Skip to main content
sharethis

 


วงเสวนาหลังชมภาพยนตร์ Burma VJ (จากซ้ายไปขวา) โดยวิทยากรคือสุภัตรา ภูมิประภาส, ซอ อ่อง และสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉลองวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนา ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์อุษาคเนย์เพื่อการศึกษา “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” พร้อมการเสวนาภาพยนตร์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา โดยกำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึง วันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยการจัดฉายภาพยนตร์วันแรก เมื่อ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ความยาว 90 นาที

โดยหลังการฉายภาพยนตร์มีการเสวนาโดยมี ซอ อ่อง (Soe Aung) อดีตนักศึกษาพม่าในเหตุการณ์เดือนสิงหาคมปี 2531 ปัจจุบันเป็นเลขาธิการร่วมคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศของสมัชชาเพื่อประชาธิปไตยพม่า (Forum for Democracy in Burma - FDB) และสุภัตรา ภูมิประภาส นักแปลและผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นวิทยากร โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดู Burma VJ เหมือนกลับไปสู่ยุค 8888
ซอ อ่อง กล่าวว่า ในเหตุการณ์ทหารพม่าสลายการชุมนุมเดือนสิงหาคม ปี 1988 หรือ พ.ศ. 2531 หรือเหตุการณ์ “8888” เขาอยู่ที่เมืองตองจี ในรัฐฉาน แต่ก็มีการติดต่อกับกลุ่มนักศึกษาในย่างกุ้งโดยตลอดทำให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น

เขากล่าวว่าได้ชมภาพยนตร์ Burma VJ มาแล้ว 3 ครั้ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ชมรู้สึกเหมือนกลับคืนสู่อดีตเมื่อ 20 ปีก่อนในยุค 8888 และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่านั้นพระสงฆ์กับนักศึกษาพม่าร่วมมือกันตลอดมาตั้งแต่ปี ในการเดินขบวนเมื่อ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมาพระสงฆ์ถือว่าออกมานำประชาชน เพราะพระสงฆ์ทนไม่ได้ที่เห็นประชาชนเดือดร้อนจากการขึ้นราคาน้ำมันและเชื้อเพลิง การต่อต้านแรกๆ เริ่มจากการสวดมนต์ ต่อมาเริ่มเดินขบวนและมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง

และที่ต้องยกย่องนอกจากพระสงฆ์แล้ว นักข่าวในพม่าก็เป็นอาชีพที่เสี่ยงชีวิต ในพม่ามีนักข่าวโดนจับติดคุกและเสียชีวิตจำนวนมาก นักข่าวที่ทำงานในพม่าไม่ว่าจะทำงานให้สถานีโทรทัศน์ DVB หรือที่ไหนก็แล้วแต่ มีข่าวถูกรัฐบาลพม่าจับตลอด ล่าสุดก็มีนักกิจกรรมถูกจับ 7 คน 2 ใน 7 คนเป็นนักข่าวที่ทำงานให้กับนิตยสารฉบับหนึ่งในพม่า (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องที่นี่)

ซอ อ่อง กล่าวว่า เขาเชื่อว่าถ้ามนุษย์ถูกกดดันโดยเผด็จการอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในพม่า มนุษย์ก็อาจพยายามสร้างสรรค์และต้องการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทั่วโลกได้รู้

ผ่าน 8888 มา 19 ปี พม่ายังไม่เปลี่ยน
สุภัตรา ภูมิประกาส กล่าวว่า ถือว่านี่เป็นการชมภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ เป็นครั้งแรก พร้อมกับผู้ชมในห้อง ระหว่างที่ดูทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2543 ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ตนได้เดินทางเข้าไปในพม่าแบบนักท่องเที่ยว เพื่อเข้าไปพบกับออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลทหารพม่าเลิกคำสั่งกักบริเวณ การเข้าพบจึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไรเพราะออง ซาน ซูจีช่วงนั้นเป็นอิสระ และหลังจากเข้าพบออง ซาน ซูจีก็ถูกตำรวจลับติดตามตัว

ซึ่งในภาพยนตร์ Burma VJ ก็ได้เห็นฉากที่ตำรวจลับมาจับผู้ประท้วงชาวพม่า ก็ทำให้คิดถึงทริปการเดินทางไปพม่าครั้งนั้นของตัวเอง และพบว่าเหตุการณ์ในภาพยนตร์กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดเมื่อ 10 ปีก่อนไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตำรวจลับที่เคยเห็นก็แต่งตัวแบบนี้คือไม่อยู่ในเครื่องแบบ และมีอำนาจติดตามคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้แต่เวลาที่เรานั่งทานกาแฟในล็อบบี้ของโรงแรม 5 ดาว ก็มีตำรวจลับของพม่าเข้ามา ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทย ทางโรงแรมคงไม่ยอมให้มีใครเข้ามารบกวนแขกพักของโรงแรม แสดงให้เห็นว่าตำรวจลับพม่าทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น

