Skip to main content
sharethis

 

 
“ถ้ารัฐเขียนว่าให้ชาวบ้านควบคุมกันเอง น่าจะรับได้ แต่ถ้าระบุเมื่อใดว่าขึ้นตรงกับรัฐ รัฐเป็นคนจัดการก็คือว่าสุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐไม่ต้องจัดการก็ได้...เพราะถ้ายังยึดใช้ระบบการจัดการที่ดินแบบที่รัฐเคยทำมา ถามว่า100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่นายทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ที่ดินหลุดมือไปมากเท่าไหร่”
 
วันรบ อินทะวงศ์
 
 
 
 
 
 
 

 

วันรบ อินทะวงศ์ หนึ่งในแกนนำชุมชนบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บอกเล่าให้ฟังถึงการจัดสรรพื้นที่ทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ว่า เริ่มแรก มีการจัดสรรที่ดินกันเป็นแปลงๆ ตอนที่ลงมือจัดสรรที่ดินกันครั้งแรกนั้น ชาวบ้านลงมือทำตามความเข้าใจ ไม่มีตำรา แต่ได้ไปขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือจากผู้รู้คนหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินให้กับสำนักงานที่ดินอำเภอแห่งหนึ่ง
 
หลังจากมีการรังวัด ทำพิกัดแผนที่ แบ่งเป็นแปลงแล้ว ชาวบ้านพยายามคิดค้นหาวิธี ว่าจะจัดสรร แบ่งที่ดินกันอย่างไรถึงจะให้เป็นธรรม กระทั่งทุกคนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้วิธีจับสลาก เหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด
 
“ตอนนั้น เราก็คิดกันว่า ถ้าจะให้ต่างคนต่างเลือก ก็อาจเกิดปัญหาแย่งกันได้ ก็เลยใช้วิธีจับฉลาก น่าจะยุติธรรมที่สุด เพราะว่าถ้าไม่จับฉลาก คนที่เลือกก่อน ก็อาจจะได้เปรียบ”
 
ชาวบ้านไร่ดงบอกอีกว่า ข้อดีของการจับสลาก ในการจัดสรรที่ดินอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้ที่ดินไม่กระจุกตัว
 
“เรามารู้ที่หลังว่า การจับฉลากนั้นเป็นผลดีต่อชุมชน ถ้าเกิดเราไม่มีการจับสลากนะ กลุ่มนายทุนจะกลับมาอยู่ในหมู่ของเรานี่แหละ เพราะว่าคนที่มีเงินจะแอบแฝงมาซื้อที่ดินของคนนั้นคนนี้ ทำให้ที่ดินมากระจุกรวมกัน เลยกลายเป็นแปลงใหญ่ ลักษณะจะเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อใช้วิธีจับฉลาก มันก็กระจายที่ดินไป พวกนายทุนก็ไม่สามารถที่จะแฝงตัวเข้ามาทำได้”วันรบ บอกเล่าให้ฟัง
 
พ่อปี๋ ธรรมขันธ์ วัย 72 ปี ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ก็บอกย้ำให้เห็นว่า “การจับสลาก ทำให้ใครไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เราจัดการแบบนี้ เพื่อการจัดการที่ดินที่เป็นธรรม”
 
การจับสลากแบ่งที่ดินกันแต่ละแปลง ได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กับการตั้งคณะกรรมการ และการตั้งข้อระเบียบขึ้นมา
 
“เรามีข้อระเบียบ เราสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการที่ดิน ตั้งแต่เรื่องการแบ่งแปลง การจัดสรร มันจำเป็นต้องทำระเบียบควบคุม เช่นว่า ห้ามซื้อ ห้ามขายที่ดินของแต่ละแปลง สมาชิกต้องได้คนละหนึ่งแปลง แต่ถ้าจำเป็นต้องขาย สาเหตุอาจเป็นเพราะไม่สามารถที่จะทำประโยชน์ได้แล้ว หรือไม่สามารถสืบทอดให้ลูกหลานได้แล้ว ที่ดินแปลงนั้น ก็จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ถ้าจะขายก็ให้ขายให้คนในชุมชนนี้”
 
