Skip to main content
sharethis

ระยะเวลากว่า 10 ปีของบริษัทอัคราไมนิ่ง ที่ดำเนินการขุดเหมืองทองทองชาตรี ในพื้นที่เขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ได้ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองกว่า 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองระมาน หมู่ 3 บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 .เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และบ้านหนองแสง หมู่10 .ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ จนทำให้หมู่บ้านเหล่านี้ต้องล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา แม้ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวเกิดการรวมตัวกัน เพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับผลกระทบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพที่ดูเหมือนว่า จะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวันเวลา ทว่าชาวบ้านยังลุกขึ้นต่อสู้อย่างไม่ท้อและไม่ถอย แม้ว่าอำนาจที่เปรียบดั่งไฟที่ร้อนระอุ จะมีมากเพียงใดก็ตาม

 

แผ่นดินนี้มีทองคำ : พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์

 

หลายต่อหลายครั้งที่ชาวบ้านในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ลุกขึ้นมารวมตัวกันต่อสู้กับอำนาจกลุ่มนายทุน กลุ่มอำนาจรัฐทั้งระดับบนและระดับล่างมาอย่างยาวนาน หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่มของการเข้ามาทำเหมืองทองชาตรีของบริษัทอัครไมนิ่งนั้น ชาวบ้านได้เห็นผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผลกระทบของเหมืองทองได้สำแดงออกมาอย่างชัดเจน ทั้งทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ปัญหาด้านการเกษตร รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมือง

 

กรณีเมื่อปี 2548 ช่วงเดือน มี.. ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก ได้ทำหนังสือร้องเรียน ไปยังผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร เพื่อขอการคัดค้านการขอประทานบัตรการทำเหมือง และขอความเป็นธรรม เพราะชาวบ้านเห็นว่า บ้านเขาหม้อเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรอาศัยอยู่มานานมากกว่า 40 ปี  มีวัด โรงเรียน และมีความสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมีภูเขาหม้อที่เป็นแหล่งซุปเปอร์มาเก็ต หรือแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมสำหรับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำ มีอ่างเก็บน้ำและลำคลองไว้ทำการเกษตรตลอดทั้งปี แต่การยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานแต่อย่างใด

 

ต่อมาในช่วงเดือน ต.. (ปีเดียวกัน) ชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอธิบดีกรมป่าไม้ โดยเรียกร้องให้ระงับหยุดทำลายป่าไม้และภูเขาหม้อ ซึ่งบริษัท อัคราไมนิ่ง ได้ทำการขุดเจาะสำรวจบนภูเขาหม้อ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์  ทำให้เกิดเสียงดังจากการขุดเจาะทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ยังทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมหาศาลอีกด้วย คงไม่ต้องตั้งคำถามว่า ชาวบ้านได้รับคำตอบอย่างไร หากแต่ว่าคำตอบนั้นได้หายไปกับสายลมเหมือนเช่นเคย แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ลดละความพยายาม

 

ในช่วงปี 2549 ชาวบ้านได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงนายอำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร จากการระเบิดเขาหม้อ ซึ่งทางบริษัท อัคราไมนิ่ง ยังทำการระเบิดมาอย่างต่อเนื่อง และการระเบิดนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง  ซึ่งมีคนชรา เด็ก เกิดความตกใจ หวาดกลัว เสียสุขภาพจิตจากการระเบิดของเหมือง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ พิษสงของเหมืองทองชาตรี ยังก่อมลภาวะทางอากาศ อย่างเช่นฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดของเหมือง ทำให้ฝุ่นที่มีละอองสีขาวจับตามหลังคาบ้านเรือนของชาวบ้าน จนชาวบ้านไม่กล้าที่จะรองน้ำฝนกินหรือเก็บผักกินเหมือนเมื่อก่อน คนแก่และเด็กในหมู่บ้าน เกิดอาการคันตามผิวหนัง และมีอาการท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง

 

ขณะเดียวกัน ช่วงปี 2550 ชาวบ้านใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองระมาน บ้านเขาหม้อ จ.พิจิตร และบ้านหนองแสง จ.เพชรบูรณ์ ได้รวมตัวกันประท้วงบริเวณหน้าเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง เพื่อเรียกร้อให้บริษัมยุติการดำเนินการ ขณะนั้นมีตัวแทนบริษัท อัคราไมนิ่ง อุตสาหกรรม จ.พิจิตร และปลัด อ.ทับคล้อ ออกมารับฟังปัญหาของชาวบ้านและนัดวันที่จะให้คำตอบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว แต่พอถึงวันนัดก็ได้มีการเลื่อนนัดออกไป จนสุดท้าย บริษัท อัคราไมนิ่ง ก็ไม่ยอมออกมาเจรจาและไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ

 

ขณะที่ปัญหาเรื่องน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติรอบพื้นที่เหมืองนั้น เป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่น ๆ ที่ชาวบ้านต้องแบกรับด้วยความเจ็บปวด เนื่องจากสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณพื้นที่รอบเหมือง ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้  กระทั่งชาวบ้านพยายามเจรจากับทางบริษัทอัคราไมนิ่ง ให้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคและบริโภค ซึ่งช่วงหนึ่งทางบริษัทได้นำน้ำดื่มมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน แต่ทว่า ไม่ถึง 3 เดือน ทางบริษัทได้ออกมายืนยันว่า ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษ ทางบริษัทจึงได้ยกเลิกการแจกน้ำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทำให้ชาวบ้านต้องรับภาระในการซื้อน้ำอุปโภคและบริโภคเอง  เพราะน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

 

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณพื้นที่รอบเหมือง เพื่อนำไปตรวจทางเคมี จากห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร Laboratory Center for Food and Agricultural Products : LCFA สำนักงานเชียงใหม่ และผลการตรวจสอบทางเคมีพบว่า มีสารไซยาไนด์ ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มจริง

 

การเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะทางบริษัท อัคราไมนิ่ง เข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งสุขภาวะอนามัยของชาวบ้านและปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า การเรียกร้อง ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด

 

ขณะที่ความน่าสะพรึงกลัวและความโหดร้ายของผลกระทบจากการทำเหมืองที่เกิดขึ้นนั้น จากผลงานวิจัยของ Carolyn Stephens และ Mike Ahern นักวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ได้เขียนรายงานเรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพคนงานและสุขภาวะชุมชน จากการทำเหมืองแร่ในนานาประเทศ (Worker and community health impacts related to mining operations internationally) โดยทั้งคู่ได้ทบทวนเอกสารและสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ จำนวน 996 ชิ้น จากประเทศต่างๆ ที่เผยแพร่ในระหว่างปี ค..1965-2001 พบว่า

 

เหมืองแร่เป็นอาชีพที่อันตรายมากที่สุดในโลก เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นพบว่าคนงานมักได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในเหมือง ส่วนระยะยาวพบว่ามีคนงานจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น silicosis asbestosis นอกจากนี้การทำเหมืองแร่ยังส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย และชุมชนที่อยู่รอบเหมืองส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ในตอนท้ายผู้วิจัยสรุปว่า การที่จะทำให้เหมืองแร่เป็นสถานประกอบการที่ปลอดภัยและชุมชนสุขภาวะ ยังห่างไกลกับความเป็นจริงอีกมาก !

 

สารเคมีในเหมืองทอง : ผลกระทบต่อสุขภาพ

 

การเกิดโรคและการเจ็บป่วยจากการได้รับสารพิษจากสินแร่ คงหนีไม่พ้นสารตะกั่ว ที่เป็นโลหะหนัก สามารถทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอย่างไม่ปราณี และเป็นสารพิษที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ นอกจากนี้พิษของสารตะกั่ว ยังสามารถทำลายระบบประสาท เส้นประสาทส่วนปลาย เกิดอาการเป็นอัมพาต ทำลายเซลล์สมอง หมดสติและถึงตายได้ และสารแคดเมียม เป็นโลหะหนักอีกชนิดหนึ่งที่มักจะปะปนอยู่ในอากาศ น้ำ ดิน และเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งในการรับประทาน การหายใจและทางผิวหนัง แคดเมียมที่พบในอากาศจะอยู่ในรูปของฝุ่นหรือไอ เมื่อผู้ที่ได้สัมผัสกับสารพิษสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หากเข้าสู่ร่างกาย มันจะสะสมอยู่ในไต ทำลายเซลล์ของหลอดไต และทำให้กระดูกผุกร่อน ในที่สุดเกิดอาการปวดอย่างรุนแรง เรียกว่า โรคอิไต-อิไต ถ้าหากสะสมไว้ในร่างกายเพียง 50 มก. ก็จะทำให้เสียชีวิตได้