สุภัตรากล่าวว่าที่ตนเข้าไปทำข่าวในพม่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจของนักข่าว DVB ใน Burma VJ

สุภัตรากล่าวว่า ในภาพยนตร์ “โจชัว” ตัวละครในเรื่องกล่าวว่าในเหตุการณ์ “8888” เขายังเป็น Young Boy ซึ่งหากเทียบกับตนในปี 1988 ตอนนั้นก็คงเป็น Young Journalist โดยสมัยนั้นตนได้ร่วมกับนักศึกษาและนักกิจกรรมไทย-พม่า ตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ขึ้น โดยที่จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน 19 ปี เหตุการณ์ในพม่าไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

สุภัตรากล่าวถึงสถานการณ์สื่อในพม่าว่า ข่าวในพม่า นักข่าวไม่สามารถทำข่าวได้มากเหมือนไทย ข่าวจะมีแต่ข่าวนายทหารทำบุญ จนดูเหมือนว่าทหารพม่าศรัทธาพระพุทธศาสนา แต่ฉากศพพระสงฆ์ลอยน้ำในภาพยนตร์ Burma VJ ช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งกับภาพที่เคยปรากฏในสื่อพม่า จึงอยากตั้งคำถามชวนคิดว่า เมื่อไหร่สถานการณ์ในพม่าจะเปลี่ยนแปลง

ยังมีความหวัง เมื่อเห็นนักศึกษาพม่าออกมาต่อสู้รอบใหม่
ซอ อ่อง
กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยในพม่า หลังถูกปราบในปี 2550 อีกรอบว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น ในปี 2531 ประชาชนถูกทหารยิงกว่า 3,000 คนหรืออาจจะมากกว่านั้น ในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ในปี 2531 มีคนออกมาชุมนุมมากกว่าปี 2550 แต่ในปี 2531 แม้จะมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาล แต่นักศึกษาในเมืองก็ไม่รู้เรื่องสถานการณ์ที่ชายแดน แต่หลังจากการปราบปรามในปี 2531 นักศึกษาพม่าก็รู้ว่าชนกลุ่มน้อยกำลังทำอะไร

ในปี 2550 แม้ว่าคนเป็นแสนออกมาเดินขบวน แต่ปัญหาในพม่าจำเป็นต้องมีสถานการณ์ภายนอกกดดัน ในอาเซียนหลายประเทศมองว่าไม่ควรกดดันพม่า ควรดำเนินนโยบาย Constructive Engagement (พัวพันอย่างสร้างสรรค์) สหภาพยุโรปก็ไม่ได้กดดันพม่าเหมือนนโยบายที่สหรัฐอเมริกาทำ นโยบายดังกล่าวจึงยังไม่ได้ผล

เยาวชนที่ออกมาต่อสู้ในปี 2007 เกิดไม่ทันปี 1988 ด้วยซ้ำ แต่ในปี 2007 เขาก็ออกมาเหมือนพี่ๆ ในปี 1988 ผมภูมิใจและมีความหวัง ถ้าทำแบบนี้ไปต่อ เราจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงพม่าในเร็ววันนี้

อยากให้มีภาพยนตร์ถ่ายทอดชีวิตชนกลุ่มน้อยในพม่า
ซอ อ่อง กล่าวด้วยว่า นอกจากภาพยนตร์ Burma VJ แล้ว อยากให้มีภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่ชายแดนพม่า ให้โลกรู้ว่าสถานการณ์ที่ชายแดนพม่าเลวร้ายแค่ไหน ในพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 60 เชื้อชาติ ในปี 1996 มีหมู่บ้าน 3,500 แห่งถูกเผา ทำลาย บังคับโยกย้าย ในพม่ามีผู้ลี้ภัยในประเทศหรือ IDPs มากกว่า 500,000 คน ในเดือนกรกฎาคม 2551 ถึงสิงหาคม 2552 มีชาวกะเหรี่ยงอพยพเพราะสงครามกว่า 120 ชุมชน ในรัฐฉานในปีนี้มีผู้อพยพอย่างน้อย 20,000 คน เหตุการณ์ที่เกิดกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ (Darfur Genocide ในประเทศซูดาน)