ต่อมา การจัดการที่ดินผืนนี้ เริ่มวิวัฒนาการ กลายเป็น ‘โฉนดชุมชน’ ซึ่งชุมชนไร่ดง ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือพื้นที่นำร่องในเรื่องการจัดทำ ‘โฉนดชุมชน’ อีกพื้นที่หนึ่ง
 
“ตอนหลัง เราก็ได้พัฒนามาเป็นโฉนดชุมชน เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้ที่ดินมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน วัตถุประสงค์โฉนดชุมชนก็คือ ห้ามมีการซื้อขายแลกเปลี่ยน และควบคุมที่ดินให้อยู่ในชุมชนนี้ไม่ให้หลุดไปอยู่ในมือของคนนอก”
 
แต่กว่าจะมาเป็น โฉนดชุมชน ได้นั้น ต้องเรียนรู้กับอุปสรรคปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
 
“เราได้สรุปบทเรียนจากบางพื้นที่ ในเรื่องการจัดการที่ดินที่ชาวบ้านจัดสรรในจังหวัดลำพูนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เช่น กรณีปัญหานายทุนบุกรุกที่สาธารณะของชุมชน 15,000 ไร่ มาปรับใช้...” รังสรรค์ ศรีสองแคว แกนนำชาวบ้านไร่ดง บอกเล่าถึงการนำความผิดพลาดจากพื้นที่อื่นมาปรับแก้ไข
 
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดู กรณีปัญหานายทุนบุกรุกที่ดินสาธารณะของชุมชน กรณีที่ดินผืนใหญ่ 15,000 ไร่ ที่ชาวบ้านไร่ดง พูดถึงนั้น จะพบว่า เป็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินระหว่างนายทุนเจ้าของที่ดินกับชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านท่าช้าง บ้านต้นผึ้ง บ้านท่าหลุก บ้านแพะใต้ ในเขตกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง และชาวบ้านบ้านหนองเขียด บ้านท่ากอม่วง บ้านหนองปลาสวาย บ้านสันปูเลย บ้านดงขี้เหล็ก และบ้านศรีเตี้ย ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งก่อนนั้น เคยเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินผืนใหญ่บ้านโฮ่ง–ป่าซาง เมื่อปี 2509 มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 15,000ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านที่เอ่ยมาทั้งหมด แต่พอนานๆ เข้า โครงการดังกล่าวกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า และกลับกลายเป็นว่า พื้นที่ทั้งหมดนั้น ชาวบ้านไม่ได้ถือครองใช้ประโยชน์ใดๆ หากตกไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งหมด
 
แน่นอน จึงกลายเป็นปัญหาที่หมักหมม และไม่มีความเป็นธรรมกับคนในชุมชน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!? หลายคนตั้งคำถาม...
 
“กรณีที่ดินผืนใหญ่ 15,000 ไร่ นั้น วิธีการจัดสรรที่ดินไม่เหมือนกับพื้นที่ไร่ดง คือเขาจะใช้วิธีถางไร่ ถางใครถางมัน ใครมีแรงถางเยอะก็ได้เยอะ บางคนถางได้เป็นสิบไร่ยี่สิบไร่ มันไม่มีระเบียบควบคุม จึงทำให้คนไหนมีเงินเยอะ ก็กว้านซื้อ แล้วชาวบ้านที่เคยเข้าไปบุกเบิก ถากถาง สู้ในตอนแรกๆ เดี๋ยวนี้ที่ดินไม่มีเหลือแล้ว” รังสรรค์ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหา
 
มาถึงเวลานี้ ‘โฉนดชุมชน’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของชาวบ้านไร่ดง ที่จะเป็นสิ่งที่กำกับดูแล ควบคุมที่ดินไม่ให้หลุดมือไปสู่นายทุนอีกต่อไป
 
“ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราไม่มีเรื่องกฎระเบียบ ไม่มีกรรมการ ชุมชนไม่ดูแลควบคุม และไม่มีโฉนดชุมชนมาควบคุม มันจะกลับมาเหมือนเดิม คือ หนึ่ง เกิดที่ดินกระจุกตัว สอง ที่ดินจะหลุดมือจากชุมชน เราหวั่นวิตกต่อเรื่องนี้” แกนนำคนสำคัญของชาวบ้านไร่ดง กล่าว
 
 
จัดสรร แบ่งปัน ใช้ประโยชน์จากที่ดินให้คุ้มค่า
 
เมื่อทำการจัดสรร รังวัด ที่ดินเนื้อที่รวมทั้งหมด 426 ไร่ แล้ว ทางคณะกรรมการได้มีการจัดสรร แบ่งปัน และใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า โดยได้ทำการปฏิรูปที่ดินเอาไว้เป็นของหน้าหมู่ หรือของส่วนรวม เป็นที่ดินสาธารณะ จำนวน 10 ไร่ ที่เหลือมีการจัดสรรให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกรายละ 1 แปลง แปลงละ 1 ไร่ 1 งาน
 
ทำไมถึงจัดสรรให้ชาวบ้านรายละ 1 ไร่ 1 งาน!?
 