 

เพชฌฆาตตัวร้ายอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถปลิดชีวิตสิ่งมีชีวิตได้อย่างโหดเหี้ยม คงหนีไม่พ้นสารพิษที่เรียกว่า "ไซยาไนด์" สารเคมีตัวนี้เหมืองทองทั่วโลกนิยมใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การใช้ ไซยาไนด์ในการแยกแร่ทองคำและเงิน ซึ่งไซยาไนด์สามารถแทรกซึมสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ดีทีเดียว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง เพราะฤทธิ์ของมันสามารถทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าจะได้รับสารพิษในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม ดังนั้น ไซยาไนด์จึงถือเป็นสารเคมีที่คุกคามสุขภาพที่ร้ายกาจที่สุด

 

นางสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านจะนำน้ำบาดาลมาทำน้ำประปาใช้ เพื่ออุปโภคและบริโภค แต่หลังจากที่บริษัทอัคราไมนิ่งเข้ามาทำเหมืองทองในบ้านเขาหม้อได้เพียง 2 ปี น้ำที่ใช้เป็นประจำก็เริ่มตกตะกอนเป็นสีส้ม จนในปี 2550 ชาวบ้านเริ่มมีอาการคันตามร่างกายมากขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันชุมนุมปิดหน้าเหมือง โดยทำแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอกับทางบริษัทอัคราไมนิ่ง ให้ลงมาแก้ไขปัญหาน้ำและสุขภาพของชาวบ้าน แต่ทางบริษัทไม่รับฟังปัญหาดังกล่าว

 

นางสื่อกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาต่างๆ เริ่มรุนแรงมากขึ้นในปี 2551 เนื่องจากหมู่บ้านเขาหม้อที่มีอยู่ 7 หลังคาเรือน จากเดิมกว่า 100 หลังคาเรือน ต่างได้รับผลกระทบจากแหล่งน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคในลักษณะเดียวกัน คือการนำน้ำมาใช้ในการหุงข้าว โดยการนำข้าวมาแช่ไว้ในน้ำประมาณครึ่งวัน จะพบว่าข้าวที่แช่ทิ้งไว้มีกลิ่นเหม็นบูด บางคนรับประทานเข้าไปแล้ว มีอาการท้องร่วงอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงสงสัยว่า ทำไมข้าวถึงมีกลิ่นเหม็นบูด ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งรับประทานข้าวที่หุงจากน้ำที่ใช้เป็นประจำ มีอาการท้องร่วง จนชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำเพื่อดื่มกิน แต่จะใช้น้ำเพื่ออาบเพียงอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกัน น้ำที่ใช้อาบทำให้บางคนมีอาการเป็นผื่นคันตามร่างกาย เกิดผื่นแดง และเมื่อไปหาหมอที่อนามัย หมอก็ให้ยาทาแก้ผื่นคัน แต่ว่าชาวบ้านก็ยังใช้น้ำตามเดิม จึงทำให้อาการเป็นผื่นคันเป็นๆ หายๆ แต่สุดท้าย ผื่นคันก็มีอาการรุนแรงมากขึ้น บางคนมีตุ่มใหญ่ขึ้น มีหนองและเป็นแผลพุพองตามร่างกายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีตุ่มลามไปถึงหนังศีรษะ เรียกภาษาแบบชาวบ้าน คือ อาการหัวเน่าไปหลายราย

 

จากนั้นชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งทาง อบต.เขาเจ็ดลูกแนะนำให้ชาวบ้านเปลี่ยนน้ำอุปโภค บริโภค  หลังจากที่เปลี่ยนน้ำกินน้ำใช้ โดยนำเอาน้ำจากที่อื่นมาใช้ ปรากฏว่าอาการผื่นคันของชาวบ้านเริ่มดีขึ้น ชาวบ้านจึงทำเรื่องขอน้ำจาก อบต. เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ใช้อาบ ส่วนน้ำดื่มนั้น ใช้เงินซื้อน้ำมาดื่มกินกันเองตลอด ซึ่งในแต่ละเดือนชาวบ้านต้องจ่ายค่าน้ำไปหลายบาท

 

"ปัญหาที่เกิดขึ้นพวกเราได้เดินทางเข้าทำเนียบเพื่อร้องเรียนต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ท่านสาทิตย์ ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียน จากนั้นทางบริษัท อัคราไมนิ่ง ได้เริ่มนำน้ำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านเพื่อใช้อุปโภค บริโภค  แต่ทว่าตอนนี้ทางบริษัทไม่ได้นำน้ำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านตามเดิม ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำดื่ม น้ำใช้ ซึ่งในส่วนราชการหรือส่วนราชการท้องถิ่น เขาไม่ได้ติดตามผลอย่างจริงจัง เขาไม่ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่ และไม่สนใจพวกเราอย่างจริงจัง ดังนั้นมันจึงทำให้ชาวบ้านกลับมีอาการเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม เพราะเมื่อไม่มีน้ำใช้ ก็ต้องกลับไปใช้น้ำจากแหล่งน้ำเดิม" นางสื่อกัญญา กล่าว

 

เมื่อ "เขาหม้อ" มี "ไซยาไนด์" ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

 

นอกจากนี้ ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ กล่าวต่ออีกว่า ประมาณปี 2550 ชาวบ้านเขาหม้อและบ้านใกล้เคียงได้นำตัวอย่างน้ำไปตรวจ พบว่ามีสารไซยาไนด์ปนเปื้อนในน้ำจริง แต่ทางราชการก็ไม่ยอมรับ รวมถึงฝ่ายเหมืองก็ไม่ยอมรับ โดยแจ้งกับชาวบ้านว่า ตามธรรมชาติแล้ว ในดินก็มีไซยาไนด์อยู่แล้ว ชาวบ้านก็เถียงเขาไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านไม่เคยนำตัวอย่างน้ำไปตรวจจึงไม่รู้ว่า มีหรือไม่ แต่หากมีอยู่จริงตามที่กล่าวอ้างมานั้น ชาวบ้านคงไม่สามารถใช้น้ำได้ อย่างแน่นอน แต่ทางกลับกัน ชาวบ้านใช้น้ำกินน้ำใช้ได้ตลอด จนกระทั่งมีการทำเหมืองทองขึ้นที่นี่

 

"เวลาผ่านไปไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ และกรมควบคุมมลพิษ เขาเข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปตรวจ เขาบอกเราว่า น้ำที่ใช้นั้นไม่มีสารพิษปนเปื้อน ทั้ง ๆ ที่ ชาวบ้านที่ใช้น้ำมีอาการเป็นผื่นคัน   แผลพุพองเป็นหนองมากขนาดนี้ แล้วน้ำที่กรองจากประปาใส่ขวดทิ้งไว้ ประมาณ 3 อาทิตย์ เห็นได้ชัดว่า น้ำมีลักษณะเปลี่ยนสี จากสีใส กลายเป็นสีดำ แต่ปรากฏว่าทางราชการบอกเราว่า น้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งสิ่งที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เขาบอกนั้น เราไม่สามารถใช้กิน ใช้อาบได้เลย" นางสื่อกัญญา กล่าว

 

ล่าสุด ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลกระทบเรื้อรังมาเป็นเวลานาน และดูเหมือนว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้น ยังไม่บรรเทาเบาบางลงเลย หากแต่ทวีคูณขึ้นตามระยะเวลาแห่งหายนะ 

 

"ช่วงเดือน ก.. 2552 ที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาหม้อ ได้เข้าไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพิจิตร โดยการเจาะเลือดหาสารพิษในร่างกายชาวบ้าน 10 กว่าคน จากชาวบ้านที่มีอาการป่วยกว่า 20 คน ขณะที่หมอตรวจชาวบ้านบางรายที่มีอาการตุ่มขึ้นตามศีรษะ หมอได้ขูดเอาเนื้อที่เป็นแผลไปตรวจเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านยังไม่ทราบผลการตรวจ และยังไม่มีการนำชาวบ้านไปตรวจรอบสอง หรือเข้ามาในพื้นที่เพื่อซักถามอาการของชาวบ้านต่อ ซึ่งทางหัวหน้าสาธารณะสุขเขาก็โทรมาบอกเราว่า ตอนนี้ทางจังหวัด ยังไม่มีการเซ็นอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แต่อย่างใด" ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ กล่าว

 

ความหวังของคนริมขอบเหมืองทอง

 

นางสื่อกัญญา กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ตอนนี้ชาวบ้านยังหวังให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ หากรัฐบาลช่วยชาวบ้านไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องช่วยตัวเอง ต้องมีการรวมตัวกันต่อสู้ต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่ได้มีเพียงหมู่บ้านเขาหม้อเพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้น หากยังมีหมู่บ้านทางดงหลง และหนองแสงฝั่ง จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

 

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ซึ่งเป็นผู้สำรวจและศึกษาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยต่อชุมชนในพื้นที่ดำเนินการ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการทำเหมืองในประเทศไทยคือ ผู้ประกอบการไม่ยอมลงทุนในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่มีการจำกัดและควบคุมมลพิษ และยอมให้มีการปล่อยของเสียจากการทำเหมืองแร่ออกสู่บริเวณภายนอกได้ โดยไม่ได้ทำในลักษณะเป็นบ่อปิด

 

ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) นั้น ไม่มีการดูแลในเรื่องของสัมปทานและการประทานบัตรการทำเหมืองที่ดีพอ อย่างเช่น บริษัทที่จะเข้ามาทำเหมืองแร่ในประเทศไทย เขาได้เสนอหลักฐานในทางที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมและทำเหมืองในลักษณะระบบเปิด  แต่ก็ยังมีการอนุญาตให้ดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอนุญาตให้ดำเนินการ ทางด้านผลกระทบตามมาทันที คือหากดำเนินการโดยการใช้ต้นทุนต่ำ และไม่มีการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังปล่อยสารไซยาไนด์ออกสู่ภายนอก ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองได้รับผลกระทบ  ซึ่งการทำเหมืองแร่นั้น  ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการนำชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่มีการนำคนภายนอกและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการเหมืองแทน หากชุมชน หรือชาวบ้าน ไม่มีส่วนร่วมในโครงการนั้น ๆ  จึงทำให้การตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกิดขึ้นได้ยาก

 

"เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบ การรักษาเยียวยาชาวบ้านจากหน่วยงานรัฐ เป็นไปอย่างเชื่องช้า หรือไม่มีการเข้ามาช่วยชาวบ้านเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาตรวจรักษาอาการป่วยชาวบ้านก็ดี หรือจะเป็นการวินิจฉัยว่าชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยสารพิษไซยาไนด์หรือไม่ อย่างไร ขณะที่กรมควบคุมมลพิษที่ดูแลภายนอกเหมือง ไม่มีการเข้าไปดูแลชาวบ้านอย่างจริงจัง และไม่มีการสั่งให้มีการปิดเหมืองแต่อย่างไร  ซึ่งที่ผ่านมาทางด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไม่เคยเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังจึงทำให้ผู้ประกอบการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงประชาชน รวมถึงก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาด้านสุขภาพต่อประชาชนอีกด้วย" นายสุรพงษ์ กล่าว

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาที่ดี คือการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา การทำเหมืองแร่จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและส่วนของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ ต้องศึกษาด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดและรอบด้าน ซึ่งจะสามารถป้องกันผลกระทบที่มีต่อคนในพื้นที่ได้  แต่ทั้งนี้เรามักจะให้กลุ่มทุนจากภายนอกเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แล้วจ่ายภาษีให้เราเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับมลพิษและสารพิษที่เขาทิ้งไว้ในบ้านเรา มันมีปริมาณมากมายมหาศาล

 

ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและสัมฤทธิ์ผลโดยเร็วนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการละ ความเห็นแก่ตัวของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ทั้งกลุ่มนายทุน กลุ่มอำนาจรัฐ หรือใครอีกหลาย ๆ คน  แต่ทว่า "ความโลภ" มันไม่เข้าใครออกใคร และมันสามารถสร้างหายนะได้ โดยไม่เลือกสถานที่ และเวลา แม้กระทั่ง สุขภาพ และลมหายใจของชาวบ้าน ผู้ที่ไร้ซึ่งอำนาจ และเงินทอง

 

จนทุกวันนี้ชาวบ้านต้องแบกรับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ นานเกือบ 10 ปี แม้จะเจ็บปวดและเจ็บป่วยมากเพียงใด แต่ชาวบ้านเขาหม้อยังคงสู้ไม่ถอย และยังคงเดินหน้าต่อสู้ ด้วยความหวังแห่งชัยชนะต่อไป ถึงแม้จะสู้จวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตก็ตาม.  

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

- เอกสาร สถานการณ์และผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

- www.newspnn.com

- www.manager.co.th

- www.thaingo.org

- http://www.ranthong.com/smf/index.php?topic=4035.0

- http://www.seub.or.th/libraryindex/mine/mine_003.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net