กังขาชาติอาเซียนต้องการให้พม่าเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน
ต่อคำถามจากผู้ดำเนินรายการที่ว่า การเป็นประเทศเผด็จการของพม่าส่งผลดีกับใครบ้าง สุภัตรา ตอบว่า ผู้นำชาติอาเซียนบางชาติอาจคิดว่าการเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์เฉพาะนายพลง่ายกว่าการเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์กับรัฐบาลที่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่ซับซ้อนกว่า ในแง่นี้ภาวะเผด็จการของพม่าจึงมีประโยชน์ในสายตาผู้นำอาเซียน ดังนั้นจึงไม่แน่ใจจริงๆ ว่า อาเซียนต้องการให้พม่าเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน

สุภัตรากล่าวด้วยว่า สุรินทร์ พิศสุวรรณ เคยไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เรื่องพัวพันอย่างสร้างสรรค์ ก็มีผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐบาลพม่าเปลี่ยนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยจะบอกเรื่องนี้กับรัฐบาลใหม่ว่าอย่างไร สุรินทร์ตอบว่า ผมหวังว่าอองซาน ซูจีจะเข้าใจ

สุภัตราเปรียบเทียบการส่งข่าวในปี 2531 และ 2550 ว่า ในปี 2531 ไม่มี Video Journalist กว่าภาพจะออกมาจากพม่าใช้เวลานานมาก แต่ในปี 2007 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่างกุ้งออกมาไวมาก ซึ่งถือว่ามีข้อมูลมากและเร็วพอที่อาเซียนจะกดดันพม่า แต่อาเซียนก็ไม่ทำอะไร ถ้าอินเดียและจีนยังหนุนพม่าขนาดนี้ และเริ่มจะมีหลายประเทศหนุนพม่า สถานการณ์พม่าคงไม่เปลี่ยนแปลง

นักกิจกรรมพม่ายันการเลือกตั้งปาหี่ยังไม่ใช่คำตอบแก้ปัญหาการเมืองพม่า
ซอ อ่อง กล่าวว่า นักศึกษารุ่น’88 ที่อยู่นอกประเทศไม่ได้คาดคิดว่าการประท้วงจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น แม้จะมีการทำงานเชื่อมโยงระหว่างในประเทศกับนอกประเทศดีกว่าเมื่อปี 2531 หลายเท่า แต่ถือว่าเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์เกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อเกิดขึ้นเร็ว ย่อมควบคุมไม่ได้ ยุทธวิธีจึงอ่อนแอ ต้องหาทางปรับปรุง

แม้ว่าบางคนบางกลุ่มคิดว่าการเลือกตั้งในปี 2553 จะเป็นคำตอบ แต่ผมพูดได้เลยว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบและไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองในพม่า เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหารพม่า มีขั้นตอนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญที่ไม่โปร่งใส มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างเช่น ที่มาของ ส.ส. ในรัฐสภา ที่ร้อยละ 25 จัดสรรให้เป็นที่นั่งของทหาร และอีก 75% ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีพรรคการเมืองที่รัฐบาลทหารสนับสนุนรอลงเลือกตั้งอยู่แล้ว เช่น USDA การจะขอปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้เสียงมากกว่า 75% ของรัฐสภา จึงคิดว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ การเปลี่ยนแปลงการเมืองในพม่าจึงไม่ควรเน้นที่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการเจรจา การเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยด้วยเพื่อเปิดทางให้สามารถมีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศได้ โดยท่าทีของพรรค NLD ขณะนี้ก็ยังไม่ออกมาระบุว่าจะสนับสนุนการเลือกตั้งหรือไม่ ท่าทีที่ประกาศขณะนี้มีเพียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

 


ภาพใบปิดหนัง Burma VJ

 

สำหรับภาพยนตร์ Burma VJ หรือ Burma Video Journalists เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีโดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Anders Hogsbro Ostergaard ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่เดนมาร์ก มีความยาว 90 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่าและวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าผ่านภาพเหตุการณ์ในปี 2531 หรือ 8888 และเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์ในปี 2550 โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักที่ชื่อ “โจซัว” ผู้สื่อข่าวในพม่าของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ DVB) และเพื่อนร่วมทีมของเขาที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ในพม่าช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและพระสงฆ์ในปี 2550 และแอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า Burma VJ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงานเทศกาลฉายภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Full Frame Documentary, Film Festival Hot Docs International, Film Festival San Francisco Independent Film Festival, Seattle International Film Festival, Sundance Film Festival (ชมภาพยนตร์ตัวอย่างที่นี่)

“เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” กำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึง วันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยการจัดฉายภาพยนตร์วันศุกร์ที่ 6 พ.ย. นี้คือเรื่อง My Magic จากสิงคโปร์ มี ผศ.กำจร หลุยยะพงศ์ เป็นวิทยากร ส่วนในวันเสาร์ที่ 7 พ.ย. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan จากฟิลิปปินส์ มี อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net