“เพราะว่าเฉพาะสมาชิกของบ้านไร่ดงนั้นมีเยอะ มีทั้งหมด 200 กว่าคน ก็จัดสรรกันลงตัวที่ 1 ไร่ 1 งาน”
 
“แล้วในเชิงเศรษฐกิจ ในเรื่องรายได้จากการใช้ประโยชน์จากที่ดิน พอจะประเมินได้ไหม”
 
“ได้ อย่างของพ่อลุงข้างที่ดินสาธารณะ หลังจากเริ่มเข้าไปใช้ที่ดิน ก็ปลูกเลย ทั้งลำไย มะม่วง ก็ติดลูก ได้เงินหลายแล้ว ได้นอกฤดูคราวที่แล้วตั้งหลายหมื่น ได้หลายรุ่นแล้ว” วันรบ บอกกับเรา
 
เมื่อเราเดินไปรอบๆ สวน รอบๆ ที่ดินที่จัดสรรแบ่งกันนั้น จะเห็นว่า ชาวบ้านที่นี่ จะเน้นการปลูกพืชแบบผสมผสาน
 
“ปีที่แล้วพ่อขาย มะม่วงได้เงิน 8,000 บาท ขายลำไย 4,000 บาท ได้ไม่เยอะ มันไม่ค่อยออกลูก แต่ก็มีหลายแปลงที่เขาได้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ ได้กันหลายหมื่น...” พ่อปี๋ กล่าวขณะพาเดินชมสวน
 
ในขณะที่พ่อสวัสดิ์ หอยแก้ว บอกเราว่า ขายลำไยในสวนได้ 15,000 บาท
 
แทบไม่น่าเชื่อว่า จากที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า มาตอนนี้ ที่ดินกว่าสองร้อยไร่ ได้กลายเป็นสวนผัก ผลไม้ ต้นไม้ใช้สอยหลากหลายชนิดในแต่ละแปลงติดเป็นผืนกว้างใหญ่
 
ที่ดิน จึงเป็นหัวใจของคนในชุมชนไร่ดง เพราะแต่เดิมนั้น ชาวบ้านไร่ดง จะยึดประกอบอาชีพแรงงานรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน เราจึงมองเห็นผู้หญิงรับจ้างเย็บผ้า ส่วนผู้ชายก็พากันออกไปรับจ้างก่อสร้างตามเขตเมือง ส่วนคนหนุ่มสาวก็ไปเป็นลูกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน
 
ทว่า มาบัดนี้ หลังจากที่ชาวบ้านได้รับการจัดสรร แบ่งปันที่ดินให้อย่างเป็นธรรมแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่า จำนวน 1 ไร่ 1 งาน นั้นอาจเล็กน้อยในสายตาของคนทั่วไป แต่ที่ดินแต่ละแปลงนั้นก็สามารถพลิกฟื้นชีวิตผู้คนที่นี่ได้ลืมตาอ้าปาก หยัดยืนอยู่ในผืนดินนี้ได้อย่างพอเพียงและมีความสุข โดยดูได้จากการสอบถามชาวบ้าน ถึงมูลค่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินหลังทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน พบว่า ทุกคนต่างมีรายได้เข้ามาจุนเจือชีวิตครอบครัวกันอย่างต่อเนื่อง
 
“อย่างปีนี้ ลำไยออกลูกเยอะ คิดว่าแปลงหนึ่งคงขายได้ไม่ต่ำกว่าสามสี่พัน บางแปลงที่มีการดูแลดีๆ อาจได้ถึงห้าหมื่น”
 
เมื่อมีการคำนวณผลผลิตที่ได้กันคร่าวๆ ว่าหากทุกคนขายมะม่วง ลำไยได้เฉลี่ยแปลงละ 4,000 บาท จากจำนวนที่ดินทั้งหมด ในบริเวณไร่ดง-แม่อาว จำนวน 280 แปลง
 
ชาวบ้านสามารถมีรายได้ รวมกันทั้งหมดเป็นเงินสูง 1,120,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่ใช่น้อยสำหรับวิถีชาวบ้านที่นี่
 
เหล่านี้ล้วนคือดอกผลที่มาจากการเรียกร้องต่อสู้เคลื่อนไหว ไม่ใช่ได้มาจากการร้องขอ และเป็นเม็ดเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน โดยผ่านการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนอย่างแท้จริง!
 
“และเรายังภูมิใจที่เรายังอยู่กันได้ถึง 9 ปีโดยที่เราไม่ล่มสลาย…”เสียงของชาวบ้านไร่ดง เอ่ยออกมาด้วยสีหน้าเชื่อมั่น
 
 
ย้ำ ‘โฉนดชุมชน’ โดยชุมชน เดินมาถูกทาง
 
เมื่อสอบถามระเบียบ กติกา การควบคุมภายในของโฉนดชุมชนบ้านไร่ดง จะรู้เลยว่า มีความสอดคล้อง เหมาะสม และเป็นธรรมกับคนในชุมชนมากกว่า
 
 “จริงๆ แล้ว รัฐน่าจะยอมรับในสิ่งที่พวกเรากำลังทำ ก็คือเรื่องการห้ามซื้อขาย ให้กับคนนอก ซึ่งเราสามารถจัดการตรงนี้ได้ โดยที่ของรัฐจัดระบบไม่ได้เลย ถ้าเป็นรัฐ พอนานๆ ไป พวกนายทุนก็เข้ามากว้านซื้อทิ้งเปล่าๆ ก็มี แต่เราไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เรายังสามารถที่จะทำตรงนี้ได้”
 
โฉนดชุมชนที่ชาวบ้านไร่ดงได้ทำกันอยู่นี้ จึงมีประสิทธิภาพ สอดคล้องและเหมาะสมกับคนในชุมชนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น กฎข้อบังคับ ระเบียบ การถือครอง การใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งการออม ซึ่งนำไปสู่ระบบธนาคารที่ดินในอนาคต โดยผ่านคณะกรรมการ และชุมชนเป็นผู้กำกับดูแล
 
 
หวั่นโฉนดชุมชนฉบับรัฐบาล จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์
 
ครั้นเมื่อหันมามองการขับเคลื่อนเรื่อง การปฏิรูปที่ดินหรือการร่างกฎหมายโฉนดชุมชนของรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ ในขณะนี้ ชาวบ้านกลับรู้สึกกังวล เมื่อรู้ว่าสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการนั้น อาจสวนทางกับสิ่งที่พี่น้องชาวบ้านกำลังทำกันอยู่                                                                                                
 
โฉนดชุมชนนี่ ถ้าชุมชนเป็นคนเริ่มทำ แล้วก็เข้าใจในคุณค่าของโฉนดชุมชน เห็นว่าโฉนดชุมชนเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่ต้องไปสนใจหรือให้รัฐมายอมรับ วันก่อนผมเข้าไปประชุม ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า โฉนดชุมชนที่จะให้รัฐรับรองนี่มันต้องผ่าน ครม.เห็นชอบด้วย แล้วมีกฎหมายซึ่งยุ่งยากไปใหญ่เลย ตายแล้ว... ถ้ากฎหมายที่จะมารับรองโฉนดชุมชนมันไม่ใช่ของชุมชน แล้วสุดท้าย รัฐก็ต้องเข้ามาจัดการอีก ผมก็มานั่งคิด... ไหนจะต้องผ่าน ครม.เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างมาเป็นกฎหมายโฉนดชุมชน หรือว่ากฎหมายธนาคารที่ดิน ซึ่งถ้ามาแบบนี้ ผมเห็นว่า มันก็เข้ากรอบของรัฐจัดการ เข้ากรอบกฎหมายรัฐไปอีกจนได้ ถ้าเป็นอย่างงั้นมันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว รังสรรค์ ศรีสองแคว แกนนำสำคัญของหมู่บ้านไร่ดง กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
 
เมื่อถามชาวบ้านไร่ดงว่า “เป็นไปได้ไหม ถ้ารัฐบาลชุดนี้มาจำลองแบบโฉนดชุมชนของบ้านไร่ดงนี้ไปปรับเป็นโฉนดชุมชนในนามรัฐ”
 
ถ้ารัฐเขียนว่า ให้ชาวบ้านควบคุมกันเอง น่าจะรับได้ แต่ถ้าระบุเมื่อใดว่าขึ้นตรงกับรัฐ รัฐเป็นคนจัดการก็คือว่าสุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐไม่ต้องจัดการก็ได้...เพราะสิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ เราตั้งใจให้มันแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะถ้ายังยึดใช้ระบบการจัดการที่ดินแบบที่รัฐเคยทำมา ถามว่า 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่นายทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ที่ดินหลุดมือไปมากเท่าไหร่แล้ว แต่นี่ 100 เปอร์เซ็นต์ เรายังอยู่ได้ เราพยายามประคองกันให้อยู่ได้...” วันรบ อินทะวงศ์ กล่าว
 
เมื่อย้ำถามชาวบ้านไร่ดงในตอนท้ายว่า “หัวใจหลักของโฉนดชุมชนคืออะไร”
 
 “ไม่ให้ที่ดินหลุดมือ ไม่ให้มีการแลกเปลี่ยน ไม่ให้ที่ดินหลุดมือออกไปจากพื้นที่ชุมชนของเรา” ชาวบ้านไร่ดง ยืนยันอย่างหนักแน่น.

 

 

 
 
 
 
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ....
 
เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ....
        (การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน)
 
          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ การใช้อำนาจของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชนตามร่างข้อ 10 จะต้องไม่ขัดกับอำนาจการจัดการที่ดินของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน โดยไม่เพิ่มอัตรากำลังขึ้นใหม่ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
 
          ข้อเท็จจริง
          สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอว่า
          1. ด้วยนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชนเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายรัฐบาลตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2
          2. ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลใช้ประโยชน์ที่ดินรวมกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ จึงก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำเนินงาน และขาดองค์กรกลางที่เป็นเจ้าภาพรวมทั้งขาดการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการที่ชัดเจนในการดำเนินงาน
          3. คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและประชาชนที่ยากจน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและเสนอแนะในกระบวนการดำเนินการตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งผลการสัมมนาสรุปได้ว่า การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนของรัฐบาลจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในกรณีที่มีการแย่งชิงสิทธิครอบครอง การอ้างการครอบครองอยู่ก่อน การบุกรุกพื้นที่ของรัฐที่ดำรงสภาพความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องโฉนดชุมชนในระยะยาวจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ แต่การตรากฎหมายย่อมต้องใช้เวลาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สมควรแก้ปัญหาในเบื้องต้นโดยการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติไปพลางก่อน
 
          สาระสำคัญของร่างระเบียบ
          1. กำหนดนิยามคำว่า “โฉนดชุมชน” หมายความว่า สิทธิร่วมกันของชุมชนในการบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน และเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล (ร่างข้อ 3)
          2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน” เรียกโดยย่อว่า “ปจช.” และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ปจช. เช่น เสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานโฉนด ชุมชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 8)
          3. กำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างข้อ 6 และร่างข้อ 7)
          4. กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ประสานนโยบายการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินงานโฉนดชุมชนให้สำเร็จเป็นไปตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และติดตามประเมินผล และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างข้อ 9)
          5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ (ร่างข้อ 10)
          6. กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนเพื่อกระทำการแทนในนามของชุมชน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน (ร่างข้อ 12 และร่างข้อ 13)
          7. กำหนดให้ในกรณีที่มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ให้ไว้ของชุมชนที่ได้รับสิทธิให้หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ ปจช. มีอำนาจยกเลิกโฉนดชุมชนได้ (ร่างข้อ 14)
          8. กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ภายในหกสิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และกำหนดให้มีพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโฉนดชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (ร่างข้อ 15)                    
 
 
 
 
ที่มาข้อมูล
-เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กรณีบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน,กรกฎาคม 2552
-สัมภาษณ์ชาวบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน,กรกฎาคม 2552
-วิทยานิพนธ์ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน’ ของ ‘กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น’ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net