาในด้านวิสัยทัศน์ของเจ้าพนักงานจราจร ในประโยชน์ของการใช้จักรยานที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ จึงเห็นสมควรที่จะ
 
1. แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้อำนาจที่เจ้าพนักงานจราจรมี ตามมาตรา 139 นั้นเป็นอำนาจของ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร และอาจจำเป็นต้องครอบคลุมถึงการให้เป็นอำนาจของผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยาหรืออื่นๆที่เทียบเท่า เพราะนายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น และรับผิดชอบการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางในถนนต่างๆในพื้นที่ของตน ดังนี้
 
มาตรา139ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดที่เจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้วจะเป็นการปลอดภัยและสะดวกในการจราจรให้ เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบดังต่อไปนี้
 
(1) ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดิน
(2) ห้ามหยุดหรือจอด
(3) ห้ามเลี้ยวรถ กลับรถ หรือถอยหลังรถ
(4) กำหนดให้รถเดินได้ทางเดียว
(5) กำหนดระยะเวลาจอดรถในทางแคบหรือที่คับขัน
(6) กำหนดอัตราความเร็วของรถในทางภายในอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
(7) กำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง
(8) กำหนดทางเดินรถทางเอกและทางเดินรถทางโท
(9) กำหนดการจอดรถหรือที่จอดพักรถ
(10) กำหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสำหรับรถบางประเภท
(11) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้รถโรงเรียน
(12) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยาน
(13) ควบคุมขบวนแห่หรือการชุมนุมสาธารณะ
(14) ควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยก
(15) ขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง หรือติดตั้งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจร
(16) กำหนดระยะทางตอนใดให้ขับรถล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดไว้ได้
(17) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจอดรถที่ชำรุด หักพัง ตลอดจนรถที่ซ่อมแซมในทาง
(18) กำหนดระเบียบการข้ามทางของคนเดินเท้าบนทางที่ไม่มีทางข้าม
(19) กำหนดการใช้โคมไฟ
(20) กำหนดการใช้เสียงสัญญาณ
(21) กำหนดระเบียบการอนุญาตและการใช้รถที่มีล้อหรือส่วนที่สัมผัสกับผิวทางไม่ใช่ยาง
 
การแก้ไข คือ ให้เปลี่ยน เจ้าพนักงานจราจร เป็น นายก หรือนายกเทศมนตรี ของทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งเป็นผู้ว่าการกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาหรือเมืองอื่นใดที่เทียบเท่า นอกจากนั้นให้ปรับแก้มาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรา 139 นี้
 
2. เพิ่มเติมวงเล็บ (3) ในมาตรา 57 ดังนี้
มาตรา57เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติกฎหรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ
(1) บนทางเท้า
(2) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(3) ในช่องเดินรถจักรยาน
 
การเพิ่มวงเล็บ (3) นี้ก็เพื่อให้ตำรวจจราจรดูแลการห้ามจอดรถอื่นๆ กีดขวางช่องเดินรถจักรยานให้มีความชัดเจน และมีความเป็นสากล
 
[มาตรา 57 ยืนยันว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติ กฎ หรือข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การจอดรถบนทางเท้า หรือกีดขวางการจราจร ย่อมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และการยอมให้รถต่างๆจอดกีดขวางช่องทางที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถจักรยานก็ย่อมผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน]
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท